ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ศึกษาความแตกต่างของกำลังสติ

สาธุชนท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย เรามักจะได้ยินคำที่มาคู่กันว่า "สติปัญญา" การศึกษาทำความเข้าใจให้แจ้งชัดว่า สติมา - ปัญญาเกิด จริง ๆ แสดงให้เห็นว่า สตินั่นเองที่เคลื่อนไหวเลื่อนไหล ถ้าสติไม่มา - ปัญญาก็ไม่เกิด เรื่องเล็ก ๆ ในข้อความพยางค์สั้น ๆ หากเพ่งพินิจความละเอียดอ่อนจะทำให้เราลึกซึ้งในความหมายต่าง ๆ อีกมากมายกับถ้อยคำที่ทรงพลังเหล่านั้น


สติในสมถะ

พูดถึงสติโดยธรรมชาติแล้วก็มีกันทุกคน ทั้งนี้แม้ในสัตว์ก็มี ขอท่านทั้งหลายให้พิจารณาดูเถิด สติในสมถะเกิดขึ้นโดยการเพ่งดู ดูอะไร ๆ ทุกอย่างนั้นด้วยสติ จัดเป็นสติในสมถะทั้งนั้น ส่วนว่าขั้นละเอียดต่างกันเป็นขณะ ๆ ไป ข้อดีนั้นทำให้เกิดความสงบระงับและยับยั้งได้โดยระดับหนึ่งเท่านั้น เผลอเมื่อไหร่ก็ได้เป็นเรื่องเกินควบคุม สติในสมถะเกิดขึ้นระยะสั้นก็ได้ เกิดขึ้นระยาวก็ได้ อยู่ที่ความยินดีของแต่ละท่าน บัญญัติเป็นคนคนไปอาตมาขอเรียกว่าอย่างนั้น และส่วนมากก็จะเห็นอย่างนั้น ให้ท่านผู้ศึกษาธรรมทั้งหลาย ลองนำไปพิจารณาต่อยอดดูกันเอง ผลของการปฏิบัติธรรม ผลของการเสวยอารมณ์มันเป็นของเฉพาะตน เกิดขึ้นในตนของตน หยิบยื่นให้กันไม่ได้ (ถึงให้กันได้ ก็ได้...ไม่ทั้งหมด)


สติในวิปัสสนา

จริง ๆ สติในวิปัสสนาก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากอะไรนะ "สติมา ปัญญาเกิด" อาตมาจะมาย้ำคำนี้เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของคำง่าย ๆ ที่เป็นหญ้าปากคอก ให้เข้าหลักศึกษาสติในวิปัสสนานะ อาตมาไม่ใช่ด็อกเตอร์ผู้รู้เชี่ยวชาญอันใดหรอก เพียงจะบอกเล่าสิ่งที่ตนเองสัมผัสจะเข้าใจตามประสาพระบ้านนอกบ้านนานั้นแหละ อย่างที่เคยมีประสบการณ์มาว่า

"เมื่อเรามีโยนิโสมนสิการ ตั้งสติกำหนดที่รูป จิตแกร้วกล้าแล้วนั้น นั่นคือจิตเป็นสมาธิแล้ว การเห็นรูปนั้น อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี ย่อมเห็นได้ชัดเจนแน่นอน เรียกว่ารู้เห็น - รู้หนอ หรือ เห็นหนอ คือเห็นสัจจะภาวะในขณะนั้น ๆ จริง ๆ นี้เป็นปัญญาภาวนา เกิดจากวิปัสสนา คือยกจิตขึ้นพิจารณาสภาวะนั้น ๆ แม้อธิบายเป็นตัวหนังสือยากอยู่นะ เอาเป็นว่า "โยนิโสมนสิการเป็นสติในวิปัสสนานั่นแล" เข้าใจรึยัง นี้ง่ายแล้วนะ ครูบาอาจารย์จึงบอกเสมอว่า ไปกำหนด ๆ กำหนดให้เห็นด้วยตนเองนั่นเทียว ฯ

ดังนั้น สรุปว่า "การกำหนด พองหนอ - ยุบหนอ" จึงเป็นการสังเกตด้วยโยนิโสมนสิการ อันประกอบด้วยอาตาปีสัมปชาโน (วิริยะ - ความเพียร) (สติ - ความระลึกได้) (สมาธิ - ความตั้งมั่นแห่งจิต) และ (สัมปชัญญะ - ความรู้ตัวทั่วพร้อม) ที่กล่าวมานี้เป็นสัมผัสของบ้านนอกบ้านนาเน้อ ถ้าโยมท่านใดมีข้อสังสัย ให้ลองศึกษาเพิ่มในมหาสติปัฏฐานสูตร แล้วผู้ปฏิบัติ (หรือท่านเรียกว่าพระโยคาวจร) จะเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตนของรูปธรรมและนามธรรม มีสัมมาทิฏฐิและวิชชาญาณเกิดขึ้น จนสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด ซึ่งอาตมาเชื่อตามแนวทางนี้ จึงได้เสนอแนวทางนี้เป็นนิทัศนะ การปฏิบัติธรรมเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความมีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ปราชญ์ชื่นชมพรหมก็สรรเสริญ วันนี้พอแค่นี้ อ่านบทกลอนนี้แล้วนำไปพิจารณาต่อกันนะ พบกับหลวงพ่อได้ใหม่สัปดาห์หน้า รูปขอจำเริญพร


ไม่รู้ไม่พูด - ไม่พูดไม่รู้

ความจริงจริง นิ่งเป็นใบ้ ให้รู้พูด
ส่วนความจริง สิ่งสมมุติ ให้พูดได้
สติมา ปัญญาเกิด อย่างฉับไว
ความผ่องใส เกิดจากใจ ที่สุขเย็น ฯ

ชวนเข้าวัด ผลัดกันช่วย อุปถัมภ์
นัดฟังธรรม กิจกรรม ทำให้เห็น
นำปฏิบัติ ภาวนา ทุกเช้า - เย็น
รู้พัฒนา สิ่งที่เห็น เป็นบทเรียน ฯ