ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อภิณหะปัจจเวกขณะกถาพิจารณาในสิ่งที่เห็น

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย การพิจารณาอภิณหะปัจจเวกขณะกถา สิ่งที่สาธุชนพุทธบริษัทควรพิจารณาเนืองๆ ซึ่งเป็นศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า การสวดมนต์ภาวนาในบทธรรมเหล่านี้นั้นทำให้เราได้ "พบความจริง ในสิ่งที่เห็นและได้พิจารณา ได้เข้าใจธรรม ได้ปัญญาอีกมากมายในบทธรรมอภิณหะปัจจเวกขณะกถา" การที่ญาติโยมฟังพระสวดมนต์บทต่างๆ ก็ดี หรือได้สวดสาธยายด้วยตนเองก็ดี ถ้าสวดเฉพาะคำบาลีท่านได้ศีลสมาธิไปเต็ม ๆ แต่ถ้าได้สวดแปลด้วยแล้วนั้น จักได้ครบด้วยเกิดความเข้าใจในเนื้อธรรมนั้น ๆ ปัญญาความรู้แจ้งก็เกิดขึ้น ไตรสิกขา (สิกขา 3) ก็เกิดขึ้นครบพร้อม เราจะได้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายที่เดียว ในห้วง แห่งบรรยากาศความโศกาอาดูร องค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็กล่าวธรรมะไว้ ให้เป็นหลักพิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ตัวอย่าง เช่น เรื่องของพระนางกีสาโคตมีเถรี


พระนางกีสาโคตมีเถรี (เอตทัคคะผู้ทรงจีวรหมองเศร้า)

ท่านเกิดในวรรณะไวศยะ ตระกูลเศรษฐี เดิมชื่อโคตมี แต่เนื่องจากในเวลาต่อมามีร่างกายซูบผอม ผู้คนจึงมักเรียกท่านว่า "กีสาโคตมี" แปลว่า ท่านโคตมีผู้มีรูปร่างผอม ในชีวิตฆราวาสชีวิตท่านผันผวนนัก ต่อมาตระกูลของท่านได้ยากจนลงด้วยเหตุบางอย่าง ต้องบอกได้ว่าชีวิตท่านและครอบครัวนั้นถึงกับล้มละลายมาแล้ว ต่อมาท่านได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีที่มีฐานะดีกว่ามาก ๆ แต่ก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากตระกูลของสามีมากเท่าใดนัก ครั้นท่านได้ให้กำเนิดบุตร พ่อแม่ของท่านต่างปฏิบัติต่อท่าน เลี้ยงดูท่านอย่างดีมาก ๆ สะใภ้เมื่ออยู่ร่วมชายคากับพ่อแม่สามี แล้วรับเกียรติเป็นที่ยอมรับ ให้ความรักใความเห็นอกเห็นใจอย่างนั้น ท่านอยู่ด้วยก็เบาใจ

ขณะที่พ่อแม่กำลังหลงหลานชายที่น่ารัก และท่านกีสาโคตมีก็มีความสุขมากขึ้น ๆ ระหว่างนั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อลูกน้อยของท่านล้มป่วย และตายลงในเวลาไล่เลี่ยกัน ความรัก ความหวังของผู้เป็นแม่นั้น ท่านไม่สามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตานี้ได้ ยังดึงดันว่าจะต้องมีหมอวิเศษที่สามารถชุบชีวิตลูกน้อยที่กำลังน่ารักของนาง ให้กลับคืนชีพขึ้นมาได้ ด้วยใบหน้าที่นองน้ำตา ท่านหอบอุ้มลูกเที่ยวตระเวนไป พล่ามจนเพ้อ แสวงหาหมอวิเศษที่จะช่วยชุบชีวิตลูกนางให้จงได้ ชายคนหนึ่งเห็นนางหอบศพลูกน้อยเที่ยวตระเวนไปก็ให้เวทนา จึงเป็นธุระพาท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ธรรมโอสถให้ท่านคลายจากความเศร้าโศกาลงได้บ้าง

พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้วาระจิตของท่านกีสาโคตมี จึงใช้กุศโลบายบอกท่านว่า ให้ท่านอุ้มศพลูกชายไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนที่ไม่มีคนตายมาทำยา ลูกของท่านก็จะฟื้นกลับมาได้ ท่านได้ฟังก็ดีใจยิ่งนัก หอบศพบุตรรีบรุดเข้าไปในตลาดทุกบ้านเรือนเพื่อขอเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่แล้วทุกหลังคาเรือนต่างบอกเหมือนกันว่าเคยมีคนตายมาแล้วทั้งสิ้น ท่านกีสาโคตมีจึงได้สติคิดได้ว่าความตายนี้มีทั่วไปแก่ทุกคน เป็นสมบัติของทุก ๆ คน ไม่ว่ารวยหรือจน กรรมกรหรือพระราชา ไม่ว่าเด็ก หรือหนุ่มสาวเฒ่าชรา ล้วนมีความตายเป็นธรรมดาดัจเดียวกัน ท่านจึงอุ้มศพบุตรชายไปทิ้งไว้ในป่าช้า แล้วกลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

โอกาสนั้นเองพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมว่า "ผู้ใดเห็นความเกิดและความเสื่อมไปในเวลาเพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าที่จะอยู่ถึง 100 ปีโดยไม่เข้าใจธรรมะใด ๆ เลย ความไม่เที่ยงนี้เป็นธรรมสากล เป็นความจริงของคนทุกชาติชั้นวรรณะ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็ไม่ว่างเว้นจากความตายไปได้ เป็นธรรมของโลกและเทวโลกทั้งปวง"

