ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อุเบกขาธรรม เปลี่ยนชีวิตให้งามได้จริง

ท่านทั้งหลาย โลกและสังคมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปไกลมาก ใครที่ตามทันก็ว่ากันไป ส่วนที่ตามไม่ทันก็ต้องยอมหยุดที่ตัวเรา เพราะเรานั้นไม่สามารถที่จะหยุดโลกเอาไว้ได้ การอนุวัตน์ไปตามโลก ที่สารพัดจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นอุเบกขาธรรมจึงถูกหยิมยกขึ้นมาให้พิจารณา และถ้าจะถามว่าในชีวิตประจำวันของท่าน หากจำเป็นต้องใช้อุเบกขาธรรม ท่านต้องมีความเข้าใจว่า จะใช้อย่างไร ? เวลาไหน ? ใช้เพื่ออะไร ?

เรื่องเมตตา กรุณา หรือมุทิตา เราพูดกันบ่อยแต่ในเรื่องอุเบกขาดูเหมือนจะพูดถึงน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมทั้งปวง ลองมาทบทวนพรหมวิหารธรรมกันก่อนนะ

1) เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข

2) กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์

3) มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข

4) อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา

เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นคุณธรรมที่ประเสริฐของมนุษย์ มีคนมากมายทีมีคุณธรรมทั้งสามข้อนี้แล้ว ก็ยังตกอยู่ในวังวนของความทุกข์อยู่ ดังนั้นอุเบกขาธรรมจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ


อุเบกขาธรรมกับเรื่องเหตุสุดวิสัย

ต้องเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ใครทำกรรมใด ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ๆ ที่กล่าวอย่างนี้เพราะบางกรณีเราช่วยเหลือเขาไม่ได้ ต้องอุเบกขาโดยการยอมรับกับวิปโยคโชคชะตาที่เกิดขึ้น แม้กระทั้งเราเองก็เช่นกัน หากเหตุสุดวิสัยเหลือกำลังที่จะพ้นภัย เช่น อุบัติเหตุแผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ ก็ต้องอุเบกขา ถึงที่สุดอุเบกขาธรรมจะปกป้องจิตของเราให้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์


อุเบกขากับธรรมที่เป็นกลาง

การลดมานะ การละทิฏฐิ ก็ถือว่าเป็นการนำอุเบกขาธรรมมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม อันหมายถึงความยุติธรรมทางสังคม ความประเสริฐอุเบกขาธรรมอีกอย่างคือ ความมีจิตปราศจากอคติ คือปราศจากสิ่งเหล่านี้ คือ

1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก

2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ

3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลาไม่รู้

4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

ดังนั้นถ้าเราต้องการเจริญ "อุเบกขาธรรม" ต้องมีจิตปราศจากอคติ 4 จึงต้องหมั่นฝึกฝนจิต รู้จักปล่อยวาง ว่างเบา ไม่เขลาปัญญา ทุกข์และปัญหาลดลงแน่นอน จะยกชาดกเรื่องพระนารท โพธิสัตว์บำเพ็ญอุเบกขาบารมี มาศึกษาสักประเด็น เพื่อทบทวนบทธรรมให้สมสมัย (เสมอ)


ความบางตอนจากเรื่องพระนารท

พระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อังคติราช ครองเมืองมิถิลา เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม พระธิดาของพระเจ้าอังคติราชมีพระนามว่า รุจาราชกุมารี มีรูปโฉมงดงาม พระราชาทรงรักใคร่อย่างยิ่ง คืนวันหนึ่งเป็นเทศกาลมหรสพ พระเจ้าอังคติราช ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ในปราสาทใหญ่ พระราชาทรงปรารภกับหมู่อำมาตย์ว่า "ราตรีเช่นนี้น่ารื่นรมย์นัก เราจะทำอะไรให้เพลิดเพลิน หรือเพื่อให้เป็นประโยชน์ดีหนอ"

อลาตอำมาตย์ทูลว่า "ควรกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ให้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจ"

