ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อำนาจในกะลาครอบ

ท่านพุทธบริษัท สาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย กฎแห่งธรรมชาติคืออำนาจอันยิ่งใหญ่ ภายใต้ดวงตะวันเดียวกันทุกคน ทุกชนชั้นวรรณะ มีความเป็นอยู่ภายใต้อำนาจเดียวกัน ทั้งภาคปรมัตถ์และภาคสมมุติ ถ้าเราไม่เรียนรู้ให้เท่าทันธรรมชาติ เราจะใช้อำนาจให้ถูกธรรมได้อย่างไร? ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า มีอำนาจอะไรบ้างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน “อาธิปเตยยสูตร”

1 อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่)

2 โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่)

3 ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่)

อำนาจ 3 ที่พระพุทธเจ้าที่ทรงกล่าวไว้นั้น พอจะสรุปลงที่ ความมีต้นทุนเท่ากัน คือ ความไม่เที่ยง, ความควบคุมอำนาจให้ยั่งยืนไว้ไม่ได้, ความที่ไม่ใช่เจ้าของอำนาจที่แท้จริง เป็นแต่การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำความดีงามฝากไว้ให้โลกชื่นชม


อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

มนุษย์และสัตว์โดยทั่วไปล้วนต้องการแสดงออกมาซึ่งอำนาจที่ตนมี ยิ่งคนผู้มีฐานันดรศักดิ์ ล้วนอยากเป็นใหญ่ที่สุด อยากมีอำนาจที่สุดในโลก การได้ปกครองคนอื่นตามที่ใจตนนึกนั้น เป็นได้ทั้งบวกและลบ คือถ้ามี

- สติ เป็นอำนาจฝ่ายบวก เพราะเป็นจิตฝักใฝ่ฝ่ายดีที่เที่ยงธรรม

- อคติ เป็นอำนาจฝ่ายลบ เพราะเป็นจิตฝักใฝ่ฝ่ายลำเอียงไม่เทียงธรรม

ส่วนผู้มีอำนาจน้อยด้อยวาสนา ล้วนอยากนำพาตนให้หลุดพ้นจากการถูกข่มเหง อยากมีอำนาจให้มากขึ้น จะได้ไม่ถูกผู้มีอำนาจรังแกตามอำเภอใจ ในอิสสรสูตร มีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า :-

“อะไรเป็นใหญ่ในโลก ?”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า :-

“อำนาจเป็นใหญ่ในโลก”

เมื่อจะดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึง “อำนาจ” ว่าอย่างไร ? จะเห็นได้ว่าในพระไตรปิฎกมีเรื่องเกี่ยวกับอำนาจมากมาย ไม่ใช่เฉพาะอำนาจการปกครองเท่านั้น ยังมีอย่างอื่นอีก เช่น อำนาจแห่งความดี และความงาม อำนาจแห่งกิเลสและตัณหา อันน่าพึงพอใจรักใคร่ ทำให้คนใจบอด และตาบอด เพราะเมื่ออำนาจแห่งราคะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำแก่ใครนั้น ย่อมทำให้บังเกิดความเลวทราม และถดถอยต้อยต่ำ เป็นไปตามอำนาจแห่งกิเลสที่เข้าครอบงำ “อำนาจในกะลาครอบ”


สมาธิคืออำนาจทางจิต

ชาวพุทธเราเชื่อว่า อำนาจสมาธิสามารถรักษาโรคได้ ฯลฯ สรุปคือ “อำนาจ” สามารถควบคุม ครอบครอง และครอบงำได้ ความจำเป็นสำคัญจึงต้องเพียรศึกษาเรื่อง “สัมมาสมาธิ” เพื่อเป็นหนทางสู่แสงสว่างอันงดงามและยั่งยืนในอริยมรรคนั่นเอง

ดังนั้น เราควรจำแนกเรื่องของอำนาจกันให้ชัดเจน บอกให้เห็นเป็นแนวทางว่า มีทั้งอำนาจทางโลก และอำนาจทางธรรม

1) อำนาจทางโลก คือถูกอำนาจค่านิยม หล่อหลอมผูกขาด เช่น อำนาจทางการ ศึกษาปกคุมครอบครองความคิด คำพูด ตลอดจนการกระทำ ผู้มีอำนาจปกครองคนอื่นได้ ผู้นั้นสมควรได้ชื่อว่าผู้นำการปกครอง อำนาจทางโลกคงเริ่มจากความเป็นผู้นำครอบครัว เช่น สามีก็ต้องการความเป็นผู้นำ ส่วนภรรยาก็ต้องการครองความเป็นหนึ่ง ไม่ ต้องการความเป็น 2 รองใคร ความเป็นใหญ่ในบ้าน เป็นเจ้าของสามีแต่เพียงผู้เดียวเป็น ต้น ฯ

2) อำนาจทางธรรม คืออำนาจควบคุมปกครองกิเลสในตน ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้ทำผิดศีลผิดธรรม ผู้ใดปกครองกิเลสในตนได้ ผู้นั้นสมควรได้ชื่อว่า “พรหมจรรย์” ศีล แม้มีผู้เคร่งครัดเอาเป็นเอาตาย ในพระสูตรแล้วยังจัดว่า “เป็นหรพมจรรย์ขั้นต่ำ” ผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธินั้นจัดว่า “เป็นพรหมจรรย์ขั้นกลาง” ส่วนผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น ชื่อว่าได้ปฏิบัติแจ้งทางปัญญาจนสิ้นสงสัยแล้วจัดว่า “เป็นพรหมจรรย์ขั้นสูง”

ผู้ควบคุมลิ้นของตนไว้ได้ ย่อมชื่อว่าควบคุมบาปทั้งปวงได้ “ลิ้นหมายถึง ตัณหาความทะยานอยาก ส่วนบาปหมายถึงการพยายามตอบสนองตัณหานั้น ๆ” ดังนั้นพรหมจรรย์ 3 ขั้นตอน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐเจริญได้ทุกขั้นตอน


อำนาจในกะลาครอบ

หลวงพ่อไม่ได้หมายถึงผู้ที่ขาดน้ำใจไมตรี ผู้ที่มีอัตตาและอคติเท่านั้น ยังหมายถึงผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งราคะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำทั้งหลายนั่นเอง ผู้ครองเรือน ครองบ้านครองเมืองพึงมีธรรม 4 ประการนี้ คือ :-

สัจจะ = จริงใจ ทมะ = ฝึกฝน ขันติ = อดทน จาคะ = เสียสละ การสืบทอดอำนาจ เป็นเจตนาแห่งเผด็จการทางการปกครองที่ยากจะถอนตัว เพราะมันยั่งรากลงลึกเสียแล้ว รูปขอจำเริญพร