ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



หลักธรรมครองเรือนครองรัก

เจริญพรท่านสาธุชนทุกท่าน เมื่อวันเสาร์ที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ให้ธรรมะที่ Thailand Plaza แทนท่าน ดร. พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโญ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา วันนั้นก็ได้แจ้งต่อพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญว่า คณะสงฆ์ติดศาสนกิจงานมงคลสมรส ตั้งใจว่าจะพูดธรรมะเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่กลับได้พูดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งวันนั้นได้ยกภาษิตข้อว่า "ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า" กล่าวถึงการออกเรือนสมัยพุทธกาล มีวัฒนธรรมการแต่งสะใภ้เข้าเรือนสามี หรือเรือนพ่อปู่แม่ย่า

ท่านทั้งหลาย "ในการเคี้ยวอาหาร ถ้าลิ้นกับฟันทำงานไม่ประสานกัน ก็มีหวังขบลิ้นตนเองต้องเจ็บปวดจนน้ำตาร่วง เช่นกัน ในชีวิตการครองเรือน ถ้าสามีภรรยาไม่รู้จักสงเคราะห์กันและกัน ไม่มีความเข้าใจกัน นอกจากจะไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีหวังช้ำใจจนน้ำตาร่วงได้เหมือนกัน"


ความหมายของสามี – ภรรยา

สามี แปลว่า : ผู้เลี้ยง (ผัว)

ภรรยา แปลว่า : คนควรเลี้ยง (เมีย)

คำทั้งสองนี้ เป็นคำที่แฝงความหมายอยู่ในตัว และเป็นคำคู่กัน ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าสามี ก็เพราะเลี้ยงดูภรรยา ผู้หญิงที่จะได้ชื่อว่าภรรยาก็เพราะประพฤติเหมาะสมเป็นคนน่าเลี้ยง พื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้สามีภรรยาครองชีวิตกันยืดยาว มีความสุข คือ คู่สามีภรรยาต้องมีสมชีวิธรรม (อ่านว่า สะ-มะ-ชี-วิ-ทัม) ได้แก่

1. สมสัทธา มีศรัทธาเสมอกัน ได้แก่ มีหลักการ มีความเชื่อมั่นในกันและกัน มีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน

2. สมสีลา มีศีลเสมอกัน ได้แก่ ความประพฤติศีลธรรมจรรยา กิริยามารยาทอบรมมาดีเสมอกัน

3. สมจาคะ มีจาคะเสมอกัน ได้แก่ มีนิสัยเสียสละชอบช่วยเหลือไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้างเสมอกัน

4. สมปัญญา มีปัญญาเสมอกัน ได้แก่ มีเหตุมีผล มีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน พูดคุยกันได้ทุกเรื่องอย่างโปร่งใส


วิธีทำให้ความรักยั่งยืน

การเป็นสามีภรรยากัน เป็นเรื่องที่ว่ายากก็เหมือนง่าย ครั้นว่าง่ายก็เหมือนยาก เพราะเพียงแต่เราตั้งความสำคัญไว้ที่แหวนหมั้นขันหมาก และเงินทุนให้มาก ๆ ความสุขในชีวิตสมรสจะมีเอง ตามคำที่ผู้ใหญ่ให้พรว่า "ขอให้อยู่กินกันยั่งยืน ถือไม้เท้ายอดทอง ถือกระบองยอดเพชร" อย่างนี้มิใช่เหตุให้เกิดความรักยั่งยืน

แต่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องมงคลสมรสไว้สั้น ๆ เพียงคำเดียวว่า "สังคหะ" แปลว่า การสงเคราะห์กัน และให้ปฏิบัติตามหลักสังควัตถุ 4 เพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ดังนี้

1. ทาน คือ การรู้จักให้ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือด้วยการแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่นที่ควรให้ ตลอดจนให้ปัญญา

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาน่ารัก ปราศรัยด้วยถ้อยคำสุภาพไพเราะ พูดด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ชี้แจ้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้กำลังใจ ก่อให้เกิดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

3. อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้อื่น เป็นการปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยกำลังความคิด กำลังกาย และกำลังทรัพย์

