ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ชีวิตดี เพราะจิตมีธรรม

สาธุชนพุทธบริษัท ท่านผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย ชีวิตดี เพราะจิตมีธรรม โดยเฉพาะวันนี้จะกล่าวถึง "ปรมัตถธรรม" สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอภิธรรม ธรรมที่ยิ่งใหญ่ คือสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ธรรมนี้ก็มีอยู่แล้ว มีอยู่จริง สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่อย่างนี้ เอาจริงๆ แล้วคนส่วนมากไม่อยากเอาใจใส่ เพราะเห็นว่าเหตุผลมันกว้างเกินไป ละเอียดเกินไป ไม่เหมาะกับการดำเนินชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา และธรรมทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่ปรมัตถธรรมมิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ ปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีอยู่จริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามลักษณะของปรมัตถ์นั้นๆ นั่นเอง

ปรมัตถธรรม คือความจริงอันวิเศษที่จิตเข้าไปหยั่งรู้ ทั้งที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรม

1. รูปธรรม (หรือรูปธาตุ) เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์

2. นามธรรม (นามธาตุ) เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์

ปรมัตถธรรม เรียกตามลักษณะ 4 ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน

จิต หมายถึงธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น ฯ สภาพรู้ เป็นนามธรรม ตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ อนิจจัง - ไม่เที่ยง ทุกขัง - ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป อนัตตา - บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่ ไม่ใช่ของๆ เรา)

เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เสมือนเงาที่ติดตามตัวไปทุกหนแห่ง เจตสิกแต่ละดวงมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่นเป็นสภาพรู้อื่นๆ ที่ไม่ใช่จิต ได้แก่: เวทนา - คือความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉยๆ ตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

รูป รูปเป็นสภาพไม่รู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นรูปธรรม ตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพาน ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะธาตุสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนิพพานธาตุ 2 ประเภท คือ

1) สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานโดยที่อินทรีย์ 5 ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เมื่อประสบกับประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

2) อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว ในพระวินัยปิฎก ปริวาร สมุฏฐานสีสสังเขป ระบุว่า สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่าเป็นอนัตตา

นิพพาน มีใน อริยสัจ 4 ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจข้อ 3 ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกระบุว่าอริยสัจ 4 ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว (คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา

ที่นำเรื่องนี้มากล่าว ก็ด้วยเริ่มต้นปีใหม่มานี้ได้ร่วมบุญบวชนาคบวชพระมา ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องอุดมธรรมของการบวชคือ "การทำพระนิพพานให้แจ้ง" จึงเป็นเรื่องเดียวกัน (เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน)

- บวชตัดกรรมได้ไหม ? หรือ

- บวชตัดกรรมได้ใช่ไหม ?

- บวชแก้กรรมได้ใช่ไหม ?

จากคำถามเล็กที่ถามทิ้งไว้แล้วก็ไป แต่มันเป็นเหตุผลที่ใหญ่มากจริงๆ จึงตอบว่าบวชตัดกรรมได้ และบวชแก้กรรมได้ ? เพราะบวชแล้วนั้นได้ขอนิสัยหระพฤติพรหมจรรย์ถือเพศบรรพชิต โบราณเรียกอุดมเพศ ตัดกรรมที่เคยกระทำเป็นอาจิณ แก้กรรมที่กระทำเป็นนิสัย ครองศีลครองวินัยดูแลเอาใจใส่ในการประพฤติธรรม นั่นแหละได้แก้กรรมเก่า ได้ประพฤติกรรมใหม่อันเป็นกรรมที่ประเสริฐแลฯ ธรรมะสมสมัยฉบับวันนี้ขอจบลงด้วยเรื่องพระนิพพานมีสภาพเป็นอนัตตา สาธุๆ รูปขอจำเริญพร