ข่าว
จีนเล็งสำรวจขั้ว-ส่งมนุษย์เหยียบ ‘ดวงจันทร์’ ภายใน 5 ปี

รัฐบาลจีนเผยแผนสำรวจขั้วดวงจันทร์ และส่งมนุษย์เหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ ภายในระยะเวลาอีก 5 ปีนับจากนี้

28 มกราคม 2565...สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ว่าสมุดปกขาว “โครงการอวกาศของจีน : ทรรศนะ ปี 2021” (China’s Space Program: A 2021 Perspective) เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ ระบุว่าจีนจะเดินหน้าการสำรวจภูมิภาคขั้วของดวงจันทร์ และเตรียมปฏิบัติภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ โดยมีมนุษย์ควบคุมภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

จีนจะดำเนินการศึกษาและวิจัยแผนการลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมต่อไป โดยจะมีการพัฒนายานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนการสำรวจอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ (cislunar) หลังจากจีนสามารถนำยานสำรวจลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อปี 2562 และเก็บตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลกในปีก่อน

จีนวางแผนส่งยานอวกาศอีก 2 ลำ สำรวจภูมิภาคขั้วของดวงจันทร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีน้ำแข็งปกคลุม โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ภายใต้เงามืดของภูเขาและหลุมอุกกาบาตบางแห่ง โดยจีนจะส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 เพื่อเก็บตัวอย่างจากภูมิภาคขั้วของดวงจันทร์ และนำกลับมายังโลก และส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 เพื่อปฏิบัติภารกิจลงจอดบนภูมิภาคดังกล่าว และสำรวจพื้นที่เงามืดแบบผลุบโผล่

นอกจากนั้น จีนจะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักของยานสำรวจฉางเอ๋อ-8 ให้เสร็จสิ้น และเดินหน้าการก่อสร้างสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ด้วยความร่วมมือระดับโลก ซึ่งทั้งหมดคล้ายคลึงกับโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ของนาซา ที่ตั้งเป้าหมายส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2567 และสร้างถิ่นฐานที่ยั่งยืนทั้งบนและรอบดวงจันทร์ภายในปี 2571

ขณะเดียวกันจีนจะส่งยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย เพื่อเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลก และสำรวจแถบดาวหางหลัก รวมถึงวางแผนส่งโมดูลทดลอง 2 โมดูล และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เพื่อสร้างสถานีอวกาศที่สมบูรณ์ สร้างห้องปฏิบัติการอวกาศบนสถานีอวกาศ และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ขนานใหญ่กับนักบินอวกาศในภารกิจระยะยาว

อนึ่ง สมุดปกขาวข้างต้นยังเปิดเผยการเตรียมความพร้อมทางเทคโนโลยีของจีน ในการเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารและส่งกลับมายังโลก การสำรวจระบบดาวพฤหัสบดี และการสำรวจขอบเขตของระบบสุริยะด้วย....

ข้อมูล : XINHUA

สิงคโปร์หวั่น พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน เวอร์ชันล่องหน 'BA.2' เพิ่มขึ้น

สิงคโปร์ยืนยัน พบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้น กำลังเร่งศึกษาจะร้ายกาจกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือไม่

เมื่อ 28 ม.ค. 65 เว็บไซต์ แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงาน กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ในวันที่ 28 ม.ค. 65 ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้ว 48 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศอีก 150 ราย จนถึงเมื่อ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ระบุว่า จากการศึกษาในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในราว 40 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2 แล้ว พบว่า เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้ BA.1 ทว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์จำเป็นจะต้องข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจทั้งหมดเกี่ยวกับเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 รวมทั้งอาการป่วย ภูมิคุ้มกันของร่างกายและการแพร่กระจายติดเชื้อ

ทั้งนี้ เชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 ซึ่งถูกนักวิทยาศาสตร์ในเดนมาร์กและสหราชอาณาจักร เรียกว่า 'โอมิครอนล่องหน' ถูกรายงานครั้งแรก โดยสำนักงานความปลอดภัยทางสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในฐานะเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่ต้องตรวจสอบ แต่ยังไม่จัดให้เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์เป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดโอมิครอนดั้งเดิม ซึ่งแพร่ติดเชื้อได้สูงกว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้ขณะนี้ เชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 กลายเป็นสายพันธุ์ที่พบผู้ติดเชื้อในเดนมาร์ก มากกว่าสายพันธุ์ BA.1 และยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อโควิดโอมิครอน BA.2 ทำให้ป่วยรุนแรงขึ้น

