10 พ.ย. 2566: ฮือฮา ญี่ปุ่นพบเกาะกำเนิดใหม่ เพิ่งผุด 10 วันหลังภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุนอกชายฝั่งของประเทศเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เกาะใหม่ล่าสุดของโลกผุดขึ้นนอกชายฝั่งของเกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นชื่อ ‘อิโวะ จิมะ’ หรืออีกชื่อคือ เกาะ ‘อิโอโตะ หลังภูเขาไฟใต้ทะเลไร้ชื่อ เริ่มปะทุอย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้หลังจากนั้น 10 วันเถ้าถ่าน และหินภูเขาไฟก็ค่อยๆ สะสมใต้ก้นทะเลตื้นๆ จนกระทั่งโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาจนกลายเป็นเกาะใหม่
ขณะเดียวกัน ทางผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เกาะแห่งนี้อาจคงอยู่ได้ไม่นานนัก โดยนายยูจิ อุซุอิ นักวิเคราะห์จากแผนกภูเขาไฟวิทยาของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ระบุว่า เถ้าภูเขาไฟและหินผุดขึ้นมากองรวมกันบนพื้นทะเลน้ำตื้น ส่วนยอดของมันก็โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน
ทำให้เกิดเกาะใหม่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร และสูง 20 เมตรเหนือน้ำทะเล
นายอุซุอิ ระบุเพิ่มเติมว่า การระเบิดของภูเขาไฟเพิ่มขึ้นใกล้เกาะอิโวะ จิมะ และการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลในลักษณะคล้ายกันนี้เกิดขึ้นมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่การก่อตัวขึ้นของเกาะใหม่แบบนี้นับเป็นพัฒนาการที่มีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นายอุซุอิ กล่าวว่า ขณะนี้การระเบิดของภูเขาไฟในพื้นที่ดังกล่าวนั้นลดลงแล้ว และเกาะที่กำเนิดขึ้นมาใหม่นี้ก็เริ่มมีขนาดเล็กลง บ้างก็ทรุดตัว เนื่องจากชั้นหินที่เพิ่งก่อตัวถูกคลื่นกัดเซาะไปง่ายมาก โดยมันอาจคงอยู่ได้นานกว่านี้หากมันก่อตัวจากการทับถมของลาวา ไม่ใช่หินภูเขาไฟแบบนี้
นอกจากนี้ ในอดีตเมื่อปี 2556 เคยมีกรณีเกาะใหม่ผุดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลที่นิชิโนชิมะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว อีกทั้งยังมีเกาะเล็กๆ โผล่ขึ้นมาจากก้นทะเล หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในปากีสถาน และในปี 2558เกาะแห่งใหม่ได้ผุดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟ ใต้น้ำนอกชายฝั่งตองกาเป็นเวลานานหนึ่งเดือน
ทั้งนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่า ทั่วโลกมีภูเขาไฟที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ราว 1,500 แห่ง โดย 111 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่บริเวณแนวเส้นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกรูปเกือกม้าขนาดที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 กงสุลใหญ่สมใจ ตะเภาพงษ์ พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ณ นครนิวยอร์ก ได้ร่วมกับพี่น้องชุมชนไทยเข้าร่วมพิธีทอดถวายผ้าพระกฐินประทานฯ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งรัฐนิวยอร์ก ในโอกาสที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานผ้าพระกฐินให้สุโชติ - สุจิตรา ปาลีวงศ์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งรัฐนิวยอร์ก เชิญไปทอดถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาสที่วัดอุษาพุฒยาราม นครนิวยอร์ก
หน่วยงานกลางของสหรัฐฯ รับรองวัคซีนต้านโรคชิคุนกุนยาตัวแรกของโลก เพิ่มความหวังให้กับทุกฝ่าย ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการป้องกันโรคดังกล่าว ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ออกแถลงการณ์ เรื่องการอนุมัติวัคซีน “Ixchiq” พัฒนาและผลิตโดยบริษัทวัลเนวาของออสเตรีย ให้ใช้กับผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคชิคุนกุนยา
วัคซีนดังกล่าวเป็นแบบฉีดเข็มเดียว ใช้เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มีการทำให้เสื่อมฤทธิ์ ขณะที่ก่อนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากเอฟดีเอ ในฐานะวัคซีนต้านทานโรคชิคุนกุนยาตัวแรกของโลก วัลเนวาทดสอบวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่างประมาณ 3,500 คน ในอเมริกาเหนือ ไม่พบผู้เสียชีวิตในการทดลอง และมีผู้เกิดอาการข้างเคียงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 2 คน
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือมีอาการไข้ อ่อนแรง และปวดกล้ามเนื้อในกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง แต่ถือเป็นอาการข้างเคียงปกติของการได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม เอฟดีเอกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจน ว่าหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวัคซีนจะสามารถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไปสู่ทารกในครรภ์ได้หรือไม่ หรือวัคซีนจะก่อให้เกิดอาการผิดปกติกับทารกหรือไม่
