ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อัญมณีหลากหลายในพระพุทธศาสนา

ท่านพุทธบริษัท ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย พูดถึงอัญมณีให้นึกถึงเพชรพลอยหรือแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์บ้าง ถ้าเป็นศาสตร์บทนิยามการศึกษาแก้วต่างๆ จะมีสูตรให้จดจำง่ายตามที่ศาสตร์แห่งผู้รู้เรื่องอัญมณีว่า

"เพชร" ดี "มณี" แดง เขียวใสแสง "มรกต"
เหลืองใสสด "บุษราคัม" แดงแก่ก่ำ โกเมน เอก
สีหมอกเมฆ "นิลกาฬ" "มุกดา" หารสีหมอกมัว
แดงสลัว "เพทาย" สังวาลสาย "ไพฑูรย์“

อัญมณีมงคล 9 ชนิดที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีคำเรียกอัญมณีนีว่า "นพเก้า หรือ นพรัตน์" ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีไปทั่วโลกก็ว่าได้ นี้นับเป็นเรื่องค่านิยมทางวัตถุ จนกลายเป็นสิ่งล้ำเลอค่าที่มีราคาแพงต่างชนิดกันออกไป


รัตนะในพระพุทธศาสนา

พี่น้องชาวพุทธเรา คงพอจะระลึกได้จากบทที่พระสงฆ์สวดให้ศีลให้พรเราอยู่เนื่องนิตย์ว่า

สัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ สัพพะสังฆานุภาเวนะ พุทธะระตะนัง ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง ติณณัง ระตะนานัง เป็นต้น ฯ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นต้น ฯ

พระรัตนตรัย หมายถึง แก้วสามประการอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน ที่เรียกว่า รัตน (แก้ว) เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีค่าสูง และหาได้ยาก มิอาจเทียบด้วยแก้วหรืออัญมณีที่เป็นแร่ธาตุทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า, พระธรรม และพระสงฆ์ หรือเรียกว่า พุทธรัตนะ, ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ซึ่งได้แก่

พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งเห็นจริงด้วยพระองค์เอง แล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ

พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทั้งส่วนที่เป็นพระธรรม ละส่วนที่เป็นพระวินัย

พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วประพฤติตนชอบให้งามในเบื้องตน ท่ามกลาง และงามในที่สุด ตามพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์


อัญมณีหลากหลายในพระพุทธศาสนา

ข้อนี้จะหมายถึงพระธรรม อันเป็นหลักยึดเหนี่ยวนำใจไว้ในพระพุทธศาสนา ให้เกิดพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ดีต่อตนเองและดีต่อสังคมทุกระดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปิดใจให้กว้างๆ สามารถบอกได้ว่าเป็นหลักสากล และสามารถเป็นหลักทางวิชาการที่ปราศจากอคติ ยกตัวอย่างหลักกัลยาณมิตรธรรม นับว่าเป็นอัญมณีชีวิต "อัญมณีชีวิต คือกัลยาณมิตรร่วมทาง" กัลยาณมิตรเป็นดั่งรุ่งอรุณของชีวิต คุณสมบัติตามแนวพุทธพจน์ นี้เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า กัลยาณมิตรมุ่งหมายเอาคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นมิตรแท้ ชักชวนหรือแนะนําในสิ่งที่ดีมีประโยชน์เกื้อกูล ข้อปฏิบัติขัดเกลาให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม ความเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าวนี้ นับว่ามีความหมายและความสำคัญมากต่อการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ดังนี้

1. ปิโย คือ ความน่ารัก

2. ครุ คือ น่าเคารพ

3. ภาวนีโย คือ น่าเจริญใจในคุณธรรม

4. วัตตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล

5. วจนักขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ

6. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา คือ แถลงเรื่องลึกล้ำได้

7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำสู่ทางเสื่อม

หากกล่าวถึงอภินิหารการทรงอานุภาพแห่งรัตนไตรแก้ว อันหมายแก้ว 3 ประการ อย่างเช่น สังฆรัตนะ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ ที่บวชตามพระธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า มีสังฆคุณ 9 ประการ ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงองค์คุณเหล่านั้น

แต่เพียงแค่อยากทำความเข้าใจให้ง่ายว่า พระสงฆ์ "สาวก ของพระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ฟัง" ฟังแล้วนำวิเคราะห์แยกแยะ ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ยิ่งมีการวิเคราะห์มีความรู้มาก มีประสบการณ์มาก เรียกว่า "พหูสูต" ยิ่งการผ่านกระบวนการวิภาษวิธีตามหลักการศึกษาใหม่ๆ ก็นับว่ายอดเยี่ยม เพราะเป็นหลักนักปราชญ์อย่างหนึ่ง คนฉลาดชอบแก้ปัญหา คนมีปัญญาชอบฟัง ฟังแล้วสามารถนำมาปฏิบัติเป็นผลงานได้จริง ไม่พูดแต่..(ดี) ไม่ดีแต่..(พูด) นะ จำเริญพร

ขอแบ่งปันน้ำใจจากผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ช่วยแบ่งเบาค่าน้ำค่าไฟฟ้าวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี โดยบริจาคสั่งจ่ายเช็ค Donation check payable to "Buddhist Meditation Society" ส่งไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ด้านล่างนี้ ส่วนท่านที่สะดวก Transfer money with Zelle ก็โอนด้วยเบอร์ (562) 249 3789 6763 E Avenue H Lancaster CA 93535 ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย บารมีหลวงพ่อเพชรมีชัย พระประธานวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี บารมีท่านท้าวเวสสุวรรณ บัลดลให้ท่านปลอดภัยโชคดี ลาภผลพูนทวี ชีวิตดี การงานมั่นคง สำเร็จทุกสิ่งสมประสงค์ สมเจตน์จำนง แห่งผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจงทุกประการด้วย เทอญ ฯ รูปขอจำเริญพร