นายกฯ ย้ำจุดยืน รบ.-พท. น้อมรับมติสภาสูงคว่ำนิรโทษฯ สยบข่าวลือจะใช้ความรุนแรงปราบม็อบ ย้ำถ้าวุฒิสภาไม่รับหลักการก็จะไม่หยิบขึ้นมาพิจารณาอีก ไม่ฝืนความรู้สึก ปชช. เพราะมาจากการเลือกของ ปชช. อ้อนฝ่ายค้านให้กลับมาถกกันในสภา
เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ทำการพรรคเพื่อไทย จ.จันทบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวพร้อมด้วยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในจุดยืนของรัฐบาล เพื่อขยายความจากที่ดิฉันได้แถลงจุดยืนไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบฯ รัฐบาลมีจุดยืนที่อยากจะเห็นความปรองดองของพี่น้องประชาชน และพยาพยายามที่จะประสานงานด้วยความอดทนมุ่งมั่น เพราะอยากเห็นความสงบ ความปรองดองของชาติ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดิมของรัฐบาล ดังนั้นไม่ว่าวุฒิสภาจะมีมติเป็นอย่างไร รัฐบาลพร้อมที่จะยอมรับข้อมติต่างๆ และอยากให้เกิดความชัดเจนว่า ในขั้นตอนตามกฎหมายนั้นหัวหน้าของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลนั้นไม่สามารถที่จะก้าวล่วง ในส่วนของนิติบัญญัติ และวันนี้ตลอดทั้งวันก็เริ่มเกิดความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่วุฒิสภาชิกได้มีการแถลงจุดยืนแล้ว ในเรื่องของการไม่รับหลักการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นอกจากนั้นในส่วนของวิปรัฐบาลเอง ก็ได้มีมติยอมรับและเห็นด้วย ในการที่จะไม่รับหลักการในพ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน และเชื่อว่าในส่วนจุดยืนต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ได้รับข่าวมาเช่นเดียวกัน ว่าจะไม่รับหลักการ
"ขอเรียนว่าในทางกฎหมายนั้นอาจจะเป็นข้อที่เกิดความข้องใจเนื่องจากในข้อกฎหมายนั้นหลังจากวุฒิสภาไม่รับหลักการแล้ว ร่างกฎหมายนั้นจะต้องทิ้งไว้ 180 วัน ซึ่งวันนี้มติพรรคต่างๆ ได้มีการแสดงเจตนารมย์ชัดเจนแล้วว่า ถ้าวุฒิสภาไม่รับหลักการ พรรคเพื่อไทยก็จะไม่หยิบขึ้นมาพิจารณาขึ้นมาอีก ในส่วนของรัฐบาลเอง จะไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชน เพราะรัฐบาลนี้มาโดยประชาชน ดังนั้น เราก็ต้องยึดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน รับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากหลายๆ ครั้ง รัฐบาลไม่มีทิฐิและขอร้องให้เกิดความสันติภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวัง และเป็นเจตนารมย์ตั้งแต่แรกอยู่อยู่แล้ว" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ที่จำเป็นต้องออกมาแถลงข่าว เพราะมีข่าวลือต่างๆ มากมายว่ารัฐบาลจะมีการใช้กำลังรุนแรงทั้งในและนอกระบบ รัฐบาลยืนยันว่ารัฐบาลนี้ จะไม่ใช้กำลังรุนแรงกับประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะเรามาโดยประชาชน มาด้วยระบอบประชาธิปไตย เรายึดข้อกฎหมาย เรายึดรัฐธรรมนูญ เรายึดสันติภาพและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การรับฟังข่าวลือต่างๆ ขอให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย ขอให้ประชาชนนำจุดยืนต่างๆ ไปพิจารณา ซึ่งยอมรับว่าฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มีความต้องการเดียวกัน คืออยากเห็นบ้านเมืองสงบ ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกันกับรัฐบาล ส.ส. และส.ว.ทุกท่าน เช่นเดียวกัน ฉะนั้นวันนี้เราต้องช่วยกันในการที่จะรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง และช่วยกันรักษาความสงบ เพราะถ้าเหตุการณ์ เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ เราไม่อยากกลับเข้าไปในวงจรความขัดแย้งอีก เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นบทเรียนเพียงพอแล้ว ซึ่งรัฐบาลนี้ยืนยันจะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเราก็กำชับว่าอย่าใช้อาวุธกับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่าน รัฐบาล จะมีแนวคิดออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวทางนี้ รัฐบาลมีแนวคิดแค่ว่า เราจะช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้อย่างไร
