ข่าว
'ทักษิณ'โผล่ดีใจ! พท.รวมเสียงได้ อ้างเป็นแค่กองเชียร์ อย่าดึงไปเป็นเงื่อนไข

27 มี.ค.62 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทวิตข้อความ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ระบุว่า “วันนี้รู้สึกดีใจกับประเทศไทย ที่ฝ่ายประชาธิปไตยรวบรวมเสียงได้ เกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภา ผมออกมาอยู่นอกประเทศกว่า 10 ปีแล้ว ขอทุกฝ่ายอย่าได้ใช้ชื่อผมเป็นเงื่อนไขทางการเมืองใดๆอีกเลยผมขอเป็นเพียงกองเชียร์ ให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อความผาสุขของคนไทยเท่านั้น”

กระหึ่มโลก!สื่อต่างชาติเกาะติด ‘6+1พรรคฝ่ายปชต.’ประกาศตั้งรบ.ต้านคสช.สืบทอดอำนาจ

27 มี.ค. 2562 สื่อต่างชาติหลายสำนักเกาะติดข่าว 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รวม 255 เสียงจาก สส. ทั้งหมด 500 เสียง และมี 6 พรรคการเมือง (ยกเว้นพรรคเศรษฐกิจใหม่) ที่แกนนำพรรคร่วมลงนามสัตยาบันเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ รร.แลงคาสเตอร์

โดยเว็บไซต์ นสพ. The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว “Thailand's pro-democracy parties unite to claim right to govern” อ้างคำกล่าวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำและผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้กองทัพได้เข้ายึดอำนาจและวันนี้พยายามที่จะสืบทอดอำนาจ แต่เราไม่ต้องการให้สังคมไทยเกิดความสับสนอีกต่อไป เราต้องก้าวไปตามเสียงของประชาชนและเราได้เสียงข้างมาก ดังนั้นเราจะเดินหน้าหยุดยั้ง คสช. ต่อไป

ขณะที่เว็บไซต์ นสพ. Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอข่าว “Thailand's anti-junta allies see lower house majority within reach” โดยมีบทวิเคราะห์ของ ยูจิ มิซูคามิ (Yuji Mizukami) อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ มีฐานเสียงเดียวกันคือกลุ่มผู้ประกอบการในเมืองซึ่งรวมถึงกองทัพ และมองว่าท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์อาจไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็เป็นได้

ด้านเว็บไซต์ นสพ. The Straits Times ของสิงคโปร์ เสนอข่าว “Pheu Thai claims 7-party coalition, majority in Thailand's Lower House of Parliament” กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ฝากไปถึงพรรคการเมืองที่พยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยใช้กลไกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ว่าสิ่งนั้นจะนำประเทศไทยไปสู่ความวุ่นวายในที่สุด

สำนักข่าว Asian News International (ANI) ของอินเดีย เสนอข่าว “Thailand elections: 7 pro-democratic parties form coalition against ruling junta” ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่มาร่วมงานแถลงข่าว ขณะที่ฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งโดยไม่ระบุเหตุผลให้แน่ชัด นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดการเลือกตั้ง สส. เมื่อ 24 มี.ค. 2562 ไม่เป็นไปโดยโปร่งใส

สำนักข่าว TRT World ของตุรกี เสนอข่าว “Thailand's anti-military parties say they have seats to form government” ระบุว่า นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารของกองทัพในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองที่ไม่เชื่อมโยงกับกองทัพ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ที่รัฐบาลทหาร คสช. เป็นผู้แต่งตั้งจะร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ ได้เปรียบอย่างมาก

สำนักข่าว Russia Today (RT) ของรัสเซีย เสนอข่าว “Thailand’s opposition parties form alliance, want end of military rule” ระบุว่า พันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารยังต้องเผชิญความท้าทายในการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกฎหมายที่รัฐบาลทหาร คสช. วางไว้กำหนดให้การเลือกนายกฯ เป็นการประชุมร่วมกันของทั้ง สส. และ สว. ท่ามกลางการประกาศผลการเลือกตั้งก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า


