ข่าว
รัฐบาลทหารเมียนมาเอาอีก ตั้งข้อหา'ก่อการร้าย'นักข่าวมะกันที่ถูกคุมตัว

10 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ทนายความของนายแดเนียล เฟนสเตอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน กล่าวว่า พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับลูกความ คือ ข้อหาปลุกระดมและข้อหาก่อการร้าย หลังจากที่เขาโดนตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นมาก่อนแล้ว

ซึ่งหากหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง นายเฟนสเตอร์อาจถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 20 ปีจากข้อหาก่อการร้าย และอีก 20 ปีจากข้อหาปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาล

นายเฟนสเตอร์ วัย 37 ปี เป็นอดีตบรรณาธิการบริหารของฟรอนเทียร์ เมียนมา เว็บไซต์ข่าวอิสระชั้นนำ และถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติในนครย่างกุ้งเมื่อเดือนพฤษภาคมในขณะที่เขากำลังขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ทนายความของนายเฟนสเตอร์เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ทุกคนไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลทหารเมียนมาจึงเพิ่มข้อหาใหม่ให้นายเฟนสเตอร์ แต่การทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ตอนนี้นายเฟนสเตอร์ ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง กำลังรู้สึกผิดหวังและเสียใจที่ถูกตั้งข้อหาเพิ่ม

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการต่อการที่เฟนสเทอร์ถูกดำเนินคดีเพิ่ม แต่มีรายงานว่าทางการได้พยายามกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนายเฟนสเตอร์มาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ

'เพื่อไทย'มอบฝ่ายกม.ศึกษาคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ อ้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

11 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า เรื่องนี้ในนามพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความละเอียดอ่อนมาก ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษาในคำวินิจฉัยอย่างละเอียด ก่อนที่จะมีท่าทีออกไป คำวินิจฉัยใดๆก็แล้วแต่ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นต่างเป็นที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนว่าเป็นไปตามคำร้องหรือไม่ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมหรือไม่ มีการพิจารณาครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการไต่สวนผู้ถูกร้องหรือพยานที่เป็นประเด็นอยู่ สิ่งเหล่านี้เองในระบบบ้านเรา คำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ผูกพันทุกองค์กรนำมามาสู่การปฏิบัติ มันเป็นเสมือนการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษากันและเป็นห่วงคือ มันจะนำไปสู่ความแตกแยกหรือไม่อย่างไร หรือจะมีเหตุอะไรบานปลายหรือไม่ เป็นข้อมูลใหญ่ เราไม่ได้โต้แย้งหรือขัดแย้งใดๆกับคำวินิจฉัย คือความห่วงใยของผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา เป็นห่วงอนาคตของเขาเพราะสิ่งที่แถลงคือ ไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต มุ่งหวังว่า ความห่วงใยของเราอยากให้ทุกฝ่ายและทุกคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันติดตาม ใช้สติปัญญาช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ สร้างพื้นที่ปลอดภัยเหมือนที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้ที่ได้ส่งญัตติให้สภาฯพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ตามกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นทางออกได้

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทบกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่หรือไม่ ที่ประกาศเป็นสะพานเชื่อมแก้ไขกฎหมายมาตรา 116 และมาตรา 112 ในสภาฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กระทบ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติเข้าสภาฯนั้นมาจากข้อเสนอของกลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ชัดว่าให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองให้ได้รับสิทธิในการประกันตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องล้มล้างสถาบันใดๆ ในส่วนนี้มีความชัดเจนว่าเมื่อรับข้อเสนอมาแล้ว และพรรคตั้งกรรมการติดตามเรื่องนี้ สิ่งที่ทำไปแล้วคือการยื่นญัตติด่วนให้สภาฯช่วยพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา

โดยจะพิจารณาเรื่องของสิ่งที่เป็นปัญหาต่างๆ เช่นกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การให้สิทธิประกันตัวตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวมีเรื่องเดียวคือ เกรงว่าจะหลบหนีเท่านั้น ไม่มีประเด็นอื่น ขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่คือกำไลอีเอ็ม ใช้ได้ เรื่องพวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯได้ เพื่อมีข้อเสนอให้รัฐบาลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่ถูกจับก็จะเป็นการยับยั้งไปและอ้างสิทธิ์ตามรับธรรมนูญ เราไม่ได้บังคับศาล การวินิจฉัยคำพิพากษาทางคดีเราก้าวล่วงไม่ได้ แต่ก้าวล่วงกระบวนการได้ ไม่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งคนจะยื่นแก้มาตรา 112 การดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องดูองค์รวม ไม่ใช่ดูเฉพาะประเด็น


