ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



เรื่องกรรมที่ให้ผลดีผลร้าย

เจริญพรญาติโยมท่านทั้งหลาย กรรมและการให้ผลของกรรม คนเราชั่วดีอยู่ที่ (เจตนา) ใจ เรื่องใจหรือเรียกว่า "มโนกรรม" เบื้องต้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้เบียดเบียนใครทั้งสิ้น หากแต่กรรมทั้งหมดเกิดก่อขึ้นที่ใจ ดังนั้นการให้ผลของกรรม จริงๆ อย่างน้อยมองให้เห็นเป็นสองระดับ คือ

1) การให้ผลของกรรมปกติที่มีผลน้อย เช่น ปกติพูดจาพาที คุยกันเล่นสนุกปาก พลั้งเผลอละเมิดล่วงเกินกันด้วยคำพูดที่เป็นผรุสวาท พูดจาหยาบคาย เช่น เคยกินส้นตีนไหม? (ขอโทษท่านผู้อ่านด้วยนะมีเหตุการณ์นี้จริงๆ) อ้อ ! เคยคะ เคยกินขนมจีนน้ำยาตีนไก่ ชอบคะชอบ อร่อยดีนะ ทั้งๆ ที่เป็นบาปแต่ว่ามีผลกระทบน้อย เพราะเนื่องจากใจไม่ถือสาหาความกัน และเหตุการณ์คล้อยตามกัน เรียกว่า ไหลรวมไปทางเดียวกัน ประเภทเดียวกัน นิสัยใจคอเข้ากัน อยู่กันเฉพาะกลุ่มกันเอง เป็นต้นฯ

2) การให้ผลของกรรมให้ผลทันที่ทันใด เช่น พูดเพื่อเล็งและประสงค์ต่อผล ต่อบคคลอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มเดียวกัน คือในขณะนั้นเรื่องกาละเทศะบุคคลไม่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง เพราะเนื่องจากว่าผู้กล่าว เล็งและประสงค์เพื่อให้บุคคลอื่นได้ยิน และให้มีผลกระทบ ตลอดถึงส่งผลกระเทือน จนต่างฝ่ายต่างเกิดวิวาทะซึ่งกันและกัน อีลุงตุงนัง จับหัวชนท้าย จับปลายชนต้นไม่ถูกว่าเป็นเรื่องกันตอนไหน เรื่องนี้สามารถชี้ชัดได้เลยว่า ขาดศีลธรรม ศีลธรรมเป็นเรื่องที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ถึงจิตลึกๆ ข้างใน จึงมีความเชื่อว่า

เหตุผลเรื่องกรรมนั้น บางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า "ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม" กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า "อุปปัชชเวทนียกรรม" กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ที่เรียกว่า "อปราปรเวทนียกรรม"


ตัวอย่างการให้ผลของกรรม

หากท่านลองพิจารณาถึงการปลูกต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดพันธุ์ลงไปในดิน ต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชหรือเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้ผลเร็ว พืชหรือเมล็ดพันธุ์บางอย่างให้ผลช้า เป็นปี ๆ ถึงมองเห็นเป็นรูปธรรม เช่นข้าว เพียง 4 - 5 เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง 5 ปี

การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น "อุปัตถัมภกกรรม" คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น "อุปฆาตกรรม" ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก นี้เป็นการกล่าวถึงกรรมในด้านร้าย เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ แปลว่า คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล


การให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ

การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที เช่น การให้ทาน ทั้งผู้ให้ทั้งผู้รับมีความสุข ได้รับความสุข เกิดความปีติยินดีอย่างอิ่มและอบอุนใจ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ วิตกกังวนใจ หวาดระแวง ฟุ้งซ้าน หงุดหงิดรำคราญ ความคิดใดๆ ที่เกิดขึ้นมาล้วนเป็นอุปสรรคไปเสียหมด ดิ้นรนแสวงหาความสุขแต่ไม่ได้รับความสุข และไม่ได้รับความจริงใจจากใครๆ เลย อย่างนี้ต้องไปสำรวจที่ใจว่า "เต็มไปด้วยอกุศลจิตหรือเปล่าถึงได้รับผลกรรมเช่นนั้น เพียงนั้น"

ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก คนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

- คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่

- อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล

- กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา

- ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ

การหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก 4 ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำด้วยศรัทธา เรียกง่ายๆ ว่าทำด้วยใจ ทำเต็มพักเต็มแรง แต่เพื่อนร่วมงานของเราเป็นคนสอพลอ ทำเอาดีใส่ตัวเอาชั่วป้ายสีให้ร้ายกับเรา อย่างนี้ก็ไม่เข้าหลักคติสมบัติ 4 อย่างที่กล่าวมานั้น คนประเภทนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล


ความต่างทางโลก - ทางธรรม

- ทางโลก การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ นิยมความว่า ผู้นั้นได้ ลาภ ยศ ได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา ได้ตำแหน่งหน้าที่ ได้การงานที่ดีขึ้น ส่วนที่ไม่สมปรารถนาที่เห็นประจักษุ์ มักจะว่าทำดีไม่ได้ดี

- ทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การทำให้จิตใจดีขึ้น การได้สั่งสมบุญกุศลมากขึ้น การทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเราเจริญขึ้น การทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งๆ ขึ้น

ความเจริญทั้งทางโลกทั้งทางธรรม

1) มีปกติเรื่องศีลธรรมนำความคิด

2) มีความเคารพสิทธิ์ตามกฎหมาย

3) มีความฝักใฝ่รับผิดชอบหน้าที่ของตน

4) มีจิตฝึกฝนอาสาเสียสละเพื่อส่วนรวม

5) มีปกติอยู่ร่วมมุ่งความสามัคคีให้เกิดพลัง

6) มีความมุ่งหวังเพียรพัฒนาอย่างไม่ย่อท้อ

สาธุๆ อนุโมทนาบุญที่ท่านหลายได้สนับสนันวัดทุ่งเศรษฐี ด้วยดีตลอดมา ออกพรรษาปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม ขอเชิญศรัทธาทุกท่าน พร้อมใจกันมาตักบาตรทำบุญวันออกพรรษา ปีนี้ที่วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด แคลิฟอร์เนีย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 วันที่คนไทยโศกเศร้าทั้งแผ่นดินในครั้งนั้น ยังคงบันทึกความทรงจำ ความรู้สึก ในวันนั้นอีกครั้ง 13 ตุลาคม 2559 บันทึกความทรงจำ ความสูญเสียของพสกนิกรชาวไทยทั่วหล้า ขอเชิญพวกเรามาปฏิบัติธรรมระลึกถึงพระองค์โดยพร้อมเพรียงกัน รูปขอจำเริญพร