สหรัฐฯ ขู่ ยุติเปิดโครงการท่อส่งก๊าซจากรัสเซียมายุโรป หากรัสเซียบุกยูเครน

รบ.สหรัฐฯ เตือนจะยุติเปิดโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียมายังเยอรมนี หาก ปธน.ปูตินส่งทหารบุกยูเครน

เมื่อ 28 ม.ค. 65 บีบีซีรายงาน รัฐบาลสหรัฐฯ ขู่จะยุติเปิดโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 จากรัสเซียมายังเยอรมนี หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ตัดสินใจส่งทหารบุกยูเครน

โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ถือเป็นโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ที่ใช้งบดำเนินการถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 33 บาท) โดยเป็นการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากเขตไซบีเรียตะวันตกของรัสเซียข้ามทะเลบอลติกไปยังเยอรมนี

ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 มีความยาวถึง 1,225 กิโลเมตร โดยเป็นการวางแนวท่อส่งก๊าซคู่ขนานไปกับท่อส่งก๊าซในโครงการ Nord Stream 1 โดยโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถส่งก๊าซธรรมชาติไปยังเยอรมนีได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

การออกมาเตือนของรัฐบาลสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเยอรมนี ได้กล่าวว่า โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 อาจเผชิญกับการถูกคว่ำบาตรหากรัสเซียโจมตียูเครน

ทั้งนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนจากความหวั่นวิตกว่าประธานาธิบดีปูตินอาจส่งทหารบุกยูเครน ขณะระดมกำลังทหารรัสเซียนับแสนนายประจำการตามแนวชายแดนติดยูเครนนั้น ทำให้ชาติตะวันตกขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาตอบโต้รัสเซีย ในขณะที่ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ได้กล่าวมาตลอดว่า ท่อส่งก๊าซจากรัสเซียมายังยุโรป คือ 'อาวุธทางภูมิศาสตร์การเมืองที่อันตราย'


ไบเดนเตือน มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจรุกรานยูเครน เดือนก.พ.นี้

28 ม.ค. บีบีซี รายงานว่า ทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริการะบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวเตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่ชัดเจนว่า รัสเซียอาจรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ หลังรัสเซียระดมกำลังทหารกว่า 130,000 นายเข้าประชิดชายแดนทางตะวันออกของยูเครน แม้ว่ารัสเซียปฏิเสธแผนการรุกรานยูเครนมาตลอด

น.ส.เอมิลี ฮอร์น โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว แถลงว่าประธานาธิบดีไบเดนพูดเรื่องนี้ต่อสาธารณชน และทำเนียบขาวเตือนเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว โดยระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์กับนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันพฤหับสดีที่ 27 ม.ค. นายไบเดนย้ำเตือนถึงความกังวลลดังกล่าวรวมทั้งยืนยันความพร้อมของสหรัฐฯ ชาติพันธมิตร และหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากรัสเซียบุกยูเครนต่อไป

ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกี กล่าวว่า ตนและประธานาธิบดีไบเดนหารือถึงความพยายามทางการทูตล่าสุดในการลดระดับความรุนแรง และตกลงการดำเนินภารกิจร่วมกันในอนาคต

เว็บไซต์ข่าวอเมริกัน แอ๊กเซียส อ้างแหล่งข่าวเปิดไม่เผยชื่อ ชี้ว่าสองผู้นำไม่เห็นด้วยกับภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามา และผู้เชี่ยวชาญทางทหารบางคนแนะนำว่ารัสเซียอาจกำลังรอให้ภาคพื้นดินในยูเครนกลายเป็นน้ำแข็งเพื่อให้รัสเซียสามารถเคลื่อนตัวในยุทโธปกรณ์หนักได้

ต่อมา นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สนทนาทางโทรศัพท์กับนายเอมมานูเอ็ล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุว่า สหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพิกเฉยความกังวลหลักของรัสเซีย รวมถึงการป้องกันการขยายอิทธิพลขององค์การนาโต และการไม่ติดตั้งระบบอาวุธโจมตีใกล้พรมแดนรัสเซีย

ด้านนายดมีตรี เปสคอฟ โฆษกทางการรัสเซีย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียในการให้การรับรองความปลอดภัยจากชาติตะวันตก รวมถึงการยับยั้งยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโตว่า ทำให้เหลือพื้นที่มองโลกในแง่ดีน้อยมากในการแก้วิกฤต แต่เสริมว่ามีโอกาสเสมอสำหรับการเจรจาต่อไปเพื่อประโยชน์ของทั้งชาวรัสเซียและชาวอเมริกัน

