สำนักข่าว KCNA สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย. 64 ถึงท่าทีของคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่แสดงความเห็นต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างตรงไปตรงมาครั้งแรก หลังจากไบเดน สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เมื่อ 20 มกราคม ที่ผ่านมา โดยคิม จอง อึน กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือพร้อมจะเจรจาและเผชิญหน้า โดยเฉพาะอย่างหลังกับรัฐบาลสหรัฐฯ
สำนักข่าว KCNA รายงานว่า คิม จอง อึน ได้วางยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสมและการตอบโต้ทางยุทธวิธีในการติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในระหว่างการแถลงการวิเคราะห์รายละเอียดของนโยบายเกาหลีเหนือต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงงาน เมื่อวันพฤหัสฯที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลเกาหลีเหนือมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งการเจรจาและการเผชิญหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของประเทศเกาหลีเหนือ และผลประโยชน์สำหรับการพัฒนาที่เป็นอิสระ
สำหรับท่าทีดังกล่าวของคิม จอง อึน ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจาก คิม จอง อึน ยอมรับว่าเกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงงานในคราวนี้ คิม จอง อึน ดูผอมลงไปมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะตั้งใจลดน้ำหนักมากกว่ามีปัญหาด้านนสุขภาพ
เมื่อ 18 มิ.ย. 64 เว็บไซต์ hindustantimes สื่อในอินเดียรายงาน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในอินเดียได้พบว่าขณะนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) B.1.617.2 ที่สามารถแพร่กระจายติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านั้น ได้เกิดการกลายพันธุ์อีก และถูกตั้งชื่อว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตาพลัส (Delta Plus) หรือ AY.1
เชื้อโควิด เดลตาพลัส ซึ่งพบครั้งแรกในยุโรป ได้เกิดการกลายพันธุ์อีกในตำแหน่ง K417 N ของสไปค์ โปรตีน (spike Protein) หรือโปรตีนหนามที่เชื้อโควิดใช้ในการจับกับเซลล์มนุษย์ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ในสายพันธุ์เบตา (แอฟริกา) หรือ B.1.351 ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ขณะนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของเชื้อโควิด-19 เดลตาพลัส ในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้น ในขณะที่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตานั้น สามารถแพร่กระจายติดเชื้อได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ถึง 40%
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังคงแต่เฝ้าติดตาม ยังไม่ได้จัดให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ในขณะที่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2 ได้แพร่ระบาดจากอินเดียไปยัง 80 ประเทศแล้ว
ตามรายงานระบุว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด เดลตาพลัสแล้ว 202 ราย ใน 11 ประเทศ อาทิ แคนาดา เยอรมนี รัสเซีย เนปาล สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่อินเดียมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาพลัส แล้ว 8 ราย โดย 3 ราย พบที่รัฐทมิฬนาฑู ส่วนอีก 5 ราย พบผู้ติดเชื้อรัฐละ 1 รายใน 5 รัฐ ได้แก่ รัฐโอริสสา กรณาฏกะ อันธระประเทศ คุชราต และมหาราษฎระ
สิ่งที่รัฐบาลไทยได้ทำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานสภาบริหารแห่งรัฐพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คือพยายามทำทุกอย่างให้เป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยืนกรานว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ในทางยุทธศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าด้วยเหตุผลสำคัญคือมีที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน ความใกล้ชิดของผู้นำ และผลประโยชน์ของชนชั้นนำ
ท่าทีเพิกเฉยของไทย นอกจากจะไม่เป็นการคลี่คลายวิกฤติความรุนแรง แต่คาดกันถึงขั้นว่า อาจเป็นการขัดขวางความช่วยเหลือจากประชาคมโลกก็เป็นได้
