ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



กุศล สร้างด้วยตั้งใจรับฟังผู้อื่น

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนทั้งหลาย สังคมอยู่รอดปลอดภัยด้วยความเข้าใจ เพราะความเข้าใจกันนั้นเป็นแก่นแท้ของความเคารพรักและนับถือ ความเป็นมิตรแท้หาได้ยากยิ่ง ที่หาได้ยากยิ่งนั้นก็เพราะขาดความจริงใจต่อกัน ขาดความอดทน ความประพฤติที่ขาดความอดทนยังก้าวไปถึงขีดสุดคือ หมดความอดทนต่อกัน ที่นี้ความรักกันก็จะกลายเป็นความหมดรักกันในทันใด ในโลกนี้จะหาความรักที่ยั่งยืนนั้นก็ยากยิ่ง นิยามของความรักก็มีต่างกันไป เช่น

- แก่นแท้ของความรัก คือ ความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น

- คุณค่าแท้ของความรัก คือ การมอบความภักดีและซื่อสัตย์จริงใจ

- สาระของความรัก คือ การดูแลเอาใจใส่และความผูกพันห่วงใย


กัลยาณมิตรสำคัญต่อพรหมจรรย์

การประพฤติพรหมจรรย์ของผู้แสวงหาสัจจะ ในธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากขาดกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมสำเร็จในสิ่งประสงค์ได้ยากยิ่ง กัลยาณมิตรจึงมีความสำคัญสำคัญต่อการประพฤติพรหมจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กัลยาณมิตร 7 ประกอบด้วย

1. ปิโย คือ ความน่ารัก หมายถึง มีเมตตากรุณา ใส่ใจคนและประโยชน์สุขของเขา เข้าถึงจิตใจและสร้างความสนิทสนมเป็นกันเอง

2. ครุ คือ น่าเคารพ หมายถึง เป็นผู้หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจและเป็นที่พึ่งได้

3. ภาวนีโย คือ น่าเจริญใจ หมายถึง มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง เป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอและเป็นที่น่ายกยกเอาแบบอย่าง

4. วตฺตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล หมายถึง รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรทำอะไร คอยให้คำแนะนำตักเตือนและเป็นที่ปรึกษาที่ดี

5. วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ หมายถึง พร้อมรับฟังคำปรึกษาซักถาม อดทนต่อคำล่วงเกิน คำตักเตือน และอดทนฟังได้ไม่เสียอารมณ์

6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา คือ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ หมายถึง กล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่ยุ่งยากลึกซึ้งให้เข้าใจได้ง่าย

7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำในอฐาน หมายถึง ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหล


กัลยาณมิตร คือมิตรแท้ 4 แบบ

1) มิตร มีอุปการะคอยช่วยเหลือ

2) มิตร ร่วมสุขร่วมทุกข์

3) มิตร แนะนำแต่สิ่งดี

4) มิตร มีความรักใคร่

และสำคัญที่สุด ในทุกสถาบันทางสังคม ควรมีความจริงใจต่อกัน เช่น จริงใจต่อครอบครัว สร้างรักแท้ สร้างความเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ได้อย่างนี้อยู่กันได้ยั่งยืน ถ้าสถาบันครอบครัว เช่น สามีอยากให้ภรรยา หรือ ภรรยาอยากให้สามี "เป็นได้อย่างที่ใจของตนอยากให้เป็น เช่น

ต้องเก่ง ต้องฉลาด ต้องเรียบร้อย ต้องไมอ้วน ต้องไม่สังคม ต้องไม่ดื่ม ต้องไม่นั่นไม่นี่ จิปาถะ แบบนี้ค่อนข้างไปกันได้ไม่ยั่งยืน" จึงต้องย้ำนิยามที่กล่าวไว้ ณ เบื้องต้นนั้นอีกครั้งนั่นแหละ .....

