ความจริงหรือความคิด
ไพฑูรย์ สุขสิขารมย์
ความจริงหรือความคิด 22 ธันวาคม 2561

จอดที่วายเอ็มซีเอ ถึงแม้ว่าราคาประมาณ 50 เหรียญ สำหรับออกกำลัง สมาชิกเกือบทั้งหมดวัยเกษียณ ครับมีคนอายุเกิน 90 มี 2-3 ราย คงจะมีความคุ้นเคยมานานปี ติดเพื่อน ติดที่ และติดสังคมของคนมาออกกำลัง หลายคนมาเป็น 10 หรือ 20 ปี

การมาร่วมกิจกรรม เพื่อออกกำลังไม่เพียงสังคมออกปากชมเชย แม้แต่พุทธศาสนาก็มีความรู้สึกนิยมชมชอบ เมื่อมารวมตัวออกกำลัง พัฒนากายและใจเพื่อให้สุขภาพดี ละเลยเพิกถอนสุขภาพที่สามารถเพิ่มโรค เมื่อจิตใจคิดแต่ทางดี แน่นอนครับคุณประโยชน์คิดดี คิดเรื่องมงคล ไม่หมกมุ่นเรื่องทุกข์ ยังแต่ให้คุณ เหลือเชื่อเมื่อใจละกิเลส ถึงไม่นานพุทธศาสนาบอกว่า เมื่อละกิเลส จิตไม่มีทุกข์ จิตสงบ เย็น “ย่อมเกิดนิพพานชั่วขณะ”

ถ้าศึกษาเรื่องของธรรมะ ทุกข์ หรือสุข ไปนรกหรือขึ้นสวรรค์ ความรับรู้ที่ได้รับ เกิดขณะเรายังมีลมหายใจ ไม่ได้เกิดจากตายแล้วจึงได้รับผล ศาสนาเป็นเรื่องของความเป็นปัจจุบันทั้งนั้นแหละขอรับ

คงเหมือนเรื่องเรียน ถ้าท่องจำอย่างเดียว เรียนซ้ำซาก รุ่นพี่ รุ่นน้อง เรียนแบบเดียว และไม่พัฒนาความคิดให้เกิดแสงสว่างกับใจ การเรียนรู้ย่อมไม่พัฒนาคุณค่า

จอดรถรอแม่บ้าน ตรงของเหลือง โดยปกติ พอออกกำลัง หมดเวลาแม่บ้านจะมานั่งรอ โต๊ะข้างหน้า ตรงทางเท้าผมรู้สึกชอบอเมริกาในเรื่องของทางเท้า จะหมู่บ้านเล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกลตัวเมือง หมู่บ้านจะมีทางเท้ากว้าง เพราะยุคนี้ไม่เพียงใช้เดิน คนเริ่มออกจ็อกกิ้งเพื่อสุขภาพ ทุกเช้าคนพาหมาเดิน ช่วงนี้ไก่งวงเดินผ่านบ้านผม บนทางตอนเช้าเป็นกลุ่ม

ผมเกิดต่างจังหวัด อยุธยาบ้านสร้างติดแม่น้ำ ครับยุคโน้นความเจริญทางความคิดของชาวบ้านมีแล้ว คนในหมู่บ้านจะเดินทางไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนจะเดินถนนซึ่งไม่ยกให้สูงขึ้น แต่รับรู้เป็นทางเดินไปมาหาสู่ เด็กเดินไปโรงเรียน พระบิณฑบาตตอนเช้า อาศัยถนนหน้าบ้านล้อมรอบด้วยธรรมชาติ มีแม่น้ำ ต้นไม้ แต่ถ้าเดินทางไปมาหาสู่ ระหว่างคนของหมู่บ้าน ครับถนนดินยกสูงอยู่หลังบ้าน

ปันจุบันกลายเป็นทางรถยนต์ ราดยาง ครับกว่าจะเปลี่ยนจากถนนถมดินให้สูงจากน้ำท่วม อยุธยายุคผมเป็นเด็ก ทุกปีน้ำจะท่วม 3-4 เดือน 2-3 เมตร ถามว่าชาวบ้านรู้สึกลำบากไหม เวลาน้ำท่วม เด็กๆ ผู้ใหญ่ ไปไหนก็ต้องอาศัยเรือพาย น้ำท่วมเคยวิ่งเล่น เคยเล่นฟุตบอล และกีฬาทุกประเภท ต้องเล่นบนพื้นดิน ถ้าพูดถึงกีฬาที่เล่นในน้ำโดยสมัยโน้น ไม่มีหรอกจะมีก็เด็กๆ ว่ายน้ำแข่งกันเอง จะมีโปโลน้ำแบบปัจจุบันค้นหาไม่พบ เด็กๆและชาวบ้านไม่รู้จัก

