1 พ.ย. 2567: กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ฟ้าฝนพรุ่งนี้ เปิดชื่อ 41 จังหวัดโดนถล่ม กทม.-ตะวันออก โดนหนักสุด 60% ของพื้นที่ ไทยตอนบนอุณหภูมิลดลง
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 1 พ.ย.2567 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความ
กดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือในคืนนี้
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีอากาศเย็นกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส
ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ2 เตือน อากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก อุณหภูมิลด
สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เปิดชื่อ 33จังหวัดฝนถล่ม อุณหภูมิลด ลมแรง
สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ และระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย
ส่วนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค โดยมีฝน ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงส่วนมากทางตอนบนของภาค และมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณ จังหวัดเลย อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณ จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี นครปฐม
ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณ จังหวัดนครนายก สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง
สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณ จังหวัดระนอง พังงา ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ฟ้าฝนพรุ่งนี้ เปิดชื่อ 41 จังหวัดโดนถล่ม กทม.-ตะวันออก หนักสุด 60%... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_9486384
ชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเกือบ 62 ล้านคนแล้ว ทำลายสถิติของปี 2020 ขณะที่ทรัมป์กับแฮร์ริส มุ่งหาเสียงรัฐทางใต้ ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Election Lab หน่วยวิเคราะห์การลงคะแนนเสียงและการเลือกตั้ง ของมหาวิทยาลัยฟลอริดา ระบุในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ว่า ตอนนี้มีชาวอเมริกันที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว 61.9 ล้านคน ทำลายสถิติของปี 2563 ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าเกือบ 60 ล้านคน
การลงคะแนนเสียงล่วงหน้าของสหรัฐฯ นั้น ชาวอเมริกันสามารถมาลงคะแนนด้วยตัวเองที่หน่วยเลือกตั้ง หรือโดยการส่งจดหมายก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งในอดีตเป็นวิธีที่ฝ่ายผู้สนับสนุนเดโมเครตนิยมมาก และเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2020
ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2024 นี้ ฝ่ายรีพับลิกันเริ่มหันมากระตุ้นให้ผู้สนับสนุนไปใช้สิทธิ์ล่วงหน้ากันมากขึ้น หลังจากเคยวิพากษ์วิจารณ์วิธีการนี้อย่างหนักในการเลือกตั้งครั้งก่อน ว่าไม่โปร่งใสและเต็มไปด้วยการฉ้อฉล แม้ว่าผลการศึกษามากมาย ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศจะพบว่า การโหวตทางไปรษณีย์มีอัตราการโกงต่ำมากก็ตาม
ด้วยระยะเวลาที่เหลือเพียง 5 วันเท่านั้นก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส ต่างมุ่งหาเสียงในรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกว่า “รัฐซันเบลท์” (Sun Belt)
โดยในวันพฤหัสบดี แฮร์ริสจะเริ่มหาเสียงที่เมืองฟินิกซ์ ในรัฐแอริโซนา จากนั้นจะมุ่งหน้าไปที่เมือง เรโน รัฐเนวาดา และในคืนวันเดียวกัน เธอจะมีงานหาเสียงใหญ่ที่ลาสเวกัส ซึ่งจะมีวงดนตรีป๊อปร็อกสัญชาติเม็กซิโกอย่าง “มานา” และ เจนนิเฟอร์ โลเปซ ขึ้นเวทีด้วย
ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ จะเริ่มหาเสียงที่เมือง อัลบูเคอร์เค (Albuquerque) ในรัฐนิวเม็กซิโก ก่อนจะเดินทางไปยังเมืองเฮนเดอร์สัน รัฐเนวาดา จากนั้นนายทรัมป์ จะไปเมืองเกลนเดล รัฐแอริโซนา เพื่อปรากฏตัวในทัวร์สัมภาษณ์สดรอบสุดท้ายของนาย ทักเกอร์ คาร์ลสัน นักวิจารณ์การเมืองชื่อดัง ในคืนวันเดียวกันนี้