ก่อนหน้านี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์อย่างเป็น

ทางการเพื่อปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักดังกล่าวของรัสเซีย แต่กล่าวว่า การตอบสนองของสหรัฐฯ เป็นการแสดงจุดยืนต่อหลักการสำคัญอย่างชัดเจน รวมถึงการเคารพในอำนาจอธิปไตยของยูเครน และสิทธิในการเลือกเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรด้านความมั่นคง เช่น องค์การนาโต

อย่างไรก็ตาม นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวถึงการตอบโต้อย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุ “ความกังวลหลัก” เกี่ยวกับการขยายตัวขององค์การนาโตด้วย

ทั้งนี้ รัสเซียเคยผนวกคาบสมุทรไครเมีย ทางใต้ของยูเครน ในปี 2557 มาแล้ว นอกจากนี้ ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดพื้นที่กว้างใหญ่ของภูมิภาคดอนบัสส์ ทางตะวันออกของยูเครนหลังจากนั้นไม่นาน และมีผู้เสียชีวิตราว 14,000 รายในการสู้รบที่นั่น


องค์การยายุโรปไฟเขียว 'ยาเม็ดรักษาโควิด' ฝีมือไฟเซอร์

28 ม.ค. 65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) อนุมัติการใช้งานแบบมีเงื่อนไขแก่ยาเม็ดป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของไฟเซอร์ เพื่อรักษาผู้ใหญ่ที่เสี่ยงมีอาการป่วยหนัก การอนุมัติครั้งนี้ทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) สามารถใช้งานยาเม็ดดังกล่าว หลังจากองค์การฯ ออกคำแนะนำการใช้งานฉุกเฉินเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

คณะกรรมการพิจารณาการใช้ยาในมนุษย์ (CHMP) แนะนำให้อนุมัติการวางตลาดแบบมีเงื่อนไขแก่ “แพกซ์โลวิด” (Paxlovid) ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องบำบัดด้วยออกซิเจนและเสี่ยงป่วยหนัก

แพกซ์โลวิด เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานตัวแรกที่อียูแนะนำให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยตัวยาประกอบด้วยสารออกฤทธิ์สองชนิดรวมกัน ซึ่งชนิดแรกจะลดความสามารถเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสฯ ในร่างกาย ขณะอีกชนิดช่วยให้สารชนิดแรกคงอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นในระดับที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสฯ

นอกจากนั้นองค์การฯ ได้ประเมินข้อมูลจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งบ่งชี้ว่าการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างน้อยหนึ่งโรค

แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการศึกษาข้างต้นจะเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา แต่จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการคาดว่ายาแพกซ์โลวิดจะสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยผลข้างเคียงของยานั้นไม่รุนแรง

ที่มา xinhuathai


ภริยาอดีต ปธน.รับตำแหน่งผู้นำหญิงคนแรกของฮอนดูรัส

28 มกราคม 2565 : นางซีโอมารา คาสโตร ภริยาอดีตประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของฮอนดูรัสเมื่อวันพฤหัสบดี พร้อมปฏิญาณจะปฏิรูปประเทศอเมริกากลางที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและความยากจนให้เป็นรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 ว่าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของฮอนดูรัสจัดภายในสนามกีฬาแห่งชาติเตกูซิกัลปาท่ามกลางสายตาผู้เข้าร่วมราว 29,000 คน เมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น โดยมีประมุขและผู้แทนระดับสูงของหลายประเทศมาร่วมเป็นสักขีพยาน อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน, นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และวิลเลียม ไล่ รองประธานาธิบดีไต้หวัน

ซีโอมารา คาสโตร สาบานตนต่อหน้าผู้พิพากษาคาร์ลา โรเมโร โดยประธานรัฐสภา ลูอิส เรดอนโด ซึ่งเป็นผู้ประดับสายสะพายประธานาธิบดีให้นาง ยืนขนาบข้างด้วย

ในคำกล่าวสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการภายหลังสาบานตน ผู้นำฝ่ายซ้ายวัย 62 ปีประณาม "โศกนาฏกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ฮอนดูรัสกำลังเผชิญ" และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานเพื่อปรับปรุงการศึกษา, บริการด้านสุขภาพ, ความปลอดภัย และการจ้างงาน

คาสโตรกล่าวว่า ตนได้รับสืบทอดประเทศที่ "ล้มละลาย" ที่ตนมีความตั้งใจจะเปลี่ยนโฉมให้เป็น "รัฐสังคมนิยมและประชาธิปไตย"

ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฮอนดูรัสผู้นี้ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งยุติการบริหารประเทศนาน 12 ปีโดยพรรคเนชันแนล (พีเอ็น) ที่นิยมขวาและขึ้นสู่อำนาจภายหลังประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา สามีของคาสโตร โดนก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2552