มาแล้ว! เมืองคอนฝนตกหนักน้ำป่า 6 น้ำตกไหลบ่าล้นคลองท่วมถนนบ้านประชาชน

วันที่ 11 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่ายังมีฝนตกหนักบ้างเบาบ้างเป็นบริเวณกว้างทั้ง 23 อำเภอ แม้ว่าวันนี้ปริมาณน้ำฝนวันนี้จะตกน้อยลงไม่หนักเหมือนเมื่อวานนี้ แต่ปริมาณน้ำตกทั้ง 6 แห่งของเขตอุทยานฯที่รองรับน้ำจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกกะโรม อ.ลานสกา, น้ำตกพรหมโลก อ.พรหมคีรี, น้ำตกอ้ายเขียว อ.พรหมคีรี น้ำตกท่าแพ อ.ช้างกลาง ยังมีปริมาณน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักบนภูเขา

ขณะสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช มีน้ำป่าไหลบ่าทะลักจากเทือกเขาหลวง อ.ลานสกา ลงตามแหล่งน้ำ ลำคลอง ทำให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ถนนหลายสาย รวมทั้งบ้านเรือนประชาชนที่อยู่พื้นที่ต่ำใน อ.เมืองนครศรีธรรม อ.ลานสกา อ.พรหมคีรี และ อ.พระพรหม จนชาวบ้านต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำท่วมขึ้นที่สูงกันจ้าละหวั่น


เชือดไก่ทิ้งนับแสนตัว ‘ญี่ปุ่น’พบ‘ไข้หวัดนก’ระบาดครั้งแรกของฤดู

11 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลจังหวัดอากิตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยืนยันการพบโรคไข้หวัดนกที่ฟาร์มไก่แห่งหนึ่งในจังหวัด โดยจะมีการกำจัดไก่ในฟาร์มดังกล่าวราว 143,000 ตัว

การะบาดดังกล่าวเป็นการระบาดของโรคนี้เป็นครั้งแรกของฤดูในญี่ปุ่น โดบรับการยืนยันผ่านการตรวจพันธุกรรมที่ฟาร์มไก่แห่งหนึ่งในเมืองโยโกเตะ หลังจากการตรวจเชื้อทั่วไปในวันก่อนหน้าพบผลตรวจเป็นบวก

รัฐบาลจังหวัดอากิตะได้สั่งห้ามมิให้จัดส่งเนื้อไก่หรือไข่จากฟาร์มที่อยู่ตั้งภายในรัศมี 10 กิโลเมตร ของฟาร์มที่ได้รับผลกระทบและขอให้กองกำลังป้องกันตนเองส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยแก้ปัญหาการระบาดในครั้งนี้

ด้านฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลและขอให้กระทรวงเกษตรและหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ทำงานร่วมกันเพื่อใช้มาตรการป้องกันที่ฉับไวและละเอียดถี่ถ้วน

ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันอังคาร (9 พ.ย.) สัตวแพทย์คนหนึ่งรายงานต่อหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น ว่าฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโยโกเตะมีจำนวนไก่ที่ตายเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจังหวัดอากิตะระบุว่า จากการตรวจเชื้ออย่างง่ายในไก่ 13 ตัว ของฟาร์ม พบว่าไก่ 12 ตัว ติดเชื้อไข้หวัดนก


แพทย์'ออสซี่'หวั่น อัตราฉีดวัคซีนโควิดของ‘ชาวพื้นเมือง’ต่ำจนเสี่ยงหนัก

11 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน คณะแพทย์ชั้นนำของออสเตรเลียเรียกร้องการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในหมู่ชาวพื้นเมืองของประเทศอยู่ในระดับต่ำ

