ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



วัด คือ เขตอภัยทาน ต้องรู้สึกปลอดภัย

ท่านพุทธบริษัท สาธุชนผู้มีปัญญาธรรมทั้งหลาย หลวงพ่อเคยไปนั่งพักผ่อนที่พาร์ค หรือที่เรียกสวนสาธารณะนั่นเหละ มันมีต้นไม้ มีร่มเงา เท่านั้นยังไม่พอต้นไม้มีผลดกและกำลังสุกปลั่ง เป็นที่หมายปองของนกเล็กนกน้อยหลากหลาย กรูกันเข้ามาเก็บกินหมากผลที่สุกปลั่งนั้น ครั้นเวลาหนึ่งก็เห็นนกตัวใหญ่บินโฉบลงมา ทำเอานกน้อย ๆ เหล่านั้นบินแตกฝูงไปคนละทิศละทาง แต่ก็กลับบินมารวมกันดั่งเดิม นกใหญ่มีอำนาจมาก ชอบจิกตีเข้าแย่งชิงเพราะหวงอาหาร เป็นธรรมชาติแห่งชาตญาณของนก ตลอดที่เป็นสัตว์ เพราะนกเหล่านั้นคงไม่ได้มาคิดว่าอะไรควร อะไรไม่ควรเป็นแน่


วัด คือ เขตอภัยทาน

เขตอภัยทานจริง ๆ แล้วมีรายละเอียดอยู่เยอะ มีนิยามความหมายไปในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าเขตจัดไว้เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล เขตจัดไว้เพื่อความปลอดภัยส่วนของสัตว์ ไม่น่าแปลกว่าในวัด ตามซอกหลังคาโบสถ์ วิหาร หรือในซอกหลังคาศาลา นกมักจะไปทำรังอยู่เต็มไปหมด "เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะมันรู้สึกปลอดภัย" บางทีเจ้าอาวาสก็ต้องนำลูกพระลูกเณร หรือบางทีเรียกชาวบ้านมาช่วยกันทำความสะอาด หาสิ่งป้องกันบางทีจำเป็นต้องขับไล่ออกไป (แก้แล้วแก้อีกแต่ก็ออกไปไม่หมดเผลอก็กลับเข้ามาอยู่ใหม่)

เดิมเขตอภัยทานมักเป็นพัทธสีมาของสำนักศาสนาต่าง ๆ เช่น ในวัดของชาวพุทธ ในโบสถ์คริสต์ ในสุเหร่า แต่ต่อมาเขตใดจะเป็นเขตอภัยทานก็แล้วแต่จะถือกัน บางประเทศยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยบำรุงดูแลสัตว์ ณ เขตอภัยทาน และให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเขตอภัยทานอีกด้วย


ต้องรู้สึกปลอดภัย

อยู่ในวัด ในพระอุโบสถ หรือเขตอภัยทานที่ไหน ๆ ก็ต้องรู้สึกปลอดภัย ญาติโยมอยู่ที่บ้าน บ้านก็ต้องเป็นที่ปลอดภัย ปราศจากผู้ร้าย ปราศจากขโมยขโจร มีที่หลบฝนหลบแดด สิ่งสำคัญที่จะทำให้ปลอดภัยนั้นไม่มีอะไรเกินไปกว่า ศีลธรรมของมนุษย์ ความบริสุทธิ์สะอาดกาย วาจา จิตใจ มีสัมมาอริยมรรค คือ 1) มีความเห็ตถูกต้อง 2) มีความคิดดีงาม 3) มีการพูดจาปราศัยเอื้อเฟื้อ 4) มีการปฏิบัติ ที่ถูกต้อง 5) มีการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง 6) มีความเพียรที่ถูกต้อง 7) มีสติที่ถูกต้อง 8) มีสมาธิที่ถูกต้อง

ที่เห็นนกไล่จิกตีกันตอนไปพาร์คนั้น นกตัวเล็กมันอยู่ไม่ได้เพราะมันรู้สึกไม่ปลอดภัย อยู่แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัยนกตัวเล็กมันก็บินหนี เพราะมันมีนกตัวใหญ่คอยไล่ตีไล่ฆ่า ส่วนปัญหาของคนมันไม่ปลอดภัยเพราะเหตุอย่างนี้ คือ 1) หาเงินผ่อนบ้านไม่ทัน "เรื่องนี้หลวงพ่อเข้าใจดี" 2) เจ้าหนี้ไล่ทวงเงินดอกเบี้ยและเงินต้น 3) มีโจรผู้ร้ายชุกชุม 4) มีเพื่อนบ้านเป็นคูรอริไม่ลงรอยกัน 5) มีสิ่งแวดล้อมเกิดมลภาวะเป็นพิษ มีเยอะแยะ ฯลฯ


ความเจ็บปวดมักซ่อนมากับคำหวาน

คำหวานคนชอบ แต่มักมาพร้อมความเจ็บปวด มาถึงตรงนี้ให้นึกถึงเรื่อง "พระมหาชนก" ผู้ครองสมบัติแห่งกรุงมิถิลานครบำเพ็ญ "วิริยบารมี" ตามชาดกแสดงไว้เอาสั้นสั้น ๆ ว่า เมื่อพระมหาชนกเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พอผ่านประตูก็ทรงเห็นต้นมะม่วง 2 ต้น แผ่กิ่งก้านเขียวชอุ่มสง่างาม ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นไม่มี แต่ไม่มีใครกล้าเก็บกิน เพราะพระราชายังไม่ได้เสวย

