ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



โครงสร้างศีลธรรม - โครงสร้างจิตใจ - โครงสร้างสังคม

ขอความเจริญในธรรมจงปรากฏแด่ท่านผู้มีบุญทุกท่าน แท้จริงชีวิตจำเป็นต้องศึกษาตลอดชีวิต ต้องฝึกฝนอบรมคุณธรรม ต้องเข้มงวดคือต้องรู้ผิดรู้ถูก รู้รับผิดชอบหน้าที่ มีศีลมีวินัย ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือแบ่งปันกันตามสิ่งอันสมควร โลกถ้าอุดมด้วยคุณค่าเหล่านี้ สังคมจะเข้มแข็งมีวินัยมีศีลมีธรรมมากเลยทีเดียว


4 อย่า ... สู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่

อย่า ... ท้อแท้กับชีวิตที่เกิดมา

อย่า ... คิดหนีปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่า ... แคร์คนอื่นที่จ้องแต่จะนินทา

อย่า ... ละทิ้งปฏิญญาแห่งความเพียรที่จะเรียนรู้สู้ชีวิต


ท่านทั้งหลายพระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ” (วิ-ริ-เย-นะ-ทุก-ขะ-มัด-เจ-ติ) แปลว่า “คนล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร”

วิริเยน หมายถึง ความบากบั่น เพียรพยายาม ความไม่ย่อท้อที่จะเรียนรู้ จนกว่าจะสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคนานาประการที่เป็นดุจมรสุมในการดำเนินชีวิตไปให้ได้

ทุกฺขมจฺเจติ หมายถึง ย่อมล่วงทุกข์, ความหมาย คือ พ้นทุกข์โดยสูงสุด หมายเอา วิริยะ คือความเพียรของพระโยคาวจร ที่เจริญวิปัสสนา…. วิริยะในที่นี้ได้แก่ “สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ” หนึ่งในองค์มรรคแปด และคำว่า ล่วงทุกข์ หรือพ้นทุกข์ ในที่นี้ หมายเอาการบรรลุนิพพานเป็นที่สุด

ความเพียรเป็นเหตุสร้าง พลัง
คนเมื่อมีความหวัง จึ่งสู้
เข้าใจเปลี่ยนแนวทาง ก้าวสู่ เส้นชัย
ชีวิตเพียรเรียนรู้ ล่วงพ้นยลหวัง ฯ


สังคมเลวเพราะคนดีท้อถ่อย

คนเรามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน ดังนั้นความมุ่งมั่นตั้งใจในการสู้ชีวิตของแต่ละคน เราย่อมมีไม่เท่ากัน ที่ทุกคน บอกว่า...สู้ ๆ เป็นกิริยาด้านบวก หลาย ๆ คนที่พยายามทำความดี พยายามนำพาความสำเร็จและประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ตนแก่สังคม โดยการคิดสิ่งที่ดี ๆ พูดในเรื่องที่ดี ๆ และทำเหตุแต่ละอย่างเพื่อให้เกิดผลที่ดี ๆ เกิดขึ้น นำพาพลังแก่งความสุขสงบให้เกิดขึ้นอย่างทรงพลัง

ในขณะเดียวกันกับอีกกลุ่มความคิดหนึ่งที่กำลังพยายามมองหาข้อผิดพลาด ทั้งที่ความสำเร็จได้เกิดขึ้นด้วยสุจริตใจของผู้ที่พยายามผลักดันพลังด้านบวกให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดอุปทานหมู่เกิดขึ้นจนได้ กลับมีประเด็นว่าความสำเร็จนั้น ๆ เกิดขึ้นโดยปราศจากความสุจริต สังคมเกิดความโกลาหลเคลือบแคลงสงสัย เป็นเหตุผลให้คนดีท้อแท้หมดกำลังที่จะไปต่อ

ตัวอย่างการย้ายวัดทุ่งเศรษฐีจากเมืองเลควูดเพื่อมาปักหลักอยู่ ณ เมืองแลงแคสเตอร์ ก็มองต่างกัน อย่างที่กล่าวไว้เป็นหลักกว้าง ๆ ว่า มีทั้งฝ่ายบวกฝ่ายลบ บางท่านมองปัญหาเป็นปัญหา บางท่านมองปัญหาเป็นโอกาส อย่างช่วงเปลี่ยนผ่านทางวัดต้องมีรายจ่ายมาก เช่น ค่า Mortgage ส่งบ้านหลังเก่าเมืองเลควูด และในขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายหลังใหม่ที่ซื้อสำเร็จแล้วนั้น

