ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ยุทธศาสตร์ 16 กระบวนท่า ฝ่าข้าศึกสู่พระนิพพาน

เจริญพรญาติโยมท่านทั้งหลาย ใครๆ ก็พูดถึงพระนิพพาน แต่แล้วก็สอบไม่ผ่านสู่เป้าหมายไปได้โดยง่ายเลยแม้แต่คนเดียว แต่พูดจัง พูดเกิดพลังความเพียร

1)เพียรระวัง บาป

2) เพียรละ บาป

3) เพียรสร้าง กุศล

4) เพียรรักษา กุศล


ข้าศึกร้ายโดยรอบไม่ยอมให้เข้าห้องพระนิพพาน

ข้าศึกนั้นใช่อื่นไกล มีอยู่กาย - ใจ ของทุกคน ทำให้ขุ่นข้องหมองกมล ขุ่นมัวชั่วชีวิตที่จิตยึดมั่นถือครองว่าของเรา ข้าศึกร้าย 16 ประการ นั้นคืออุปสรรค ถ้ารู้จักสิ่งมีอยู่ในกายที่รายรอบ รู้ไม่ได้ไล่ไม่ทันนั้นขอบอก ถูข้าศึกเข้าครอบงำถลำไป ข้าศึกร้ายหมายมีสิ่งดังนี้ ยุทธศาสตร์ 16 วิธีกระบวนท่า หากชีวิตชนะได้ใจนำพา นิพพานหนาอยู่ไม่ไกล ดอกท่านเอย ฯ

ปราชญ์ท่านกล่าว ว่านิพพาน คือความว่าง
บางท่านอ้าง บอกว่าเย็น เป็นสุขยิ่ง
ผู้ใฝ่ธรรม รู้นิพพาน มีอยู่จริง
สรรพสิ่ง ย่อมเป็นอยู่ คู่นิพพาน ฯ

ธรรมชาติ แห่งนิพพาน ผ่านทางจิต
ทันความคิด สัมผัสเย็น เห็นสังขาร
รู้ปล่อยวาง ว่างเย็น เป็นนิพพาน
จิตเบ่งบาน สุขเลิศล้น พ้นนิวรณ์ ฯ

นิพพานแท้ มีจริงอยู่ ดูเอาเถิด
กิเลสเกิด ก่อที่ใจ ในใจก่อน
กิเลสดับ ดับที่ใจ ไปทุกตอน
ใจจึงซ่อน นิพพานไว้ ให้ตรองเอย ฯ


อุปกิเลสข้าศึกร้าย 16 ประการ

กิเลส คือกรรมที่ทำให้ใจเศร้าหมอง มีปกติซ่อนอยู่ในใจ เหมือนกับสนิมที่เกิดจากเหล็ก และซ่อนตัวอยู่ในเหล็ก เหมือนกับลูกหลานที่เราเลี้ยงดูแลพวกเขาได้แต่เพียงร่างกาย ไม่สามารถรู้จิตใจพวกเขาได้ทั้งหมดว่าเขากำลังคิดอะไร เรื่องใด จนกว่าเขาจะแสดงออกมาให้เราเห็น บริวารก็เช่นเดียวกัน บางคนมีบริวารเป็นมิตร บางคนมีบริวารเป็นศัตรู ทั้ง 2 ประเภทอยู่ใกลตัวเรา รายรอบตัวเรา สังเกตได้ในกิเลสอย่างละเอียดนี้มี 3 ตระกูลด้วยกัน แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากเหมือนดั่งพี่น้องและคนใกล้ชิด ขอหยิบยกมาแสดงให้เห็น ดังนี้


ตระกูลโลภะ

1. อภิชฌาวิสมโลภะ ความละโมบเพ่งอยากได้พัสดุของท่านผู้อื่น ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีรังแต่จะเอา


ตระกูลโทสะ

2. พยาบาท คิดหมายปองร้าย มุ่งทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์

3. โกธะ ความโกรธ คือ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจหรือไม่ปลื้ม ตรงกับคำว่า "ฉุนเฉียวกริ้วโกรธ"

4. อุปนาหะ ผูกโกรธ คือ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท ผูกใจเจ็บ ไม่ละ ไม่ปล่อย


ตระกูลโมหะ

5. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน ไม่รู้จักคุณคน, ลำเลิกบุญคุณ จัดว่าเป็นคน "อกตัญญู"

6. ปลาสะ ตีเสมอ เอาตัวไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ โบราณว่า ยกตนเทียมท่าน

7. อิสสา ริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า ริษยามีหลายระดับ ถ้ามีน้อยก็เพียงไม่สบายใจ ถ้ามีมากก็จะไปผลาญทำลายความดีผู้อื่น

8. มัจฉริยะ ตระหนี่ แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม ความตระหนี่แตกต่างจากคำว่าประหยัด

9. มายา เจ้าเล่ห์, จอมมารยา แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีเลสนัย

10. สาเถยยะ คุยโวโอ้อวดเกินความจริง แฝงเจตนาให้ผู้อื่นเกรงกลัวหรือเลื่อมใส ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเอาออกมาอวด เช่น อวดมั่งอวดมี อวดดีมีความรู้ ข่มขู่ว่าตนฉลาดชาติบัณฑิตกว่าใคร

11. ถัมภะ หัวดื้อ จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์ ความดื้อมี 2 แบบ ได้แก่ ดื้อด้าน เรียกว่า "คนหัวแข็ง" ส่วนดื้อดึง จะเรียกว่า "คนหัวรั้น"

12. สารัมภะ แข่งดี, แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาและไม่มีความยุติธรรม

13. มานะ ถือตัว, ทะนงตน จองหอง เย่อหยิ่ง สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าคนอื่น คือเขาหละ

14. อติมานะ ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก ตีคุณค่าในตัวเองสูงส่ง ส่วนตีคุณค่าผู้อื่นให้มีน้อยลง ชอบเป็นคนถือตัว และดูหมิ่นกดคุณค่าของผู้อื่นให้ดูต่ำ

15. มทะ มัวเมา เมาในซึ่งต่างจากอาการเมาเหล้า แต่มัวเมานี้เป็นความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ มี 4 ประการ ได้แก่

15.1.) เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง

152.) เมาในวัย

15.3.) เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค และ

15.4.) เมาในทรัพย์

16. ปมาทะ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติ หลงใหลไม่รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี เลิ่นเล่อ หรือชะล่าใจ


ยุทธศาสตร์นี้ต้องชนะได้ด้วยตนเอง

1. ให้ปราบพลมารชั้นต่ำชั้นเลวด้วยอาวุธคือ ศีล

2. ให้ปราบพลมารชั้นกลางด้วยอาวุธ คือ สมาธิ

3. ให้ปราบจอมพลของมารคือตัวอุปธิด้วยอาวุธคือ ปัญญา

4. สนามรบ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

5. อาวุธที่สำคัญ คือ สติสัมปชัญญะ

ยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมานี้ จะชนะข้าศึก คือ กิเลสได้ อันพุทธบริษัทพึงกระทำเพื่อให้ลุแจ้งถึงแดนอันเกษม กล่าวคือ นิพพาน อันเป็นอมฤตธรรม รูปขอจำเริญพร