ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การเลือกคู่ครองกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ท่านผู้สนใจใคร่ธรรม คำกล่าวโบราณภาษิตกล่าวว่า "เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ท่านทั้งหลายอาตมาว่าค่อนข้างจะใช้ไม่ได้กับยุคสมัยนี้แล้วกระมัง เพราะได้ยินสาว ๆ เด็ก ๆ ลูกหลานที่มาวัดพูดกันสนุกสนานเลยว่า "เสียทองเท่าหัวเหรอ อย่าไปเสีย มันอยากได้ผัวเหรอ ให้มันไป" แถมยังบอกว่า "ไปตอนเช้า จะเอาตอนเย็น" ถ้าไม่คิดมากไปก็คงเป็นเพียงพูดสนุกสนานกันในหมู่คณะเท่านั้น อาตมาได้ยินเลยต้องไปค้นพระไตรปิฎกว่า จะนำเรื่องใดมาอ่านวิเคราะห์ หากได้สามีที่ดีก็ควรถนอมรักษา อย่างเรื่อง สาธุสีลชาดก นั้น


สาธุสีลชาดก ว่าด้วย ศาสตร์เลือกสามีให้ลูกสาว

ผู้มีศีลจริยา มีหน้าที่ มีโภคทรัพย์สมบูรณ์ จริง ๆ แล้วผู้ชายชาวพุทธจากพระสูตรนี้น่าจะสามารถมีเมียได้ 4 คน (คนเดียวเลี้ยงได้ไม่ดี อย่าคิดมีคนที่สอง หรือถ้ามีคนที่สองแล้วยังบกพร่องรุ่มร่าม คนที่สามคนที่สี่ อย่าได้คิดมีเป็นเด็ดขาด)


ความนำเบื้องต้น

พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน พระนครสาวัตถี ทรงพระปรารภพราหมณ์ คนหนึ่ง ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ ว่า สรีรทพฺยํ วุฑฺฒพฺยํ กินฺนุ เตสํ วนิมฺหเส ฯ อตฺโถ อตฺถิ สรีรสฺมึ สีลํ อสฺมาก รุจฺจตีติ ฯ

ปัจจุบันชาติ

มีเรื่องเล่ามาว่า พราหมณ์คนนั้นมีลูกสาวสวยถึง 4 คน ต่อมา มีชาย 4 คนมาหลงรักธิดาของเขาและได้มาขอธิดาของเขา ชายหนุ่มทั้งทั้ง 4 คนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

คนที่ 1 มีรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาดังเทพบุตร ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเป็นที่พอใจของหญิงสาวที่ได้พบเห็น

คนที่ 2 เป็นคนมีอายุมาก เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะท่าทางน่านับถือ

คนที่ 3 มีชาติตระกูลสูงส่ง เป็นที่เคารพของคนโดยทั่วไป

คนที่ 4 เป็นคนดีมีปกติรักษาศีล 5 มีระเบียบเพรียบพร้อมด้วยคุณธรรม

อันที่จริง เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด ถ้าเขาจะยกลูกสาวทั้งหมดให้แก่บรรดาชายเหล่านั้น แต่เขาไม่คิดเช่นนั้นกลับคิดไปว่า เราจะยกลูกสาวของเราทั้งหมดให้แก่ชายคนไหนดีหนอ?

เมื่อคิดไปก็ปวดหัวจึงนึกว่า พระพุทธเจ้าของเราคงจะรู้เรื่องนี้ดีกว่าใคร เราจักไปกราบทูลถาม และยกบุตรสาวของเราให้แก่คนที่เหมาะสมเหล่านั้น คิดดังนั้นแล้วจึงถือของหอมมีดอกไม้ ไปสู่วัดพระเชตวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง กราบทูลเล่าเรื่องทั้งหมดที่ตนสงสัยแล้วกราบทูลถามปัญหา

- "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ควรจะยกธิดาของข้าพระองค์ ให้แก่ใครดีในบรรดาชายทั้ง 4 คนนี้"

- พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสตอบว่า

"ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องนี้ท่านก็เคยถามเรามาแล้วในอดีตชาติ แต่เพราะการเวียนเกิดและเวียนตายมากมายหลายภพชาติ จึงทำให้ท่านจำไม่ได้ จึงต้องนำเรื่องนี้มาถามเราตถาคตใหม่"