เมื่อถามว่าถึงแม้รัฐบาลจะถอยแต่ฝ่ายค้านก็ยังตั้งแง่กับรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เลยขั้นตอนฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว และรัฐบาลก็ถอยตามความตั้งใจต่างๆ แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นคนละส่วนกัน แต่ว่าเราได้แสดงจุดยืนโดยปราศจากอคติต่างๆ เพราะต้องการทำตามความคิดเห็นของประชาชน นี่คือเรื่องที่ใหญ่กว่า และเราก็เชื่อว่าฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งจะเห็นด้วยว่าเวทีที่เหมาะสมคือเวทีในสภา และขอให้ใช้กลไกของสภาแก้ปัญหา
เมื่อถามว่าเสถียรภาพเป็นอย่างไร พรรคร่วมเข้าใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี และมีความเข้าใจ เพราะมีเจตนารมย์เดียวกันคือทำเพื่อประชาชน
เมื่อถามว่านายกฯ คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้คุย
ต่อข้อถามว่า จะฝากอะไรไปถึงผู้ชุมนุมขณะนี้ นายกฯ กล่าวว่า เรายืนยันในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น แต่หวังว่าในการแสดงจุดยืนนั้น อยากขอความร่วมมือว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เดินต่อไปได้ จึงขอความกรุณาว่ารอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจ และไม่จำเป็นต้องออกมาชุมนุมเลย เพราะจะทำให้เกิดความหวาดกลัวความตกใจ ซึ่งสุดท้ายก็จะกลับมากระทบทำให้ความเชื่อมั่นหายไป ซึ่งรัฐบาลพยายามกู้กลับมา สิ่งที่เราต้องช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในที่ชุมนุมและสถานที่ต่างๆ และไม่อยากให้เกิดความเดือดร้อน ดังนั้นขอให้เวลาทุกฝ่ายได้ทำงานตามเจตนารมย์ทั้งหมด
เมื่อถามว่านายกฯ จะขอให้ ส.ส.เพื่อไทยว่าในสมัยรัฐบาลนี้จะไม่หยิบเรื่องนิรโทษฯขึ้นมาอีก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคมีมติที่จะยอมรับผลการพิจารณาของวุฒิสภา ฉะนั้นก็เชื่อว่าในสถานการณ์ความขัดแย้ง จะไม่มี ส.ส.หยิบร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา
เมื่อถามว่าข้อกล่าวหาว่า ส.ส. รัฐบาลมีการล็อบบี้ ส.ว.ยกมือหนุนร่างนิรโทษกรรม จะแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า วุฒิสมาชิกล้วนมีเอกสิทธิ์ของตนเองและเชื่อว่าวุฒิสมาชิกไม่สามารถก้าวก่ายได้ ทั้งกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง และเชื่อว่าทุกท่านจะใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจ
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะอธิบายกับกลุ่มคนที่สนับสนุนนิรโทษกรรมอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ต้องคุยกันก่อนว่ายังมีอีกหลายวิธีในการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลจะพยายามทำในสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่
เมื่อถามว่าปีใหม่นี้จะคืนความสุขให้ประชาชนได้หรือไม่น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศจุดยืนแล้วหวังว่าประชาชนจะร่วมมือกันสร้างบรรยากาศปีใหม่ให้เป็นปีแห่งความสุขของพวกเรา
เมื่อถามย้ำว่าถ้าบรรยากาศและเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้มองเรื่องการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ต้องเรียนว่าเราเชื่อมั่นว่าการพูดคุยกันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด การยุบสภาคงไม่ใช่ทางออก"
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่จะอยู่ครบ 4 ปี นายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชน แต่ตนจะทำอย่างเต็มกำลังความสามารถและหวังว่าประชาชนจะให้โอกาสตน
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่าหากพี่ชายของนายกฯหยุดพูดจะทำให้การบริหารประเทศเดินหน้าไปได้ น.ส.ยิ่งลักาณ์ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน เพราะการบริหารประเทศไม่เกี่ยวกับการพูดหรือไม่พูด การบริหารประเทศคือการบริหารเพื่อให้ผลงานต่างๆ ที่เสนอไว้กับประชาชนเกิดผล
"ส่วนการปฏิรูปประเทศก็คงเดินหน้าต่อไป เราพูดบนจุดนี้บนความขัดแย้งว่าเราจะแก้อย่างไร แต่อยากเห็นการเดินหน้าของเวทีปฏิรูป และควรเร่งพูดคุยเพื่อให้ความชัดเจน ส่วนที่นายพิชัย รัตตกุล ลาออกจากกรรมการปฏิรูปนั้น เวทีปฏิรูปคงต้องเดินต่อไป และเราสามารถรับฟังความเห็นต่างๆ ได้เพราะเวทีดังกล่าวไม่ได้รับฟังแค่สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมแต่เรารับฟังทุกกลุ่มทุกฝ่าย อาจมีการประชุมข้างนอกเราก็พร้อมรับฟัง เวทีปฏิรูปเป็นเพียงตัวแทนที่เข้ามาทำงาน แต่การรับฟังความเห็นเราต้องฟังจากทุกกลุ่ม" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
