ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ไหว้ครูพ่อปู่ชีวก

ญาติโยมท่านพุทธบริษัทสาธุชนคนรักธรรม เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ทางสมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา โดยท่านนายกสมาคม คุณเหมียว กนิษฐา เพอรไรดา (Kanitta Perrida) ได้นิมนต์หลวงพ่อไสว ชมไกร เจ้าอาวาสวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด พร้อมพระติดตาม 1 รูป คือหลวงพ่อถวิล จิตติภัทโธ โดยมอบหมายผ่านทางคุณก้อง (พราหมณ์เจ้าพิธี) ให้มาร่วมงานพิธีไหว้ครูพ่อปู่ชีวก กำหนดการเปิดงานพิธี ก่อนดำเนินการใดได้อาราธนาหลวงพ่อให้แสดงธรรม ชีวะประวัติของท่านพ่อปู่ชีวกโดยสังเขป


ความกตัญญูกตเวที

นิมิตตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี ความกตัญญูนี่แหละจะทำให้โลกรอดได้ หมายถึงถ้าเรากตัญญูต่อสิ่งใด ก็คือเราจะทำหน้าที่ต่อสิ่งนั้น ๆ เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติเพื่อนพ้อง พี่น้องวงศ์วาร อาคาร สถานที่ ชมรม สมาคม สังคม ประเทศชาติ ที่สุดคือมนุษยชาติ ทุกชาติทุกภาษาจะทำหน้าที่ที่ดีต่อกัน เป็นต้น ฯ

สมาคมนวดไทย ได้แสดงออกถึงพลังกตัญญูต่อครูพ่อปู่ชีวก สืบสานวิชาชีพนวดไทยมีมาแต่โบราณ วิชานวดหลวงพ่อเข้าใจว่าเกิดมาพร้อมมนุษยชาติด้วยละ เพราะเป็นวิธีที่เรียนรู้วิธีแก้ความเมื่อยเจ็บที่เกิดแก่ร่างกาย การแก้เวทนาที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ เช่น แขน ขา ข้อเท้า เข่า ศอก หลัง หัวไหล่ ต้นคอ ท้องกระเบนขาเหน็บ และทุกส่วนของร่างกาย หากแต่ศาสตร์วิชาที่ถ่ายทอดมาอย่างเรื่องชื่อนั้น มีหลักฐานมาในชีวิตและผลงานของพ่อปู่ชีวกโกมรภัจจ์ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีไว้เพื่อสักการะ การที่จัดตั้งสมาคมนวดไทยขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมให้วิชาชีพนวดไทย ทั้งผู้ประกอบการร้านนวด ตลอดถึงโรงเรียนสอนนวดที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย การให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ทุกอย่างเพื่อปกป้องคุมครองสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น วัตถุประสงค์ที่สมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา บัญญัติไว้ว่า "ธุรกิจนวดจะต้องอยู่ได้ / อยู่ดี / และอยู่อย่างมีเกียรติ" ท่านนายกสมาคมนวดไทยฯ ได้อธิบายวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้


วัตถุประสงค์ 3 ข้อ ของสมาคม

1. อยู่ได้คือธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่สิ่งของที่จะสั่งออนไลน์แต่เป็นการบริการ, การเยียวยาการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ, ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์, ซึ่งไม่มีเครื่องจักรที่ไหนทำได้ ธุรกิจนวดจึงยังคงอยู่ได้ตลอดมาเป็นร้อยเป็นพันปีมาถึงวันนี้ โลกเปลี่ยนไปมีหลักเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจตัวนี้ก้อต้องปรับต้วให้อยู่ให้ได้ เพราะยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ

2. อยู่ให้ดี การเรียนรู้เพิ่มเติม พัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ การยอมรับทำตามกฎระเบียบของบ้านเมืองจะทำให้การประกอบอาชีพนวดมีความมั่นคง อาชีพนี้เป็นอาชีพมีรายได้ต่อชั่วโมงค่อนข้างสูง ถ้าเราอยู่บนความถูกต้องก็จะอยู่ได้อย่างดี

3. อยู่อย่างมีเกียรติ การประกอบอาชีพนี้ต้องมีการเรียนรู้ โดยเฉพาะในอเมริกาต้องผ่านการเรียนการสอบแบบยากเย็นขั้น ๆ คุณหมอหรือพยาบาลเบื้องต้นเลยทีเดียว เมื่อได้ใบอนุญาตก็ถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้เช่นกัน ถ้าเราช่วยกันสร้างภาพพจน์ที่ดีว่าเป็นการนวดรักษา เป็นการช่วยเหลือคนเจ็บป่วย เราก็จะอยู่ในธุรกิจนี้ได้อย่างมีเกียรติ


ประวัติชีวิตและผลงาน

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง ตำแหน่งนี้มิได้เป็นกันง่าย ๆ พระราชาทรงเป็นผู้แต่งตั้งพร้อมมีเงินเดือนให้) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ (ด้วยจิตวิญญาณของผู้เป็นแม่ นางสาลวดีได้ทราบว่า เจ้าชายผู้เมตตาจักเสด็จออกมาทางประตูนั้น)

พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)

ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ 7 ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ 1 โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์

เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา 16,000 กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์

ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง 500 นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ

หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ 2 - 3 ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก) เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์ และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด

นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่อง เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

กล่าวถึงประวัติชีวิตและผลงาน ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ มีอีกมากมาย ท่านอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์สังคม "แม้ว่าท่านจะไม่ได้บรรลุธรรมใด ๆ" ยังปรากฏคำยกย่องจากพระพุทธเจ้ามากมาย ขอให้ท่านผู่อ่านไปศึกษาในพระวินัยปิฎกเล่ม 5 เพราะพื้นที่ไม่พอ ขอจบดื้อ ๆ เพียงนี้ รูปขอจำเริญพร