ข่าว
ศาลฎีกาฯตัดสินคดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง จำคุก"ประชา มาลีนนท์"12ปี

ศาลฏีกาฯคำพิพากษาคดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง ตัดสิน "ประชา มาลีนนท์" อดีต รมช.มหาดไทย มีความผิดตามมาตรา 157 และผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ให้จำคุก 12 ปี พร้อมออกหมายจับฐานจงใจหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และตัดสินจำคุก "พล.ต.ต.อธิลักษณ์" 10 ปีในฐานความผิดเดียวกัน ส่วน "โภคิน-อภิรักษ์" ยกฟ้อง

ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 ก.ย. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด หรือ STEYR-DAIMLER-PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท

เมื่อถึงเวลานัดปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และ 4 ไม่ได้เดินทางมาศาล โดยศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 3 ชั่วโมงครึ่ง

โดยองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติเสียงข้างมากให้จำคุก นายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และ 13 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักที่สุด และจำคุก 10 ปี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน มาตรา 12 จากกรณีที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการผลักดันให้เร่งรัดสั่งซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์บรรเทาสาธารณภัยตามโครงการพัฒนาระบบและบริหารการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เมื่อปี 2547 ไม่ชอบ โดยฝ่าฝืนมติ ครม.และข้อบัญญัติของการบริหารราชการ กทม. และ ระเบียบการจัดซื้อ จนทำให้การสั่งซื้อสินค้าเอื้อประโยชน์กับบริษัทสไตเออร์ จำเลยที่ 5 ซึ่งมีการสั่งซื้่อราคาแพง และ บริษัทสไตเออร์ฯได้รับประโยชน์ 48.77 % เมื่อเทียบกับราคาที่กรมบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทยจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่ผลิตและจัดจำหน่วยภายในประเทศไทย โดยการจัดซื้อจากการผลักดันของจำเลยที่ 2 และ 4 ก็ไม่ได้เปรียบเทียบราคาสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่นกระทั่งทำให้มีการจัดซื้อสินค้าด้วยวิธีการพิเศษและส่งผลให้จำเลยที่ 5 รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวอันเป็นการกีดกันทางการค้าและการเสนอราคาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม

ส่วนการกระทำของนายโภคิน จำเลยที่ 1 นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และ นายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 นั้นเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่มิชอบในโครงการดังกล่าวจึงพิพากษายกฟ้อง โดยศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่สอง เพื่อติดตามตัวมาบังคับคดีรับโทษ และให้ออกหมายจับจำเลยที่ 4 ให้ติดตามตัวมารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมปรับนายประกัน 2,000,000 บาท

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายประชาเคยไม่มารับฟังคำพิพากษาแล้วหนึ่งครั้ง ศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษามาหนึ่งเดือน และ ในครั้งนี้ก็ยังไม่มา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ และทีมทนายความของพรรคที่ให้การช่วยเหลือและให้กำลังใจมาตลอด ซึ่งตนยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรมที่แสดงให้เห็นว่าความจริงยังปรากฏในสังคม ขณะที่นายโภคิน กล่าวว่า ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ส่วนบทบาททางการเมืองของตนขณะนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ หากพรรคจะมอบหมายให้ทำอะไรก็ยินดี