ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อำนาจของจิต

อริยชน ผู้ไป ไกลข้าศึก
ฉลาดลึก รอบรู้ สู้กิเลส
สงบกาย สะอาดใจ ไกลจากเหตุ
ธำรงเพศ สว่างเย็น เห็นนิพพาน ฯ

ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย วิหัญญะตี จิตตะวะสานุวัตตี. “ผู้ประพฤติตามอำนาจจิต ย่อมถึงความลำบาก” (ขุ.ชา.ทุก. 27 / 90) ด้วยธรรมชาติของน้ำ ย่อมไหลราดลงสู่ที่ต่ำอยู่ตลอดเวลาฉันใด จิตใจของปุถุชน ย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำเช่นเดียวกัน คือยินดีในสิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ฉันนั้น


อำนาจของจิตฝ่ายต่ำ

ย่อมยังบุคคลผู้ประพฤติตามอำนาจของจิตนั้น ประพฤติตามสิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งนั้นจะต่ำลงลึกลงจนถึงอเวจีนรก และยากที่จะถอนตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ อำนาจของจิตฝ่ายต่ำทรงอานุภาพให้เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุด ไม่ว่านักพรต นักบวช หรือฆราวาสญาติโยมผู้ครองเย้าเรือน ทุกสถานะอาชีพ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง อำนาจจิตฝ่ายต่ำเปรียบได้เหมือน พญานกอินทรี ผู้มีจะงอยปากและกรงเล็บอันแข็งแกร่ง และสายตาอันแหลมคม เมื่อบินทะยานสู่เวหาเพื่อสอดส่ายสายตาหาเหยื่อฉันใด และเมื่อพบเหยื่อก็จะดำดิ่งโฉบลงสู่พื้นเพื่อมากินสัตว์ หรือไม่ก็ซากสัตว์ฉันนั้น

เมื่อประพฤติตามอำนาจของจิตเช่นนี้ ย่อมเสี่ยงที่จะทำความผิด สร้างความหายนะเดือดร้อนให้กับตนเองและสังคม เมื่อทำตามอำนาจของจิตอย่างนี้ ย่อมไม่วายที่จะได้รับความเดือดร้อนจากกิเลสกรรม เหตุทำให้เศร้าหมอง สิ่งที่จิตสั่งสมอารมณ์เอาอำนาจเหล่านั้นไว้


อำนาจของจิตฝ่ายสูง

พระอริยะเจ้า มุ่งสู่ธำรงจิตตามแนวอริยอัฏฐังคิกมรรค ความมีปฏิปทาของพระอริยะเจ้า พร้อมด้วยมีความเรียบง่าย ทำให้บางทีเราอาจมองเห็นปฏิปทาท่านยาก เฟ้นหายาก ด้วยวิสัยปุถุชนวิสัยพระอริยะเจ้ามีความต่างกัน อำนาจจิตฝ่ายสูงมิได้ฟู่ฟ่าหวือหวาโดดเด่นมีฤทธิ์มีเดชทันทีทันใด ไม่เหมือนจิตฝ่ายต่ำ เช่น ความโกรธกริ้วเกิดขึ้นทันที และทันใดนั้นก็มีผลเห็นทันตาอย่างรวดเร็ว


ธรรมของสัตบุรุษ, สู่ความเป็นอริยะ

1. ปริยัตติสัทธรรม คำสั่งสอนจะต้องเล่าเรียน ได้แก่พุทธพจน์

2. ปฏิปัตติสัทธรรม ปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

3. ปฏิเวธสัทธรรม ผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

อริยสัจจ์ 4 ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ

1. ทุกข์ ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

2. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

3. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน

4. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

จึงอยากมีข้อแนะนำให้เราท่านทั้งหลาย ฝึกชำระจิตของตนเองให้สะอาดปราศจากมลทินโทษ เมื่อจิตไม่ยินดีในสิ่งที่ต่ำๆ หรือเหตุจูงใจให้ต่ำลง เลวลง อันจะนำความทุกข์มาสู่ตนเองและอาจพาเป็น ปัญหาสังคมได้อีกด้วย อำนาจฝ่ายต่ำชักนำให้จิตใจให้ต่ำ ดุจน้ำไหลจากที่ลาดชั้น ซึ่งไม่ง่ายต่อการควบคุมอารมณ์ไว้ได้ เช่น ความโกรธดังกล่าว จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการยกจิตให้ดีขึ้น สูงขึ้น เจริญขึ้น นั่นแล ฯ

อนุโมทนาบุญ ขอขอบคุณทุกศรัทธาที่ท่านกรุณาส่งเช็คมาทำบุญกับทางวัด หากท่านประสงค์ต้องการรับใบอนุโมทนาบัตร แจ้งไว้ด้วยเพราะบางทีทางวัดสะดวกหาแสตมป์ไว้ ถ้ามิได้แจ้งไว้นานไปก็ลำบากค้นสำเนาเช็ค ศรัทธท่านผู้บริจาคบำรุงวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย เขียนเช็คส่งไปได้ที่ 6763 E AVENUE H., LANCASTER, CA 93535-7849 Donation check payable to "Buddhist Meditation Society" รูปขอจำเริญพร