"ปู" ลั่น เอาไงเอากัน หนุนแนวทาง "ประเวศ" แก้เหลื่อมล้ำในชาติ ปัด ลาพักร้อนให้ "พงศ์เทพ" รักษาการนายกฯ ยัน แค่มอบให้ดูเวทีปฏิรูป
วันที่ 13 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวระหว่างนั่งขบวนรถไฟจาก จ.เชียงใหม่ ไป จ.ลำปาง ถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันว่า จะเอายังไงก็เอา ขอให้บอกมา สถานการณ์การเมืองช่วงเวลานี้ ควรมีการปฏิรูป ซึ่งอยู่ที่วิธีการจะทำอย่างไร ให้ทุกฝ่ายยอมรับ
เห็นด้วย กับคำพูดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ระบุว่า สังคมไทยเรายังมีความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาล และไม่ใช่การทะเลาะกัน แต่ต้องหันหน้าพูดคุยกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ต่างจังหวัดขณะนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามปกติ ไม่ได้มีการลากิจ ลาพักร้อน และไม่ได้มอบหมายให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เป็นข่าว มีเพียงมอบหมายให้นายพงศ์เทพดูแลเรื่องเวทีปฏิรูปประเทศเท่านั้น
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 ธันวาคม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) จัดกิจกรรมพบปะสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าว ที่ห้องอาหารราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมแกนนำ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายสุริยะใส กตะศิลา ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ร่วมชี้แจง
นายสุเทพกล่าวว่า กปปส.ต้องการเข้ามาเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อฟื้นฟูประเทศทุกด้าน เพราะที่ผ่านมาระบอบทักษิณทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทำลายวิธีการบริหารราชการรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะออกกฎหมายนิรโทษกรรม การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีเพียงตระกูลเดียวได้ผลประโยชน์จากโครงการประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าว อีกทั้งรัฐบาลยังหมดความชอบธรรมทางกฎหมายและทางการเมือง นับตั้งแต่วันที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงลุกขึ้นทวงคืนอำนาจอธิปไตยที่มอบให้ตัวแทน โดยเป็นการต่อสู้อย่างสันติ อหิงสา สงบสุข โดยวิธีการแก้ปัญหามี 2 วิธี คือ
1.วิธีที่นุ่มนวล โดยนายกรัฐมนตรีต้องยอมรับว่าหมดสภาพและการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรลาออกเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศของอำนาจ เพื่อดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลาง 2.มวลชนลุกขึ้นยึดอำนาจรัฐ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และใช้อำนาจอธิปไตยดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพร้อมตั้งสภาประชาชน ปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการใหม่ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคให้เหลือแต่ส่วนกลางและท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ปรับโครงสร้างตำรวจใหม่ เพื่อความเป็นธรรมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พร้อมกันนี้ได้ยืนยันต่อสื่อว่า การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าจะปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ โดยจะใช้เวลา 8-14 เดือน
จากนั้นแกนนำ กปปส.เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยส่วนใหญ่ตั้งคำถามเน้นเกี่ยวกับที่มาสภาประชาชน ว่ามีที่มาอย่างไร และโปร่งใสหรือไม่ รวมทั้ง กปปส.จะล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ จริงหรือไม่ และหากนายกฯ ยังยืนยันไม่ลาออกจากรักษาการ กปปส.จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
นายสุเทพกล่าวว่า ที่มาของสภาประชาชนจะคัดสรรตัวแทนจากสาขาวิชาชีพต่างๆ จำนวน 300 คน ส่วนอีก 100 คน กปปส.จะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสภาประชาชนจะปฏิรูปการเมืองก่อน จากนั้นจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งไม่ปิดกั้นคนที่มาจากระบอบทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ส่วนกรณีเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถ้าสภาประชาชนดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ก็มีความจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนจนกว่าจะปฏิรูปเสร็จ ทั้งนี้ การที่นายกฯ ยืนยันไม่ลาออกจากรักษาการ กปปส.ก็มีแนวทางจะเคลื่อนไหวกดดันจนกว่านายกฯ จะลาออก และคงต้องใช้การบังคับโดยพลังประชาชน ซึ่ง กปปส.จะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งสภาประชาชน
นายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำ กปปส. อธิบายถึงรูปแบบของสภาประชาชนว่า สภาประชาชนต้องมีลักษณะ 4 อย่าง คือ 1.ต้องเป็นองค์กรชั่วคราว เมื่อเสร็จภารกิจในการปฏิรูปประเทศแล้วก็หมดไป 2.มีสมาชิกไม่เกิน 400 คน โดย 300 คน มาจากการคัดเลือกจากอาชีพต่างๆ อีก 100 คน มาจากการคัดเลือกของ กปปส. ซึ่งจะต้องมีการกำหนดกติกาการคัดเลือกให้เป็นที่ยอมรับ เช่น กำหนดให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม 3.ทั้ง 400 คนต้องไม่ใช่คนของพรรคการเมือง ต้องปลอดจากการแทรกแซงของพรรคการเมือง และเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ต้องไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติเป็นเวลา 5 ปี 4.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ให้กว้างขวางและเป็นรูปธรรม
ส่ง"สาทิตย์-เอกนัฏ-ยะใส"ร่วมเวทีรัฐ
นอกจากนี้ กปปส.ยืนยันว่าจะส่งตัวแทนประมาณ 20 คน เข้าร่วมเวทีเสวนาของกองทัพไทยที่จะมีขึ้นวันที่ 14 ธันวาคม ส่วนในวันที่ 15 ธันวาคม จะส่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำ กปปส. และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. เข้าร่วมเวทีหาทางออกให้ประเทศ ที่จัดโดยภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเปิดเวทีให้สื่อซักถาม กปปส. นั้น เมื่อถามว่า ถ้าการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางของ กปปส.เกิดขึ้นได้จริง หากในการเลือกตั้งหลังจากนั้นพรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังชนะเลือกตั้งอยู่จะยอมรับหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า หากมีการปฏิรูปประเทศ มีการตั้งกฎกติกาใหม่แล้ว หากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรเราก็ต้องเคารพและยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น ทั้งนี้ ยอมรับว่า แม้ว่าเป้าหมายของ กปปส.ต้องการกำจัดระบอบทักษิณให้หมดไป แต่ก็ไม่สามารถเขียนไปในกฎหมายได้ว่าไม่ให้ทักษิณ หรือคนในครอบครัวมาเล่นการเมือง ดังนั้น หากหลังปฏิรูปแล้ว พรรคของพ.ต.ท.ทักษิณยังชนะก็ต้องยอมรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวที กปปส.วันนี้ แกนนำพยายามเน้นย้ำว่า การต่อสู้ของประชาชนเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างสันติ ต้องไม่เกิดความรุนแรง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การต่อสู้ต้องใช้เวลา ยืดเยื้อ
"สุเทพ"ฟันธงไม่ส่งคนร่วมเวทีรัฐแล้ว
เมื่อเวลา 20.00น.นายสุเทพ ได้ปราศรัยบนเวทีถนนราชดำเนินความว่า ฝ่ายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯพยายามออกมาดำเนินการด้วยวิธีการหลายอย่างเพื่อจะทำให้ประชาชนสับสน เช่น เตรียมจัดการประชุมวันที่ 15 ธันวาคม เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกณฑ์เอาไว้แล้วมาแสดงความเห็นเพื่อให้สอดคล้องไปแนวทางเดียวกับที่ยิ่งลักษณ์ต้องการ คือ ทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องมีเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยปฏิรูปประเทศภายหลัง มีการเชิญกปปส.ไปร่วม แต่วันนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่โทรศัพท์มาบอกตนว่า อย่าไปเลย ถ้าไปก็เท่ากับไปรับรองความชอบธรรมให้เขา ตนเลยตัดสินใจว่า วันที่ 15 ธันวาคม ที่รัฐบาลจัดเวทีปฏิรูปนั้น กปปส.จะไม่ส่งใครไปร่วมเด็ดขาด เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือให้รัฐบาล
ส่วนวันที่ 14 ธันวาคม ที่จะพบผู้นำเหล่าทัพนั้น กปปส.ตั้งใจจะไปชี้แจงจุดมุ่งหมายเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนและเปิดโอกาสให้เหล่าทัพได้ซักถาม ทำความเข้าใจ
"แต่บังเอิญมีข่าวมาว่า ผบ.ตร.จะไม่ไป แถมมีการซ้อมกำลัง จะชิงตัวผมระหว่างทาง ทำให้พี่น้องเป็นห่วง อยากตามไปเป็นเพื่อน ไปดูแล แต่พี่น้องไม่ต้องตามไป ถ้ามันจะจับผมก็ให้จับไป จะได้เรียกแขก เราจะได้ไม่ต้องเหนื่อยนัดใหม่ ถ้าตำรวจมาจับผมไป ก็เท่ากับหักหน้าทหาร ก็อยากรู้ว่าทหารจะอยู่อย่างไร" นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพบอกอีกว่า ได้กราบเรียน ผบ.สูงสุด เป็นตัวหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ตั้งใจไปพบเพื่อบอกเล่าให้เข้าใจว่าเรามีเจตจำนงเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และต้องการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อยก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนกองทัพไทยจะไปจัดเวทีให้มีฝ่ายอื่นๆ ไปด้วย ตนไม่รังเกียจ แต่เมื่อพูดเสร็จก็จะกลับ และอย่าหาว่าเราไม่มีมารยาท เพราะเราไม่ต้องการโต้ตอบหรือทะเลาะกับใคร