4. สมานัตตตา คือ การปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย การทำตัวให้เข้ากันได้ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเผชิญและแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน รู้จักผูกมิตรกับผู้อื่น


โอวาทการครองเรือน

ในสมัยพุทธกาล มีครอบครัวเศรษฐีแห่งเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ ชื่อว่า ธนญชัยเศรษฐี และนางสุมนา ซึ่งต่อมา ได้ย้ายมาอยู่เมืองสาเกตุ อันเป็นเมือง ที่อยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์ กับเมืองสาวัตถี ท่านมีธิดาสาว รูปงามคนหนึ่งชื่อว่า นางวิสาขา ต่อมานางได้ทำการสมมรสกับ ปุณณวัตนมาณพ บุตรชายของมิคาระเศรษฐี ก่อนส่งตัว นางวิสาขา ไปยังบ้านเจ้าสาว ท่าน ธนชัยเศรษฐี ได้ให้โอวาท เกี่ยวกับการครองเรือนไว้ 10 ประการดังนี้

1. ไฟในอย่านำออก - ไม่นำเรื่องราวปัญหา ความร้อนใจต่าง ๆ ในครอบครัวไปบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้

2. ไฟนอกอย่านำเข้า - ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่าง ๆ ภายนอกที่ร้อนใจ เข้ามาในครอบครัว

3. พึงให้แก่คนที่ให้ - เมื่อมีผู้มาหยิบยืมข้าวของเงินทอง ควรให้แก่นที่นำมาคืนเท่านั้น

4. พึงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ - ผู้ที่เคยหยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปหากยังกล้ามาหยิบยืมอีก ไม่ควรให้

5. พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ - การสงเคราะห์ญาติ แม้เขาจะนำมาคืนหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร ก็ควรให้

6. พึงกินให้เป็นสุข - ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีในเรื่องอาหารอย่าให้บกพร่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ตัวเราเองเวลากินก็จะกินอย่างมีความสุขไม่ต้องกังวล

7. พึงนั่งให้เป็นสุข - รู้จักที่สูงที่ต่ำ เวลานั่งก็ไม่นั่งสู่งกว่าพ่อแม่ของสามีจะได้นั่งอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล ไม่ถูกตำหนิ

8. พึงนอนให้เป็นสุข - ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี และยึดหลักตื่นก่อนนอนที่หลัง ก่อนนอนก็จัดการธุระการงานให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้นอนอย่างมีความสุข

9. พึงบูชาไฟ - เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองกำลังโกรธเปรียบเสมือนไฟกำลังลุกอยู่นั้น ก็ให้นิ่งเสียอย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพื่อมิให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต คอยหาโอกาสเมื่อเขาหายโกรธ แล้วชี้แจงเหตุผลให้ฟังอย่างนุ่มนวลจะดีกว่า "เมื่อเขาเป็นไฟ เราต้องเป็นน้ำคอยพร่ำพรม"

10. พึงบูชาเทวดา - เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองทำความดี ก็พยายามส่งเสริมสนับสนุน พูดให้กำลังใจ ให้ทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


ดังนั้น ขอท่านสาธุชนผู้กำลังจะออกเรือน และท่านที่มีเย่ามีเรือนแล้วนั้น จงตระหนักในธรรมทั้งปวง เพื่อชีวิตรักชีวิตคู่และหน้าที่ของเราให้ก้าวหน้ามั่นคง แล้วอานิสงส์การครองเรือนครองรัก การสงเคราะห์ภรรยา (สามี) ดังจะแสดงไว้ท้ายนี้

1. ย่อมทำให้ความรักยั่งยืน

2. ย่อมทำให้สมานสามัคคีกัน

3. ย่อมทำให้ครอบครับมีความสุข

4. ย่อมทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

5. ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

"ภรรยานั้นอยู่ใกล้ชิด หากไม่ผูกมิตร ชีวิตจะสั้น ภรรยานั้นอยู่ร่วมกัน หากคิดสร้างสรรค์ บ้านนั้นเจริญ" รูปขอจำเริญพร