เมื่อถามว่าถึงเวลานี้สบายใจแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวเลี่ยงว่า ขอให้นักข่าวส่งข่าวเสร็จ เราก็สบายใจแล้ว
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการต่อต้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแบบล้างผิดทุกกรณี ของรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีการแปลเวิร์ดดิ้งไปเรียกขานต่างๆ นานา ทั้ง เหมาเข่ง ยกเข่ง สุดซอย ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยทั้ง 25 สถาบัน ผนึกกำลังประกาศเจตนารมณ์ไม่ล้างผิดให้คนทุจริตคอร์รัปชัน ก็เหมือนเปิดไฟเขียวให้ทุกสถาบัน ต่างก็ดาหน้ารวมพลกันมาต่อต้าน
ไม่ว่าจะเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานในเครือ ทั้ง รพ. รามาธิบดี และรพ.ศิริราช รวมทั้งมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดเกือบทั่วประเทศ ยังไม่นับรวม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธณรมศษสตร์ ที่ประกาศและนัดรวมพลกันไปก่อนแล้ว
พอเสียงนกหวีดจากวงการการศึกษา จุดกำเนิดปัญญาชนแหล่งบ่มเพาะที่ทำให้บุคคลต่างๆ ในแวดวงสังคม ดังสะท้านขึ้น ก็จุดไฟให้ภาคธุรกิจบนถนนสีลม ก็ร่วมกันเป่านกหวีดให้ดังลั่นขึ้น แสดงพลังไม่เอาพ.ร.บ. นิรโทษกรรม จนราคานกหวีดพุ่งกระฉูด จาก 4 บาท ไปถึง 20 บาท จากที่โลกเกือบลืม กลายมาเป็นสินค้ายอดฮิตติดลมบน หาซื้อกันกระฉูด
ทำเอาน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแสดงจุดยืนอีกครั้งที่ จ.ลพบุรีว่า "จะยึดเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้ส.ว.ใช้สิทธิ์เต็มที่ที่จะพิจารณาพ.ร.บ. ฉบับนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ท่านนายกฯคนสวย ยกพลแถลงออกโทรทัศน์ทั้งที แต่มัวแต่พูดตามสคลิป จนประเด็นนำเสนอออกมาแบบ"เออเร่อๆ " ไม่ชัดเจน ต้องให้เดาเอาเองว่าเหมือนจะให้ส.ว. ออกหน้าคว่ำกฎหมายแทน เพราะพรรคเพื่อไทยเสียรังวัดไปเสียแล้ว จะถอนร่างออกมาก็เสียหน้า โยนเผือกร้อนให้สว.ดีกว่า จะได้มีทางลง
ยังไม่นับรวม บรรดา สว. สายเลือกตั้ง ที่บอกว่าจะฟังเสียงประชาชน เจ้าของประเทศ และวิปรัฐบาลที่บอกว่าจะถอนอีก 6 ร่างซึ่งเกี่ยวกับพ.ร.บ. นิรโทษกรรม แบบไม่เหมาเข่งออกทั้งหมด ยกเว้นแบบยกเข่งที่เสนอไปแล้ว ต้องปล่อยไปเลยตามเลย
ทำให้ดีกรีความร้อนแรง ของกระแส นิรโทษกรรมเต็มสูบ วูบลงทันที แต่ก็สร้างความฮึกเหิมให้ทัพหน้าอย่างม็อบประชาธิปัตย์ที่ถนนราชดำเนิน และแยกอุรุพงษ์ เพราะบรรดาผู้ต่อต้านจากสถาบันการต่างๆ รวมทั้งสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยกว่า 40 แห่งร่วมกระพือให้คึกคักยิ่งนัก
โดยมีสถาทนายความ ออกโรงมาย้ำด้านข้อกฎหมายว่าขัดหลักนิตืธธรม จะนำพาความวิบัติแก่ชาติ เพราะปล่อยให้คนคอร์รัปชัน โกงกินบ้านเมือง พ้นผิด ทั้งที่ทุกฝ่ายและทั่วโลกต่างก็ต้องยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเป็นภัยร้ายแรงทำลายประเทศชาติ
ก่อนถึงวันที่ 11 พ.ย. นี้ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภา จะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับไฟลุก เสียงนกหวีดจะดังขึ้นเรื่อยๆ คอยส่งสัญญาณกดดันรัฐบาล ท่ามกลางปมปัญหาคดีพิพาทพื้นที่ 4.5ตารางกม. ประสาทเขาพระวิหาร ที่แม้จะเป็นเรื่องเก่าเหมือนตำนาน แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือผู้รับหน้าเสื่อทั้งหมด ที่ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งศาลโลกดันมาตัดสินในวินาทีเดียวกัน
และทุกวินาทีที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนคนไทย และที่อยู่ในทุกมุมโลก ต่างก็รับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองอันร้อนระอุ ในยุกของโลกไซเบอร์ ที่ข้อมูลสารสนเทศครองโลก ทำให้ช็อตเด็ดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถูกแชร์กันสนั่นลั่นสังคมออนไลน์ ทันใจในเสี้ยววินาทีด้วยเครื่องมืออันทันสมัย รวดเร็ว ฉับไว ด้วย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และโปรแกรม"แช็ตไลน์" เพื่อปลุกระดมมวลชน
