ความจริงหรือความคิด
ไพฑูรย์ สุขสิขารมย์
โรงเรียนของแม่ ตอนที่ 3

ทุกครั้งแม่กินหมาก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ กระโถนสำหรับบ้วนน้ำหมาก ทุกสิ่งที่อาศัยปากเคี้ยว แม่สังเกตต้องมีน้ำลายมาประกอบด้วยเสมอ น้ำทำให้ทุกสิ่งที่เข้าปากนิ่ม เหมาะกับการเคี้ยว ถ้าเคี้ยวแล้วไม่กลืน น้ำลายจะเพิ่มปริมาณ น้ำหมากถ้ากลืนย่อมไม่ให้ประโยชน์ การบ้วนออกน่าจะเป็นทางเลือก

โดยปกติคนกินหมาก ไม่มีใครรังเกียจ แต่ถ้าจะรังเกียจเที่ยวบ้วนลงพื้นถนน มองดูไม่สะอาดตา หลายคนพูดแพร่เชื้อโรค แม่เคยคิดเลิกเพราะหลังสงคราม หมาก พลู แพง และหายาก พอหยุดแม่หงุดหงิด ทำงานไม่ได้ เกิดความกังวล เห็นคนรอบข้างจะเอ็ดตะโรใส่ ความรู้สึกอะไรต่อมิอะไรขวางตา ขวางความรู้สึก แม่เลยกลับมากินหมากอีก

ทุกครั้งได้เวลากินหมาก แม่จะง่วนกับหมากพลู มองดูสงบ เพลินกับสิ่งที่กำลังทำ นักจิตวิทยาเคยพูดว่า มากสิ่งในชีวิต เราสัมผัสและอยู่กับมัน ถ้าไม่มีผลที่ออกมาเสียหาย กระทำแล้วมีความพอใจ สุข กระทำเถอะเพราะความสุขที่คนมี คือผลของงานที่ออกมาจากตัวถึงผู้รับ เหมือนกับทำงาน ถ้าทำงานด้วยความพอใจ ศรัทธาต่องาน งานจะเสร็จหรือช้าอยู่ที่งาน แต่ใจลื่นไหลไปกับงาน

เหมือนกับเลือกเรียน จะเลือกวิชาถนัดกับอุปนิสัย เรียนจบงานที่ทำจะมีความตั้งใจ เพลินกับงาน ผลของงานย่อมมากด้วยคุณภาพ แม่มีลูก 4 คน อายุต่างกันหลายปีทุกคน หลายคนพูดมีลูกห่างกัน ที่จริงก็ดี เวลาลูกร้องจะไม่พร้อมกัน อายุห่างกัน 3-4 ปี พี่สามารถเป็นธุระแทนแม่ได้ แม่เลี้ยงหลานอีกคน ตั้งแต่ขวบ ถึงวันนี้อายุ 44 ปี แม่อยู่คงคุยด้วยความภูมิใจ เป็นนายพันตำรวจ ลูกๆ แม่ส่งให้เรียนหนังสือทุกคน มีบ้างที่ไม่อยากเรียนเพียงจบ ม.6 ก็ออก แม่อ้อนวอนให้เรียนวิชาชีพ คำบอกเล่าอยากช่วยพ่อแม่ทำงาน

ผมเห็นคนมากมายของมากครอบครัว พี่หรือน้องเสียสละตัวเอง ช่วยพ่อแม่ทำงาน ส่งเสียคนอื่นเรียนหนังสือ พอถึงวัยกลางคนล่วงผ่าน หลายคนที่ส่งเรียนมีงานดีๆ ทำ พวกพี่น้องระลึกความดีงามของพี่และน้อง เอามาอยู่ด้วย แต่ก็อดคิดถึงชีวิตไม่ได้ เราพลาดโอกาสดีของชีวิต ช่วงที่ควรหาความรู้ใส่ตัว