ด้านผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีทั้ง 2 คน ก็จะออกเดินรทางหาเสียงด้วย โดย เจ.ดี.แวนซ์ จะไปกล่าวปราศรัยที่มหาวิทยาลัย ไฮ พอยท์ ในรัฐนอร์ท แคโรไลนา ส่วน ทิม วอลซ์ จะไปปราศรัยที่เขต บัคส์ เคาน์ตี รัฐเพนซิลเวเนีย ตามด้วยที่เมืองอีรี ในช่วงบ่าย
ที่มา : bbc
ไต้ฝุ่น กองเร็ย เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งเกาะไต้หวันแล้วเมื่อช่วงบ่าย ทำให้มันกลายเป็นพายุรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ที่เล่นงานดินแดนแห่งนี้โดยตรง เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ศพบาดเจ็บอีกหลายสิบราย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไต้ฝุ่น กองเร็ย เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวันแล้ว ในเวลาประมาณ 13.40 น. วันพฤหัสบดีที่ 31 ต.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดยทางการไต้หวันสั่งให้โรงเรียนกับธุรกิจต่างๆ หยุดทำงานตลอดทั้งวัน ยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว และปิดตลาดหุ้น เพื่อรอรับมือพายุ
ก่อนที่กองเร็ยจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง มันมีความเร็วลมสูงสุดถึง 200 กม./ชม. เทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 4 ก่อนที่มันจะอ่อนกำลังลงเป็น “ไต้ฝุ่นระดับกลาง” (moderate typhoon) แล้ว ในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่น และคาดว่ามันจะไปจากเกาะไต้หวันในวันศุกร์
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของพายุ กองเร็ย ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง พบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ศพ เป็นหญิงวัย 56 ปี ที่ถูกต้นไม้ล้มทับขณะอยู่ในรถ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บด้วยสาเหตุต่างๆ อีกมากกว่า 70 ราย นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดไฟดับกระทบกว่า 500,000 ครัวเรือน
ที่เมืองฮวาเหลียน ทางตะวันออก เจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหารท้องถิ่น บอกกับสื่อว่า พวกเขาได้รับแจ้งข้อความช่วยเหลือจากประชาชนหลายครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงพวกเขาได้ เนื่องจากฝนตกหนักและลมแรงมาก
ทั้งนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติที่พายุลูกใหญ่ขนาดนี้จะพัดเข้าสู่ได้หวันในช่วงปลายปี เพราะตามปกติแล้ว ฤดูพายุไต้ฝุ่นของไต้หวันนั้น จะระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน และตลอด 80 ปีที่ผ่านมา พายุรุนแรงที่สุดของปี ก็มักจะพัดถล่มไต้หวันในกรอบเวลาดังกล่าว จนกระทั่งในปีนี้ มีพายุใหญ่ 2 ลูกแล้วในเล่นงานเกาะไต้หวันในเดือนตุลาคม
สำนักงานสภาพอากาศของไต้หวันพยากรณ์ว่า ภาคตะวันออกของเกาะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกองเร็ยมากที่สุด จะมีฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 1,200 มม. ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. ถึง 1 พ.ย.
ขณะที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า พวกเขาเตรียมทหารไว้ 36,000 นาย เพื่อให้เข้าร่วมในปฏิบัติการกู้ภัยหากจำเป็น โดยจนถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่อพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงไปแล้วกว่า 8,600 ราย
ที่มา : bbc
ฮิซบอลเลาะห์ “ยิงจรวด” – บีบีซี รายงานวันที่ 1 พ.ย. ว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธในเลบานอน ยิงจรวด 2 ลูกโจมตีพื้นที่ตอนเหนือของ อิสราเอล เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย และถือเป็นการโจมตีจากฝั่งฮิซบอลเลาะห์ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายเดือน...
ทางการอิสราเอลระบุด้วยว่า การโจมตีใกล้เมืองเมตูลามีผู้เสียชีวิตเป็นเกษตรกรชาวอิสราเอล 1 ราย และคนงานต่างชาติ 4 รายซึ่งหนังสือพิมพ์ฮาอาเรตซ์รายงานว่าคนงานทั้งหมดเป็นแรงงานชาวไทย ส่วนการโจมตีใกล้ชานเมืองไฮฟามีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นหญิงและลูกชายชาวอิสราเอล...
