17 พ.ย.64 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บิสซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) เว็บไซต์ข่าวสารการเงินของสหรัฐฯ รายงานอ้างผลการศึกษาใหม่ ซึ่งระบุว่าเด็กสหรัฐฯ มากกว่า 140,000 คน สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครองระหว่างวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั้งจากตัวโรคระบาดโดยตรงหรือสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รายงานระบุว่ามีเด็กอเมริกันราว 1 ใน 500 คน ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันทางจิตใจและการเงินกับเด็กมากเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นการศึกษาข้างต้นยังเผยความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์อย่างชัดเจน โดยเด็กส่วนใหญ่ราวร้อยละ 65 ของเด็กทั้งหมดที่สูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ชี้ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่รุนแรงที่สุดด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลมากกว่า 47 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 764,000 ราย
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 พล.ร.ต.พิจิตต ศรีรุ่งเรื่อง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 พล.ร.ต.สุรศักดิ์ ประทานวรปัญญา รองผอ.ศรชล.ภาค 2 พร้อมด้วยศรชล.จว.สฎ.ได้เปิดเผยว่า เมื่อในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ทัพเรือภาคที่ 2 ได้รับการประสานจากศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 หรือ ศรชล.ภาค 2 ว่าพบกลุ่มเรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้ามาทำการประมงบริเวณทะเลในราชอาณาเขตของประเทศไทย จำนวนประมาณ 4 ลำ บริเวณแลตติจูด 8 องศา 50 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 100 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก
จึงรายงานให้พลเรือโท สุนทร คำคล้าย ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ทราบพร้อมสั่งการให้เรือ ต.113 ที่มีเรือเอกกฤศฎา ศรีปริยัติ ผู้บังคับการเรือออกตรวจสอบพร้อมดำเนินการจับกุม จากการตรวจสอบได้พบกลุ่มเรือประมงต้องสงสัยจำนวน 4 ลำ พบว่าเป็นเรือประมงสัญชาติเวียดนามกำลังทำการคาดเพื่อจับปลิงทะเลซึ่งพบอุปกรณ์ทำการประมงผิดกฏหมายจำนวนมาก จึงได้แสดงตัวเข้าตรวจค้น และจับกุมกลุ่มเรือประมงดังกล่าวตามขั้นตอน ระหว่างนั้นเรือประมงเวียดนามที่มีเลขข้างเรือ CM.92169.TS ได้เร่งเครื่องพุ่งมาจากทางกราบขวาพุ่งเข้าชน เรือ ต.113 ทำให้ได้รับความเสียหายเล็กน้อย และเรือประมงได้รับความเสียหายบริเวณหัวเรือ ระหว่างนั้นเรือประมงเวียดนามต่างเร่งเครื่องยนต์พยายามนำเรือหลบหนีออกนอกเขตนานน้ำประเทศไทย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พลเรือโท สุนทร คำคล้าย ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 จึงได้สั่งการให้จัดตั้งหมู่เรือเฉพาะกิจประกอบด้วย ร.ล.ตาปี ร.ล.นราธิวาส ร.ล.แกลง ร.ล.ท้ายเหมือง และ เรือ ต.113 พร้อมด้วยเครื่องบินลาดตระเวณ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษจำนวน 6 นาย ออกปฏิบัติการลาดตระเวนค้นหาเพื่อจับกุมเรือประมงสัญชาติเวียดนามที่รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทย
ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.20 ร.ล.ท้ายเหมือง และ ร.ล.แกลง ตรวจพบเรือประมงเวียดนาม จำนวน 1 ลำ จึงได้ทำการแสดงตนทำการตรวจค้นจับกุมผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือชาวเวียดนาม จำนวน 5 คน และเมื่อเวลา 09.00 น. ร.ล.นราธิวาส และ เรือ ต.113 ได้ตรวจพบเรือประมงเวียดนามอีก 1 ลำ จากการตรวจค้นไม่พบลูกเรือบนเรือลำดังกล่าว ซึ่งเรือประมงที่พบเป็นเรือลำที่พุ่งชนเรือ ต.113 จากการตรวจพบร่องรอยการชนที่บริเวณหัวเรือ เจ้าหน้รที่สันนิษฐานว่าลูกเรือประมงลำดังกล่าว ได้ทำการหลบหนี
การจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยมีเรือของเครือข่ายลักลอบจับปลิงทะเลได้มารับลูกเรือลำดังกล่าวหลบหนีไปจากการตรวจสอบได้มีการถอดอุปกรณ์ในการทำประมงบางส่วนไปด้วย จากนั้นได้ทำการควบคุมเรือประมงของกลางและลูกเรือทั้งหมด เดินทางกลับเข้าฝั่ง ณ ท่าเทียบเรือสถานีเรือสมุย ฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ทัพเรือภาคที่ 2 สามารถจับกุมเรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย จำนวน 8 ลำ ลูกเรือ 35 คน และจากเหตุการณ์ดังกล่าวทัพเรือภาคที่ 2 จะเพิ่มความเข็มงวดตามมาตรการในการจับกุมมากขึ้น เพื่อให้ทรัพยากรของประเทศไทยคงอยู่กับคนไทยตลอดไป
วันที่ 17 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 30/2563 จากกรณีศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของนางสาวพวงเพชร เหงคำ ผู้ร้องที่ 1 และนางเพิ่มทรัพย์ แช่อึ๊ง ผู้ร้องที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 คู่รักที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทำให้ทั้ง 2 รายยื่นคำร้องต่อศาลศาลเยาวชน จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตยาจากสหรัฐอเมริกา เจ้าของยาเม็ดรักษาโควิด-19 "แพ็กซ์โลวิด" (Paxlovid) อนุญาตให้ผู้ผลิตยาในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ 95 ประเทศสามารถผลิตยาดังกล่าวเองได้ในราคาถูก
โดย บริษัทไฟเซอร์ ได้บรรลุข้อตกลงกับ Medicines Patent Pool (MPP) หน่วยงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศซึ่งได้รับการสนับนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตยาสามัญใน 95 ประเทศสามารถผลิตยา PF-07321332 ภายใต้ชื่อทางการค้า Paxlovid ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตยาดังกล่าวสูตรสามัญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
รายงานระบุว่า 95 ประเทศในข้อตกลงนี้ครอบคลุมประชากรประมาณ 53% ของโลก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางเข้าถึงยาดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย แต่มีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ บริษัทไฟเซอ เผยว่ายา"แพ็กซ์โลวิด" (Paxlovid) มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง โดยสามารถลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ถึง 89% ในกลุ่มผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการหนัก ก่อนหน้านี้บริษัท Merck ผู้ผลิตยาเม็ดรักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ก็ได้เผยว่าจะมอบใบอนุญาตให้ผลิตยาโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แก่องค์การไม่แสวงกำไรที่องค์การสหประชาชาติสนับสนุน ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ใน 105 ประเทศสามารถผลิตและจำหน่ายยาดังกล่าวเองได้ในราคาไม่แพง แต่ไทยไม่อยู่ในลิสต์เช่นกัน
17 พ.ย.64 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KDCA) รายงานว่าเกาหลีใต้มียอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สะสมอยู่ที่ 35,620 รายแล้ว เมื่อนับถึงวันที่ 7 พ.ย. เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 28,293 รายเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า
สถิติข้างต้นชี้ว่าสัดส่วนของผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ที่ 99.2 รายต่อประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดส 100,000 คน โดยจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสในเกาหลีใต้อยู่ที่ 35,907,789 คน เมื่อนับถึงวันที่ 7 พ.ย.