ผมอดภูมิใจกับความคิดของแม่ ที่มีต่อลูกและหลาน ที่ส่งเสริมให้เรียนหนังสือ ชีวิตคนต่างจังหวัด อาชีพทำนา ตื่นเช้าออกจากบ้านแต่มืด ไปนา ไถ หว่าน เก็บเกี่ยวข้าว รายได้จากข้างปีละครั้ง และราคาข้าวก็ไม่เคยได้ความยุติธรรม พ่อค้าคนกลางจะกดราคาเสมอ ไม่มีทางเลือกรายได้ปีละครั้ง ลูกหลายคน หนี้สินต้องใช้ ถึงรู้ว่าถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคา ไม่รู้จะไปขอความยุติธรรมจากใคร แม้คนที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน อย่างกำนัน ส.ว. ส.ส. ก่อนเลือกตั้งมาหา กราบอ้อนวอน คำพูดเหมือนกัน ถ้าได้รับเลือก จะไม่ลืมพ่อแม่พี่น้อง ดูพวกมันพูด พอได้รับเลือกหายหน้า ชาวเกษตรกรที่มีปัญหา ต้องเช่ารถ ไปร้องเรียนที่รัฐสภาในกรุงเทพฯ จะกี่สิบปีก็ยังเหมือนเดิม ยิ่งปีที่ผ่านมาซวยซับซ้อน ขายข้าว รัฐบาลบอกว่าติดก่อน เงินขาดกองคลัง ให้บัตรเป็นลูกหนี้เก็บภาษีได้จะนำมาให้

สูตรชีวิต เขาบอกว่าสภาพแวดล้อมเป็นตัวชักนำ เด็กเติบโตในท้องนา เห็นแต่คนขายแรงงาน ส่วนมากเรียนก็ไม่สูง เมื่อไม่มีแบบอย่าง ความคิดทำนา สะสมทุกวัน เห็นทุกคนก็มีชีวิต อยู่ได้ ถึงจะไม่ทัดเทียมกับคนอาชีพอื่น เมื่อมากครอบครัว เด็กๆ ขยันเรียนจึงไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นความอดทน มานะ ขยัน ไฝ่ดี

อยุธยา ยุคผมเป็นเด็ก น้ำจะท่วมไร่นา ท่วมบ้าน น้ำขึ้นสูงจากพื้นดินหลายเมตร อยู่สามสี่เดือน อดคิดมันเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ถ้าจะพึ่งหลวงท่าน สร้างเขื่อน จัดระบายน้ำเข้านา จ้างก็คงจะต้องใช้เวลา ความยากจนของชาวไร่ ชาวนา คงเกลื่อน

พอข้าวในนาเริ่มโต ข้าวยืนต้น น้ำป่ามาทางเหนือ จะค่อยๆ ท่วมไร่ข้าว ต้นข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน ข้าวไม่อยากจมน้ำตาย เหลือเชื่อ ข้าวเติบโตสูงพ้นน้ำเสมอ เติบโตทั้งกลางวันและกลางคืน คงเหมือนคน พออายุ 16-18 กระดูดหยุดการเจริญเติบโต ความสูงหยุดอยู่กับที่ ถึงจะบำรุงอาหารประเภทแคลเซี่ยม อย่างดีเพียงทำให้กระดูกแข็งแรง ไม่หักง่าย

ข้าวช่วยตัวให้สูงเหนือน้ำ เรียกว่าข้าว “ทลึ่ง” น้ำ คำว่า ทลึ่ง คือข้าวโตพรวดพราดหนีน้ำพ้น น้ำที่มาท่วมจะนำปุ๋ยมาด้วยเสมอ เป็นช่วงหน้าข้าวตั้งท้อง ออกรวง คงจะเหมือนคนที่ตั้งท้อง ต้องการอาหารดี เอาใจจากสามี และครอบครัว พูดดี ช่วยงาน

ปุ๋ยที่น้ำนำมา คือคุณภาพของข้าวสารในหม้อ หุงออกมาเป็นข้าวสวย หอม ข้าวมีใยเวลาทานข้าวจะเหนียว คนเฒ่าคนแก่จึงสอนลูกหลาน ทานข้าวอย่าให้เหลือติดก้นจานข้าว ข้าวหกเก็บ รู้จักกราบไหว้ข้าว เพราะข้าวทำให้เรามีชีวิตเติบโตทุกวัน

เมื่อสองเดือนที่แล้ว ผมซื้อข้าวมา 25 ปอนด์ หุงเมื่อไหร่ข้าวไม่เคยหอม ไม่เหนียว ยิ่งทำเป็นข้าวต้ม ต้มนานเปื่อย แต่ขาดความต่อเนื่อง อดคิดคงเอาข้าวตกค้างด้อยคุณภาพมาขาย