แม้ว่านานาชาติและคนไทยส่วนหนึ่ง ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ ภาคประชาชน เรียกร้องต้องการให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีและบทบาทที่ชัดเจนในการแก้ไขวิกฤติการณ์ในพม่าซึ่งกำลังทำท่าจะลุกลามบานปลาย แต่ดูเหมือนรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ไทยเปิดพื้นที่ปลอดภัยแก่ผู้อพยพ และไม่ให้ส่งฝ่ายต่อต้านไปให้กองทัพพม่าลงโทษ พรรคการเมืองฝ่ายค้านของไทยเรียกร้องให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านระงับความช่วยเหลือกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย จนกว่าพม่าจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย นั่นดูเหมือนเป็นข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ
สิ่งที่รัฐบาลไทยได้ทำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานสภาบริหารแห่งรัฐพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คือพยายามทำทุกอย่างให้เป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เริ่มต้นจากการเชิญ วันนา หม่อง ลวิน ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า มาเยือนประเทศไทยอย่างเงียบๆ (แต่บังเอิญเป็นข่าวดัง) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพื่อพบกับผู้นำในรัฐบาลไทยและ เรทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวเรื่องพม่าตั้งแต่ต้น ในวงการทูตมองกันว่านั่นเป็นความพยายามช่วยลดแรงกดดันให้กับรัฐบาลทหารพม่ามากกว่าจะช่วยแก้ปัญหาใดๆ
ประเทศไทยเหมือนกับเพื่อนบ้านอื่นๆ ของพม่า อย่างบังกลาเทศ อินเดีย และจีน ซึ่งมีชายแดนติดกัน คือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพหลายพันคนที่หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้าน แต่ความช่วยเหลือประเภทนี้เป็นไปด้วยความอีหลักอีเหลื่ออย่างยิ่ง
ด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยไม่ต้องการต้อนรับผู้อพยพเพราะเกรงใจกองทัพพม่า และอยากพิสูจน์ว่าไทยไม่ได้ใช้คนเหล่านี้และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยเป็นกันชนอีกต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทยก็อยากได้ชื่อเสียงจากนานาชาติ ว่าเป็นประเทศที่มีมนุษยธรรมและเอื้ออารีต่อคนที่ตกทุกข์ได้ยากหนีร้อนมาพึ่งเย็น ดังนั้น สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือ กักกันให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นอยู่แต่บริเวณชายแดน (ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่ที่ปลอดภัย) เปิดทางให้องค์กรบรรเทาทุกข์จากต่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาบ้างตามสมควร แต่จะไม่ให้อยู่นานกระทรวงการต่างประเทศไทยแถลงตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ว่ามีผู้ลี้ภัยเหลืออยู่ในที่พักพิงชั่วคราวด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียง 58 คน ลดลงจาก 1,039 คนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม
รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยืนกรานว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ในทางยุทธศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าด้วยเหตุผลสำคัญคือ ประการแรก รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยมีรากฐานจากการรัฐประหารแบบเดียวกันกับรัฐบาลของ มิน อ่อง หล่าย ดูเป็นเรื่องขัดเขินกระอักกระอ่วนอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลไทยจะสั่งสอนพม่าในเรื่องประชาธิปไตย หรือเอาใส่ไว้ในนโยบายต่างประเทศ ตรงกันข้าม สิ่งที่รัฐบาลไทยทำ คือแสดงให้พม่าเห็นว่าแบบแผนทางการเมืองหลังการยึดอำนาจที่จะทำให้ทหารอยู่ในอำนาจได้นานนั้นต้องเริ่มต้นด้วยการยืดระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออกแบบกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจในรูปแบบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และประการสำคัญอย่าปล่อยให้ฝ่ายค้านได้รับเลือกตั้งเข้ามามากอย่างมีนัยสำคัญ และการยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ต้องทำ ดูเหมือนว่า มิน อ่อง หล่าย จะชื่นชมโมเดลแบบไทยอยู่ไม่น้อย จนได้แสดงท่าทีว่า การยุบพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League of Democracy: NLD) และห้าม ออง ซาน ซูจี ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเสียแล้ว