สุนามอำมาตย์ทูลว่า "ควรจัดการเลี้ยงดูดื่มอวยชัยให้สำราญ หาความเพลิดเพลิน"

วิชัยอำมาตย์ทูลว่า "ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม นิมนต์แสดงธรรมะเป็นการควรกว่า"

จากชาดกเรื่องพระนารท 3 ประเด็นเบื้องต้น จริง ๆ พระเจ้าอังคติราชทรงเลือกที่จะทำอะไรเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว แต่บทความนี้ถ้าเป็นญาติโยมท่านผู้อ่าน จะเลือกทำในขอใด ? ได้อะไร ? เพื่ออะไร ? ให้ไปคิดเป็นการบ้านกันเอง ถือคติว่าให้อิสระทางความคิด โบราณภาษิตว่า "ไผ่ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่กับน้องยังต่างใจ" (นานาจิตตัง ชีวิตจะพังถ้าเราขาดปัญญา)


มิจฉาทิฏฐิครอบงำพระราชา

พระราชาสั่งให้รื้อโรงทานทั้งหมด ทั้งยังได้กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมือง ด้วยเชื่อว่า บุญไม่มี บาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเอง แม้พระธิดาพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดาว่า "ข้าแต่พระชนก บุคคลกระทำบาปสั่งสมไว้ วันหนึ่งเมื่อผลบาปเพียบเข้า บุคคลนั้นก็จะต้องรับผลแห่งบาปที่ก่อ เหมือนเรือที่บรรทุกแม้ทีละน้อย เมื่อเต็มเพียบเข้าก็จะจมในที่สุด"


ผู้ให้สติชื่อว่าเป็นมิตรแท้

พระนารทพรหม ตรัสสอนธรรมะแก่พระราชาอังคติราช ทรงสอนให้พระราชาตั้งมั่นในทาน ศีล ภาวนาอันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์ แล้วแสดงธรรมเปรียบร่างกายกับรถให้พระราชาเห็นว่า รถที่ประกอบ ด้วยชิ้นส่วนอันดี อันถูกต้องแล่นไปในทางที่เรียบรื่น มีสติเป็นประดุจปฏัก มีความเพียรเป็นบังเหียน และมีปัญญาเป็นห้ามล้อ รถอันประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีนั้นก็จะแล่นไปในทางที่ถูกต้อง โดยปราศจากภัยอันตราย พระราชาอังคติราชทรงละมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด จึงถวายโอวาทว่า "ขอพระองค์จงละบาปมิตร คบแต่กัลยาณมิตร อย่าได้ทรงประมาทเลย"


ทศพิธราชธรรม

พระราชาทรงตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรม ประชาชนก็มีความสุข บ้านเมืองสงบร่มเย็น สมดังที่พระนารทพรหมฤษีทรงกล่าวถวายโอวาทนั้น ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีอย่างยิ่งยวด ทรงใช้วิจารณญาณก่อนที่จะเชื่อฟังใคร ในเหตุผลใด ๆ จะมีธรรมคือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี การรู้จักเลือกคบมิตรสหายที่ดีย่อมป้องกันอันตรายไว้ได้

ท่านสาธุทั้งหลายอานิสงส์ของการบำเพ็ญอุเบกขาธรรมนั้น ต้องใช้ปัญญามาก ต้องรอบคอบ มีแผนการทำงานดี มีปัญหาน้อย เพราะบางทีการใช้ปากมาก การทำงานเปลี่ยนไปมา มักผิดใจคน ดังนั้นทางสายกลาง คือ ใจเขา ใจเรา ความเข้าใจทั้งสองฝ่ายตรงกัน ก็จะนำมาซึ่งความสงบสุข ญาติโยมท่านทั้งหลาย อุเบกขาอย่างหนึ่ง คือไม่โกรธใครเขา "เพราะการโกรธเขาเท่ากับจุดไฟเผาตัวเอง ดังนั้นความไม่โกรธเขาดีกว่า จะได้ไม่บ้า ไม่โง่" ขอให้ทุกท่านเจริญอุเบกขาธรรมนะ รูปขอจำเริญพร