บางท่านบอกเมื่อยังไม่พร้อมแล้วรีบย้ายไปทำไม

บางท่านก็ภาวนาให้ผาติกรรมหลังเก่าให้ได้เร็ว ๆ จะได้ไม่เป็นภาระ 2 ด้าน

บางท่านบอกว่าเมื่อวัดไม่สามารถ ไม่มีความรับผิดชอบก็ให้ประกาศขายวัดใหม่นั้นเสียจะได้ไม่เป็นภาระต่อไป

บางท่านบอกว่ามีอะไรขาดอะไรให้บอกได้ทุกอย่างอย่าได้เกรงใจ ไหนๆ ตั้งใจแล้วมากน้อยก็ช่วยกันไป เป็นต้น ฯ

เหมือนว่าทุกสิ่งอย่าง ทุกอุปสรรค ทุกปัญหา ขึ้นอยู่กับการมอง ขึ้นอยู่กับต้นทุนบุญกุศลในจิตใจของแต่ละท่านจริง ๆ เรามาสร้างวัดสร้างบารมี มาสร้างบุญสร้างกุศล สร้างความสุข สร้างความสำเร็จ ต้องมีความอดทน ต้องมีความเพียรพยายาม ดังสุภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แล้วนั้นเป็นความจริงยิ่งนัก

อุปมาฉันใด อุปมัยฉันนั้น เป็นธรรมดาของการเริ่มต้นทุกอย่าง สะดวกก็มี ลำบากก็มาก เพราะต้นทุนคนเรามีมาต่างกัน สู้ ๆ คำเดียวที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ อย่างที่บอกว่า เรามองปัญหาให้เป็นปัญหา หรือมองปัญหาให้เป็นโอกาสต่างหาก เช่น

บางคนมีศรัทธาสร้างวัด เขาก็มุ่งมั่นในใจสร้างวัด สร้างจิตสำนึกทุกอย่างทางศีลธรรม

บางคนมีศรัทธาสร้างสังคมเขาก็มุ่งมั่นตั้งใจทำประโยชน์เพื่อสังคม สร้างจิตสำนึกทุกอย่างทางสังคม

“เพราะสังคมต้องอยู่ร่วมกันเราจึงต้องช่วยกันสร้างสรรค์ศีลธรรม” คนไม่สู้ปัญหา คือคนไม่เข้าใจชีวิต วันนี้อาตมาลำบาก แต่จะขอเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ต่อภายหน้าขอเพียงเพื่อให้อนุชนได้มีวัดเป็นที่ยึดโยง มีพระประธานเป็นที่สักการะบูชา มีพระธรรมคำสอนให้เป็นแนวทางการปฏิบัติสู่ชีวิตงาม มีพระสงฆ์ศาสนทายาทดูแลงานสานต่อก็พอใจแล้ว


ปิดทองหลังพระ

เพ่งพิศ จิตน้อม ค้อมศิระ
ปิดทอง หลังพระ สละสิ้น
กิเลส เหตุหมอง ข้องมลทิน
ปลงสิ้น ดิ้นรน ฝนฝึกใจ ฯ

ปิดทอง หลังพระ ชำระจิต
โสภิต จิตนั้น พลันสุกใส
ไม่ขุ่น เคืองข้อง หมองดวงใจ
สดใส ใจหยุด วิมุติเย็น ฯ

ปิดทอง หลังพระ ประเสริฐแท้
แน่วแน่ แก้กรรม ข้ามทุกข์เข็ญ
ลึกล้ำ ข้ามพ้น ดลสุขเย็น
หลีกเว้น เห็นภัย ใจชื่นบาน ฯ

ปิดทอง หลังพระ ละสับสน
บุญล้น คนไหว้ ไกลสังสาร
คนรู้ ผู้ไหว้ ใกล้นิพพาน
เบิกบาน บริสุทธิ์ มุตโตทัย ฯ