ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



THE MONKS LIFE OF THAILAND

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย เอาตัวรอดอย่างไรดี เมื่อต้องอยู่ในสถานะการณ์ที่รู้สึกแย่ที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถานะการณ์ใด ๆ ที่นับว่าเป็นปัญหาเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะสังคมชาวพุทธเราต้องเข้าใจและมีวิธีที่จะจัดการ การมองปัญหาเป็นความทุกข์ ความทุกข์ต้องมีต้นต้อเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ต้องรู้วิธีดับทุกข์ดับปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้ การรับข้อมูลข่าวสารเรื่องการเมือง การเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการพระศาสนา ฯลฯ

ต้องยอมรับว่าเรื่องศาสนานั้นละเอียดอ่อน อย่างเรื่องพระสงฆ์ที่เป็นข่าว ซึ่งมองอย่างหนึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหลวงพ่อหรอก แต่ด้วยความเป็นพระภิกษุก็รู้สึกไม่สบายใจ การนำเสนอข่าวไม่เว้นในแต่ละวัน ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้กินพื้นที่ข่าวไปทั่วโลก หากเป็นอยู่เช่นนี้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน นานวันเข้าต้องบอบช้ำอย่างยากที่จะเยียวยา ดุจดังแผลที่ถูกตีซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อให้เจอหมอดีเจอยาดีแค่ไหน ก็ใช่ว่าการรักษาจะทำได้ดังที่ใจปรารถนา นี้มองประเด็นปัญหาสังคมเหมือนคนป่วยไข้

วิธีการแก้ปัญหา การจัดการกับปัญหา การเสพข้อมูลข่าวสารที่เป็นพิษ อาจทำให้สังคมง่อนแง่นคอนแคลนต่อพระพุทธศาสนาอยู่นะ อาจเป็นภัยพระพุทธศาสนาอย่างยากที่จะหลีกเว้น อย่างเรื่องเงินทอดวัดเป็นต้น ฯลฯ ยังมิทันทราบว่าศาล หรือกระบวนการ ยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร ? ตามกระบวนการทางกฎหมายก็จับพระมหาเถระสละเพศบรรพชิต (สึก) กันระเนนระนาดแล้ว


ตั้งสติตั้งใจกันไว้

ญาติโยมท่านทั้งหลาย สถานะการณ์ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ความมีสติคือเป็นวิธีตั้งรับกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีที่สุด กรอบความคิดใด ๆ ก็ดี แผนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทใด ๆ โครงการใด ๆ ก็ดี ต้องพัฒนา ต้องคิด ต้องทำ เรื่องที่ควรเข้าใจนั้นมีอยู่คือเรื่องเหตุและผล ตลอดความเป็นมาของชีวิตพระสงฆ์ในประเทศไทย (The Buddhist monks life of Thailand) เชื่อว่าทุกท่านคงเข้าใจบทนพื้นฐานของคติการเข้าถือบวชที่เปลี่ยนไปจากครั้งเมื่อพุทธกาล อย่างเรื่องพระสงฆ์ ต้องมองเป็น 2 มิติ

มิติที่หนึ่ง พระภิกษุในครั้งพุทธกาล ออกบวชเพราะเห็นภัยในวัฏฏะ มุ่งบำเพ็ญตนให้ลุถึงนิพพาน ครั้งพุทธกาลได้ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า นั้นถือว่าเป็นบุญมากแล้ว ที่บรรลุอรหันต์ก็มี ที่ไม่บรรลุก็มี คตินิยมสำคัญในครั้งนั้นกล่าวว่า "เมื่อออกบวชไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ภายหลังจะกลับคืน ลาสิกขาบทนั้น ให้ถือว่าเป็นคนล้มเหลวไม่เป็นที่ยอมรับ ในชีวิตทำอะไรก็ไม่สำเร็จ"

มิติที่สอง พระภิกษุในสมัยหลัง อย่างในประเทศไทยเรานั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันเป็นปกติว่า เป็นประเพณีบวชได้สึกได้ กฎหมายก็อนุญาตให้ลาบวช 1 - 3 เดือน คตินิยม ตลอดถึงข้อระเบียบกฎหมายก็ต้องปรับต้องเปลี่ยนให้เข้ายุคถูกสมัย จะอ้างเอาสมัยพุทธกาล อะไร ๆ ก็พุทธกาลเป็นตรรกะที่ใช้ได้ไม่ทั้งหมด


สำนวนไทอีสานปรัชญาประชาชน

ภาษาอีสานมรดกทางวัฒนธรรมที่ยั่งรากลึกมาแต่โบราณ ก้าวมาถึงสู่สังคมร่วมสมัย คำไทแท้อาจไม่ไพเราะ แต่พ่อแม่ปู่ตาย่ายายก็อยู่กันมาได้ด้วยคุณธรรมอันสูงส่งในใจมนุษย์ “นี่แหละปรัชญาประชาชน” ที่ได้พร่ำสอนกันมา เป็นคุณธรรมประจำใจกันมานาน เป็นการปลูกปัญญาธรรม และสามารถเข้าใจได้โดยง่าย อย่าโกรธหลวงพ่อนะถ้าเพียงเพราะสำนวนที่กล่าวนั้น ถือเป็นการสื่อสารให้เห็นคำซื่อคำจริงที่ต่างค่านิยม ต่างยุค ต่างสมัย ต่างการยอมรับก็พอ (ซึ่งหลวงพ่อก็พูดด้วยสติสัมปชัญญะนั่นแหละ)

