ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ฉลาดโลก ฉลาดธรรม

ท่านพุทธบริษัท สาธุชน ท่านผู้มีบุญ และผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ปีพุทธศักราช 2560 ก้าวเข้ามา "วันมาฆบูชา" ก็กำลังผ่านไป ธรรมะสมสมัยฉบับนี้อาตมาเก็บเอาธรรมะ มาเป็นแสงสว่างนำพา ศานุศิษย์พุทธศาสนิกชน ให้ได้ทบทวนหวนรำลึกความดีงามที่ได้พร้อมใจบำเพ็ญในทุกถิ่นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่วัด หรือที่ไหน ๆ ก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประกอบศรัทธา รวมตัวพร้อมใจกันใส่บาตรที่บริเวณ "ไทยแลนด์ พลาซ่า" ณ ตลาดสีลม ถนนฮอลลีวูด นครลอสแองเจลีส วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ปีนี้อากาศค่อนข้างเย็น คลึ้มฟ้าคลึ้มฝน เมฆหมอกปกคลุม ญาติโยมฝ่ายที่ดูแลจัดสถานที่ ได้ตั้งโต๊ะจัดให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน เข้าไปใส่บาตรภายในใต้ถุนอาคาร บริเวณหน้าร้านขายหนังสือดอกหญ้า วันนี้ท่าน ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เป็นประธานกล่าวให้ธรรมะ

อาตมาก็ขอความสุขสวัสดี ความเจริญรุ่งเรืองความร่มเย็นเป็นสุข จงมีแด่ทุกท่านทุกคน ที่มีโอกาสไปใส่บาตรกัน วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวไทยชาวพุทธที่อยู่ บริเวณเมืองลอสแอนเจลิส ได้รวมตัวพร้อมใจมาใส่บาตรใน "วันมาฆบูชา" อย่างมากมายล้นหลาม วันนี้ท่านพระอาจารย์ ดร. พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ วัดพุทธะปัญญา เมืองโพโมน่า เป็นผู้ให้ธรรม กล่าวธรรม และได้มอบหมายให้อาตมาได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์วันนี้ไว้ เพื่อประกาศว่าพระพุทธศาสนาของเรามั่นคงในลอสแอนเจลิสได้ด้วยสองมือของเราทุกคนที่ช่วยกันพัฒนาศาสนา สาธุ สาธุ


ฉลาดโลก ฉลาดธรรม

ฉลาด หมายถึง มีเชาว์ปัญญาความรอบรู้รอบด้าน รู้ว่าอะไรเป็นโลกียธรรม อะไรเป็นโลกุตตรธรรม รู้ว่าอะไรควรกระทำ อะไรควรละเว้น เช่น หลักการสำคัญ 3 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน โอวาทปาฏิโมกข์ ว่า

1) ให้ละเว้นการกระทำความชั่วทั้งปวง ความละเว้นชั่วกลัวบาป เป็นศีลธรรมของมนุษยชาติ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข (สงบ)

2) ให้กระทำแต่ความดี คุณงามความดีเป็นเหตุปัจจัยให้โลกสดใสสวยงาม อิ่มเอมเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความร่าเริงแจ่มใส (สะอาด)

3) ให้กระทำจิตให้บริสุทธิ์ขาวรอบ เกิดแสงสว่างทางจิตวิญญาณ เป็นผู้ฉลาดโลก ฉลาดธรรม สมภูมิรู้ภูมิธรรมอย่างน่าชื่นชม เป็นประโยชน์ที่พึ่ง ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก (สว่าง)

ธรรมะ กับ แสงสว่างทางจิตวิญญาณ เพื่อความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมนั้น มีคำหลายคำที่ควรได้นำมาทำความเข้าใจ เช่น

1) ปัณณัตติวัชชะ แปลว่า โทษทางพระวินัยบัญญัติ ประพฤติผิดศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ หมายถึงการที่พระกระทำผิดพระวินัย หรือทำผิดศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เช่น การกล่าวคำโกหกมดเท็จ การด่าทอประทุษร้ายภิกษุด้วยกัน การยืนฉันอาหาร การมีเจตนาฆ่าสัตว์ การพูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ฯลฯ

ปัณณัตติวัชชะ โทษทางพระวินัยบัญญัติ หรือ โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่าอาบัติ อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก 1 สังฆาทิเสส 1 ถุลลัจจัย 1 ปาจิตตีย์ 1 ปาฏิเทสนียะ 1 ทุกกฏ 1 ทุพภาสิต 1 ที่กล่าวมาเป็นชื่อที่เป็นความผิดทางวินัยสงฆ์ (เรียกว่าอาบัติ เอาง่าย ๆ ว่า ภาษาพระ โยมไม่เข้าใจแน่ ๆ)

อาบัติที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือคนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิดความเสียหาย เป็นความผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานละเมิดพระบัญญัติ เช่น การดื่มสุราเมรัย การถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ล้าง การใช้จีวรที่ไม่ได้พินทุ การนั่งนอนบนเตียงตั่งที่ไม่ได้ตรึงเท้าให้แน่น เป็นต้น.

