เตหะราน/เทลอาวีฟ/กาซาซิตี (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์/อัลจาซีรา) - อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสถูกลอบสังหาร ระหว่างการเยือนอิหร่าน ฮามาสและอิหร่านเชื่อเป็นฝีมือของอิสราเอลพร้อมประกาศเตรียมล้างแค้น ด้านอิสราเอลยังปิดปากเงียบ
กลุ่มฮามาสแถลงไว้อาลัยการเสียชีวิตของฮานิเยห์ว่า เขาถูกสังหารจากการที่กลุ่มไซออนนิสต์บุกที่พำนักในกรุงเตหะรานของอิหร่านเมื่อราว 02.00 น. กลางดึกคืนวันอังคารต่อเนื่องเช้าวันพุธที่ 31 ก.ค.หลังจากไปร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ มาซูด เปเซสเคียน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านเมื่อวันอังคารที่30 ก.ค. ด้านกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านแถลงว่า ฮานิเยห์ถูกสังหารในการบุกโจมตีอย่างชั่วร้ายของไซออนิสต์ ในที่พำนักของเขาในเตหะราน รวมถึงเจ้าหน้าที่อารักขาคนหนึ่งเสียชีวิตด้วย ทางการอิหร่านกำลังสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะแถลงผลการสอบสวนโดยเร็ว ด้าน อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และประธานาธิบดีเปเซเสเคียนของอิหร่าน ประกาศว่าอิหร่านจะตอบโต้อิสราเอลอย่างสาสมและจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอธิปไตยและความปลอดภัยของประเทศ
ด้านอิสราเอลยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตที่จะไม่พูดอะไรหากเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารโดยหน่วยงานข่าวกรองมอสสาด (Mossad) ของตน อย่างไรก็ดี บรรดาผู้สันทัดกรณีต่างพากันออกมาโทษอิสราเอล ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้แทบจะทันที เพราะอิสราเอลเคยประกาศมั่นว่าจะเอาชีวิตฮานิเยห์และผู้นำคนอื่นๆ ของฮามาส เพื่อแก้แค้นเหตุโจมตีเข้าใส่พื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมของปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 ศพ ทั้งยังมีการจับตัวประกันไปยังฉนวนกาซาอีกกว่า 250 คนด้วย
ฮานิเยห์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฮามาสที่ปกครองกาซาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีที่พักอาศัยสลับไปมาระหว่างตุรกีกับกรุงโดฮาของกาตาร์ บุตรชาย 3 คนของเขา และหลานที่ยังเป็นเด็กอีก 4 คน ถูกอิสราเอลสังหารด้วยการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มรถที่กำลังแล่นอยู่บนถนนเมื่อวันที่ 10 เมษายน เขายืนยันในครั้งนั้นว่า บุตรชายไม่ใช่นักรบของฮามาส การสูญเสียบุตรชายจะไม่กระทบต่อการเจรจาหยุดยิงกับอิสราเอล เพราะผลประโยชน์ของชาวปาเลสไตน์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ฮานิเยห์มักแสดงท่าทีแข็งกร้าวในการเจรจาเรื่องสงครามกาซาที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 แต่นักการทูตส่วนใหญ่มองว่า เขามีแนวคิดสายกลางมากกว่าสมาชิกฮามาสคนอื่นๆ
การโจมตีโต้กลับของอิสราเอลหลังวันที่ 7 ตุลาคมของปีที่แล้วทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วกว่า 39,300 ศพและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 90,900 คน ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซาที่ไม่ได้แยกตัวเลขพลเรือนออกจากนักรบกลุ่มฮามาสเมื่อรายงานตัวเลขทั้งหมดออกมา
ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง อิสราเอลเพิ่งออกมาอ้างว่า ได้สังหารฟูอัด ชูครา ผู้บัญชาการอาวุโสของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ที่อิสราเอลระบุว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีที่ราบสูงโกลันซึ่งอยู่ในความยึดครองของอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. ทำให้มีเยาวชนเสียชีวิต12 ศพ แม้ฮิซบอลเลาะห์จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางความวิตกกังวลมากขึ้นของหลายฝ่ายว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้ จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางลุกลามมากขึ้นไปอีก
“ทักษิณ”วืดออกนอกประเทศ หลังศาลอาญา สั่งยกคำร้อง ชวดเดินทางไปรักษาตัวที่ดูไบ 1-16 สิงหาคม ระบุมีแพทย์ในประเทศตรวจรักษาประจำอยู่แล้ว ส่วนการไปพบบุคคลสำคัญ เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีเหตุจำเป็นทั้งใกล้วันนัดตรวจหลักฐาน 19 สิงหาคมนี้
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย ในคดีดูหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของนายทักษิณวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และมีคำสั่งในวันเดียวกัน โดยนายทักษิณ จำเลย ทนายจำเลยมาศาล
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งจำเลยมีความประสงค์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปพำนักที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 1-16 สิงหาคม 2567 เพื่อพบแพทย์ซึ่งเคยตรวจรักษาอาการป่วยของจำเลยเกี่ยวกับปอดอักเสบเรื้อรัง ระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจ เอ็นไหล่ขวาฉีกขาด และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ในสถานพยาบาล ที่ประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ในวันที่ 2 และ 8 สิงหาคม 2567
โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำเลย ยังมีนัดหมายกับบุคคลสำคัญหลายคน เกี่ยวด้วยภารกิจส่วนตัวของจำเลยหลายเรื่อง โดยจำเลยจะเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งศาลนัดไว้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น.