"12 ปีของการต่อสู้, 12 ปีของการต่อต้าน วันนี้รัฐบาลของประชาชนเริ่มต้นขึ้นแล้ว" คาสโตรโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี

ก่อนหน้าจะถึงพิธีสาบานตน คาสโตรเพิ่งเผชิญสัปดาห์ที่น่าอับอายของการต่อสู้ท้าทายนางในพรรคลีเบร เมื่อสมาชิกกลุ่มหนึ่งเห็นแย้งเรื่องการแต่งตั้งเรดอนโดเป็นประธานรัฐสภาคนใหม่ คาสโตรกล่าวโจมตีผู้สนับสนุนของฮอร์เก กาลิกซ์ คู่แข่งของเรดอนโด ว่าร่วมมือกับพรรคพีเอ็นและกลุ่มอื่นๆ เพื่อบั่นทอนกระบวนการปราบปรามการคอร์รัปชันของนาง

อดีตประธานาธิบดีฮวน ออร์ลันโด เอร์นันเดซ จากพรรคพีเอ็น ซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยนาน 8 ปี ได้รับเลือกกลับมาเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่เขาถูกอัยการสหรัฐฯ กล่าวหาว่าให้การปกป้องพ่อค้ายาเสพติดแลกกับสินบน

รองประธานาธิบดีแฮร์ริสของสหรัฐฯ ได้พบปะกับคาสโตรหลังพิธี และแสดงความยินดีที่คาสโตรให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชันที่ถูกมองว่าเป็นรากเหง้าของการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในประเทศนี้ รวมถึงความตั้งใจของคาสโตรที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติในการจัดตั้งคณะกรรมการปราบปรามการคอร์รัปชันระหว่างประเทศ

แฮร์ริสกล่าวด้วยว่า การมาเยือนของเธอเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมความร่วมมือกันในประเด็นสำคัญๆ "ตั้งแต่การต่อสู้กับการคอร์รัปชันไปจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ"

ด้านกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าวว่า คาสโตรจะได้พบกับรองประธานาธิบดีไล่ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่มีความกังวลร่วมกัน

ฮอนดูรัสเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ยังรับรองไต้หวัน แต่ในการหาเสียงเลือกตั้ง คาสโตรประกาศว่ารัฐบาลของนางจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ทันทีหากนางชนะการเลือกตั้ง

พิธีสาบานตนของคาสโตรครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และไต้หวันได้พูดคุยกันในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ เปลี่ยนไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อปี 2522 โดยรายงานของสำนักข่าวเซ็นทรัลนิวส์ของไต้หวันเมื่อวันศุกร์กล่าวว่า รองประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ทักทายและสนทนากันสั้นๆ

ผู้นำหญิงของฮอนดูรัสรายนี้มีงานหนักอีกมากรอให้แก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและอาชญากรรม ที่ผลักดันให้ชาวฮอนดูรัสจำนวนมากหนีออกนอกประเทศ โดยเฉพาะลอบข้ามแดนเข้าสหรัฐฯ เพื่อหางานและชีวิตที่ดีกว่า

ประเทศนี้มีอัตราความยากจนสูงถึง 74% ซึ่งเป็นตัวเลขที่คาสโตรกล่าวว่า เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดจึงเกิดคาราวานของผู้คนทุกเพศวัยขึ้นเหนือไปยังเม็กซิโกและสหรัฐฯ เพื่อหาทางมีชีวิตอยู่ทั้งที่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง อัตราการฆาตกรรมในฮอนดูรัสก็สูงมากเช่นกันถึงเกือบ 40 คนต่อประชากร 100,000 คน

ฮอนดูรัสยังมีหนี้สาธารณะประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (566,582 ล้านบาท) ซึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศ 11,000 ล้านดอลลาร์ (366,608 ล้านบาท) ที่คาสโตรจำเป็นต้องขอการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อเจรจาต่อรอง

รัฐประหารเมียนมาครบ 1 ปี เกิดอะไรขึ้นหลังทหารยึดอำนาจอองซานซูจี

วันที่ 29 มกราคม 2565 : อีกเพียงไม่กี่วันจะครบรอบ 1 ปี กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ “อองซานซูจี” ในห้วงเวลาแห่งความโกลาหล เกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

วันที่ 28 มกราคม 2565 แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจภายในประเทศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว โดยขับไล่รัฐบาลพลเรือน พร้อมจับกุม “อองซานซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา ขณะที่ประชาชนเกือบ 1,500 ชีวิตถูกสังหาร ส่วนอีกหลายพันคนถูกจับกุมในระหว่างที่รัฐบาลทหารเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่าง