วันพุธ (10 พ.ย.) วิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแห่งออสเตรเลีย (RACGP) เผยว่าชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสจะเผชิญความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น ขณะออสเตรเลียเริ่มผ่อนปรนการเดินทางภายในประเทศและเปิดพรมแดนอีกครั้ง

กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียรายงานว่าร้อยละ 89.5 ของชาวออสเตรเลียอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรก และร้อยละ 81.1 ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว เมื่อนับถึงวันอังคาร (9 พ.ย.) แต่อัตราการฉีดวัคซีนในหมู่ชาวพื้นเมืองยังคงต่ำกว่ามาก มีเพียงร้อยละ 54.5 ได้รับวัคซีนครบโดส และร้อยละ 66.2 ได้รับวัคซีนโดสเดียว

ปีเตอร์ โอ มารา ประธานหน่วยงานสาธารณสุขชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส สังกัดวิทยาลัยฯ กล่าวถึงความจำเป็นของการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนจากรัฐบาลกลาง รวมถึงรัฐบาลรัฐและดินแดน เพื่อจัดการปัญหาความไม่เท่าเทียมทางวัคซีนนี้

“ขณะออสเตรเลียเปิดพรมแดน และเราเริ่มก้าวเข้าสู่ความปกติใหม่ของการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ในชุมชน เราจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกมาก” โอ มารากล่าว พร้อมชี้ว่าชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสเผชิญความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพและอัตราการเป็นโรคเรื้อรังในระดับสูงขึ้น ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น

“ช่องว่างของความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนระหว่างชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสกับประชาชนที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองในประเทศนั้นเห็นได้ชัดเจนและถือเป็นความอัปยศของชาติ”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากวิทยาลัยฯ ระบุว่าชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสป่วยโรคโควิด-19 มากกว่า 7,000 ราย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 700 ราย ซึ่งรวมถึงในแผนกผู้ป่วยหนัก 80 ราย และผู้เสียชีวิต 16 ราย ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ วิกตอเรีย และเขตเมืองหลวงออสเตรเลีย

สหราชอาณาจักรเตรียมรับรอง ‘ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม’เข้าประเทศไม่ต้องกักตัว

11 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน รัฐบาลสหราชอาณาจักรเตรียมรับรองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีการใช้งานกรณีฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเพิ่มวัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์มจากจีน รวมถึงวัคซีนโควาซินของอินเดีย เข้ารายการวัคซีนที่ได้รับอนุมัติสำหรับนักเดินทางขาเข้าของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่านักเดินทางที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เหล่านี้ครบสองโดส จะถูกพิจารณาว่าได้รับวัคซีนครบโดสแล้วในสหราชอาณาจักร

กลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางถึงสหราชอาณาจักรหลังรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสและได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนจากหนึ่งในประเทศและดินแดนที่ผ่านการรับรองมากกว่า 135 แห่ง จะไม่จำเป็นต้องตรวจโรคก่อนออกเดินทาง ตรวจโรคหลังเดินทางมาถึงครบ 8 วัน หรือกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงอีกต่อไป

ส่วนผู้ที่มีหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากประเทศหรือดินแดนที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่ผ่านการรับรอง หรือฉีดวัคซีนที่ไม่อยู่ในรายการที่ได้รับอนุมัติ จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบโดส

อนึ่ง วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่สหราชอาณาจักรอนุมัติในขณะนี้ ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบออนเทค แอสตราเซเนกา โควิชีลด์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคน ที่เดินทางเข้าอังกฤษจะถูกพิจารณาเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบโดส ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. เป็นต้นไป และจะถูกยกเว้นจากการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึง การตรวจโรคหลังเดินทางมาถึงครบ 8 วัน และการตรวจโรคก่อนออกเดินทาง

อย่างไรก็ดี พวกเขาจำเป็นต้องทำการตรวจโรคหลังเดินทางมาถึงทันที และเข้ารับการทดสอบพีซีอาร์ (PCR) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อยืนยันว่าไม่มีผลตรวจโรคเป็นบวก

ปัจจุบันประชากรอายุ 12 ปีขึ้นไปในสหราชอาณาจักร ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกมากกว่าร้อยละ 87 ได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่าร้อยละ 79 และได้รับวัคซีนโดสกระตุ้นหรือโดสที่ 3 มากกว่าร้อยละ 17 แล้ว