ทั้งนี้ โรคชิคุนกุนยาได้รับการค้นพบอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่แทนซาเนีย เมื่อปี 2495 ตามฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เป็นโรคจากเชื้อไวรัสซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ อาการส่วนใหญ่คล้ายไข้เลือดออกแต่รุนแรงกว่า และจะเป็นอันตรายมากขึ้นหากผู้ป่วยเป็นเด็ก
จนถึงตอนนี้ การรักษาโรคชิคุนกุนยายังเป็นการรักษาและดูตามอาการ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอชโอบันทึกจำนวนผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และพื้นที่บางส่วนของภูมิภาคอเมริกา แม้ยังถือเป็นโรคเฉพาะถิ่น แต่มีความกังวลมากขึ้น ว่าวิกฤติโลกร้อนอาจนำพาให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นได้
ศัลยแพทย์ในสหรัฐฯ ผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตาให้แก่ทหารผ่านศึก วัย 46 ปี เป็นครั้งแรกของโลก แม้ยังไม่แน่ชัดจะสามารถมองเห็นได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ชี้ว่านี่คือพัฒนาการทางการแพทย์ครั้งสำคัญในการช่วยคนหลายล้านให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 สำนักข่าวบีบีซีรายงาน ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาล NYU Langone Health ในนครนิวยอร์กเปิดเผยว่า ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตาให้กับนายแอรอน เจมส์ ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันวัย 46 ปี ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ถึงแม้ขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า นายเจมส์จะสามารถกลับมามองเห็นอีกครั้งหรือไม่
ทีมศัลยแพทย์ในสหรัฐฯ ซึ่งทำการผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตามนุษย์ครั้งแรกของโลก แถลงวานนี้ (9 พ.ย.) ว่า นายเจมส์วัย 46 ปี ซึ่งประสบอุบัติเหตุโดนกระแสไฟฟ้าแรงสูงขนาด 7,200 โวลต์ช็อต กำลังฟื้นตัวได้ดีหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตาข้างซ้าย ที่ใช้เวลานานกว่า 21 ชั่วโมง และดวงตาที่ได้รับบริจาคก็ดูดีอย่างน่าทึ่ง
ก่อนหน้านี้ แอรอน เจมส์ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพนักงานเดินสายไฟฟ้าแรงสูงในรัฐอาร์คันซอ หลังปลดประจำการจากกองทัพ ได้เข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง รวมถึงการผ่าตัดแขนเทียม และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาก็ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้าบางส่วน ซึ่งพบไม่บ่อยนัก หลังจากโดนกระแสไฟฟ้าแรงสูงช็อตในปี 2564 จนทำให้เขาสูญเสียใบหน้าส่วนใหญ่ รวมถึงดวงตาข้างซ้าย ขณะที่ตาข้างขวายังสามารถใช้งานได้ปกติ
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มองว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตาเป็นครั้งแรกของโลก ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของวงการแพทย์ ซึ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้คนนับล้านสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง หลังจากศัลยแพทย์สามารถปลูกถ่ายกระจกตาได้มาแล้วหลายปี
ดร.เอดูอาร์โด โรดริเกซ หนึ่งในทีมศัลยแพทย์จากโรงพยาบาล NYU Langone Health ที่เข้าร่วมการผ่าตัดกล่าวว่า “นี่ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะช่วยปูทางในการช่วยให้คนกลับมามองเห็นอีกครั้ง”
อย่างไรก็ดี ทีมแพทย์กล่าวว่า แม้จะพบว่ามีการไหลเวียนของเลือดไปยังจอเรตินาแล้ว ซึ่งเป็นส่วนของดวงตาที่ส่งภาพไปยังสมอง แต่ยังไม่แน่ชัดว่านายเจมส์จะมองเห็นได้อีกครั้งผ่านดวงตาใหม่หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันทีมแพทย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธโอกาสที่จะกลับมามองเห็น
ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
Cr.ภาพ: X/NYU Langone Health
10 พฤศจิกายน 2566 : อิสราเอลตกลงที่จะหยุดยิงชั่วคราวในแต่ละวัน เพื่อเปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ล่าสุดมีการถล่มโรงพยาบาลจนมีผู้เสียชีวิตรายวัน
เอเอฟพีรายงาน: กล่าวว่า การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือดนานกว่าหนึ่งเดือนนับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจากฉนวนกาซา และสังหารผู้คนไป 1,400 ราย พร้อมจับตัวประกันไปอีกประมาณ 240 คน
อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะทำลายล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก จึงตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศและการรุกภาคพื้นดินที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนในกาซาเสียชีวิตไปแล้วกว่า 10,800 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและเด็ก
ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา เผยความเคลื่อนไหวล่าสุดในสงครามฉนวนกาซาว่า อิสราเอลยอมเปิดทางให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในแต่ละวัน ด้วยการหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 4 ชั่วโมงในฉนวนกาซาตอนเหนือ โดยจะมีการเตือนล่วงหน้า 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ไบเดนปฏิเสธความเป็นไปได้ในการหยุดยิงที่ยาวนานกว่านี้ในตอนนี้ และยังคงมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการปล่อยตัวตัวประกัน ซึ่งรวมถึงพลเมืองสหรัฐฯ ประมาณ 10 คนที่ถูกคุมขังในฉนวนกาซา
หัวหน้าสายลับอิสราเอลและสหรัฐฯ อยู่ในกาตาร์เพื่อหารือเกี่ยวกับการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมดังกล่าว และอาจได้เห็นการปล่อยตัวตัวประกันและความช่วยเหลือเพิ่มเติมในฉนวนกาซา
กลุ่มญิฮาดอิสลาม ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์อีกกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติการในฉนวนกาซา เผยแพร่วิดีโอที่แสดงให้เห็นตัวประกันที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในดินแดนดังกล่าว โดยระบุว่าพร้อมที่จะปล่อยตัวเพิ่มอีก 2 คน เป็นผู้หญิงในวัย 70 ปี และเด็กชายอายุ 13 ปี หากเงื่อนไขด้านความปลอดภัยได้รับการปฏิบัติ
จุดผ่านแดนราฟาห์ระหว่างฉนวนกาซาและอียิปต์เปิดขึ้นอีกครั้งเพื่อให้สามารถอพยพชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศได้อย่างจำกัดจำนวน รวมถึงการอนุญาตให้รถบรรทุกความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวในฝั่งอียิปต์ยืนยันว่าการข้ามแดนได้กลับมาดำเนินต่อไปแล้ว โดยผู้ชาย, ผู้หญิง และเด็กออกจากฉนวนกาซาด้วยการเดินเท้า ขณะที่ผู้บาดเจ็บถูกนำตัวส่งรถพยาบาล
รายงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่เป็นไปได้จากความขัดแย้งในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ เตือนว่า สงครามครั้งนี้จะทำให้ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนตกอยู่ในความยากจนไปอีกยาวนาน
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติคาดว่าจนถึงขณะนี้จะมีประชาชนอีก 285,000 คนที่ต้องตกอยู่ในความยากจน โดยตัวเลขดังกล่าวจะเลวร้ายลงหากสงครามยังดำเนินต่อไป
กองทัพอิสราเอลปฏิเสธว่ามีวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา พร้อมยืนยันว่าได้อำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอด
ในเขตเวสต์แบงก์ กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ ระบุว่า กองกำลังอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ 18 รายระหว่างการโจมตีในเมืองเจนินทางตอนเหนือ ซึ่งมีการสู้รบกันอย่างดุเดือดด้วยระเบิดและปืน โดยอิสราเอลยืนยันว่ากำลังปฏิบัติการอยู่ที่นั่นจริง เช่นเดียวกับปฎิบัติการล่าสุดในวันศุกร์ที่อิสราเอลโจมตีโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในกาซา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 13 ราย
ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 170 รายและชาวอิสราเอล 3 รายถูกสังหารในความรุนแรงทั่วเวสต์แบงก์ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย
แฟรงค์ บอร์แมน หนึ่งใน 3 นักบินอวกาศที่ออกเดินทางในภารกิจแรกของโครงการอะพอลโลเพื่อสำรวจดวงจันทร์ของนาซา เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 95 ปี
นักบินอวกาศ แฟรงค์ บอร์แมน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการในภารกิจสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งแรกขององค์การนาซา เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 95 ปี โดยเขาเสียชีวิตอย่างสงบในเมือง บิลลิงส์ รัฐมอนทานา ของสหรัฐฯ
เมื่อปี 1968 องค์การนาซาได้ส่งมนุษย์เดินทางไปอวกาศครั้งแรกกับยานอวกาศอะพอลโล 8 ในวันที่ 21-27 ธ.ค. 2511 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้แก่ วิลเลียม แอนเดอร์ส จิม โลเวลล์ และ แฟรงค์ บอร์แมน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการภารกิจดังกล่าว โดยยานอวกาศอะพอลโล 8ไม่ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ แต่โคจรรอบดวงจันทร์จำนวน 10 รอบเพื่อส่องสำรวจพื้นผิวดาวพร้อมกับเก็บภาพถ่ายจำนวนมากก่อนที่จะกลับมายังโลก ก่อนจะนำไปสู่การลงจอดบนดวงจันทร์ในปีต่อมา
โดยนายบอร์แมน และเพื่อนร่วมทีมในยานอะพอลโล 8 อีก 2 คน ได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันคริสต์มาสอีฟพอดี และมีการถ่ายทอดสัญญาณ เทเลคาสต์จากวงโคจรของดวงจันทร์ในคืนนั้นด้วย โดยหลังจากที่เขาออกจากองค์การนาซา บอร์แมนก็ทำงานเป็นผู้บริหารของสายการบินอีสเทิร์น แอร์ไลน์ส อีกหลายสิบปี ก่อนจะเกษียณ
ทั้งนี้ โครงการอะพอลโล เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ซึ่งมีการสร้างยานอวกาศตระกูลอะพอลโลหลายรุ่นไปสำรวจดวงจันทร์บริวารของโลก
ที่มา : เอพี
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012