ข่าว
ปธ.วิปฝ่ายค้านขวางรัฐดันแก้วาระ 3 ต่อไม่ได้

"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ปธ.วิปค้าน ยันรัฐดันแก้วาระ 3 ต่อไม่ได้ หากจะแก้ไขยกทั้งฉบับ ก็ต้องไปทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อน ปชป.น้อมรับคำวินิจฉัยศาล ย้ำฉีก รธน.ทั้งฉบับไม่ได้... วันที่ 13 ก.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถือว่าศาลมีการวินิจฉัยที่ให้ความชัดเจนในหลายประเด็น คือ ผู้ร้องหรือบุคคลสามารถยื่นร้องได้ 2 ทาง ทั้งผ่านทางอัยการสูงสุด (อสส.) และยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยังมีความชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำตามที่มาตรา 291 กำหนด คือ จะสามารถแก้เป็นรายมาตราเท่านั้น ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างแก้ไขของรัฐบาลกระทำไม่ได้ จึงถือว่าศาลได้สั่งให้ยุติการลงมติในวาระ 3 แล้ว ดังนั้นการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค. ก็ไม่จำเป็นต้องมีการหยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาอีก และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนว่า ยังสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ และมีมาตราใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และหากจะแก้ไขยกทั้งฉบับ ก็ต้องไปทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อน คือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายค้านน้อมรับคำตัดสินของศาล เพราะจุดยืนของฝ่ายค้านคือ ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาตั้งแต่ต้น แม้ผลวินิจฉัยของศาลจะเป็นการยกคำร้อง แต่ก็มีเงื่อนไขอื่นประกอบ ทั้งนี้ ตนก็ไม่สรุปว่าเป็นความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของฝ่ายผู้ร้อง แต่ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ในการใช้สิทธิ์เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ปรากฏผลชัดเจนว่า การฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยวิธีการที่รัฐบาลทำอยู่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป และคิดว่าทุกฝ่ายต้องเคารพการวินิจฉัยของศาล มิเช่นนั้นแล้วจะไม่มีกลไกอะไรที่จะเป็นที่ยุติปัญหาของชาติได้.

ศาลรธน.ยกคำร้อง ล้มล้างการปกครอง

ศาลรธน.ยกคำร้องล้มล้างการปกครอง ชี้ชัด แก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติก่อน เหตุประชาชนเป็นผู้สถาปนารธน.

เมื่อเวลา 14.44 น.วันที่13ก.ค. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้แบ่งประเด็นในการวินิจฉัย 4 ประเด็นดังนี้


1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 การให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69

2.การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการผ่านการประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภาแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ 291 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติ จึงควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข จะเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์มาตรา 291

3.การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขเป็นรายมาตราและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ผ่านวาระ 2 และเตรียมลงมติในวาระ 3ของรัฐสภา จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งยังไม่มีรูปธรรมเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ร้อง

หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2บัญญัติว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันไม่ให้กระทบสาระสำคัญของรัฐอีกชั้น

อย่างไรก็ตาม หากส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ และผู้ทราบการกระทำดังกล่าวนััน สามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68ได้ อีกทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการไต่สวนที่ผ่าน อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ล้วนเบิกความว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และผู้ถูกร้องยังแสดงเจตคติตั้งมั่นว่าดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้ออ้างทั้งหมดของผู้ร้องเป็นการคาดการณ์และความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังห่างไกลจะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ฟังไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประเด็นที่ 4 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อไม่กระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5..

ผู้ตรวจยุติสอบ "ปู" ว.5โฟร์ซั่น ไม่พบผิด
จริยธรรมขรก.การเมือง

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 13 ก.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลวินิจฉัยกรณีนายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ และคณะ ยื่นร้องเรียนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปทำธุระส่วนตัว อันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในช่วงเวลาที่มีการประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ไปพบนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ในเวลาราชการ เป็นการหารือที่เปิดเผยและเลือกหารือเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด อันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาล

รวมทั้งนางกาญจนี วัลยะเสวี และคณะ ยื่นร้องเรียนนายกรัฐมนตรีว่า การไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น อาจเป็นเรื่องขัดดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐตามรัฐธรรมนูญ 2550 ม.279 นั้น

จากการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า การที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมประชุมสภา ในวันที่ 8 ก.พ. 2555 และจากการชี้แจงของนายกฯ การประชุมวันดังกล่าวในช่วงแรกยังไม่มีประเด็นที่นายกฯ ต้องชี้แจงต่อที่ประชุม และเมื่อมีงานในความรับผิดชอบที่ต้องเร่งรัดเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงไม่ได้อยู่ร่วมในห้องประชุมสภาในช่วงต้น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็เดินทางกลับ เพื่อร่วมรับฟังและสอบถามประเด็นที่มีการอภิปรายในสภา รวมทั้งได้ลงชื่อประชุมสภา ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่านายกฯ ขาดการประชุม จึงไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551

ส่วนข้อร้องเรียนว่านายกฯ เดินทางไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมนายกิตติรัตน์นั้น เมื่อพิจารณาหลักฐาน ยังไม่ปรากฎหลักฐานที่ชี้ชัดว่า มีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือมีการกระทำที่นำไปสู่การได้ประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม และไม่พบว่าการเดินทางไปพบนักธุรกิจออสังหาริมทรัพย์ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น เป็นการกระทำที่ส่อไปในทางชู้สาว ตามที่มีผู้ร้องเรียน เนื่องจากเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่เปิด และมีผู้ร่วมเดินทางไปกับนายกฯ ด้วยหลายคน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องดังกล่าว


ชี้โครงการบ้านหลังแรกไม่เอื้อเอสซีฯ

นอกจากนี้นายรักษเกชายังกล่าวถึงกรณีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีนโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาลว่า ปฏิบัติผิดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น

จากการพิจารณาข้อเท็จจริงตรวจสอบพบว่า กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่มีหน้ารับผิดชอบในการนำนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเสนอมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลฃือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการกำหนดมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ไม่เกิน 5 ล้านบาทนั้น เห็นว่าเป็นการริเริ่มและกระทรวงการคลังเสนอโครงการมาตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นการกำหนดตามนโยบายรัฐบาล

ส่วนกรณีร้องเรียนว่า บ.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากนโยบายบ้านหลังแรกหรือไม่นั้น พบว่า บริษัทดังกล่าวมีทั้งหมด 38 โครงการ แต่อยู่ในข่ายจะได้ผลประโยชน์จากโครงการบ้านหลังแรกเพียง 9 โครงการ และมีราคาขายยูนิตไม่เกิน 5 ล้านบาท 409 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าโครงการเพียงร้อยละ 4.39 ของมูลโครงการที่เปิดขายในปี 2554-2555 ทั้งนี้ ยังพบว่าในบริษัทดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดย บลจ.แอสเซทพลัส จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนร้อยละ 0.85 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

และเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ที่บัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ในความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เว้นแต่กรณีในบริษัทจำกัด หรือมหาชน จำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น จึงเห็นว่าการถือหุ้นของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐธรรมนูญ


ยัน“ยิ่งลักษณ์” ไม่ขัดจริยธรรม แจ้งเจ้าตัวแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองพ.ศ.2551 จึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณา พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 12 ก.ค. 55 ถึงนายกรัฐมนตรี และผู้ร้องทั้ง 2 กรณีเพื่อรับทราบแล้ว