ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



วิถีประพฤติพรหมจรรย์

ท่านผู้ใฝ่บุญใฝ่ธรรมทุกคนทุกท่าน วิธีพรหมจรรย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถามว่ายากไหม? กับการรักษาพรหมจรรย์ มองแบบกรณีศึกษาดูๆ แล้วก็เหมือนง่ายๆ ไม่มีอะไรที่ทุกคนผู้ตั้งใจจะทำไม่ได้ ก่อนอื่นก็ควรทำความเข้าใจร่วมกัน มีนิยามเป็นอันเข้าใจร่วมกัน เป็นต้นว่า พรหมจรรย์คืออะไรยังไง? แบบไหนเรียกพรหมจรรย์ เช่น

1) การถืออุโบสถศีล ทั้งที่ปลงผมโกนศีรษะ และที่ ถือบวชไม่โกนผมนั้น คือการประพฤติพรหมจรรย์ การปลงวางภาระครอบครัวปลงวางได้ แต่ว่าระยะเวลาที่จะสามารถครองเพศภาวะแห่งการรักษาพรหมจรรย์จะได้นานสักกี่มากน้อยนั้นเป็นอีกเหตุผล อยู่นาน อยู่ง่าย อยู่ยาก จึงต้องบอกว่าต้องอาศัยคำว่า แล้วแต่บุญบารมีของแต่ละคนที่จะสามารถสร้างได้ทำได้ คำง่ายๆ คือ ใครทำใครได้ประมาณนั้น

2) การบวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาปฏิบัติตามกรอบวินัยของพระอริยะเจ้า คือการประพฤติพรหมจรรย์ บวชเหมือนกัน ปฏิบัติมาใช้ระวาลามาเท่าๆ กัน บารมีต่างกัน ง่ายๆ อีกคำหนึ่งคือ แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งบารมีกันนั้นว่า "แข่งยาก"

ตัวอย่างที่เห็นจากอายุกาลพรรษาของพระมหาเถระทั้งที่มีสมณะศักดิ์ก็ดี ไม่มีสมณศักดิ์ก็ดี พรหมจรรย์ยังคงครองคุณค่าความงดงามท่ามกลางอารยะประเพณีวิถีแห่งพรหมจรรย์เสมอ พระสงฆ์คารวะกันที่ราตรีแห่งพรรษายุกาล เคารพพรหมจรรย์นับกันที่พรรษา เป็นสิ่งที่งามด้วยพระธรรมวินัย การกราบสมณศักดิ์ในภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าเป็นความติเตียนกันด้วยพรหมจรรย์ด้วยซ้ำ


การบวชเนกขัมมจารินี

เป็นชื่อเรียกผู้สมาทานถือศีล 8 คือบวชโดยไม่โกนผมถือพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติประเสริฐ ประพฤติอย่างพรหม ก็ไม่ได้จำกัดว่าที่บ้านหรือที่วัด ถ้าประพฤติใดได้ก็ประพฤติให้สมควรแก่ธรรม คือการตั้งตนไว้ชอบนั้นเอง อย่างการถือศีลพรหมจรรย์อยู่ร่วมกันที่วัด ก็ให้จำแนกกลุ่มให้งาม เช่น ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 นั้นชื่อได้ว่า ศีล พรหมจรรย์ มีความหมายว่า การประพฤติอย่างเต็มที่ ติดต่อกันเป็นระยะยาว หรือเป็นการปฏิบัติตลอดชีวิต อย่างนี้เรียกให้ง่ายว่า ประพฤติพรหมจรรย์ อย่างการบวชเนกขัมมจารินี ถือศีล 8 นี้ ซึ่งทำได้ทุกคนทั้งเพศชาย - เพศหญิง


การสร้างบารมีเป็นเรื่องเฉพาะตน

พระบาลีใน มฆเทวัมพสูตร ว่า "บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจดจากอาสวกิเลสด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง"

- เป็นบำเพ็ญตบะชำระกรรมที่ผูกมัดรัดตรึงมาทางความคิด

- เป็นพฤติการที่บัณฑิตทั้งหลายปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน

- เป็นวิธีการสร้างบารมีที่ให้ความบริสุทธิ์เฉพาะตน

- เป็นวิธีการฝึกฝนให้ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลา

- เป็นหนทางยกจิตเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน

ผู้ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ถือได้ว่าประพฤติวัตรอันประเสริฐเช่นเดียวกับพระอริยะเจ้าทั้งหลาย


ประเภทพรหมจรรย์

เพื่อศึกษาเห็นภาพง่ายขึ้น 1) ชั้นศีลธรรม 2) ชั้นจริยธรรม 3) ชั้นโลกุตตรธรรม จะสังเกตได้ว่า ทุกชั้น ต้องมีศีล กับธรรม เป็นปัจจัยควบคู่กันเสมอ

ชั้นของพรหมจรรย์

ขั้น 10. พรหมจรรย์รวมยอด ปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนาท่านหมายถึง หมายถึง ผู้บำเพ็ญมรรค 8 สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ผู้บรรลุอรหัตผลความสำเร็จ ในอธิสิกขา 3 แล้ว คือ

1. อธิศีลสิกขา - สำเร็จศีล ชั้นยอดแล้ว

2. อธิจิตตสิกขา - สำเร็จทางสมาธิ ชั้นยอดแล้ว

3. อธิปัญญาสิกขา - สำเร็จ ได้ดวงปัญญา ชั้นยอดแล้ว

พื้นฐานชั้นสูง เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น เช่น ได้โสดาบัน แต่ยังไม่บรรลุอรหันต์

ขั้น 9. อริมรรค = บำเพ็ญมรรค 8 ตั้งตนด้วยความมี "สติ" ที่ปราศจาก "อคติ"

ขั้น 8. อุโบสถ = รักษาศีลอุโบสถ คือ เจริญไตรสิกขา

ขั้น 7. วิริยะ = ต้องปรารภความเพียร คือพยายามละกิเลสโดยวธีต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรมะ พิจารณาธรรมะ เป็นต้นฯ


พื้นฐานชั้นกลาง

ขั้น 6. เมถุนวิรัติ = วันศีลวันพระเลิกละงดเว้นเว้นเสพเมถุน เคร่งครัดเด็ดขาด

ขั้น 5. สทารสันโดษ = พอใจแต่ในคู่ครองของตน รวยหรือจนนำพาให้ความสุขกายสบายใจ

ขั้น 4. อัปปมัญญา = แผ่เมตตา แก่สัตว์ทั่วไป สบายใจทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง


พื้นฐานชั้นต้น

ขั้น 3. เบญจศีล = เบื้องต้นคือรักษาศีลห้า สู่ความดำรงสันติภาพอันยิ่งใหญ่

ขั้น 2. เวยยาวัจจะ = ขวนขวาย ในการทำประโยชน์โดยชอบ เพื่อความมั่นคง

ขั้น 1. ทาน = การสละทรัพย์ให้คนอื่นด้วยความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน


ประกาศอนุโมทนา

ขอต้อนรับท่านผู้มีบุญที่จะเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมตลอดพรรษาในปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง ทางวัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี เตรียมหลักสูตรการศึกษาและปฏิบัติ เพื่อชีวิตงาม และเพื่อความรุ่งเรืองทางปัญญา ตลอดถึงเพื่อความเจริญแห่งพระสัทธรรมทางพุทธศาสนาที่มั่นคง ยังยืน ยาวนาน สืบไป ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับผู้มีส่วนพัฒนานโยบายการศึกษาปฏิบัติไปโดยพร้อมเพียงกัน รูปขอจำเริญพร