- เมื่อพราหมณ์กราบทูลอาราธนาแล้ว ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติ มาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้


อดีตชาติเนื้อหาชาดก

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชย์สมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง ศึกษาวิชาความรู้จบจากตักกสิลาแล้ว ต่อมา เขาได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในตักกสิลา นครนั่นเอง

ครั้งนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งมีลูกสาวสวยถึง 4 คน เมื่อมีชาย 4 คนมาสู่ขอบรรดาลูกสาวเขาก็

ไม่รู้จะยกลูกสาวเหล่านั้นให้แก่ใครดี เมื่อตัดสินใจไม่ถูก จึงคิดว่า เราควรจะไปถามอาจารย์จะดีกว่า เมื่ออาจารย์ตัดสินอย่างไร เราก็จะให้ไปตามนั้น


เมื่อไปพบอาจารย์จึงได้ถามด้วยคาถาที่ 1 ว่า

- ผมขอถามท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐว่า บรรดาชาย 4 คน คนที่ 1 เป็นคนมีรูปงาม คนที่ 2 เป็นคนสูงวัย คนที่ 3 มีชาติกำเนิดสูง คนที่ 4 เป็นคนดีมีศีลธรรม ท่านอาจารย์จะเลือกคนไหน?

- อาจารย์ได้ฟังคำถามของลูกศิษย์ จึงวิเคราะห์คุณสมบัติของชายแต่ละคนให้ฟังดังนี้ "คนหากไม่มีศีลแล้ว แม้จะรูปร่างหน้าตาดีแค่ไหนก็น่าตำหนิติเตียน เพราะฉะนั้น รูปสมบัติคือความรูปร่างหน้าตาดีก็ยังเป็นสิ่งที่น่าตำหนิทั้งนั้น จะเอารูปร่างหน้าตาที่ถูกใจคนทั่วไปก็ไม่ได้ "การเป็นคนดีมีศีลถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด เราชอบคนดีมากที่สุด"


เมื่อจะประกาศความนั้นจึงกล่าวคาถาที่ 2 ว่า

รูปร่างหน้าตาถูกใจคนก็มีคุณค่าประโยชน์อยู่บ้าง ตัวเราเองก็ให้เกียรติเคารพนอบน้อมต่อผู้เจริญวัย ประโยชน์ในชาติกำเนิดดีก็มีอยู่ แต่เราชอบใจคนมีศีล


ความหมายของคาถา

ลูกศิษย์ตั้งเป็นคำถามให้อาจารย์เลือกว่า จะเลือกใครมาเป็นบุตรเขยดี ระหว่างคนที่มีรูปร่าง หน้าตาดี ใครเห็นก็นิยมชมชอบมีความสง่างาม อีกคนหนึ่ง มีอายุมาก เป็นผู้ใหญ่สูงวัย อีกคนหนึ่ง มีชาติสูงส่งสมบูรณ์มีคนให้ความเคารพนับถือ อีกคนหนึ่ง เป็นคนดีมีศีล อยู่อย่างไม่เบียดเบียน ในว่าที่บุตรเขยทั้งหมดข้างต้น ถ้าจะให้อาจารย์เลือก อาจารย์จะเลือกคนไหนจึงได้กล่าวถาม ด้วยคาถาที่ 1 ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ฝ่ายอาจารย์จึงได้อธิบายโดยการวิเคราะห์ให้ลูกศิษย์เห็นคุณค่าของบุคคลแต่ละคน ดังนี้

ชายคนที่ 1 มีใบหน้า รูปร่างดี ถือว่ามีประโยชน์เพราะเป็นเสน่ห์ที่ใคร ๆ คนในโลกนี้ชอบคนหล่อและคนสวย อาจารย์ไม่ได้ปฎิเสธความหล่อ การมีลักษณดีย่อมมีเสน่ห์

ชายคนที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ อาจารย์ก็ยกย่องให้เกียรติบุคคลผู้มีวัยวุฒิ เนื่องจากบุคคลเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ประสบการณ์

ชายคนที่ 3 เกิดในชาติตระกูลสูงส่ง วงศ์ตระกูลก็เป็นสิ่งที่ดีงาม ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษเขาได้สร้างคุณงามความดีมานาน จนเป็นที่เคารพนับหน้าถือตาของคนทั่วไป