ข้อมูลระบุว่าวัคซีนจะสามารถปกป้องผู้ฉีดจากเชื้อไวรัสฯ หลังฉีดครบโดสเป็นเวลา 2 สัปดาห์
เมื่อแบ่งตามช่วงวัยแล้ว สัดส่วนผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนครบโดสพุ่งสูงสุดในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 183.4 ราย ต่อผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส 100,000 คน
ในหมู่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก 545 ราย เสียชีวิตแล้ว 170 ราย โดยสถิติล่าสุดระบุว่าเกาหลีใต้ตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 2,125 รายในระยะ 24 ชั่วโมง ซึ่งสูงเกินระดับ 2,000 รายติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 399,591 ราย
“ลาว”ขยายเวลาคุมโควิดไม่มีกำหนด หลังยอดผู้ป่วยพุ่งไม่หยุดงดออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติ ยกเว้นทูต-องค์กรสากล-นักลงทุน ด้าน“อินเดีย” พบติดเชื้อใหม่น้อยที่สุดในรอบ 523 วัน “สหรัฐ”ประกาศ 3 ประเทศเดินทางไปเยือนเสี่ยงติดเชื้อวิดสูงสุด‘เช็ก-ฮังการี-ไอซ์แลนด์’
เมื่อวันที่ 16พฤศจิกายน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ประกาศขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง หลังจากจำนวนผู้ป่วยในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14พ.ย.ที่ผ่านมา ทิบพะกอน จันทะวงสา รองหัวหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีลาว แถลงข่าวว่าชุมชนทั่วทุกแขวงของประเทศยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตรวจพบในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยมีจุดแพร่กระจายโรคอยู่ในงานสังคม สำนักงาน องค์กร และภายในครอบครัว
ลาวจะยังคงปิดทำการพรมแดนและด่านตรวจ ยกเว้นด่านที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งชาติ ขณะเดียวกันจะงดออกวีซ่านักท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติ ยกเว้นบุคลากรการทูต พนักงานองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนที่ต้องการเข้าประเทศเร่งด่วน ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการทั้งหมดที่กำหนดโดยรัฐบาล นอกจากนี้ สถานบันเทิงทั่วประเทศยังคงต้องปิดให้บริการต่อไป พร้อมทั้งห้ามจัดการประชุมหรือการชุมนุมรวมตัวอื่นๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 50คน ซึ่งรวมถึงเทศกาลและกิจกรรมทางศาสนา
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย รายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สะสมแตะ 34,447,536 ราย หลังพบผู้ป่วยทั่วประเทศเพิ่ม 10,229 ราย ใน 24 ชั่วโมง โดยอินเดียมีรายงานการพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 125ราย นับตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรวมอยู่ที่ 463,655 ราย ขณะเดียวกัน อินเดียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่กำลังรักษาตัว 134,096 ราย ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 523วัน หลังจำนวนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวลดลง 1,822ราย ใน 24ชั่วโมง จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีและถูกปล่อยตัวจากโรงพยาบาลอยู่ที่ 33,849,785ราย นับถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้ 11,926 รายเพิ่งได้รับการปล่อยตัวใน 24ชั่วโมงที่ผ่านมา
วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) เพิ่มชื่อยุโรป 3 ประเทศไว้ในรายชื่อจุดหมายการเดินทางที่มีความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สูงมาก ในช่วงที่หลายพื้นที่ในยุโรปกลับมาพบการระบาดครั้งใหม่ ซีดีซี ปรับรายชื่อสาธารณรัฐเช็ก ฮังการีและไอซ์แลนด์ รวมไปถึงเกิร์นซีย์ ซึ่งเป็นเกาะในช่องแคบอังกฤษและเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ จากระดับ3 ที่มีความเสี่ยงโควิดสูง เป็นระดับ4 ที่มีความเสี่ยงโควิดสูงมากและเป็นระดับสูงที่สุดเมื่อวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เป็นระดับที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 500รายต่อประชากรทุก 100,000คน ในช่วง 28วันที่ผ่านมา
ซีดีซีแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังจุดหมายที่อยู่ในระดับ4 แต่หากจำเป็นต้องไป ควรฉีดวัคซีนให้ครบโดสเสียก่อน ปัจจุบันซีดีซีจัดจุดหมายกว่า 70แห่งทั่วโลกไว้ในระดับ 4 ส่วนไทยยังคงอยู่ในระดับ 3 เป็นระดับที่พบผู้ติดเชื้อ 100-500 คนต่อประชากรทุก 100,000คน ในช่วง 28วันที่ผ่านมา ผู้เดินทางไปควรฉีดวัคซีนให้ครบโดส ส่วนผู้ยังไม่ฉีดวัคซีนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012