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมียนมาตลอดหนึ่งปี หลังการยึดอำนาจครั้งล่าสุดของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการทดลองปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมานานครบทศวรรษ หลังการปกครองของทหารนานครึ่งศตวรรษ

บุกก่อนรุ่งสาง

ทหารควบคุมอองซานซูจี และพันธมิตรระดับสูงของเธอ ระหว่างการบุกจู่โจมในช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาเมียนมาชุดใหม่

นายพลเมียนมาอ้างว่า เหตุมาจากการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี คว้าชัยชนะมาอย่างถล่มทลาย การกระทำของทหารเมียนมาครั้งนี้เรียกเสียงประณามจากทั่วโลก ไล่ตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ไปจนถึง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อินเทอร์เน็ตถูกบล็อก

การต่อต้านรัฐประหารเริ่มต้นจากการที่ประชาชนออกมาทุบหม้อและกระทะ ซึ่งในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นวิธีการขับไล่วิญญาณชั่วร้าย กองทัพพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา ต่อมายังมีการปิดอินเทอร์เน็ตทุกคืนด้วย

การแข็งขืน

การต่อต้านเพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 6 และ 7 กุมภาพันธ์ โดยมีฝูงชนรวมตัวกันตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี

ในสัปดาห์ต่อๆ มา ชาวเมียนมาหลายแสนคนเริ่มออกมาประท้วงตามหมู่บ้านและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จึงมีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ คล้อยหลังเพียง 1 วัน หญิงอายุ 19 ปีถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ขณะตำรวจเปิดฉากยิงใส่ฝูงชนในกรุงเนปิดอว์

การลงโทษจากต่างประเทศ

ไม่นานหลังจากนั้น ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายของเมียนมา ซึ่งงรวมถึง พลเอกอาวุโส “มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร ก่อนที่อังกฤษและสหภาพยุโรปจะประกาศคว่ำบาตรด้วย

การปราบปรามผู้ประท้วงทวีความรุนแรง

“มยา ตวะเต ตวะเต ไคง์” หญิงที่ถูกยิง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากที่เธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ

การปราบปรามการประท้วงตามท้องถนนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 11 มีนาคม “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ระบุว่า ทางแอมเนสตี้ฯ ได้บันทึกข้อมูลความโหดร้ายของรัฐบาลทหาร เช่น การใช้อาวุธในสนามรบกับผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ

วันที่เหตุการณ์ดุเดือดที่สุด

พลเรือนกว่า 100 คนเสียชีวิตระหว่างการปราบปรามการประท้วงในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันกองทัพ และเป็นวันที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหาร เดือนต่อมา ส.ส.พลเรือนที่ถูกขับไล่ ประกาศก่อตั้งรัฐบาลเงา ภายใต้ชื่อ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government: NUG)

จับกุมนักข่าวอเมริกัน

“แดนนี เฟนสเตอร์” บรรณาธิการชาวอเมริกัน ประจำสำนักข่าวท้องถิ่น “ฟรอนเทียร์ เมียนมา” ถูกควบคุมตัวที่สนามบินในนครย่างกุ้ง ระหว่างที่เขาพยายามจะเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม

ภายหลังการพิจารณาคดีในเรือนจำนครย่างกุ้ง เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 11 ปี ในเดือนพฤศจิกายน ในข้อหามีส่วนร่วมในการทำผิดกฎหมาย ยุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง 3 วันต่อมา เขาได้รับการอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัว ก่อนจะบินกลับบ้านเกิดเพื่อไปพบกับครอบครัวที่สนามบินเจเอฟเคในนครนิวยอร์ก

การพิจารณาคดีอองซานซูจี

ในเดือนมิถุนายน หรือกว่า 4 เดือนหลังจากอองซานซูจีถูกควบคุมตัว เธอถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร เธอต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการนำเข้าเครื่องรับส่งวิทยุอย่างผิดกฎหมาย และการละเมิดกฎหมายควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงการเลือกตั้งปี 2563

โควิดระบาด-19

การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วเมียนมา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่สนับสนุนประชาธิปไตยพากันนัดหยุดงาน ส่วนประชาชนทั่วไปก็หลีกเลี่ยงการใช้บริการโรงพยาบาลที่บริหารโดยกองทัพ ประชาชนยังฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เพื่อออกไปต่อคิวหาถังออกซิเจนให้คนที่พวกเขารัก ไม่ก็อาสาทำงานนำศพออกมาเผา

หายนะทางเศรษฐกิจ

ในเดือนกรกฎาคม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัว 18% ในปี 2564 อันเป็นผลจากการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 โดยอัตราความยากจนจะเพิ่มเป็น 2 เท่า จากปี 2562