ชัดเจน!‘มิ่งขวัญ’เปิดเงื่อนไข4ข้อ ยันจุดยืนอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันที่ 27 มี.ค.62 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แถลงข่าวยืนยันเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองผ่านทาง THE STANDARD Daily ว่า จากการดูแถลงข่าวของฝั่งพรรคเพื่อไทย ขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณคนที่ไปใช้สิทธิ์ ลงคะแนนให้ใครก็ตาม ถ้าลงคะแนนมาที่ตนๆจะไม่ทำให้ทุกคนเสียกำลังใจ ไม่ทำให้เสียความรู้สึก ส่วนที่ไม่ได้ไปร่วมแถลงข่าวนั้น เนื่องจากติดภารกิจที่ กกต. ประเด็นที่มีปัญหาว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่หายไปไหน ไม่ได้หาย ตนไม่มีความจำเป็นต้องขลาดกลัว ตนเป็นคนชัดเจนในจุดยืน ไม่ไปก็มีเหตุผลชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน

“เจตนารมณ์ของผมและพรรคเศรษฐกิจใหม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น เราก็บอกอยู่แล้วว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมพูดคำไหนคำนั้น และมีเงื่อนไขเพียงว่าใครก็ตามที่บอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องรอคนอื่นๆ ผมจะจัดการเอง ไม่ต้องฝั่งไหนทั้งนั้น” นายมิ่งขวัญ กล่าว

เมื่อถามว่าเหตุผลสำคัญที่ร่วมจับมือกับฝั่งพรรคเพื่อไทย นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า เงื่อนไขและจุดยืนของตน คือ 1.ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องเปลี่ยนแปลง 3.ระบบกติกาเป็นอีกเรื่อง และ 4. ฝั่งเดียวกันถ้าพูดแล้วไม่รักษาคำพูด ตนไม่ยอม ตนเป็นคนรักษาคำพูด เคยพูดอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่กลับไปกลับมา

เมื่อถามว่าฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ติดต่อมาหรือไม่ นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า บางคำถาม ตนก็ไม่ต้องตอบ ไม่รู้ ไปคิดเอาเอง

เมื่อถามว่ามองสถานการณ์เวลานี้ และการตั้งรัฐบาลอย่างไร นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ถึงอย่างไรประเทศไทยก็ต้องดำเนินต่อไป ถึงอย่างไรก็ต้องตั้งรัฐบาลได้ ติดขัดเงื่อนไขอย่างไรก็ต้องไปดู แต่มั่นใจว่าตั้งได้

“อย่าเป็นห่วงเลย ผมว่าเขาตั้งได้ ถ้าให้ตอบแบบนักการเมือง ก็คงต้องตอบว่าผลการเลือกตั้งยังไม่ครบ รอให้ครบก่อน รอประกาศคะแนนก่อน แต่ยืนยันว่าผมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นเขาเปลี่ยนกันเอง เรื่องเซ็น MOU ถามว่าเซ็นแล้วไม่รักษาคำพูดจะมีประโยชน์อะไร ผมรักษาคำพูด จุดยืนทางการเมืองสำคัญ” นายมิ่งขวัญ กล่าว

นายมิ่งขวัญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยผลการเลือกตั้ง ตนเห็นด้วยกับการเปิดเผยคะแนน 100% ตรงไหนไม่โปร่งใสก็เอาพิสูจน์กัน ส่วนเรื่องใครจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อร่วมกับฝั่งพรรคเพื่อไทยนั้น อย่าเพิ่งถาม ยังไม่ได้คุยกับเขาเรื่องรายละเอียด เขาคิดอะไรอยู่หรือไม่ ตนก็ไม่รู้


สื่อนอกเผยผู้สังเกตการณ์ต่างชาติยังไม่ฟันธง'เลือกตั้งไทย62'โปร่งใส-เป็นธรรม

26 มี.ค.62 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) เสนอข่าว “Monitor says Thai election campaign 'heavily tilted' to benefit junta” อ้างคำแถลงของ Asian Network for Free Elections (ANFREL) ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในประเทศไทยเมื่อ 24 มี.ค.2562 ที่ระบุว่า มีแนวโน้มเอื้อให้พรรคที่สนับสนุนผู้นำเผด็จการทหารได้เปรียบคู่แข่ง และผู้คนจำนวนมากไม่มั่นใจในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง

โรฮานา นิชานตา เฮทเทียราชชี (Rohana Nishanta Hettiarachchie) หัวหน้าทีมสังเกตการณ์ของ ANFREL กล่าวว่า มีเรื่องให้พิจารณาในหลายประเด็น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของไทย ยังไม่ให้ความเห็นใดๆ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อสังเกตว่าอาจมีการโกงเลือกตั้ง

