ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ตามล่า "บุญ" ค้นหาความหมายที่แท้จริง

อาตมาเคยตั้งคำถามกับโยมๆ บางท่านเรื่อง การทำบุญว่า ทำเพื่ออะไร? ก็ได้รับคำตอบแบบหลากหลายนิยามความคิดจริงๆ แต่พอจะสรุปรวมเป็นคำๆ ได้ 2 - 3 ประโยค นิยมว่า "ทำตามที่ตนเชื่อ ทำเพื่อความเป็นสิริมงคล ทำเพื่ออุทิศให้บุคคลที่ตนเคารพรัก ทำเพื่อยึดหลักตามประเพณี ทำเพื่อชีวิตนี้สุกผ่องใส และทำแล้วสบายใจครับท่าน" คำถามดังกล่าวใช่ประสงค์อื่นใด แต่เป็นการฝึกฝนพัฒนา ค้นหาความหมายที่แท้จริงของการทำบุญ เป็นต้นทุนเปิดประตูความรู้ตามแนวพุทธศาสนา ที่ถามว่าบุญคืออะไร เป็นการขว้างหินถามทาง เพราะหาว่าโยมไม่รู้ และยิ่งไปกว่านั้นเกิดพระไม่รู้อีกคนยิ่งจะไปกันใหญ่เลย เมื่อพระไม่รู้โยมไม่รู้เรื่องบุญจะทำบุญกันอย่างไร? (จริงไหม)


บุญ ในทางพระพุทธศาสนา คือ สภาวะใดที่เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในใจ ทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว สภาวะสูงส่งขึ้นไปสู่ภูมิที่ดี เกิดขึ้นที่ใจบริสุทธิ์ เกิดความสุข ความดีงาม ความสดชื่นแจ่มใส สภาวะนั้นชื่อว่า บุญ

บุญ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลปรุงแต่ง ใจของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว ปลอดโปร่งโล่งสบายไม่อึดอัด แต่อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสม เก็บไว้ในใจได้อย่างนิรันดร์อีกด้วย


นิยามแห่งความหมาย
บุญ เป็นเครื่อง ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด
บุญ เป็นเครื่อง นำความสุขความเจริญก้าวหน้า
บุญ เป็นที่พึ่ง ติดตามตนไปทุกฝีก้าว ทั้งในภพนี้และภพหน้า
บุญ เป็นสมบัติ ของเฉพาะบุคคล ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
บุญ เป็นที่มาของ โภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอริยทรัพย์
บุญ เป็นเครื่องมือ ให้ได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้ ฯลฯ

บุญกริยาวัตถุ 3 หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวันหน้า โดยยึดหลักว่า

1. ทาน การให้ ตื่นเช้าใดมาให้เราตั้งใจทำทาน ถ้ายังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งทานข้าว (วิธีทำอาจจะจบเงินอธิษฐานยอดกระปุกออมสินสะสมทรัพย์เป็นบุญด้วยตนเอง หรืออาจให้ทานบริจาคข้าวปลาอาหาร ใส่บาตรถวายพระภิกษุสงฆ์ หรือผู้ยากจนอนาถา ฯลฯ)

2. ศีล ความสำรวมระวังกายวาจา วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน (เราสามารถกำหนดงดเว้นได้ด้วยตนเองต่อหน้าพระบูชาที่บ้าน หรือให้สัจจะต่อตนเอง หรือให้สัญญาต่อพ่อแม่ของเราว่าจะรักษาศีลรักษาสัตย์)

3. ภาวนา ความสงบดับทุกข์ถอดถอนโมหะอวิชชา ก่อนหลับก่อนนอนค่ำคืนใดยังไม่ได้สวดมนต์ คืนนั้นอย่าเพิ่งเอนตัวลงนอน อย่าพึ่งเข้านอน อย่างน้อยๆ ให้เจริญสมาธิภาวนา 3 นาที 5 นาที


หลักจาก บุญกริยาวัตถุ 10 แบ่งเป็น 2 กลุ่มกว้างๆ ดังนี้

ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้กระทําบุญไว้ก่อน หรืออาจพูดว่า บุญช่วงไกล คือ คุณความดีที่เราได้ทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอด บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน ส่งผลให้เห็นในปัจจุบัน เปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมันย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้อง ทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติ สะสมความดีมามาก พอเกิดมาในภพชาตินี้ ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์ มาตั้งแต่เกิด รูป ร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสให้ สร้างความดีได้มากกว่าคนทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาท หมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทไม่ เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วน ยากที่จะเจริญเติบโต ต่อไปได้

อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ หรืออาจพูดว่า บุญช่วงใกล้ คือ คุณความดีที่เราทำในภพชาติปัจจุบัน ตั้งแต่คลอดจนถึงเมื่อวานนี้ บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กๆ เรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้า มากกว่าผู้อื่น

เพราะฉะนั้นเราจึงควรสะสมบุญ โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ จะได้ส่งผลให้สติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้า ในชีวิตต่อไปในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพ นับชาติ ไม่ถ้วน ในภพชาติสุดท้าย ก็ทรงฝึกเจริญ สมาธิภาวนา ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ จึงสามารถ ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้


ผลของบุญ บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลกับตัว เรา 4 ระดับ คือ

1. ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือ ทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บ ไม่ต้องรอชาติหน้า เกิดขึ้นเองในใจของเราทำให้ สุขภาพทางใจดีขึ้น คือ มีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำยกยอ หรือตำหนิติเตียน สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือ เป็นใจที่สะอาด ผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสินใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล

2. ระดับบุคลิกภาพ คนที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีใจทีสงบ แช่มชื่น เบิกบาน นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัวได้พอเหมาะพอดี บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ

3. ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาป ที่เราได้ทำแต่ภพชาติก่อน ๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน เป็นผลของบุญระดับจิตใจ และระดับบุคลิกภาพ เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การที่เราทำดีแล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ขึ้นกับบุญเก่า หรือบาปในอดีต ที่เราเคยทำไว้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ทำให้บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี เพราะบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี แท้จริงแล้วที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญไปโดยไม่ย่อท้อ บุญย่อมส่งผลให้ในเวลาที่สมควรต่อไป

4. ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือได้เป็นผู้นำของสังคมนั้น และจะเป็น ผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำ ความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น ความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้น ๆ โดยลำดับ


ตัวอย่างอานิสงส์ของผลบุญที่บุคคลได้กระทำแล้ว

ผู้ที่มีอายุยืน - เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ - เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์

ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ - เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหารมามาก

ผู้ที่มีผิวพรรณงาม - เพราะในอดีตรักษาศีลและให้ทานด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมามาก

ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ - เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดี ก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยาใคร

ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก - เพราะในอดีตให้ทานมามาก

ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง - เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก

ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี - เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิ เจริญภาวนามามาก และไม่ดื่มสุรายาเมา


สรุปความหมายของคำว่า "บุญ"

1. ในแง่วิธีการ บุญ หมายถึง วิธีการในการทำคุณงามความดี ทุกรูปแบบ

2. ในแง่ของเป้าหมาย บุญ หมายถึง ความบริสุทธิ์ผ่องใส หรือ ความสุขแช่มชื่นเบิกบานแจ่มใสของจิตใจผู้ทำบุญ

3. ในแง่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตทุกครั้งที่ทำบุญ บุญ คือเครื่องมือ ในการชำระกิเลสให้หลุดออกจากใจคน (บุญ คือความสุขใจ) พระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายเธออย่าได้กลัวบุญเลย เพราะ คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข นิยามให้สั้น : บุญ คือ ความสุข (เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำความดี)

สาธุชนผู้มีบุญทั้งหลาย "การพูดเสียใหดี การทำเสียให้ดี เป็นบุญเย็นเห็นเป็นบวกเชิงสร้างสรรค์" ส่วน "การพูดดีให้เสีย การทำดีให้เสีย เป็นบุญร้อนนอนทุกข์เห็นเป็นเชิงลบย่อมบั่นทอนทำลายจิตวิญญาณของตนและคนอื่น" บุญความหมายนี้ จึงเป็นชื่อของความดี เป็นชื่อของความสุข "คิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี เลือกไปในสถานที่ดีๆ เป็นบุญเย็น ย่อมเห็นโลกนี้สวยงาม สุคติย่อมเป็นที่หวังได้ สมปรารถนาทุกประการ" ขอบุญนี้ยังความเจริญรุ่งเรือง ขอปัญญาธรรมจงบังเกิด แก่ทุกคนทุกท่าน เทอญ ขอเจริญพร