ประการที่สอง ผู้นำรัฐบาลไทยในปัจจุบันและผู้นำทหารพม่า มีความใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว นับถือกันเหมือนพี่น้องญาติสนิท ลงเรือลำเดียวกัน ร่วมชะตากรรมกัน ถึงกับมีเรื่องที่พูดกันวงในว่า มิน อ่อง หล่าย กล้าตัดสินใจยึดอำนาจเพราะมั่นใจว่าเพื่อนมิตรในประเทศไทยจะช่วยปกป้องและอุ้มชูให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป เพราะถ้าเขาอยู่ไม่ได้ หรือกองทัพตัตมาดอว์ (Tatmadaw) มีอันจำต้องถอนตัวจากการเมือง ทั้งๆ ที่ควบคุมการเมืองได้มากกว่าและยาวนานกว่า ก็คงกลายเป็นโดมิโนที่จะผลักดันให้กองทัพไทยต้องถอยร่นออกไปจากการเมืองไปด้วย
ดังนั้น ผู้นำไทยจึงไม่เพียงแอบเอาใจช่วย แต่มีการสื่อสารกันตลอดเวลา เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือ หรือช่วยลดแรงกดดันและประคับประคองให้ระบอบทหารของพม่าอยู่รอดต่อไป
ประการที่สาม ชนชั้นนำของไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่าค่อนข้างมาก บริษัทขนาดใหญ่ของไทย ตั้งแต่เครือซีเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือสหพัฒน์ โอสถสภา ทุนธนาคารใหญ่เกือบทุกราย และกลุ่ม ปตท. ความจริงก่อนหน้ารัฐประหารไม่กี่วันก็มีรายงานว่าทุนไทยเตรียมขยายการลงทุนในพม่า เช่น ปตท. สผ. วางแผนจะลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าในพม่า
ปัจจุบัน ปตท. สผ. ลงทุนร่วมกับ Total, Chevron และรัฐวิสาหกิจปิโตรเลียมของพม่า ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ส่งผ่านท่อเข้ามาป้อนโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย สิ่งที่บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยกลัวที่สุดคือผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้ก็ทำได้แค่เพียงประคองตัวไปก่อน และะภาวนาให้ความวุ่นวายทางการเมืองจบลงโดยเร็ว ไม่ว่าตอนท้ายฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ ก็ต้องทำให้ผลประโยชน์เหล่านี้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่ได้อยู่ในบัญชีการลงทุนของไทย
ที่ผ่านมาหลายบริษัทชะลอการลงทุนหรือยุติธุรกรรมบางส่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายระหว่างรอดูสถานการณ์ แต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมกับนานาชาติในการคว่ำบาตรพม่าที่หวังผลทางการเมืองหรือชื่อเสียงของงประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น ชนชั้นนำของไทยจะไม่ยอมให้รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เช่น ตัดความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนากดดันพม่าเป็นอันขาด เพราะนั่นคือการยิงปืนใส่หัวแม่เท้าพวกเขาเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องระมัดระวังอย่างมากในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้การเพิกเฉยเช่นว่านั้นไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในสายตานานาชาติ เพราะในขณะที่ อาเซียน สหประชาชาติ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างกำลังกุลีกุจอรวมทั้งออกแรงกดดันหาทางแก้ไขวิกฤติ การนิ่งเฉยของไทยอาจจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้การดำเนินการต่างๆ เกิดผลก็เป็นได้
บทความโดย : สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
นักข่าวและนักวิจัย ซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน
นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์เข็มแรก ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนในนครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยนางอาร์เดิร์น ระบุว่า การเข้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่านิวซีแลนด์จะได้รับคำชมว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และมีรายงานว่าเกิดปัญหาในการจองคิวฉีดวัคซีน ขณะที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางแห่งถูกจองเต็มไปจนถึงเดือนสิงหาคม และพบว่ามีประชาชนชาวนิวซีแลนด์ได้รับวัคซีนราว 11 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5 ล้านคน