พระมหาชนกเสวยไปผลหนึ่ง รสหอมหวาน อร่อยมาก ตั้งพระทัยว่าเดี๋ยวจะกลับมาเสวยอีกผล แต่พอพระมหาชนกคล้อยหลังเท่านั้นแหละ ทั้งอุปราช ทั้งปุโรหิต อำมาตย์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนตะพุ่นช้าง ตะพุ่นม้า เมื่อรู้ว่าพระราชาเสวยแล้ว ต่างพากันแย่งกันรุมทึ้งเก็บกินมะม่วงที่เหลือ จนกิ่งหักแหลกลาญ ใบร่วงเกลื่อนกลาด สิ้นสภาพต้นมะม่วงที่เขียวงาม

ตรงข้ามกับต้นที่ไม่มีผล อย่าว่าแต่จะมีใครไปแตะต้องเลย กระทั่งจะแลก็ยังไม่มี ยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขาสง่างามเหมือนเดิม พอพระมหาชนกเสด็จกลับออกมา ตั้งใจจะเสวยมะม่วงเพิ่มอีก แต่ทอดพระเนตรเห็นสภาพดังกล่าว จึงตรัสถามอำมาตย์ว่าเกิดอะไรขึ้น อำมาตย์ก็กราบทูลให้ทรงทราบถึงสาเหตุว่า ต้นมะม่วงต้นหนึ่งยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาสง่างามเพราะไม่มีผล แต่อีกต้นที่มีผลดกหนาถูกยื้อแย่ง ใบร่วง กิ่งฉีกหักเกลื่อน

พระองค์ตรกอยู่ว่า : ราชสมบัติก็เหมือนต้นมะม่วงมีผล ที่มีผู้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาแก่แผ่นดิน วันหนึ่งอาจถูกโค่นล้มราชบัลลังก์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หากยังไม่ถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ พวกทหารก็คอยปฏิวัติรัฐประการกันเอง ต้องคอยเฝ้าหวงแหน ทั้งถูกพวกคณะมนตรีแก่ ๆ คอยประจบสอพลอ ทำให้เกิดความกังวลใจ

การบวชเหมือนต้นมะม่วงไร้ผล เพราะไม่มีผลประโยชน์ให้แสวงหา ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล พระมหาชนกทรงอธิษฐานจิตมั่นว่า เราจะไม่เป็นเหมือนต้นมะม่วงมีผล แต่จะเป็นเหมือนต้นมะม่วงไม่มีผล เราจะสละราชสมบัติออกบวช


เมื่อผ่านวิกฤตได้ ใจย่อมเข้มแข็ง

พระองค์ทรงห่วงใยว่าเพราะมะม่วงมีรสหวานประชาชนชอบจึงทรงแนะวิธีไว้ว่า 9 วิธี ฟื้นฟูต้นมะม่วง คือ

1. เพาะเม็ดมะม่วง

2. ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่

3. ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ

4. เอากิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล

5. เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น

6. เอากิ่งมาทาบกิ่ง

7. ตอนกิ่งให้ออกราก

8. รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล และ

9. ทำ ชีวาณูสงเคราะห์ ชีวาณูสงเคราะห์ ก็คือวิธีเพาะเนื้อเยื่อ

ดังนั้นเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นเป็นหน้าที่ของทุกคน โยมไม่ดีพระคอยบอก พระไม่ดีโยมก็คอยเตือน ทั้งพระภิกษุสงฆ์ - สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ต้องรู้จักช่วยกันหาทางดำรงพุทธศาสนา แต่อย่าบัญญัติอะไรที่ขัดต่อศีลต่อธรรมของท่าน การบัญญัติเพิ่มโทษในพระวินัยไม่ใช่หน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกาหรอก เอาจริง ๆ เป็นเรื่องของพระ อย่างอเมริกานั้นธรรมนูญเป็นใหญ่ สิทธิเสรีภาพเป็นใหญ่ แต่ต้องไม่เป็นไปเพื่อการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เอาหละ..!!! อะไรจะผิดจะถูกนั้นต้องพึงสังวรว่า "อย่าให้ข้าศึกได้ทีแอบอิงเข้ามาโฉบฉวยเอาประโยชน์ของชาวพุทธไปโดยเมื่อรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว " อย่างไรก็ตามทั้งภาครัฐ ภาควัด ภาคประชาชนนั้นต้องเจริญสติให้มาก ๆ รูปขอจำเริญพร


ป่วนปั่นศรัทธาคล้อย ตามข่าว
กวาดต้อนพระสงฆ์ฉาว ข่าวคุ้ง
ปลดจีวรยื่นชุดขาว หาห่อน คำนึง
ผิดถูกชื่อเสียงฟุ้ง ส่อสิ้นวงศ์สงฆ์ ฯ