ดังนั้นการรวมพลของม็อบทางการเมืองครั้งนี้ เลยถูกเรียกว่า"ม็อบออนไลน์" ไปแล้วนั่นเอง
หมอ พยาบาล บุคลากรศิริราชกว่าพันคนรวมตัวกันค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ร่วมลงชื่อกว่า 8 พันคน พร้อมส่งมอบตัวแทน ส.ว. สรรหา รับเรื่อง
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน แพทย์ พยาบาล บุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาแพทย์ทุกภาควิชา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทยอยรวมตัวกันหน้าลานพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก เพื่อพร้อมใจกันคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม โดยมารวมตัวกันประมาณกว่าพันคน นำโดย นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสารรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร พร้อมทั้งยังมีผู้บริหารและอาจารย์อาวุโส ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ อาทิ นพ. วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช
รศ.นพ.เหลือพร ปุณณากานต์ กรรมการผู้จัดการศิริราชมูลนิธิ นพ.สุนทร แววมยุรา อดีตอาจารย์อาวุโสภาควิชานิติเวชศาสตร์ รศ.นพ.พันธุศักดิ์ ลักษณบุญส่ง รองคณบดีฝ่ายบริหาร นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศิษย์เก่า โดยได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านพ.ร.บ.นี้ ซึ่งระหว่างนั้นฝนได้ตกโปรยปราย แต่ไม่ส่งผล ยังคงมีคนทยอยมาร่วมลงนามต่อเนื่อง
กระทั่งเวลา 17.50 น. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช อ่านแถลงการณ์คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จากนั้นได้ส่งมอบแถลงการณ์ดังกล่าว และจำนวนรายชื่อของศิริราชพยาบาลที่คัดค้านเรื่องนี้จำนวนกว่า 8 พันรายชื่อ ให้แก่ตัวแทน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา จำนวน 3 ท่าน ซึ่งล้วนอยู่ใน 40 ส.ว. ที่ค้านพ.ร.บ.ดังกล่าวโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา และศิษฐ์เก่าศิริราชพยาบาลเป็นตัวแทนรับเรื่อง
ทั้งนี้ แถลงการณ์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า พวกเราในนาม ชาวศิริราช เห็นว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีเนื้อหาที่เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมิใช่สิ่งผิด และสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดไว้ด้วยการนิรโทษกรรม ชาวศิริราช ซึ่งเป็นบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินตามพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยในการสร้างบัณฑิตไทยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ ควบคู่กับการมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปลูกฝังค่านิยมของมหาวิทยาลัยให้แก่บัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ร่างพ.ร.บ.นี้จึงขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดเป็นหลักในการดำเนินงานและปลูกฝังค่านิยมต่อนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย จึงขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.นี้ และขอให้สมาชิกวุฒิสภาใช้ดุลยพินิจไม่รับร่างพ.ร.บ.นี้ ตลอดจนขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา และศิษย์เก่าศิริราช กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ ส.ว.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ โดยผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องรอการประชุมวันดังกล่าว ทั้งนี้ โดยหลักหากที่ประชุม ส.ว. พิจารณาคว่ำร่างดังกล่าว ก็จะส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเก็บร่างกฎหมายนี้ไว้ 6 เดือน เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายการเงิน จากนั้นจะสามารถพิจารณาใหม่ได้ และถ้าในสภาฯเกินกึ่งหนึ่งยืนยัน พ.ร.บ.นี้ก็สามารถทูลเกล้าฯ ได้ทันที ซึ่งน่ากังวลมาก และเพื่อความชัดเจน รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีต้องแสดงความจริงใจ โดยออกมายืนยันว่าจะไม่ให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในสภาฯ ผ่านร่างพ.ร.บ.นี้อีก รวมไปถึงร่างพ.ร.บ.อื่นๆ ที่อยู่ในสภาฯ อีก 4 ร่าง โดยต้องยกเลิกให้หมด