2) โลกวัชชะ คือ แปลว่า "โทษทางโลก, ความผิดทางโลก, อาบัติที่มีโทษทางโลกด้วย" เช่น ภิกษุเสพสิ่งเสพติด มียาเสพติดที่ผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง เป็นต้น จัดว่าเป็น โลกวัชชะ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองจัดว่าอยู่ในสิ่งที่ผิด

โลกวัชชะ หมายถึง การกระทำที่แม้แต่คนทั่วไป (ซึ่งมิใช่พระภิกษุ) ทำก็เป็นความผิด เป็นความเสียหาย พูดง่ายๆ ว่า ผิดกฎหมาย เช่น เสพยาเสพติด โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาทกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุรูปใดทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม กฎหมายบัญญัติไว้ แม้พระภิกษุรูปนั้นจะไม่ผิดศีล แต่ก็ผิดกฎหมาย ต้องรับโทษดังคนทั่วไปเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น

โลกวัชชะ มาจาก โลกสฺส วชฺชํ = โลกวชฺชํ (โทษของชาวโลก/ความผิดทางบ้านเมือง, ผิดกฎหมาย (มิใช่โทษทางพระวินัย) ดังนั้นจึงชื่อว่า โลกวัชชะ โทษทางโลก (โทษตามกฎหมายของชาวโลก) ในประมวลกฎหมายอาญา ระบุโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมี เช่น (1) ให้ประหารชีวิต (2) ให้จำคุก (3) ให้ควบคุมกักขัง (4) ให้เปรียบเทียบปรับ (5) ให้ยึดทรัพย์สิน เป็นต้น

โลกวัชชะ มิได้แปลว่า "โลกติเตียน" เหมือนที่ใคร ๆ แปลกัน (แปลง่าย ๆ อย่างนั้นมันก็ได้อยู่ การแปลภาษาบาลีโดยไม่มีความรู้ภาษาบาลี และแปลไม่ยึดหลักภาษา) ขณะเดียวกัน หากเราศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างเข้าใจแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ ให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง เมื่อใครรูปใดกระทำความผิด พระสงฆ์ท่านก็จะจัดการกันเองตามพระธรรมวินัย

3) เปยยวัชชะ คือ พูดคำน่ารัก ผู้นี้ให้สิ่งที่ควรให้ คือหมายถึงความเหมาะแก่กาละ เทศะ และบุคคลเป็นต้น ฯ ถึงแม้จะเป็นของด้อยค่าน้อยราคาแต่ด้วยคำพูดที่ไพเระเสนาะโสต ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง อย่างการให้ดอกไม้ของขวัญแลกกันตอนเป็นหนุ่มสาว เช่นนี้ท่านทั้งหลายเคยไหม ? เช่น "เห็นดอกไม้สวย ๆ เขาขายอยู่ริมทาง แม้จะไม่มีค่าราคามากมายนัก แต่ก็เพราะความรักมันเต็มอกล้นใจ จึงขอมอบแทนความจริงใจทั้งหมดที่มีให้เธอนะจ๊ะคนดี" ฟังแล้วมันชื่นใจไหมเล่า

4) ติณณวัชชะ หรือ ติณวัตถารกวินัย ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ ที่ใช้ในเมื่อจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควร และซัดทอดกันเป็นเรื่องนุงนังซับซ้อน ชวนให้ทะเลาะวิวาท กล่าวซัดลำเลิกกันไปไม่มีที่สุด จะระงับวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวนปรับให้กันและกัน แสดงอาบัติ ก็มีแต่จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จึงระงับเสียด้วยติณวัตถารกวิธี คือแบบกลบไว้ด้วยหญ้า ตัดตอนยกเลิกเสีย ไม่สะสางความหลังกันอีก