ที่มา: NZherald
เมื่อ 18 มิ.ย. 64 เว็บไซต์เดลี่เมลรายงานความคืบหน้าคดีฆาตกรรม น.ส.แคโรลีน คราวช์ สาวสวยชาวอังกฤษ คุณแม่ลูกหนึ่งวัย 20 ปีซึ่งถูกฆ่าตายในบ้านพัก ในประเทศกรีซ จนสร้างความสะเทือนใจอย่างมากว่า ในที่สุด นายบาบิส อแนกนอสโตปูลอส หนุ่มนักบินชาวกรีก ซึ่งเป็นสามีของคราวช์ ได้ยอมรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังถูกตำรวจเค้นสอบนานถึง 8 ชั่วโมงว่า เขาเป็นคนฆ่าภรรยาเอง โดยได้ใช้หมอนอุดจมูก จนทำให้ภรรยาเสียชีวิต เนื่องจากโกรธที่เธอขู่จะแยกทางและจะเอาลูกไปด้วย
ก่อนหน้านี้ นายอแนกนอสโตปูลอส วัย 33 ปี ซึ่งมีอาชีพเป็นนักบินขับเฮลิคอปเตอร์ได้ให้การกับตำรวจ โดยอ้างว่า คราวช์ ภรรยาของเขาได้ถูกแก๊งขโมยฆ่าตายขณะบุกรุกเข้ามาในบ้าน ในขณะที่ตัวเขานั้นได้ถูกพวกขโมยจับมัดไว้ในบ้านพัก ซึ่งอยู่ย่านชานเมืองเมือง กลีคา นีรา ใกล้กรุงเอเธนส์ เมื่อเช้ามืดวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา
นายอแนกนอสปูโตลอส อ้างว่า คืนนั้น เขาและภรรยาได้ต่อสู้กับพวกขโมยก่อน และเธอได้รีบนำลูกน้อยลงในเปล และบอกให้เขารีบออกจากบ้านไป
“ขโมยมากัน 3 คน พวกมันใช้ปืนจ่อหัวลูก มัดภรรยาและฆ่าเธอ พวกมันยังได้เงินสดไปประมาณ 1 หมื่นปอนด์ และเครื่องเพชรราว 3 หมื่นปอนด์” นายอแนกนอสปูโตลอส อ้าง
อย่างไรก็ตาม ตำรวจสืบสวนที่ทำคดีนี้ได้พบข้อมูลจากนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ ที่คราวช์ใส่ในคืนเกิดเหตุ โดยข้อมูลจากนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ชี้ว่าเธอไม่ได้เสียชีวิตในช่วงเวลาที่นายอแนกนอสโตปูลอส ผู้เป็นสามีกล่าวอ้าง โดยข้อมูลในนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ที่ช่วยในการคลี่คลายคดี แจ้งว่าเธอได้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกพวกขโมยฆ่า ตามที่สามีกุเรื่องขึ้น
“ผมไม่สามารถระงับอารมณ์โกรธได้ ผมได้ใช้หมอนอุดจมูกภรรยา และกุเรื่องว่ามีขโมยขึ้นบ้านและฆ่าภรรยา” นายอแนกนอสปูโตลอสยอมรับสารภาพกับตำรวจ
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสในกรุงเอเธนส์ เผยว่าขณะนี้นายอแนกนอสปูโตลอส ถูกควบคุมตัวในห้องขังระหว่างถูกดำเนินคดี
Crภาพ : Instagram
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการใช้เงิน 2,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 72,000 ล้านบาทสำหรับเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาและค้นพบยารักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 และไวรัสที่จะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ในอนาคต ใช้ชื่อว่า โครงการยาต่อต้านไวรัสก่อโรคระบาด โดยจะใช้เงินจากโครงการช่วยเหลืออเมริกัน มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
นายแพทย์แอนโธนี ฟาวซี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาวระบุว่า ยาต่อต้านไวรัสเป็นส่วนเสริมที่สำคัญของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าเมื่อติดเชื้อ หรือสำหรับคนที่วัคซีนไม่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น นอกจากนั้น ยังถือเป็นแนวป้องกันที่สำคัญต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งสามารถเล็ดรอดการปกป้องของวัคซีนที่ใช้กันอยู่
ทั้งนี้ทางการสหรัฐฯ จะใช้เงินจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือเพื่อเร่งรัดกระบวนการทดสอบยาเม็ดต่อต้านโควิดในคนซึ่งในเวลานี้มีหลายบริษัทพัฒนาขึ้นแล้ว อาทิ โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมิร์ค รวมทั้งของบริษัทไฟเซอร์ และ เอเทีย-โรช เป็นต้น แต่โดยหลักแล้ว จะเป็นการให้ทุนดำเนินการเพื่อการค้นคว้าวิจัยหายาต้านไวรัสใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงใช้ต่อต้านโควิด-19และเชื้อโคโรนาอื่นๆ เท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงการพัฒนายาเพื่อต่อต้านไวรัสอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ในอนาคตได้อีกด้วย (รอยเตอร์)