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เวลาน้ำท่วมเกิดจากงานของธรรมชาติ พอพูดถึงธรรมชาติ อดนึกถึงธรรมะของพระพุทธองค์ เป็นศาสดา เดินสั่งสอนคน และศาสนาที่เรียกว่าธรรมะยังเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน พระพุทธองค์ตั้งศาสนา เอามาจากธรรมชาติ เราเรียกพุทธศาสนาคือหลักการปฏิบัติว่าธรรมะ ธรรมะคือ 1.ตัวธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ คน สัตว์ ต้นไม้ 2.กฎธรรมชาติ อย่างน้ำเป็นความจำเป็นของทุกสิ่ง เราต้องดูและรักษา คงความสะอาด แต่คนเรามักง่ายทำลายแม่น้ำให้สกปรก เต็มไปด้วยสารพิษ อาหารที่เติบโตต้องอาศัยน้ำ ย่อมเป็นอันตรายต่อมนุษย์ มนุษย์ทานปลา เมื่อปลามีสารพิษ เราย่อมได้รับสารพิษ คนไทยเป็นโรคเกิดจากพิษที่เราต่างเห็นแก่ตัว อย่างมะเร็ง โรคปอด อากาศหายใจ โดยเฉพาะผักที่คนไทยนิยมเกิดจากน้ำ จะเติบโตในน้ำ อย่างผักบุ้ง กระเฉด สายบัว นอกจากนั้นทุกประเภทเติบโตด้วยน้ำ เคยสังเกตไหม ทุกส่วนในร่างกาย กระดูก ผิวหนัง เลือด ทุกส่วนต้องมีน้ำ 3.ธรรมะคือหน้าที่ 4.ผลของธรรมชาติ

ครับถนนที่ผมว่า บางส่วนแตกเป็นหลุมเป็นบ่อ คนอาศัยถนนต่างร้องเรียนขอความกรุณา เจ้าหน้าที่จะเป็นใครก็ได้ที่มีอำนาจ กินเงินภาษี น่าจะเห็นความจำเป็นในการพัฒนา กว่างานซ่อมแซมจะได้เริ่ม บางทีหลายปีก็ยังต้องเตือน บอกกล่าวและด่าบ้าง

แปลกเมืองไทยคนส่วนมากทำมาหากินจากพื้นดิน อาศัยธรรมชาติ ดูแลคนในประเทศ และเป็นสินค้าออกนอกประเทศ แต่คนที่ทำมาหากินเหล่านี้ยังยากจนเหมือนเดิม ก่อนเคยเป็นเจ้าของที่ดิน ถึงมีไม่มาก แต่ชีวิตก็ภูมิใจ ปัจจุบัน ถ้าลองสำรวจที่ดินที่คนทำมาหากินเคยเป็นของบรรพบุรุษตกทอด เดี๋ยวนี้ที่ดินส่วนมากตกไปอยู่ในมือนายทุน คือเจ้าของที่ดินรายใหญ่จะเป็นนายทุนที่เป็นคนไทย หรือนายทุนต่างชาติ สิ่งที่คนรับจ้างทำงาน จะจ้างรายวัน หรือเช่าที่ทำ ต่างก็ยากจน เจ็บป่วยหนักไม่มีที่พึ่ง แปลกแท้โรงพยาบาลต่างจังหวัดไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค ครับเขาพูดกันเสมอว่าเราเลือกตั้งคนมาเป็นตัวแทนระหว่างชาวบ้านขายแรงงานกับคนนั่งโต๊ะกินเงินภาษี ซ้ำออกกฎหมาย “รู้จักพูดคำว่า สิทธิ หน้าที่ ความเป็นประชาธิปไตย และความเสมอภาค” ครับประชาชน แม้แต่พ่อค้าแม่ค้าหายเร่ขายของตามริมถนน ความตั้งใจขายแรงงานไม่เป็นภาระ พึ่งตัวเองให้ครอบครัวพอมีอาหารกิน แต่พวกเขาก็ถูกไล่จับ ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิดมากขนาดไหนกับการขายผิดที่ แต่เขาดูแลตัวเอง มีอาหารให้ลูกๆ ไม่แบมือแต่กฎหมายก็ไม่เคยอะลุ่มอล่วย

คงเหมือนการเวนคืนที่ เพื่อสร้างถนน ทางด่วน ครับทุกครั้งการเวนคืนในกรุงเทพฯ แน่นอนคนต้องถูกไล่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนยากจน ทำงานขายแรงงาน และเมื่อขายแรงงาน งานที่ทำย่อมใกล้กับการเดินทางประหยัดโสหุ้ย ลูกหลานพวกเขามีโอกาสเรียนหนังสือ สามารถเดินทางด้วยเท้า เมื่อสามารถมีการศึกษา ย่อมพัฒนาความคิด คนที่ใช้ปัญญาทำงาน ย่อมคิดถึงความผิดถูก พัฒนางานมากกว่าการคิดเรื่องเงิน เมื่อเวนคืนที่ดินก็ต้องมีชีวิตเร่ร่อน คนที่เราเลือกไร้ค่า

ครับกรุงเทพฯ เคยถมคลองไล่ที่ทำถนน ทุ่มเงินซื้อแบบไล่ที่คนยากจนออกจากแหล่งความเจริญ กรุงเทพฯ เคยมียุคหนึ่ง คนคุยกันว่าจะตัดทอนทางเท้าเพื่อทางรถยนต์ วันนี้กรุงเทพฯมีคนมากกว่า 10 ล้าน รถติดทุกวัน เรามีรถบนอากาศ รถวิ่งใต้ดิน เราขยายเมืองขอบกรุงเทพฯ อย่างนนทบุรี ปากน้ำ นครปฐม ตอนผมเป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษา กรมฝึกหัดครู ปี 2500 แถบชานเมืองอย่างปากเกร็ด มีนบุรี รังสิต บ้านนับหลังได้

เราถนัดขยายเมืองจากศูนย์กลาง กลายเป็นส่งเสริมคนมีเงิน มีอำนาจ ยิ่งเพิ่มบารมีมากขึ้น เพราะชาวบ้านห่างไกล ไหลมาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อขายแรงงานเท่านั้น เราจึงเห็นว่าคนรวยโดยเอาของต่างชาติมาขาย ยิ่งร่ำรวยมากขึ้น เมื่อกรุงเทพฯ คนมากนายทุนก็ย่อมมีเงินมากขึ้น