เห็นว่า แม้จำเลยอ้างตนเอง เป็นพยานเบิกความยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกราชอามาจักร โดยมีเอกสารหลักฐานจากแพทย์สนับสนุน และนัดพบบุคคลสำคัญหลายคน โดยช่วงเวลาที่จำเลยพำนักอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นช่วงเวลาก่อนกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานก็ตาม แต่อาการป่วยของจำเลยเป็นโรคที่เกิดแก่บุคคลทั่วไป และแพทย์ในประเทศไทย ตรวจรักษาเป็นประจำอยู่แล้ว การเดินทางไปพบบุคคลสำคัญของจำเลย เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย ทั้งไม่มีพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งถึงความจำเป็นดังกล่าว ประกอบกับช่วงระยะเวลาที่เดินทางใกล้กับวันนัดตรวจพยานหลักฐานในชั้นนี้ จึงไม่สมควรอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรยกคำร้อง
31 ก.ค.67 จากกรณีกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ และกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ออกมาแถลงตรงกันว่า นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฮามาสถูกลอบสังหารในอิหร่าน โดยฝีมือของกลุ่มไซออนนิสต์บุกที่พักในกรุงเตหะราน ขณะเขาไปร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน! 'อิสมาอิล ฮานิเยห์'หัวหน้ากลุ่มฮามาส ถูกสังหารแล้วในกรุงเตหะราน)
ล่าสุด นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า กลิ่นคาวสงครามการสู้รบในฉนวนกาซาได้ขยายตัวออกนอกพื้นที่อิสราเอล ไม่ได้จำกัดบริเวณการสู้รบและทำลายล้างกลุ่มฮามาสเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา
ล่าสุด Ismail Haniyeh ผู้นำฮามาสและผู้ติดตาม ถูกลอบยิงเสียชีวิตพร้อมลูกน้อง ในกรุงเตหะรานอิหร่าน ระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลทิ้งระเบิด สังหารผู้นำกลุ่มฮิสบอเลาะห์ในเลบานอน ทั้งสองเหตุการณ์จะพูดว่าหยามน้ำหน้าหรือตบหน้า อิหร่านดูจะเบาไป. เพราะฮิสบอเลาะห์เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุน. ส่วนฮามาสถือได้ว่าเป็นพันธมิตรที่มีอิสราเอลเป็นศัตรูร่วม
นับจากนี้ต่อไป อย่าคิดว่า การสู้รบในพื้นที่นี้จะยุติลง อิหร่านจะตอบโต้เอาคืนไหม น่าจะไม่ใช่คำถาม แต่จะหนักและรุนแรงขนาดไหน และพื้นที่สู้รบจะขยายตัวมากเพียงไร คงต้องเตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากพื้นที่สู้รบ
31 กรกฎาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า 'อัล มายัสสา บินท์ ฮามาด อัล-ธานี' (Al Mayassa bint Hamad Al-Thani) เจ้าหญิงแห่งกาตาร์ ซึ่งเป็นน้องสาวของ ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี (Tamim bin Hamad Al Thani) ประมุขแห่งกาตาร์ โดนขโมยกระเป๋าหรู 'แอร์เมส' (Hermes) จำนวน 11 ใบ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ขณะทรงประทับรถไฟความเร็วสูง TGV สายเมืองนีซ-กรุงปารีส เพื่อทรงไปเชียร์นักกีฬาทีมชาติกาตาร์ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สำนักงานตำรวจกรุงปารีส เปิดเผยว่า คนร้ายได้ขโมยกระเป๋าหรูแอร์เมส 11 ใบ ไปจากกระเป๋าเดินทางของเจ้าหญิงอัล มายัสสา หลังจากขึ้นรถไฟที่เมืองคานส์ พร้อมกับแม่บ้านคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาด้วยกัน โดยนอกจากกระเป๋าหรูแอร์เมสของเจ้าหญิงอัล มายัสสา จะถูกขโมยไปถึง 11 ใบแล้ว ยังมีทรัพย์สินมีค่า ทั้งเครื่องประดับ และนาฬิกา ของเจ้าหญิงสูญหายไปหลายรายการ มูลค่าหลายล้านดอลลาร์
เจ้าหญิงอัล มายัสสา และแม่บ้าน ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำรถไฟความเร็วสูง เมื่อรู้ว่ากระเป๋าหรูแอร์เมส 11 ใบ ถูกขโมย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสั่งหยุดขบวนรถไฟประมาณ 20 นาที ที่สถานีตูลง (Toulon) เพื่อตรวจค้นติดตามหากระเป๋าหรูทันที แต่ปรากฏว่าไม่พบกระเป๋า แอร์เมส 11 ใบ ที่สูญหายไป
ล่าสุดทางศาลอาญาเมืองตูลงกำลังเปิดไต่สวนเพื่อสืบหาขโมย ขณะที่เจ้าหน้าที่เชื่อกันว่าขโมยรายนี้ได้ลงจากรถไฟที่สถานีตูลง (Toulon) อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามหาร่องรอยของขโมยแต่อย่างใด
