องค์การอนามัยโลกออกโรงเตือนอย่าประมาทเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน เพราะแม้เชื้อจะไม่รุนแรงในเด็กและคนชรา แต่ใช่ว่าจะไม่สร้างอันตรายต่อผู้ติดเชื้อ
นายทีโดรส อัดฮานอม กรีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนให้ประชาชนทั่วโลกอย่าวางใจ เพราะแม้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนดูจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไวรัสกลายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ควรมองว่าเชื้อดังกล่าวจะอาการไม่รุนแรง
โดยข้อมูลจากเจเน็ต ดีแอซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการทดลองขององค์การอนามัยโลก ระบุผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอัตราความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าเชื้อ กลายพันธุ์ตัวอื่นที่เคยมีมา และยังพบว่าอาการป่วยของกลุ่มวัยรุ่น และผู้สูงอายุดูจะมีความรุนแรงน้อยลงด้วย แต่ยังคงต้องมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้ เนื่องจากข้อมูลที่มีส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนอายุน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม นายกรีเบรเยซุสกล่าวว่า แม้ข้อมูลที่พบจะชี้ว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยเฉพาะสำหรับคนที่รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เชื้อตัวนี้จะไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เพราะโอมิครอนยังคงทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และยังคร่าชีวิตคนไปแล้วจำนวนไม่น้อย โดยผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกำลังทำให้ระบบสาธารณสุขท่วมท้นไปด้วยคนไข้ และทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องทำงานหนักเพื่อเร่งสกัดการระบาดอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ นายกรีเบรเยซุสยังคงเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในการกระจายวัคซีนไปทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น เพราะจากข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน คาดว่าน่าจะมีประเทศมากถึง 109 ประเทศที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึงเป้าหมาย ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่จะให้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกได้รับวัคซีนครบโดสภายในเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมยังแสดงความเห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ในไม่กี่ประเทศจะไม่สามารถช่วยยุติการระบาดได้ เพราะยังคงมีประชากรโลกอีกเป็นพันล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจนครบโดส
ขณะที่ บรูซ อายวาร์ด ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังคงมีอีก 36 ประเทศ ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยในจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงทั่วโลก 80 เปอร์เซ็นต์ต่างเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
ที่มา :แชนแนลนิวส์เอเชีย
ผู้ป่วยโควิดสะสมทั่วโลกพุ่งแตะ 300 ล้านราย สัปดาห์ที่แล้ว 7 วันติดเชื้อทะลุ 9.5 ล้าน อนามัยโลกเตือนโอมิครอนแม้ดูไม่รุนแรงแต่เรียกได้ว่า “ไม่เบา” สร้างแรงกดดันต่อสาธารณสุขโลก
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สะสมอยู่ที่ 300,586,103 ราย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดอยู่ที่ 59.4 ล้านราย ส่วนอันดับ 2 คือ อินเดีย มีผู้ป่วยสะสม 35.2 ล้านราย และอันดับ 3 คือบราซิล 22.3 ล้านราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 5.48 ล้านศพ
ล่าสุด สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และอินเดีย เป็น 5 ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรป คิดเป็น 47.72% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งโลก
เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ลามไปใน 143 ประเทศ โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500,000 ราย