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ได้ข่าวโฆษกกระทรวงกลาโหมบอกว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคคลได้พยายามที่จะดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ขอยืนยันว่าไม่ใช่มวลมหาประชาชนแน่นอน เพราะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เราได้กล่าวปฏิญาณตนและได้ถวายสัจจะวาจา เรายึดมั่นในคำสัตย์ปฏิญาณนั้น ส่วนที่มีสถานีโทรทัศน์บางช่อง นำนักวิชาการ 2 คนมาโจมตี กปปส.นั้น เราเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิ มีหน้าที่โดยชอบธรรม ที่จะลุกขึ้นปกปักรักษาบ้านเมือง เรามีความเป็นห่วงประเทศ ไม่สามารถทนเห็นประเทศพินาศ ล่มจมได้ จึงต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่รักษาประเทศ
นายสุเทพ บอกอีกว่า เราตัดสินใจแน่นอนไม่ไปร่วมกระบวนการเลือกตั้งคราวนี้เด็ดขาด เราต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะมีเลือกตั้ง ดังนั้นไม่ต้องมาคุยกัน และถ้าจะให้การเลือกตั้งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ ก็มีเรื่องต้องแก้ไขหลายเรื่อง เช่น ต้องแก้กฎหมายเลือกตั้ง อุดช่องโหว่เรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง ส่วนนักการเมืองที่ซื้อสิทธิ นอกจากจะถูกตัดสิทธิแล้ว ต้องติดคุกด้วยถึงจะเข็ดหลาบ แก้กฎหมาย กกต. แก้กฎหมายพรรคการเมือง ไม่ยอมให้คนคนเดียวชี้นำให้ทุกคนในพรรคทำตาม เหมือนที่ พ.ต.ท.ทักษิณกำหนดให้ทุกคนทำตามจนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา เมื่อวานตนไปพบ 7 องค์กรธุรกิจ เขาเข้าใจเจตนารมณ์ของเราแล้ว และเมื่อเช้าวันนี้ กปปส.จัดเวทีให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศได้ซักถามและเราชี้แจง สื่อก็เข้าใจเจตนารมณ์ของเราชัดเจนแล้วเช่นกัน พรุ่งนี้เราจะไปร่วม 2 รายการ ตอนเช้า 09.30 น.ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เราจะชี้แจงเจตนาการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไร และรับฟังความเห็นประชาชนที่มาร่วมงาน ตอนบ่ายไปเวทีของกองทัพไทยเพื่อชี้แจงให้เหล่าทัพและพี่น้องข้าราชการได้เข้าใจ
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของกลุ่มนักวิชาการสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ( สปป.) ได้โพสต์ข้อความว่า "จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นักวิชาการจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) และคณะนิติราษฎร์ จะเข้าร่วมการเสวนาระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยกองทัพ ในวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค.นี้ สปป.และคณะนิติราษฎร์ขอชี้แจงว่า เราจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในการเสวนาดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า นี่ไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ กองทัพเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในระบบราชการที่ต้องปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชาที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกลาโหม และนายกรัฐมนตรี จึงไม่สมควรเข้ามามีบทบาททางการเมืองใดๆ
ในทางตรงกันข้าม เราเห็นว่านับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุกาณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 กองทัพคือคู่กรณีในความขัดแย้งมาโดยตลอด และในขณะนี้ ยังมีความพยายามของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมือง ทั้งในฐานะเจ้าภาพการเจรจาไปจนถึงก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
สปป.และคณะนิติราษฎร์จึงเห็นว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ผู้นำกองทัพจักต้องกระทำในขณะนี้คือ ยุติบทบาททางการเมือง และประกาศอย่างหนักแน่นว่ากองทัพจะไม่แทรกแซงทางการเมืองด้วยวิธีการใดๆ อีก รวมทั้งจะไม่ทำรัฐประหารอย่างเด็ดขาด และด้วยจุดยืนดังกล่าวเท่านั้น ที่จะทำให้ประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนได้การเคารพ และป้องกันไม่ให้สังคมไทยเดินหน้าไปสู่การนองเลือดดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012