ขณะที่ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ถึงกรณีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบบริเวณชายแดนอิสราเอล-เลบานอน ใจความว่าได้รับทราบด้วยความเศร้าใจอย่างยิ่งว่ามีชาวไทย 4 คนเสียชีวิต และ 1 คนได้รับบาดเจ็บจากการยิงจรวดใกล้เมืองเมตูลา ชายแดนอิสราเอล-เลบานอน...
ทางกระทรวงได้กำชับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟเมื่อค่ำที่ผ่านมาให้ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มกำลัง และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตสำหรับการสูญเสียครั้งนี้...
ผ่านมา 1 ปีกว่า สำหรับ สงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองกำลังป้องกันอิสราเอล หรือไอดีเอฟ กับกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ การสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ไม่ทีท่าว่าจะหยุดยั้ง
โดยฉากของสงครามในฉนวนกาซา ทางกองกำลังไอดีเอฟ ซึ่งประสิทธิภาพก็คือกองทัพดีๆ นี่เอง ปฏิบัติการโจมตี ที่เริ่มจากทางอากาศ ก่อนตามมาด้วยปฏิบัติการทางการรบภาคพื้นดิน ด้วยการไล่พื้นที่จากทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ต่อเนื่องมายังตอนกลาง และตอนใต้ตามลำดับ ก่อนที่จะหวนกลับไปปฏิบัติการในบริเวณพื้นที่ตอนเหนืออีกคำรบ ตราบมาถึง ณ เวลานี้
ผลของสงครามได้สร้างความสูญเสียของผู้คนในพื้นที่สมรภูมิสู้รบ คือ ฉนวนกาซา จำนวนมากกว่า 43,000 คน สูญหายอีกราว 6,000 – 10,000 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 101,000 คน ถูกจับกุมคุมขังอีกกว่า 16,300 คน ตลอดจนอีกกว่า 1,900,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไรู้ที่อยู่อาศัย เพราะบ้านเรือนของพวกเขาถูกอาวุธสงครามโจมตีถล่มจนภินท์พัง
นอกจากนี้ สงครามยังได้สร้างผลกระทบเป็นประการต่างๆ ต่อผู้คนในฉนวนกาซาจนเดือดร้อนกันไปทั่ว โดยหนึ่งในรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่ว่านั้น ก็คือ “ราคาอาหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์เรา นั่นเอง
ทั้งนี้ นอกจากการสู้รบแล้ว ในทางยุทธวิธี ทางอิสราเอล ก็ยังได้มีการปิดล้อมพื้นที่ฉนวนกาซาอีกด้วยว่า ทำให้การช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากภายนอก ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปรากฏว่า อิสราเอลได้ปิดล้อมพื้นที่มานานมากกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้อาหารไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาได้ ก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวฉนวนกาซาหนักเพิ่มขึ้นไปอีก โดยมีรายงานว่า ผู้คนในพื้นที่ทางตอนเหนือของกาซาจำนวนกว่า 400,000 คน กำลังดำรงชีวิตด้วยความอดอยาก ตามการประมาณการของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น
พร้อมกันนี้ ทาง “โครงการอาหารโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอฟพี” ซึ่งเป็นหน่วยงานบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือด้านอาหารของสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า นอกจากปิดล้อมพื้นที่แล้ว กองทัพอิสราเอลยังได้ปฏิบัติการโจมตีทางการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโจมตีทางอากาศ เข้าใส่พื้นที่เป้าหมายทางตอนเหนือของกาซา ก็ต้องทำให้ปิดจุดที่มีการแจกจ่ายอาหารไปด้วย พร้อมกับต้องอพยพประชาชนและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างๆ ออกนอกพื้นที่ไป ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ด้านการขาดแคลนอาหารทางตอนเหนือของฉนวนกาซารุนแรงหนักขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ สถานการณ์การขาดแคลนอาหาร ก็ยังส่งผลกระทบไปทั่วฉนวนกาซา แต่ที่ตอนเหนือ ถือว่า หนักที่สุด
เมื่อสถานการณ์อาหารขาดแคลนเยี่ยงนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารในฉนวนกาซา ให้ทะยานพุ่งตามมา ซึ่งแน่นอนว่า พื้นที่ที่ผจญกับราคาอาหารแพงที่หนักที่สุดก็คือ ทางตอนเหนือของกาซา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ราคาอาหารโดยรวมในฉนวนกาซา ก็ล้วนประสบกับภาวะราคาอาหารแพงกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงคราม
ตามการรายงานของ “ดับเบิลยูเอฟพี” ระบุด้วยว่า ทั่วฉนวนกาซา จำนวนผู้คนอย่างน้อย 2,150,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหารที่แพงระยับ และในจำนวนข้างต้นนั้น จำนวนร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 กำลังผจญชะตากรรมกับความอดอยาก อันสืบเนื่องจากราคาอาหารที่สูงลิ่วนั่นเอง
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง พบว่า ราคาอาหารในฉนวนกาซา ได้แพงขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่กาซาตอนเหนือ ที่เรียกได้ว่า เป็นราคาที่ทะยานพุ่งเลยทีเดียว ในหลายรายการอาหารด้วยกัน แถมยังเป็นอาหารแบบพื้นๆ บ้านๆ ที่แทบจะทุกครัวเรือนรับประทานกันอีกต่างหาก
ไม่ว่าจะเป็น “แตงกวา” ซึ่งเป็นหนึ่งในผักที่ใช้ประกอบอาหารในหลายเมนูของชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา ปรากฏว่า ราคาต่อกิโลกรัม ที่จำหน่ายตามท้องตลาดในพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา ก็ทะยานพุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลารสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่พุ่งทะยานจากช่วงก่อนเกิดสงครามถึง 150 เท่า เลยทีเดียว คือ จากเดิมราคาก็อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ราคาแตงกวาก็พุ่งขึ้นมาที่กิโลกรัมละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อว่ากันถึงในภาวะสงครามที่เงินทองเป็นของหายาก
“มะเขือเทศ” ราคาก็ทะยานพุ่งขึ้นไปจนน่าสะพรึง ที่กิโลกรัมละ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา พุ่งทะยานจากช่วงก่อนสงครามถึง 180 เท่า ที่จากเดิมขายกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ก็ขายกันกิโลกรัมละ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ
“มะเขือยาว” หรือ “มะเขือม่วง” ในพื้นที่กาซาตอนเหนือขายกิโลกรัมละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสงคราม 19 เท่า ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ขายกิโลกรัมละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ
“แป้งที่ใช้ทำเป็นอาหาร” ราคาขายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา พุ่งทะยานขึ้นไปจากช่วงก่อนสงครามถึง 111 เท่า ไปอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ขายอยู่ที่150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อน้ำหนัก 25 กิโลกรัม โดยราคาเดิมช่วงก่อนสงครามปริมาณเท่าข้างต้นนั้น ขายอยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
“น้ำตาล” หนึ่งในเครื่องปรุงหลักในอาหารเมนูต่างๆ ทั้งอาหารหวาน และอาหารคาว ปรากฏว่า ราคาขายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสงคราม 60 เท่า ที่ราคากิโลกรัมละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ขายเพียงกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ก็ขายอยู่ที่ราคา 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม
“ไข่ไก่” ขายกันเป็นแผง หรือถาด มีจำนวน 10 - 12 ฟองด้วยกัน เดิมช่วงก่อนสงครามขายกันแผงละ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากเกิดสงครามในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา ราคาขึ้นไปอยู่ที่แผงละ 73 ดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 21 เท่า ส่วนทางใต้ของกาซาขายแผงละ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ไม่เว้นแม้แต่ “นมผงสำหรับเด็กทารก” ก็มีราคาแพงขึ้นจากช่วงก่อนสงครามถึง 28 เท่า จากเดิมที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อถุงบรรจุที่ไม่ถึง 1 กิโลกรัม ไปอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปริมาณเท่าเดิม สำหรับการจำหน่ายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา และบางร้านก็ถึงขึ้นตวงขายแบบนับช้อนเลยทีเดียว โดยตวงขายที่ 1 ช้อนโต๊ะต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนพื้นที่ตอนใต้ขายในปริมาณถุงบรรจุที่ไม่ถึง 1 กิโลกรัมที่ถุงละ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวที่มีทารกลูกอ่อนอย่างเหลือคณา
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012