ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



หยุดก่อนได้ไหม? ก่อนที่จะก้าวต่อไป

ท่านทั้งหลายเรากำลังเดินไกลนะ ไกลออกจากกองกิเลสเหตุอันให้เกิดทุกข์ เกิดความเศร้าหมอง ถ้าใจของเรามีความทุกข์ ชีวิตมันไม่สดใส ดังนั้นเดินทางให้ห่างไกลจากความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพราะอาจหมายถึงว่าเราเข้าถึงธรรมะ เข้าใจธรรมะ ซึ่งเป็นเหตุให้เราทั้งหลายปรับเปลี่ยนเรียนรู้ความทุกข์ เข้าถึงและเข้าใจความทุกข์ จนกระทั่งว่าเราไม่ต้องการหอบเอาความทุกข์นั้นๆ อีกต่อไป เรื่องอย่างนี้บางท่านไม่รู้ตนเองว่ากำลังอยู่จุดเริ่มต้นตรงไหน วันนี้เหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า กับภารกิจหลายๆ อย่าง จนกระทั่งอยากพูดคำว่า ....หยุดก่อนได้ไหม? ก่อนที่จะก้าวต่อไป....(หยุด คือ หยุดทบทวนศึกษาไตรสิกขาของเราชาวพุทธให้ถูกทาง เพราะมิฉะนั้นจะหลงทางไปไกล)

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะหนทางการดับกิเลส ดังนั้น ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ก็ต้องเข้าใจว่า คืออะไร? ถ้าเรากำลังเดินไกลนะ ก็จะไม่ยอมไกลไปจากหลักธรรมที่เป็นธงชัยให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา ความรู้ความสามารถ และเครื่องมือที่ดีที่สุดในการศึกษาเข้าใจธรรมะที่ละทิ้งไม่ได้คือเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่มีต้นทุนอยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น

ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้ง ศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญา

สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และสมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา

ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ คือ ความเห็นถูกเช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟังการศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา

เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรมไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี หากแต่ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลสเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่ อธิศีลสิกขา สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่ สมาธินั้นไม่ใช่ อธิจิตสิกขา ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การเข้าถึงหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา เราต้องรักษาศีล คือความสำรวมกายวาจาให้ดีเสียก่อน โบราณบัณฑิตท่านกล่าวไว้ดีว่า "ปิดหูซ้าย - ขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย" หลังจากนั้นแล้วค่อยอบรมสมาธิ ความตั้งมั่น หนักแน่น ไม่โยกโครง สมาธิจะทำให้เราไม่โอ้เอ้ลังเลใจ แล้วจึงค่อยก้าวขึ้นไปอีกขั้นตอนหนึ่ง คือไปเจริญวิปัสสนาได้ที่เป็นปัญญา กล่าวคือเราต้องเข้าใจพื้นฐานกับบทบาทต่างๆ ทั้งหมดทุกสิ่งอัน นั่นแหละ ทั้งที่เป็นศีล สมาธิ และปัญญา

อย่างเรื่องสติปัฏฐานในพระสูตร ก็เป็นหลักการเจริญวิปัสสนาดีๆ นี่เอง ขณะใดที่จิตเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ทั้ง 2 นี้ เป็น (อธิปัญญา) และมีสัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือสมาธิ) เมื่อจำแนกให้ชัด ก็จะมีเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิด้วย และมีศีลด้วยในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นเจริญอยู่ อินทรียสังวร การสำรวมทางตาหู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด

.....ฮืม....ขอโทษจริงๆ มันเข้าใจอยากอยู่นะ กับการที่จะถ่ายทอดอารมณ์กัมมัฏฐานให้ออกมาเป็นตัวอักษร บางครั้งต้องกล่าวคำนี้กันไว้เหมือนกัน "โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน" ก็อย่างที่บอก การศึกษาประสบการณ์ตรง ก็ต้องอย่าให้ไกลหลัก อย่าทิ้งหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนั้นๆ เช่น อริยมรรค อาตมายังคงย้ำที่จะศึกษารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เก็บแต้มเรื่องราวในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ไปเรื่อยๆ ก่อน

มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นกล่าวมรรค อันประกอบด้วยองค์ 8 แล้ว ย่อมเป็นหนทางถูก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส, หนทางอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ 8 อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นจากความเป็นปุถุชน และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาดซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค 8 ประการ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น ฯ

เพราะฉะนั้น จากคำถาม ศีล สมาธิ ปัญญา สอดคล้องกับ อริยมรรคอย่างไรในความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง เพราะ ศีลก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ ส่วน สมาธิ คือ สัมมาวายามะสัมมมาสติ และ สัมมาสมาธิ และ ปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เมื่ออริยมรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้น ก็มี ศีล สมาธิ และ ปัญญาด้วยอย่างครบถ้วน

ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ มาร่วมถืออุโบสถศีล สวดมนต์สรภัญญะ นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา ตลอดถึงการรับเป็นเจ้าภาพต้นกัณฑ์เทศน์มหาชาติชาดก 13 กัณฑ์ ในไตรมาสนี้ เจ้าภาพต้นประธานหลัก ทุกคนทุกท่านได้ช่วยกันจรรโลงรักษาประเพณีการเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ อย่าลืม อย่าพลาด หากท่านใดมีจิตประกอบกุศล สนใจเดินทางไปวัดทุ่งเศรษฐี ร่วมรับฟังเทศน์ให้เป็นการสร้างบารมี "3 เดือนแห่งการสร้างความดีงาม 1 ไตรมาสแห่งการสร้างบารมี" บุญเป็นสมบัติของท่านทุกคน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. (562) 865-1716 ขอให้ศีลธรรม งามสง่าอยู่ใจจิตใจเราเป็นนิจ เทอญ.