ด้าน นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในรอบ 7 วัน ทะลุ 9.5 ล้านราย (9,520,488 ราย) เพิ่มขึ้นถึง 71% จากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายสัปดาห์สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด
ผู้อำนวยการอนามัยโลกเตือนว่า แม้ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนทำให้คนป่วยรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ก่อนหน้า แต่เราก็ไม่ควรเรียกว่าโอมิครอน “ไม่รุนแรง” เพราะยังมีคนเสียชีวิตจากโอมิครอนทั่วโลกทุกวัน และอัตราการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว อย่างกรณีที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ทะลุ 1 ล้านรายในรอบ 24 ชั่วโมง ก็เรียกได้ว่า เป็นการสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อระบบสาธารณสุข
หลังจากการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย ที่เริ่มจากกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานไปยังกาตาร์ ไปเมืองต่างๆ ในยุโรปและไปฐานทัพทหารของสหรัฐฯ ก่อนที่ครอบครัวชาวอัฟกันที่หนีจากการปกครองของตาลิบันจะได้ลงหลักปักฐานในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี้ ที่มีประสบการณ์ในการรับผู้ลี้ภัย
โบว์ลิงกรีน เมืองเล็กๆ ที่ต้อนรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาตลอดสี่ทศวรรษ เริ่มตั้งแต่ชาวกัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1980 และชาวบอสเนียในช่วงทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ยังมีชาวอิรัก พม่า รวันดา และคองโก และอีกหลายชาติ ที่ช่วยทำให้เมืองที่มีประชากร 72,000 คนแห่งนี้เป็นเมืองที่มีความหลากหลายและเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
เมื่อ 20 ปีก่อน Wazir Khan Zadran เป็นผู้นำเผ่าในการต่อสู้กับเครือข่าย Haqqani ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจภายในกลุ่มตาลิบัน แม้ว่าเขาจะเพิ่งทำงานร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอได้ไม่นาน แต่เขารู้ว่ากลุ่มตาลิบันจะต้องตามมาถึงตัวเขาแน่
Zadran กล่าวว่าชาวอเมริกันช่วยเขาและครอบครัว โดยให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ Chinook เมื่อเดือนสิงหาคมของปีก่อนและพาไปที่สนามบินคาบูลในอัฟกานิสถาน หลังจากที่พวกเขาพักที่ฐานทัพทหารนิวเม็กซิโกชั่วครู่ พวกเขาก็ถูกส่งไปยังเมืองโบว์ลิงกรีน และตระหนักได้ในทันทีว่า พวกเขาโชคดีที่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา
“เรามีความสุขมากที่เมืองโบว์ลิงกรีน” Zadran คุณพ่อวัย 41 ปี ซึ่งได้อยู่ในบ้านที่สะดวกสบายและสามารถส่งลูกๆ ไปโรงเรียนได้ด้วยความช่วยเหลือจากอินเตอร์เนชั่นแนล เซ็นเตอร์ หน่วยงานตั้งถิ่นฐานในท้องถิ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1981
“ผู้คนในชุมชนช่วยเหลือเราและแนะนำวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้แก่เรา” Zadran กล่าวเสริม
ลูกทั้ง 6 คนของเขากำลังเรียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ส่งจดหมายถึงซานต้า ไปที่ห้องสมุดและไปกินไอศกรีมที่บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์
อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดการต่อต้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังรับมือกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เวียดนาม โดยจากจำนวนผู้อพยพเกือบ 75,000 คน ที่คาดว่าจะตั้งรกรากในสหรัฐฯ เมืองโบว์ลิ่งกรีนจะได้รับผู้อพยพชาวอัฟกันจำนวน 350 คนในช่วงปีงบประมาณ 2022