รายงานบางส่วนระบุว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้นำกองทัพ ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย กำลังเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนคู่แข่งคือพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นขั้วการเมืองที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกรัฐประหารต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการจัดการเลือกตั้งและเตรียมหาช่องทางฟ้องร้องตามกฎหมาย พร้อมไปกับการหาพันธมิตรร่วมตั้งรัฐบาลเช่นกัน

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ระหว่างพรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.แบบแบ่งเขตในสภามากที่สุด 137 คนจากจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมด 350 คน กับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี ส.ส.เขต 97 คน เนื่องจาก กกต.ระบุว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 150 คน รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค.2562 อย่างไรก็ตาม กกต.จะประกาศผลคะแนนรวมอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.2562 สำหรับนำไปคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกทั้งหมด 150 คน ว่าพรรคใดจะได้ในส่วนนี้กี่คนบ้าง

แต่แม้จะยังไม่ถึงวันที่ 9 พ.ค.2562 พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้เริ่มคำนวณคะแนนเพื่อเตรียมหาพันธมิตรร่วมตั้งรัฐบาลกันแล้ว ขณะที่ กกต.กล่าวถึงปัญหาในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นข้อผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) อนึ่ง..พรรคการเมืองที่นำโดยฝ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งเสมอมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ถูกกองทัพทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือในปี 2549 และ 2557 ท่ามกลางเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านอดีตนายกฯ ผู้นี้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา


สหรัฐฯพร้อมทำงานกับรัฐบาลชุดใหม่ จี้กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว

27 มี.ค.62 นายโรเบิร์ต พาลาดิโน รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยว่า สหรัฐอเมริกามีความยินดีกับพลเมืองไทยหลายสิบล้านคนที่ออกมาแสดงพลังเลือกตั้งที่รอคอยกันมาเป็นเวลานานเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง การลงคะแนนเสียงของประชาชน การรายงานข่าวอย่างเข้มข้นของสื่อเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง รวมไปถึงการอภิปรายข้อเท็จจริงอย่างเสรี เป็นสัญญาณบวกแสดงถึงการกลับสู่รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนความต้องการของประชาชน

“เรายืนเคียงข้างประชาชนชาวไทยในการเรียกร้องให้ประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว และขอให้รตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในทุกกรณีอย่างยุติธรรมและโปร่งใส สหรัฐอเมริการอคอยที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดใหม่ของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมค่านิยมต่างๆ รวมถึงประชาธิปไตย ความมั่นคงและความเจริญมั่งคั่งของพลเมืองทุกคนอันจะนำประเทศของเราทั้งสองให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น” รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว

‘หมอแล็บแพนด้า’ดึงสตินักการเมือง อย่าลืมวันที่ยกมือไหว้ทุกคนขอคะแนน

27 มี.ค.62 ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจ “หมอแล็บแพนด้า” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

อย่าลืมวันที่คุณยังไม่ได้มีตำแหน่งอะไร

อย่าลืมความอ่อนน้อมถ่อมตนที่คุณเคยเป็น ยกมือไหว้ทุกคนเพื่อขอคะแนน รับฟังปัญหาชาวบ้าน เดินเข้าไปกอดชาวบ้านแบบไม่มีรังเกียจ ยิ้มแย้มแจ่มใส เดินลงไปดูพื้นที่ให้เห็นปัญหาที่แท้จริง ถ้าคุณทำแบบนี้ให้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ใครๆก็อยากเลือกคุณอีก

แล้วดูตอนนี้สิ พวกคุณหลายๆคนเริ่มเปลี่ยนไปแล้วอะ ผ่านไปแค่สองสามวันเอง เร็วไป ลองทบทวนตัวเองดูนะครับ ว่าเราได้เผลอทำอะไรแบบนี้บ้างรึเปล่า ถ้าทำได้แค่เศษเสี้ยวตอนที่เคยหาเสียง หรือรักษาคำพูด ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาเท่าที่คุณพอจะทำได้ แค่นี้คุณก็เป็นที่รักของชาวบ้านแล้วล่ะครับ

พอเท่านี้แหละครับ ผมจะกินปูนึ่งนมสด ปูผัดผงกะหรี่ หมึกแดดเดียวทอด อาาาาห์