ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ

ท่านพุทธบริษัท และญาติโยมท่านสาธุชนทั้งหลาย ธรรมะสมสมัยวันนี้ขอนำเรียนท่านผู้สนใจใคร่ธรรมในเรื่องใกล้ตัว ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ดวงตา - อำนาจแห่งการมองเห็น หลวงพ่อจะอธิบายให้เข้าองค์ประกอบหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าให้เมฆหมอกอวิชชาปิดกั้นดวงตาของเราให้สิ้นโอกาสเห็นแสงแห่งพระธรรม

มังสจักขุ (ตาเนื้อ) หรือจักษุญาณ ก็มองเห็นภายนอกทั่วๆ ไป ตานอก ซึ่งใครก็ได้ที่มองย่อมเห็นตามเป็นจริง แล้วบอกตามสภาพและประสบการณ์ทางความคิดความเห็นที่ตนมี ละเอียดไปตามวัตถุธาตุต่างๆ เรียกสิ่งนี้ว่า ญาณจักษุ

ปัญญาจักขุ (ตาใน) หรือจักษุธรรม การมองเห็นด้วยปัญญา เป็นการรู้แจ้งเห็นจริงแห่งการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งปวง ปัญญาจักษุที่ถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่า ตาใน เป็นการรู้ได้ทางใจล้วนๆ ดังนั้นผู้ที่ชอบบอกว่าดูด้วยตาในนั้นหมายถึงต้องเห็นโดยทางจิตล้วนๆ ซึ่งมิใช่เรื่องพูดกันได้เล่นๆ เพราะคำว่า ตาใน หมายไปถึงองค์ประกอบอย่างละเอียด 5 อย่าง ในทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ดังนี้

1) พุทธจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หยั่งรู้ในอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งปวงได้ เรียกว่า อาสะยานุสะยะญาณ และ อินทะริยะปะโรปะริยัตตะญาณ

2) สมันตะจักขุ หมายถึง ญาณที่สามารถรอบรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งบัญญัติและปรมัตถธรรม ที่เรียกว่า สัพพัญญุตญาณ

3) ญาณจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่ทำให้สิ้นอาสะวะกิเลส เรียกว่า อรหัตมรรคะญาณ หรือ อาสะวักขะยะญาณ

4) ธรรมจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาของพระอริยบุคคลเบื้องต่ำทั้งสาม คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

5) ทิพพะจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลแสนไกล ได้อย่างละเอียด ด้วยอำนาจของ สมาธิจิต ที่เรียกว่า อภิญญาสมาธิ

ปัญญาจักขุ 5 ประการนี้ สองข้อแรก คือ พุทธจักขุ และ สมันตจักขุ ย่อมมีได้แต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนปัญญาจักขุที่เหลืออีกสามประการ คือ ญาณจักษุ ธรรมจักขุ ทิพพะจักขุ ย่อมเกิดแก่ พระอริยบุคคลอื่นๆ หรือฌานะลาภีบุคคล (ผู้ได้ฌาน หรือ สำเร็จฌาน) ที่ได้ทิพพะจักขุญาณ ตามสมควรแก่ญาณ และบุคคล

ปัญญาจักขุ 5 มังสจักขุ 1 รวมเป็น 6 จึงเรียกกันสั้น ๆ ว่า จักขุ 6 ธรรมะมันเชื่อมถึงกันหลายอย่างในฆหมดนี้ มีวิญญาณ 6 อภิญญา 6 เอาจริงๆ ก็ทำให้เพลิดเพลินดี

จักขุ 5 ยังหมายถึง พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แก่ มังสจักขุ ทิพพจักขุ ปัญญาจักขุ พุทธจักขุ สมันตจักขุ เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นด้วยตาใน ชื่อว่า "ปัญญาจักขุ"

ในประวัติของอริยบุคคล ธรรมจักขุ ใช้คำว่า "ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน"บ้าง "ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน" บ้าง

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ บรรยายไว้ว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญารู้เห็นตามความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่นที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะ เมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่ โสดาปัตติมรรค หรือโสดาปัตติมัคคญาณ คือ ญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน

ทิพพจักขุ จักษุทิพย์, ตาทิพย์, ญาณพิเศษของพระพุทธเจ้า และท่านผู้ได้อภิญญาทั้งหลาย ทำให้สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่างๆ กันเพราะอำนาจกรรม เรียกอีกอย่างว่า จุตูปปาตญาณ

ทิพพจักขุญาณ ญาณ คือทิพพะจักขุ, ปราชญ์บัณฑิตท่านเปรียบไว้ว่า เป็นความรู้ดุจดวงพระอาทิตย์ เพราะมีกำลังมาก มีอำนาจมาก มีแสงสว่างมาก แลฯ


สรุปเรื่องนี้ไปอีกช่องทางหนึ่งว่า :

เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ได้พบพระพุทธศาสนาให้ตระหนัก
นับคุณค่าว่าประเสริฐเพริศแพร้วนัก
ให้รู้จักเคารพความเป็นมนุษย์สุดยอดเอย ฯ

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ โอกาสการเกิดของคนต่างกัน บางครอบครัวเกิดในที่พร้อมสรรพทุกอย่าง บางครอบครัวก็ขาดโอกาสไปเสียทุกอย่าง การศึกษาย่อมต่างกัน อดีตกาลทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แสดงถึงความเป็นชนชั้นไว้อย่างชัดเจน และพระพุทธเจ้าได้ทำลายวรรณะ สร้างสังฆะสังคมต้นแบบ การเคารพความเป็นมนุษย์ คือที่สุดแห่งจิตวิญญาณผู้รู้ การปลูกสร้างศีลธรรม ปลูกสร้างปัญญาธรรม เป็นบทนำการสร้างสันติภาพสู่มวลมนุษยชาติโดยแท้ สังคมมีระเบียบอาจอยู่ที่การใช้พระเดช คืออำนาจเผด็จการ

แต่ถ้าต้องการเห็นโลกสงบสันติ ความเห็นหลวงพ่อคิดว่าควรใช้พระคุณ คือความเมตตาและเจตจำนงเสรี (อังกฤษ: free will) หมายถึงความสามารถในการเลือกกระทำสิ่งหนึ่งจากการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปได้โดยที่ไม่ถูกบังคับ แต่เป็นความสมัครใจที่จะสร้างสรรค์ความงดงามให้แก่โลก ด้วยจิตวิญญาณแห่งหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น

- เคารพชาวนา ว่าเป็นผู้ปลูกข้าวให้เราได้มีอาหาร มีอยู่ มีกิน

- เคารพผู้มีศีล ที่ทำให้สังคมเรามีระเบียบด้วยความเสียสละ

- เคารพคนเก็บขยะ ว่าเป็นผู้ดูแลบ้านเมืองและโลกของเราให้สะอาด

- เคารพครูผู้ฝึกหัด ประสิทธิ์ประสาทความรู้ชัดความรู้แท้

- เคารพพ่อแม่ ผู้ให้ความรักยิ่งใหญ่ด้วยหัวใจที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน

- เคารพระเบียบแบบแผน อธิปไตยอำนาจยิ่งใหญ่ที่เป็นกฎหมายมหาชน เป็นต้น ฯ

มงคลวัน ผ่านแสง แห่งอรุณ
จงค้ำจุน ศานุศิษย์ ทุกแห่งที่
จงร่ำรวย รุ่งโรจน์ โชติทวี
สามัคคี ศรีสวัสดิ์ พิพัฒน์ เทอญ ฯ

ธรรมะเมตตา รูปขอจำเริญพร