แต่ในทัศนะของอาจารย์ถือว่า ถ้าจะให้เลือกแค่เพียงคนเดียว คนมีศีลแม้จะรูปร่างไม่ดี อายุน้อย หรือเกิดในตระกูลต่ำ เขายังได้รับการบูชาสรรเสริญ จากเหตุผลดังกล่าว อาจารย์จึงได้กล่าวคาถาที่ 2

พราหมณ์ได้ฟังเหตุผลจากอาจารย์เช่นนั้น จึงตัดสินใจยกลูกสาวทั้ง 4 คนของตนให้เฉพาะแก่ ชายผู้มีศีลเท่านั้น (นี้เป็นอดีตนิทาน เป็นความพอใจของพ่อ และเป็นความยินดีของธิดาทั้งหมดนั้น)

พระพุทธเจ้าครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า "พราหมณ์ในครั้งนั้นคือพราหมณ์คนนี้เอง ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์คือตัวเราตถาคตนั่นเอง"


สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้

1) คนดีมีน้อย คนถ่อยมีมาก   2) ศีลธรรมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง


วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้

ชาดกเรื่องนี้มี 2 ประเด็นที่จะวิเคราะห์ ดังนี้

1. โครงสร้างความดีสู่ความสุขยั่งยืน

ชาดกเรื่องนี้แปลกดีที่เอาเรื่องการครองเรือนของมนุษย์ ไปเกี่ยวข้องกับศีลธรรม โดยปกติ การครองเรือนระหว่างหญิงกับชายจะเน้นความพอใจในรูปร่าง กิริยาท่าทาง แต่ในความเป็นจริงการ แต่งงานระหว่างหญิงกับชาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาที่ทัดเทียมกัน นอกนั้น ยังดูที่ชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติที่ทัดเทียมกันอีกด้วย ทั้งวิชาความรู้อันถือว่าเป็นอาภรณ์ที่ล้ำค่า แต่โดยความเป็นจริง มนุษย์จะเลือกอยู่กันเพราะความดี เพราะคุณสมบัติอื่น ๆ รูปสวยรวยทรัพย์ นับวิชาชาติผู้ดี แต่ขาดคุณสมบัติข้อสุดท้ายคือ "มีศีลธรรม อาจหาความสุขมิได้เลย"

2. โครงสร้างครอบครัวทางสังคมวิทยา

ความเข้าใจผิดว่า ศาสนาพุทธสอนเรื่องการมีสามีเดียว ภรรยาเดียว แต่ชาดกเรื่องนี้แสดงให้ทราบโครงสร้างทางสังคมวิทยาในสมัยนั้นว่า สามีคนเดียวภรรยา 4 คนก็มี อย่างเปิดเผย มิใช่นอกใจ ถ้าคู่ครองอนุญาตด้วยความเต็มใจไม่ถือว่าเป็นการผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร (ศีลข้อ 3) ส่วนการลักลอบมีความสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่บอกให้สามีหรือภรรยาได้รับรู้นั้นถือเป็นความผิด

อย่างกาเมสุมิจฉาจาร ความไม่สำรวมระวังกามาหาความสุข เป็นการทำร้ายจิตใจคู่ครองของตนเอง โดยธรรมชาติของมนุษย์ย่อมรัก และหวงแหนในบุคคลที่ตนรัก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ทะนุถนอมจิตใจคู่ครอง แต่พระองค์ไม่ได้ทรงระบุว่าต้องเป็นสามีเดียวภรรยาเดียว แต่จะสอนให้มีความซื่อสัตย์ในคู่ครองของตนเองโดยระบุว่า ชายและหญิงที่เป็นคู่กันจะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน

ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงสรุปว่า ระบบครอบครัวจะเป็นอย่างไรก็ได้ในระบบความเชื่อแบบทางโลก แต่ในระบบศีลธรรมทางพุทธศาสนา ขอให้มีความซื่อสัตย์และความจริงใจ กับคู่ครองของตนเองเท่า นั้นเป็นพอและให้คู่ครองของตนเองอนุญาต ฯ ฉบับนี้จบด้วยคติธรรมว่า......

- หญิง ไร้ยางอาย - ชาย ไร้สัจจะ - พระ ไร้ศีล - หิน ไร้ที่เกาะแกร่ง - กำแพง หมดอายุที่ผุพัง สิ่งห้าอย่างนี้ อาจทำให้ชีวิตพัง พยายามอยู่ให้ห่าง รูปขอจำเริญพร....