เหมือนอย่างว่า คูถหรือมูตรอันบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ย่อมเบียดเบียนโดยความเป็นของมีกลิ่นเหม็น, แต่เมื่อคูถหรือมูตรนั้น อันบุคคลกลบแล้วด้วยหญ้าปิดมิดชิดดีแล้ว กลิ่นนั้น ย่อมเบียดเบียนไม่ได้ฉันใด อธิกรณ์ใด ถึงความเป็นมูลใหญ่มูลน้อย (แห่งอธิกรณ์) อันสงฆ์ระงับอยู่ จะเป็นไปเพื่อความหยาบช้า เพื่อความร้ายกาจ เพื่อความแตกกัน, อธิกรณ์นั้น ระงับด้วยกรรมนี้แล้วย่อมเป็นอันระงับด้วยดี เหมือนคูถที่ปิดไว้ด้วยเครื่องกลบคือหญ้า ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล เพราะเหตุนั้น กรรมนี้ ท่านจึงเรียกว่า ติณวัตถารกะ เพราะเป็นกรรมคล้ายกลบไว้ด้วยหญ้า

ในโลกนี้มีปัญหาอีกมากมายไม่มีรู้จบไม่รู้สิ้น ความมีสติอันเจริญอยู่ โลกก็ไม่เศร้า ธรรมก็ไม่หมอง ปัญหามันเกิดเพราะใจมันซ่อนแฝงไว้ด้วย อคติ คือ ความลำเอียง ความไม่ได้รับความเป็นธรรม ธรรมของผู้เป็นผู้ใหญ่ควรยึดถือเป็นกลาง เป็นหลักยึดมั่นครองใจ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมสามารถใช้ในการพิจารณาสรรพสิ่ง อคติ 4 ประกอบด้วย

1. ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะรัก หรือเพราะชอบเป็นพิเศษ

2. โทสาคติ ความลำเอียงเพราะโกรธ หรือเพราะความเกลียดชัง

3. ภยาคติ ความลำเอียงเพราะกลัว หรือเกรงใจ

4. โมหาคติ ความลำเอียงเพราะไม่รู้ (หลงผิดด้วยมีมิจฉาทิฏฐิ)

4 ประการนี้ นับได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ปกครอง คนที่เป็นหัวหน้างาน หัวหน้าครอบครัว ไม่ควรมีอคติทั้ง 4 ประการนี้อยู่ในจิตใจ มิฉะนั้นผู้ใต้ปกครองจะขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความสุข รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยก และความไม่เจริญก้าวหน้าของการงานทั้งปวง


ตัวอย่างเช่น

ในวัดแห่งหนึ่งมีแมวอยู่หลายตัว ทั้งพระทั้งโยมก็เลี้ยงดูแมวของตนอย่างดีในทุก ๆ วัน จนเกิดเป็นความเอ็นดู ผูกใจรักขึ้นมาโดยมิทันระวังใจ มีทั้งจะเอามาให้เลี้ยง และมีทั้งจะเอามาให้เลี้ยว นานวันเข้าแมวเริ่มเยอะขึ้น ความสกปรกและปัญหาต่างๆ ก็เริ่มตามมา จึงมีนโยบายลดจำนวนแมวลง เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือก แต่ละคนก็ยกเอาเหตุแห่งความเหมาะสมที่แมวของตน ควรจะได้อยู่ต่อ ส่วนแมวตัวอื่นต้องออกไป และแม้จะเป็นสังคมของมนุษย์เองก็มีการคัดเลือกเช่นนี้ไม่ต่างกัน ผู้ได้รับการคัดเลือกก็ชื่นชม ยินดี ในผู้เลือก ผู้ไม่ได้รับการคัดเลือกก็ผูกใจเจ็บ ดังนี้ เข้าข่าย "ลำเอียงเพราะรัก" มนุษย์ผู้ใดก้าวข้ามผ่านฉันทาคติได้ ประเสริฐแท้เทียว ฉบับนี้ทิ้งท้ายไว้ด้วยธรรมภาษิตว่า


ฉนฺทา โทสา ภยา โมหา   โย ธมฺมํ อติวตฺตติ
นหียติ ตสฺส ยโส   กาฬปกฺเขว จนฺทิมา.

บุคคลใดล่วงเกินพระธรรมเพราะความพอใจ เพราะโกรธ เพราะกลัว เพราะหลงผิด ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนดวงจันทร์ในคืนข้างแรม ฉะนั้น


จงอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้คนรัก
อย่าเห่อศักดิ์ ทะนงตัว จะมัวหมอง
เพราะถ่อมลง สูงระหง เป็นพงศ์ทอง
แต่จองหอง ใฝ่สูง ถูกจูงลง ฯ

มียศศักดิ์ สูงเยี่ยม จงเจียมจิต
อย่ามัวคิด ฟุ้งเฟ้อ ละเมอหลง
รู้ประมาณ ดีจริง เกียรติยิ่งยง
ยิ่งถ่อมลง ยิ่งเฟื่อง กระเดื่องนาม ฯ