ข่าว
เด็กชาย 7 ขวบ เชี่ยวชาญเรื่องงู

23 ก.พ. 56 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบเด็กชายอายุ 7 ขวบ มีความสามารถพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของงู รู้เรื่องงูมากกว่าเด็กทั่วไป จึงเดินทางไปตรวจสอบที่บ้านพักสถานีประมงทะเล จังหวัดระนอง ม.1 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง

พบ ด.ช.พงศ์ศิริ หรือน้องเอื้อ สุมณฑา อายุ 7 ขวบ บุตรชาย นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมง สถานีประมงทะเลจังหวัดระนอง ซี่งมีความชำนาญด้านการศึกษาสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล และสัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะเรื่องงู

ทั้งนี้ น้องเอื้อ ได้สาธิตการจับงูปากจิ้งจก ที่กำลังเลื้อยบนช่อกล้วยไม้ให้ชม พร้อมบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เริ่มจับงูเป็นตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชั้นอนุบาล ก่อนจะพาไปหลังบ้าน เพื่อชมที่เลี้ยงและอนุบาลงู ที่อยู่ในกล่อง , ตะกร้า และตู้ปลาที่มีฝาปิดไว้ ก่อนรับงูสายรุ้ง จากบิดามาโชว์เป็นตัวที่ 2 ตามด้วยงูปากกว้างน้ำเค็ม ตัวที่ 3 มาให้ผู้สื่อข่าวชม ก่อนกล่าวให้ฟังว่า เป็นงูที่อยู่บริเวณป่าชายเลน จะออกมาหากินปลาเวลาน้ำลง มีพิษเล็กน้อย จะปล่อยพิษเวลากัดปลา และตัวสุดท้าย คือ งูกาบหมากลาย ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ ก่อนที่น้องเอื้อ จะปล่อยให้งูเลื้อยตามแขนของตนเอง และเลื้อยไปยังบริเวณฝ่ามือ โดยน้องเอื้อ ได้ประคองงูที่เลื้อยให้สามารถอยู่ในอุ้งมือได้เป็นระยะเวลานาน

น้องเอื้อ บอกว่า สามารถดูงูพอรู้ว่า ตัวไหนมีพิษหรือไม่ ถ้าเจองูที่มีพิษจะโทรบอกพ่อ หรือโทรบอกหน่วยกู้ภัยให้มาจับ แต่ทั้งนี้งูทุกตัวทั้งที่มีพิษหรือไม่มีผิด พ่อสั่งห้ามจับโดยเด็ดขาด ต้องให้พ่ออนุญาต และเป็นผู้จับงูส่งให้จับเท่านั้น งูตัวแรกที่เคยจับตอนอายุ 3 ขวบครึ่ง คือ งูงอดไทย ซึ่งน้องเอื้อสามารถตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวได้อย่างคล่องแคล่ว โดยน้องเอื้อ จะมีหนังสืองูไทยมาเปิดและโชว์งูชนิดต่างๆ ให้ชม สามารถบรรยาย ถึงชื่องู ชนิดของงูมีพิษหรือไม่ รวมทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย

บิดาของน้องเอื้อ กล่าวว่า ปลูกฝังให้น้องเอื้อ รู้จักงูชนิดต่างๆ ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ พอเริ่มจำความได้ มีความเข้าใจต่างๆ เค้าจะรู้จักงูต่างๆ เลย เป้าหมายเพื่อไม่ให้เค้ากลัว ให้รู้จักว่างูชนิดไหนอันตรายหรือไม่อันตราย ในส่วนของความชอบ เค้าจะเกิดความชอบขึ้นมาเอง น้องเอื้อ เกิดมาก็จะเห็นสัตว์พวกนี้อยู่ใกล้ตัว พอถึงวันที่พร้อมเริ่มจับ ก็ให้จับงูที่ไม่อันตรายตั้งแต่อายุ 3 ขวบครึ่ง งูทุกตัวที่น้องเอื้อจะจับ ผมจะจับก่อนเพื่อให้ทราบว่าปลอดภัยแล้วจริง ถึงจะให้ลองจับดู ถ้าเกิดน้องเอื้อจับดูแล้วเกิดโดนกัด และบาดเจ็บมาก ก็จะเกิดความกลัว และฝังใจไปในอนาคต งูที่ให้จับจะเป็นงูที่ไม่อันตราย หรือพิษชนิดอ่อนมากๆ ถึงโดนกัดก็ไม่อันตราย ก็จะให้ทดลองจับ ส่วนงูเหลือม ซึ่งเป็นงูใหญ่ ยังไม่ให้จับเนื่องจากเป็นงูป่าจะดุ และมีแรงมาก ขนาดผู้ใหญ่คนเดียวยังเอาไม่อยู่ ส่วนงูที่เลี้ยงส่วนหนึ่งเก็บไว้ศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาจากหน่วยกู้ภัย เมื่อเอามาอนุบาลไว้ระยะหนึ่ง ก่อนปล่อยกลับสู่ป่า ส่วนงูจงอาง ก็จะรวบรวมไว้ และมอบให้กับทางสถานเสาวภาต่อไป