เจ้าหญิง 'อัล มายัสสา บินท์ ฮามาด อัล-ธานี' เป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์กาตาร์ที่มีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้านวัฒนธรรมของกาตาร์ พระองค์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งสถาบันการศึกษาและโครงการพัฒนาทางด้านการศึกษาหลายแห่ง นอกจากนี้พระองค์ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการกุศลที่มุ่งช่วยเหลือสังคม
โดยถูกจัดอันดับให้เป็นราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อันดับที่สาม คือ “ราชวงศ์อัษษานี” ประเทศกาตาร์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 335 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (335,000,000,000) หรือราว 12 ล้านล้านบาท
ราชวงศ์การ์ตา ถือครองการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงตึกระฟ้าในกรุงลอนดอน หมู่บ้านโอลิมปิกและห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ตลอดจนตึกเอ็มไพร์สเตทในนิวยอร์ก อีกทั้งยังลงทุนในธนาคารบาร์เคลย์, สายการบิน บริติชแอร์เวย์ และ บริษัทรถยนต์หรู
1 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เปิดฉากกันไปแล้วสำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเหล่าธุรกิจ-การค้าของประเทศฝรั่งเศสเริ่มตื่นตัว ตัดสินใจดำเนินการเพื่อดึงนักเดินทางด้วยการลดราคาและยกเลิกข้อกำหนดการพักขั้นต่ำ หลังจากมีบางคนเกิดการลังเลเนื่องจากเห็นว่ามีการโก่งราคาค่าห้องพักก่อนจะถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
สำนักงานการท่องเที่ยว กรุงปารีส รายงานว่า ราคาค่าห้องพักโรงแรมโดยเฉลี่ยในระหว่างโอลิมปิกลดลงไปอยู่ที่คืนละ 258 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 10,000 บาท จากเดิมที่ราคาในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ 342 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 13,200 บาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากค่าห้องพักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 202 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,800 บาทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023
บริษัทท่องเที่ยว กล่าวว่า นักท่องเที่ยวอาจจะได้ลดราคาห้องพักอีกระหว่างร้อยละ 10-70 เนื่องจากผู้บริหารโรงแรมเสนอราคาพิเศษให้หลังจากความต้องการห้องพักในช่วงโอลิมปิกต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ เนื่องจากห้องพักมีราคาสูงและมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย บางโรงแรมยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงวันเดินทางมาถึงและระยะเวลาในการพัก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจได้ในวินาทีสุดท้าย
31 ก.ค.67 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 6 เดือนในวันนี้ ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจบริหารประเทศเอาไว้ หลังจากเกิดแนวรบปะทุขึ้นพร้อม ๆ กันหลายด้านจากฝ่ายต่อต้านและวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ สื่อของกองทัพเมียนมารายงานว่า สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการปกครองด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนเพื่อให้มีเวลาในการรวบรวมข้อมูลประชากรและรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รัฐบาลทหารเมียนมาเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า
สื่อของทางการรายงานด้วยว่า มีความจำเป็นต้องขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพ เนื่องจากในขณะนี้ยังมีกิจกรรมก่อการร้ายเกิดขึ้นในประเทศ
กองทัพเมียนมาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในการบริหารประเทศเมียนเป็นเวลา 1 ปี เมื่อก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี และทำให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศ หลังจากนั้น รัฐบาลทหารก็ขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินต่อมาเรื่อยๆ ทุก ๆ 6 เดือน ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลายเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ และขณะนี้เป็นภัยคุกคามต่อบรรดานายทหารระดับสูงของเมียนมา
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012