ประโยชน์ใดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่หลวงพ่อคิด พูด ทำ ขอให้ลูกหลานจงได้รับอานิสงส์ทั้งมวลนั้น ขอให้รุ่งเรืองก้าวหน้า โชคดีมีชัย คุณพระคุ้มครอง บุญปกป้องรักษา และก็ขอร้องให้พวกเราช่วยกันคุ้มครองพระพุทธศาสนา เวลานี้เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกหมู่เหล่า และทุกชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย” ยังให้เกิดความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีเป็นสิ่งอันควรรับฟัง ...“จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้”... คำเหล่านี้เข้าใจกันไหม ?

หรืออุปมาอุปไมยว่า ...“กินผลทุเรียน ให้นึกถึงคนปลูก”... หรือเทียบคำผญาสุภาษิตอีสาน ปรัชญาประชาชน มีใจความเป็นแนวทางว่า ดังนี้

“คันได้กินลาบซิ้น อย่าสู่ลืมแจ่วแพวผัก คันได้กินพาเงินพาคำ อย่าสู่ลืมกระเบียนฮ้าง”

“คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมผู้ปลูกข้าวอยู่โถ้งนา ผู้ขี่ควยคอนกล้า”

“คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่า ได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง”

ความหมาย : ถ้าหากไปได้ดิบได้ดี หรือได้เป็นใหญ่เป็นโตมีฐานันดรยศศักดิ์ แล้วนั้น อย่าลืมผู้คนที่อยู่ รอบข้าง อย่าลืมคุณคน จากคำที่กล่าวแล้วนั้นจึงบอกให้ตั้งสติตั้งใจกันไว้


อำนาจต่อรองกับ"กฎหมายปฏิรูปสงฆ์"

หลวงพ่อเป็นพระบ้านนอก การศึกษาก็ไม่มากเท่าไร ดังนั้นภาษาที่ใช้อาจไม่สัมผัสโสตวิญญาณนักนะ ต้องขออภัยท่านบัณฑิตรนักปราชญ์ผู้ติดตามอ่านคอลัมน์ธรรมะสมสมัย แต่เรื่องกฎหมายคณะสงฆ์ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่นั้น ดูว่ามันเป็นเรื่องเบ็ดเสร็จเผด็จการอยู่นะ การออกกฎหมายสงฆ์ คืออย่างน้อยถ้าอยากให้เกิดความชอบธรรม ต้องให้มีพระสงฆ์ท่านได้มีส่วนร่วม เช่น ได้ร่วมคิด ร่วมร่าง หรือร่วมแสดงความคิดเห็นกันบ้างจะดีไหม ?

เพราะการพระศาสนานั้นพระภิกษุคือเป็นผู้นำ ขอฝากไปยังฆราวาสหัวหน้าปฏิรูปสงฆ์ด้วย แม้แต่พระภิกษุณีบวชมา 100 ปี ก็ต้องให้กราบพระภิกษุแม้บวชเพียงวันเดียว นี้ให้หลักคิด จริง ๆ แล้วหลวงพ่อไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องบริหาร แต่ด้วยเหตุการณ์ทางบ้านเมืองเอาเรื่องพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นประเด็นด้วยความห่วงใยพระพุทธศาสนาและพระเจ้าพระสงฆ์ก็อดที่จะกล่าวถึงไม่ได้

ถ้าพระสงฆ์ไม่สามารถมีปากเสียงเป็นอำนาจต่อรองได้ ให้ดีต้องชาวพุทธทุกคน ทุกชนบทตำบลมีอำนาจต่อรอง เพื่อความมั่นคงของพระพทธศาสนาเพื่อความชอบธรรมให้เป็นที่ยอมรับของมหาชน ต้องให้ปากเสียงประชาชนเป็นอำนาจต่อรอง ต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรื่องพระธรรมวินัยเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ศึกษา สืบทอด สาธยาย แต่นั่นมิได้หมายว่าจะให้พระสงฆ์ออกจากรัฐธรรมนูญ (???)


พระสงฆ์กับเทคโนโลยี

การปฏิเสธเทคโนโลยี "คิดให้ดี" ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็น 1G / 2G / 3G / 4G หรือจะมีอีกสักกี่ G (จี) ธรรมะก็ไม่เป็นไปเพื่อความทะเลาะเบาะแว้ง ขัดกันบ้างได้ แต่ต้องไม่แตกสามัคคี สุดท้ายดับลงตรงมรรควิธี จึงจะเป็นไปตามพระพุทธประสงค์

โลกปรมัตถ์ - โลกโลกียะ มันต้องอยู่ด้วยกันได้ คืออย่างความสามัคคี โลกมันสงบร่มเย็น แตกสามัคคี โลกนี้ก็ไม่ต่างกับกองไฟบรรลัยกัลป์ เถียงกันไปทำไม ? “ความจริงนิ่งเป็นใบ้ - สิ่งพูดได้ไม่ใช่ความจริง” พระนิพพานหยิบยื่นให้ไม่ได้ อยากได้ให้ทำเอาเอง ทำแล้ว ตั้งใจแล้ว สัมผัสได้ของแก่เอง รูปขอจำเริญพร