เมื่อท่านกีสาโคตมีได้ฟังเพียงเท่านี้ จิตใจที่ถูกบ่มเพาะในความทุกข์อันเนื่องจากความพลัดพรากเป็นฐานอยู่แล้ว จึงมีดวงตาเห็นธรรมโดยง่าย เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเสร็จ ท่านก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล และได้ทูลขอออกบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์ ท่านเก็บผ้าจากกองขยะป่าช้า และตามถนน นำมาทำเป็นผ้าสังฆาฏิทรงจีวรอันเศร้าหมอง ไม่มีความยึดมั่นในบริขารอันได้แก่เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แล้วได้ทำความเพียรปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา ไม่นานก็ได้บรรุอรหัตผล

พระกีสาโคตมีเถรีเป็นภิกษุณีที่มีความชำนาญในฤทธิ์และทิพยโสต รู้วาระจิตของผู้อื่น ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เนื่องด้วยท่านเป็นผู้ยินดีในจีวรอันเศร้าหมอง พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญ และตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าภิกษุณีรูปอื่นทางด้านทรงจีวรอันเศร้าหมองนั่นเองฯ


อีกตัวอย่างใน ติโรกุฑฑกัณฑะสุตตะ

พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ติโรกุฑฑกัณฑะสุตตะคาถา โดยสรุปแปลมาแล้ว ได้เนื้อธรรมว่า บุคคลมาระลึกถึงอุปการะอันที่ท่านผู้นี้ได้ทำให้แก่ตนในกาลก่อนว่า ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจนี้ของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเราดังนี้ ก็ควรให้ทักษินาทาน เพื่อผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว การร้องไห้ก็ดี การเศร้าโศกก็ดี หรือการร่ำไรรำพันอย่างอื่นก็ดี บุคคลไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะว่าการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลาย ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้น ก็ทักษิณานุปทานนี้แล อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในพุทธสาวก ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วนั้น ตลอดกาลนานตามฐานะญาติธรรมนี้นั้น ท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว แลบูชายิ่ง ท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละโลกนี้ไปแล้ว กำลังแห่งภิกษุทั้งหลายชื่อว่าท่านได้เพิ่มให้แล้วด้วย ท่านได้ขวนขวายแล้ว เป็นบุญอันไม่มีประมาณ ดังนี้แลฯ

บทสวดมนต์เหล่านี้หากเรามิได้สวดแปล เราก็จักไม่สามารถทราบได้ว่า พุทธประสงค์ของพระองค์นั้น อาตมาก็ว่ามีทั้งคำที่บอกสอนตรง ๆ คำที่เป็นกุศโลบายวิธี คำปลอบโยนให้กำลังใจ จนกว่าบุคคลนั้น ๆ จะเห็นธรรมโดยวิสัย ปละกำลังแห่งบุญของบุคคลนั้น ๆ ที่พระองค์ทรงโปรดประทานธรรม ฝากบทง่าย ๆ ให้ญาติโยมลองนำไปสวดพิจารณา อภิณหะปัจจเวกขณะกถา บทนี้ เพื่อบรรเทารักษาใจให้คลายโศกาอาดูร เพื่อกลับมาทำหน้าที่อันดีของตน ๆ ให้มั่นคงเจริญก้าวหน้า พร้อมกับความเกื้อกูลสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ยิ่งใหญ่สืบต่อไป

ชะราธัมโมม๎หิ ชะรัง อะนะตีโต (หญิง*อะนะตีตา)

- เรามีความแก่เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้

พ๎ยาธิธัมโมม๎หิ พ๎ยาธิง อะนะตีโต (ญ*อะนะตีตา)

- เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้

มะระณะธัมโมม๎หิ มะระณัง อะนะตีโต (ญ*อะนะตีตา)

- เรามีความตายเป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว

- เราจะต้องพลัดพรากจากของรัก ของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง

กัมมัสสะโกม๎หิ กัมมะทายา โท (ญ*ทา) กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระ โณ (ญ*ณา)

- เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน, มีกรรมเป็นผู้ให้ผล, มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นผู้ติดตาม, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยัง กัมมัง กะริสสามิ, กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา, ตัสสะ ทายา โท (ญ* ทา) ภะวิสสามิ

- เราทำกรรมอันใดไว้, เป็นบุญหรือบาป, เราจะเป็นทายาท, คือว่าเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป

เอวัง อัม๎เหหิ อะภิณ๎หัง ปัจจะเวกขิตัพพัง

- เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนือง ๆ อย่างนี้แลฯ


อิมินา กตปุญญวเสนะ ด้วยอำนาจแห่งทักษิณานุปทานปัตติทานมัย กุศลทั้งปวงที่คณะพสกนิกรชาวไทย และทุกคนทุกท่านที่เป็นเจ้าภาพได้บำเพ็ญอุทิศแล้วนี้ ขอจงเป็นพลวปัจจัยให้บังเกิดเป็นอิฏฐคุณ มนุญผลวิบากสมบัติอันเป็นทิพย์ แด่ดวงพระวิญญาณของ องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"

สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ด้วยพระบารมีแห่งพระองค์ และด้วยความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ความดีงามที่อุทิศแล้วบำเพ็ญแล้ว จงเป็นปฏิพรย้อนมาเป็นกำลังแห่งความดี ให้กับประเทศชาติ และประชาชนไทยได้พัฒนาสถาพร เจริญรุ่งเรืองไปเบื้องหน้าสืบไปด้วยเทอญ อภิณหปัจจเวกขณกถา พรรณนาถึงสิ่งที่พุทธบริษัทพึงพิจารณาเนืองๆ มา ก็ขอสมมติยุติลงด้วยเวลา รูปขอจำเริญพร