หน้าน้ำท่วมข้าว เหมือนธรรมชาติช่วยปกป้อง ดูแลรวงข้าว ให้ปลอดภัยจากสัตว์อย่างหนู พอรวงข้าวแก่ เพิ่มน้ำหนักรวงข้าวจะเริ่มเอน ถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวข้าวน้ำจะลดและแห้ง ชาวนาจะนำไม้ไผ่ยาวมานาบข้าวให้ราบเอนไปทางเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยวข้าว และก็เป็นธรรมชาติ ข้าวจะแก่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว เวลาจะคลาดกัน ถ้าข้าวแก่ พร้อมกันหลายไร่ เกี่ยวเองไม่เสร็จทันข้าวอาจร่วงจากรวง ก็ต้องจ้างคนอื่นมาช่วยเกี่ยวเรียกว่าลงแขก หมายถึงจ้างคนอื่นมาเกี่ยว มีคนมากคน จ้างเป็นวัน มีอาหารกลางวันเลี้ยง ลงแขกเกี่ยวข้าวคนชอบ แหย่ กระเซ้า มากคนรู้จักรักชอบพอ และพบปะแต่งงาน เริ่มจากงานเกี่ยวข้าว

ความรัก เป็นเรื่องที่ต้องกล้าแสดงตัว ไม่กลัวอกหัก ไม่อาย ไม่กลัวจะสูญเสีย

ช่วงหลายเดือนที่น้ำท่วม ปลา กุ้ง หอย และผัก จะเติบโต ธรรมชาติดูแล ให้เติบโต ปลอดภัยช่วงขยายพันธุ์ พอน้ำลดทุกสิ่งจะเติบโต สมบูรณ์ เป็นอาหารของชาวบ้าน ป่าไม้ ย่อมชอบ คนจิตชั่ว ลักตัด และทำลายป่าไม้ สัตว์ป่า หยุดทำบาปกรรม

หลังจากน้ำลด น้ำแห้งดินใต้ถุนบ้านยังเป็นโคลน แม่เอาคราด คราดเป็นฝีมือที่เรียกว่าโอท็อป เอาไม้ไผ่ยาวสองฟุต ตรงกลางเจาะใส่ด้าม เกลี่ยดินที่เป็นโคลนให้เรียบพื้นหน้าดินเสมอกัน หลังจากนั้น แม่จะทำรั้วไม่ให้หมาแมว และคนเดินย่ำ จะได้ไม่มีรอยเท้า แม่เคยดูทีวีที่ฮอลลีวูด พวกดารามีชื่อเอารอยเท้าตัวมาแปะบนถนนทางคนเดิน เขียนชื่อ แซ่ แม่คิดและพูดกับตัวเอง พอดินเริ่มหมาด (หมาด คือดินเริ่มแห้ง ถ้าจะทำอะไร แล้วคงสิ่งที่กระทำ จะทำง่าย พอดินแห้งจะคงรูป) แม่คิด จะเลือกเอาที่อับ (คนไม่เดินไปมาบ่อย) ทำรอยเท้าของเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่รอยเท้าของลุงน้อย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง เป็นวัดที่ครอบครัวแม่เติบโต และคุ้นกับการทำบุญตักบาตร และกิจกรรมทางศาสนา

ไม่นานดินแห้ง หน้าดินเรียบ แม่ให้พ่อทำแคร่ไม้ไผ่ สำหรับนั่งพักผ่อน คุย แม้แต่ทำงาน แคร่ไม้ไผ่เป็นสารพัดประโยชน์ บ่อยครั้งแม่จะมาเอน งีบ ช่วงอากาศร้อนตอนกลางวัน แคร่ใต้ถุน แดดส่องไม่ถึง ลมเย็นตลอดเวลา แม่เอากระดานดำมาแขวนที่เสา แม่เอาไว้เขียนมากสิ่งเตือนกันลืม และที่ใต้ถุนบ้าน แม่เรียกว่าโรงเรียน จะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สามารถถ่ายเทความรู้กันได้ที่นี่ ความคิดของแม่ โรงเรียนไม่จำเป็นจะต้องอยู่ที่โรงเรียน หลวงตั้งกฎเกณฑ์ แม่เคยคิดว่าความรู้ที่เด็กได้รับถึงจะเจริญดีงามทัดเทียมโลกภายนอก แต่มากสิ่งความรู้ก็ไม่เป็นตามความต้องการของชาวบ้าน ชาวบ้านสอนลูกหลานเองน่าจะตรงจุดกว่า