ทช.ขอเฉียด5หมื่นล.แก้รถติด สร้างสะพาน ข้ามเจ้าพระยา

ทางหลวงชนบทเตรียมสร้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกเชื่อมถึงสมุทรสาคร แก้จราจรติดขัดกรุงเทพฯ-ปริมณฑล วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท ใช้งบตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปี 2559 เสร็จปี 2563

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อจังหวัดสมุทรปราการ-สมุทรสาคร

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทช.เตรียมก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ความยาว 1,120 เมตร โดยเป็นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทย และสะพานคอนกรีตอัดแรงข้ามแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ความยาว 1,000 เมตร โดยมีถนนเชื่อมต่อเป็นทางยกระดับ (สะพานบก) ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 57 กิโลเมตร วงเงินรวม 49,600 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างครบวงจร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559 แล้วเสร็จประมาณปลายปี 2562-2563

"ปัจจุบันมีสะพาน 2 แห่งที่รองรับปัญหาการจราจรในย่านดังกล่าว คือสะพานภูมิพลและสะพานกาญจนาภิเษก ขณะที่การจราจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจนใกล้จะเต็มขีดความสามารถที่ได้ออกแบบรองรับไว้แล้ว หากไม่ดำเนินโครงการจะทำให้มีปัญหารถติดมากขึ้นอีก 20%" นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า ทั้งนี้ จะเสนอของงบจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการเวนคืน ส่วนที่เหลือต้องพิจารณาว่าจะเป็นแบบพีพีพี (การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) หรือจะใช้เงินกู้จากไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาในรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบการก่อสร้างเบื้องต้นไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หลังจากนั้นจะเริ่มประกวดราคาก่อสร้าง โดยโครงการดังกล่าวมีค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์และเวนคืน 7,900 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19.31% ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนมาก

นายชาติชายกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว ไจก้าได้ศึกษามาแล้วตั้งแต่ปี 2538 โดยได้เลือกการก่อสร้างสะพานในช่วงดังกล่าว เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่สุด หลังจากได้สำรวจตำแหน่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่จำนวน 29 จุด เห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงขยายสะพานเดิม 1 แห่ง และก่อสร้างสะพานใหม่ จำนวน 16 แห่ง โดยหนึ่งในสะพานใหม่ที่เสนอคือโครงการดังกล่าว ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอให้สร้างสะพานใหม่ 11 แห่ง โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญเช่นเดียวกัน

"จากการศึกษาพบว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จะเพิ่มจาก 1.69 ล้านคน เป็น 1.767 ล้านคน เพิ่มขึ้น 51.09% ส่วนพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจะเพิ่มจาก 4.83 แสนคน เป็น 5.52 แสนคน เพิ่มขึ้น 14.44% ประชาชนจะมีความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้น 40%" นายชาติชายกล่าว

นโยบาย "เมดิคัล ฮับ"ขยายเวลา ต่างชาติมารักษาในไทย 90 วัน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าวการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยเพื่อการรักษาพยาบาล จาก 30 วันเป็น 90 วัน ให้กับผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตามจำนวนไม่เกิน 4 คนที่มาจากกลุ่มประเทศสมาชิกคณะรัฐมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือ จีซีซี 6 ประเทศ ประกอบด้วย ราชอาณาจักรบาห์เรน รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเมดิคัล ฮับ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้ผู้ใช้บริการทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะประเทศไทยถือว่าได้รับการยอมรับในการให้บริการสาธารณสุข มีแพทย์ที่มีความสามารถและการให้บริการที่ดี ทำให้มีนักท่องเที่ยวและผู้ที่ตั้งใจเข้ามาใช้บริการสาธารณสุข เดินทางเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มกลุ่ม จีซีซี และหลังจากประเทศขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้กับกลุ่ม จีซีซีแล้ว ก็จะมีการขยายให้กลุ่มอื่นต่อไป ทั้งนี้นโยบายการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางรัฐบาลพยายามสนับสนุนแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เป็นเลิศทางด้านนี้ โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนไว้ 4ด้าน ประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางบริการพยาบาลทั้งแพทย์แผนไทยและปัจจุบัน 2.ศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ชั้นสูง ที่ได้รับการยอมรับดีอยู่แล้วให้พัฒนายิ่งขึ้น 3.ศูนย์กลางบริการวิชาการทางการแพทย์และงานวิจัย และ4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีการนำสมุนไพร วัคซีนต่างๆมาใช้ เพื่อลดการนำเข้า ลดการส่งออก

นายกฯกล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุดคือการให้บริการสาธารณสุขของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ให้ความสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานควบคู่กับการส่งเสริม แพทย์แผนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากนั้นนายกฯ ได้เดินเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย รวมถึงเป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลคู่พิเศษระหว่างทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและทีมผู้บริหารสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง ในงานพิธีปิดการแข่งขันกีฬาสาธารณสุขสามัคคีครั้งที่ 34.