ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



คบบัณฑิต คิดอย่างนักปราชญ์

ขอเจริญพร ท่านพุทธบริษัทสาธุชนผู้สนใจในธรรมทุกท่าน ความเป็น พส. (พระสงฆ์) ก็ใช่ว่าจะเป็นบัณฑิตกันทุกรูป พระสงฆ์เฉพาะหมายถึง 4 รูป (สงฆ์จตุวรรค) ความหมายแท้มันดิ้นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เราก็มาเข้าใจใหม่ว่า พส. ที่มีกระแสมาแรงเขย่าโลก หมายถึงพระภิกษุ 2 รูป ที่เป็นข่าว คือ ท่านพระมหาไพรวัลย์ และท่านพระมหาสมปอง ตั้งแต่หลวงพ่อไสวเกิดมาก็พึ่งจะเห็นว่าประธาน กมธ.ศาสนาฯ เรียก 2 พส.ชี้แจง หลวงพ่อก็เข้าใจว่า ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงเกินอำนาจหน้าที่นะ หลวงพ่อเองถือว่าท่าน 2 รูปเป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนาเลยล่ะ เพราะบัณฑิต แปลว่า ผู้ที่คิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติ พูดง่ายๆ คือเป็นคนดี เป็นผู้ก่อการดี ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทำลาย ทำร้ายผู้อื่น มีเมตตา กรุณา ต่อผู้อื่นเป็นต้น ฯ

บัณฑิต ในอีกความหมายคือผู้ที่จบปริญญาตรี โท เอก บัณฑิตทางโลกมีเพียงปริญญา แต่อาจขาดคุณภาวะความอุดมศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นความหมายของ บัณฑิต ที่โลกสมมุติ แท้จริงในพระพุทธศาสนา ความรู้อาจไม่ต้องมากก็ได้ แต่ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตใจสูงล้ำ ก่อการดี ไม่ก่อการร้าย คือ คิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติวิสัย มีความปรารถนาดีติ่ผู้อื่นเป็นนิตย์ นั่นคือ บัณฑิต


อยู่กับบัณฑิต

อยู่กับบัณฑิตหรือคบหาบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล ให้เราเข้าใจและวางใจได้เลยว่า การแสวงหาผลในแต่ละอย่างต้องเป็นไปโดยชอบประกอบธรรม ความคิดดี - ทำดี กล่าววลีที่เป็นเพื่อสันติภาพและสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน (ผู้อื่น) หาทราบว่าการแสวงหาผลนั้น ต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเกื้อกูลกันแน่นอน เพราะผลเกิดจากเหตุ และเหตุก็ย่อมเกิดจากผลได้เช่นกัน ดังนั้นการอยู่กับบัณฑิต อย่างไรนั้น ศีล - ธรรม เกิดขี้น ถูกต้อง ดีงาม แน่นอน


คิดอย่างนักปราชญ์

นักปราชญ์ หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ มีความสามารถ และนำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ดีต่อตนต่อสังคม อย่างถูกต้อง ยังประโยชน์ให้เกิดกับสังคมอย่างกว้างขวางด้วย ความคิดความเห็นของผู้เป็นปราชญ์ย่อมมีโยนิโสมนสิการ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ประโยชน์รู้โทษ อย่างแยบคาย ปราชน์ย่อมเป็นกัลยาณมิตรที่มอบความปรารถนาดีให้ศิษย์ด้วยความจริงใจ และในฐานะของท่านเป็น พส. (พระสงฆ์) คุณสมบัติของกัลยาณมิตรย่อมปรากฏในฐานะอยู่แล้ว เช่นนี้ คือมีกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ ดังนี้

- ปิโย (น่ารัก) ให้อยากเข้าไปปรึกษาถามไถ่

- ครุ (น่าเคารพ) ให้เกิดความอบอุ่นใจ ปลอดภัยเป็นที่พึ่ง

- ภาวนีโย (น่าเจริญใจ) ให้ซาบซึ้งน่ายกย่องนอบไหว้

- วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล) ให้รู้จักชี้แจงหลักความเชื่อ

- วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ) ให้รับฟังคำปรึกษาซักถามได้ไม่เบื่อ

- คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้) ให้เหตุผลความเชื่อได้ไม่ซับซ้อน

- โน จฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน) ให้คำแนะนำในเรื่องไม่เหลวไหล ไมชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย

คิดอย่างนักปราชญ์ แปลว่า คิดอย่างผู้มีประสบการณ์ที่เป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก มีความรู้มาก เป็นผู้คงแก่เรียน คิดหาวิธีที่สามารถน้อมนำคำสอนป้อนสู่ (Target) กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนวัยแรกรุ่น ปราชญ์บัณฑิตย่อมตั้งอยู่ในคุณธรรมข้อว่าจักร 4 นั้นด้วย (จักร 4 ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย)

1. ปฏิรูปเทสวาสะ ประเทศไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา

2. สัปปุริสูปัสสยะ คบบัณฑิต คิดอย่างนักปราชญ์ (พหูสูต)

3. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง

4. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, เป็นผู้ทำงานสอนศาสนามา 15 ปี ไม่ด้อยค่า มากด้วยประสบการณ์, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น

ธรรม 4 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

อย่างไรก็ให้พิจารณาถึงประโยชน์หรือโทษว่า ควรเป็นเรื่องที่ต้องอนุมานให้มาก ว่าควรด้วยการแซกแซงเข้าไปปิดกั้นเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่ บางท่านถึงกับยื่นหนังสือร้องเรียนระงับยับยั้งถึงต้องให้ลาสิกขา นั่นหมายถึงการเอาเป็นเอาตายจาก (เพศสภาพ) บรรพชิตเลยหรือไม่อย่างไร ธรรมะสมสมัยฉบับนี้ฝากไว้ด้วยกระแสที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน รูปขอจำเริญพร