ที่นี้ เอาให้เข้าหลักใหญ่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน คือ ต้องให้ทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจเรื่อง "มัชฌิมาหฏิหทา - ทางสายกลาง" เรื่องอะไรที่ว่ายาก ๆ นั้นก็จะมีวิธีการจัดการกับปัญหานั้นได้ง่ายขึ้น


กุศล สร้างด้วยความตั้งใจฟังความทุกข์ผู้อื่น

กุศลยิ่งใหญ่มาก ถ้าเราจะเป็นผู้หยุดรับฟังความสุข - ความทุกข์ ของผู้อื่น ทุกวันนี้สังเกตมาว่าปัญหามากมายที่เกิดขึ้นมักจะมีเหตุมาจากความไม่รับฟังเสียงความสุข - ความทุกข์ของผู้อื่น เพราะสังคมทุกวันนี้มีคนพูดเยอะแยะไปหมด พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญได้ดีมาก ๆ เลย

- ทุกวันนี้รับฟังเสียงประชาชนมาเล่าเรื่องอะไร ๆ เยอะแยะไปหมด คนชอบการเมืองก็มาเล่าเหตุบ้านการเมืองให้ฟัง

- คนชอบดูดวงก็มาเล่าเรื่องดูดวงให้ฟังว่า ไปดูที่นั้นมาว่าอย่างนั้น ไปดูที่นี่มาว่าอย่างนี้

- คนชอบไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ก็มาเล่าให้ฟัง บางครั้งไม่รู้เรื่องไม่เคยไปที่ไหน ๆ กับชาวบ้านเขาก็ต้องฟังเขาเล่าให้ฟังอย่างเดียว ก็ดีเหมือนกัน

- คนนั้นนินทาคนนี้ ๆ นินทาคนโน้น เป็นสัจจะเวยยะ อาทิ กรณะ นะโมพุทธายะ (สนุกจริง ๆ ) หลวงพ่อคิด ๆ ไป แล้วก็ดีเหมือนกัน ประสบการณ์น้อมนำมาไว้สำหรับพิจารณาธรรม เราต้องคิดให้เป็นจะมีความสุข เช่น

- คิดเสียว่าเราเป็นภาชะทองคำ สำหรับรองรับสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับภาวนา

- แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นเรื่องราวไรสาระ เราก็เหมือนเป็นกระโถนรับเอาแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้เข้ามาให้รกรุงรังหนักสมองเราเสียเอง

ดังนั้นเราต้องรู้จักใช้หลักธรรมะให้เป็นเชิงบวก ฟังให้เป็น คิดให้เป็น จะได้ไม่เป็นทุกข์เสียเอง เพราะคำว่า "พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ และสูงส่ง" แต่ถ้าไม่เข้าใจที่จะจัดการกับความคิด กับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้น คำว่า "พระ ก็อาจแปลว่า ผู้ประสาท และเสียจริตจิตต่ำลง" เสียท่ากิเลสให้มันมาเผารนให้เร่าร้อนเสียเปล่า

ฟังเป็นเห็นกุศล ทุกวันนี้คนฟังที่ดีนั้นมีน้อย ฝึกเป็นคนฟังให้มาก ๆ เพื่อเป็นการข่มอารมณ์ของตนไว้ มีสติเจริญอยู่ทุกเรื่อง ไม่ผลีผลามรีบร้อนเกินไป โดยไม่ทันระวัง หรือบางทีไม่ถูกกาลเทศะ การเป็นผู้รับฟังที่ดี เป็นการคืนความสงบสุขสู่ประชาชน ผู้นำประเทศ ผู้นำสังคม ต้องรับฟังเสียงประชาชน วันนี้กล่าวถึงสถาบันทางครอบครัว ก็ต้องฟังเสียงสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น ฯลฯ

สถาบันใด ๆ ก็ดี หากไม่ได้มองเห็นปัญหา ความสุข - ทุกข์ของสมาชิกแล้วนั้น จากความเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเหลือคุณค่าเล็ก ๆ เพราะมิสมภูมิภาวะความเป็นผู้นำนั่นเทียว

ทางเมืองไทย สถานการณ์บ้านเมือง กำลังวิ่งเต้นเข่งขันการหาเสียง ตลอดถึงการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งเขาก็ว่าของเขาไป ส่วนเราก็ว่าธรรมะของเรา

ติดตามข่าวการเมืองที่วุ่นวายนั้นไม่เท่าไหร่ สำคัญว่าเราอยู่ครอบครัวเดียวกันกับมาเป็นปฏิปักษ์ ยืนอยู่คนละความเห็น ถ้าไม่หนักแน่นในธรรม คงต้องเป็นกฎแห่งกรรมที่ทำเอาครัวครัวแตกแยกนั่นแล ฯ รูปขอจำเริญพร