ที่เมืองโบว์ลิ่งกรีน มีงานมากมายสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ เมืองนี้เป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมและการผลิต และอาจเป็นที่รู้จักจากโรงงานผลิตรถสปอร์ต Corvette หนึ่งในตัวอย่างที่มีให้เห็นคือ ชาวบอสเนีย ที่ปัจจุบันมีจำนวนราว 10,000 คน เป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่ง พวกเขายืนยันว่ามีโอกาสได้งานที่ดีเมื่อชาวอัฟกันได้ใบอนุญาตทำงานแบบเร่งด่วนที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“ในปี 2000 เมื่อผมมาถึงที่นี่ ผมมาพร้อมกระเป๋าเดินทางแค่สองสามใบและเด็กทารกสองคนและภรรยา” Tahir Zukic ชาวบอสเนียจากเมือง Srebrenica ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Taz Trucking ที่มีการจ้างพนักงานกว่า 100 คนและรถบรรทุกอีก 140 คันกล่าว
“มันเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง มีโอกาสมากมาย และคุณสามารถทำสิ่งที่คุณต้องการทำได้”
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานกับชาวอเมริกันในอัฟกานิสถาน การเรียนรู้ภาษาอาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการปรับตัวเข้ากับบ้านหลังใหม่ Zukic กล่าว นอกจากนี้พวกเขายังต้องเรียนรู้ว่าชาวอเมริกันทำงานอย่างไร ขับรถอย่างไร ใช้บัตรเครดิตอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรเมื่อพายุทอร์นาโดเข้ามาใกล้
ทอร์นาโดที่พัดผ่านรัฐเคนตักกี้เมื่อเดือนธันวาคม สั่นคลอนความรู้สึกปลอดภัยของชาวอัฟกัน พวกเขาสับสนกับเสียงเตือนภัยเมื่อเวลา 01.00 น. ซึ่งทำให้พวกเขานึกถึงกรุงคาบูล และตกใจกับเสียงต้นไม้ที่ถูกถอนรากถอนโคน หลังคาบ้านพัง และการเสียชีวิตของผู้คนในละแวกเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านของผู้อพยพ
“เราไม่เคยเห็นพายุแบบนี้มาก่อนในชีวิต เรารู้สึกเหมือนว่าเรากำลังจะทำสงครามอีกครั้ง แต่พระเจ้าช่วยเราไว้”
7 มกราคม พีเพิลส์เดลี สื่อทางการจีนรายงานว่า มีผู้ประสบเหตุอย่างน้อย 20 คน ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารหลังหนึ่งที่เป็นที่ตั้งโรงอาหารของคณะกรรมการชุมชน ในเขตอู่หลง ในเมืองฉงชิ่งของจีน ที่ทรุดตัวถล่มพังลงมา หลังจากเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่คาดว่าน่าจะมาจากเหตุแก๊สรั่ว
โดยเหตุระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันเดียวกันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้คนที่กำลังรับประทานอาหารกลางวันกันอยู่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร
หน่วยดับเพลิงเผยว่า มีผู้ประสบเหตุ 9 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากซากปรักหักพังได้แล้ว สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนหนึ่งถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา
คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่มีการโพสต์ลงเวยป๋อ โซเชียลมีเดียของจีน แสดงให้เห็นทีมกู้ภัยในชุดสีส้มสวมหมวกนิรภัย ปีนขึ้นไปยังกองซากอิฐปูน เพื่อค้นหาผู้ติดอยู่ใต้ซาก
ขณะที่ภาพเหตุการณ์จากสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีเผยให้เห็นกลุ่มควันไฟและฝุ่นลอยฟุ้งปกคลุมพื้นที่เกิดเหตุ
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการส่งทีมกู้ภัย 260 คน พร้อมอุปกรณ์ยกของหนักและเครื่องขุดเข้าไปสมทบในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ สำหรับสาเหตุของเหตุระเบิดที่ทำให้อาคารหลังนี้ถล่มลงมากำลังอยู่ในระหว่างสอบสวน
ล่าสุด สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ถึงเวลา 18.00 น.ของวันเดียวกันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ทีมกู้ภัยสามารถช่วยผู้ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังออกมาได้แล้ว 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 3 ราย
7 มกราคม 2565 ขู่เก่ง ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ของฟิลิปปินส์เตือนผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าจะถูกจับกุมหากดื้อดึงออกนอกบ้าน หลังจากโอมิครอนทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่มากกว่า 17,000 คน
รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีกล่าวว่า ในคำปราศรัยทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่า เขาได้ขอร้องให้พวกผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนสอดส่องสมาชิกในชุมชนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และให้แน่ใจว่าคนพวกนี้ถูกกักตัวไว้ที่บ้าน เพราะนี่เป็นเรื่องฉุกเฉินระดับชาติ หากคนผู้นั้นปฏิเสธ แล้วยังออกนอกบ้าน ไปไหนมาไหนในชุมชนหรือไปในที่ต่างๆ สามารถคุมตัวเขาไว้ได้เลย หากเขาไม่ยอม เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจจับกุมคนหัวดื้อพวกนี้
เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์กล่าวว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 17,220 คน รวมถึงผู้ติดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ยอดผู้ติดเชื้อดังกล่าวมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2564 และมากกว่ายอดของวันอังคารเกิน 3 เท่า ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมของฟิลิปปินส์เกิน 2.88 ล้านคนแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 51,700 คน มากเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
ดูเตร์เตกล่าวว่า เขามีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของชาวฟิลิปปินส์ทุกคน และว่า ใครที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเขาสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้
ข้อมูลถึงสิ้นปีที่ผ่านมา มีชาวฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนครบแล้ว 49.8 ล้านคน หรือ 45% ของประชากร 110 ล้านคน กฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ในภูมิภาคมะนิลากำหนดว่า ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนสามารถออกนอกบ้านได้เฉพาะการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น
ดูเตร์เตมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้นำที่วาจาดุดัน ปีที่แล้วเขาเคยขู่ว่า จะจับผู้ที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนขังคุก หรือฉีดยาฆ่าพยาธิ ไอเวอร์เม็กติน
7 ม.ค. 2565 : ขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรจะจับมือกันเพื่อร่วมพัฒนา 6G จีนเดินหน้าไม่หยุดจนสร้างมาตรฐานใหม่ได้
ห้องปฏิบัติการไฮเทค Purple Mountain Laboratories ในหนานจิง เมืองหลวงของมณฑลเจียงซู ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารไร้สายแบบเรียลไทม์ที่ความเร็ว 100/200Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ที่มุ่งไปสู่ระดับ 6G โดยมีอัตราการส่งข้อมูลสูงกว่า 10-20 เท่าของเครือข่าย 5G
ทั้งนี้ เครือข่าย 5G ใช้คลื่นความถี่ในช่วง 24 GHz ถึง 100 GHz หรือที่เรียกว่า mmWave
Global Times รายงานว่า ความสำเร็จครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนแผนวิจัยและพัฒนาหลักระดับประเทศสำหรับการมุ่งไปสู่เทคโนโลยี 6G ทำให้ระบบทดลองการสื่อสารไร้สายแบบเรียลไทม์ขนาด 360-430GHz เทอร์เฮิร์ตซ์100/200Gbps ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนำไปสู่การส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่เร็วที่สุดสำหรับการสื่อสารไร้สายแบบเรียลไทม์เทอร์เฮิร์ตซ์ เท่าที่มีการรายงานกันมาต่อสาธารณชน
Purple Mountain Laboratories กล่าวว่า ความสำเร็จนี้มีโอกาสนำไปปรับใช้ในวงกว้าง โดยสามารถรวมเข้ากับเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่มีอยู่เพื่อสร้างการเข้าถึงไร้สายความเร็วสูงพิเศษทั้งกลางแจ้งและในร่ม 100 ~ 1000Gbps สามารถลดต้นทุนและการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งกับดาวเทียม โดรน และแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ ซึ่งใช้ในสถานการณ์การสื่อสารไร้สายความเร็วสูงระหว่างกลุ่มดาวเทียม ระหว่างท้องฟ้ากับโลก และระหว่างดาวเทียม ในระยะกว่าพันกิโลเมตรเพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบบูรณาการของอากาศ อวกาศ โลก และทะเล
Global Times ระบุว่าย่านความถี่เทราเฮิร์ตซ์ตั้งแต่ 300GHz ถึง 3THz จะเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดของระบบ 5G ที่มีอยู่ ซึ่งสามารถให้บริการการสื่อสารแบบโฮโลแกรม 6G ในอนาคต รวมถึงเมตาเวิร์ส และแอปพลิเคชันใหม่อื่นๆ
REUTERS/George Frey/File Photo