ข่าว
'แอมะซอน'งัดยาแรง! จ่อปลดพนักงาน 10,000 คน มากสุดในประวัติศาสตร์

15 พ.ย. 65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แอมะซอนดอทคอม (Amazon.com) ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของสหรัฐ เตรียมประกาศเลิกจ้างพนักงานฝ่ายองค์กรและเทคโนโลยีราว 10,000 คนอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของแอมะซอน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สของสหรัฐรายงานอ้างแหล่งข่าวไม่เผยนามที่ระบุว่า แอมะซอนเตรียมประกาศเลิกจ้างพนักงานฝ่ายองค์กรและเทคโนโลยีราว 10,000 คนอย่างเร็วสุดตั้งแต่สัปดาห์นี้ การปลดพนักงานในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของแอมะซอน เช่น อเล็กซา (Alexa) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ผู้ช่วยอัจฉริยะที่แอมะซอนพัฒนาขึ้น รวมถึงฝ่ายค้าปลีก และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ แหล่งข่าวยังระบุว่า ขณะนี้ตัวเลขพนักงานที่จะถูกปลดนั้นยังไม่นิ่ง แต่ถ้าเป็นไปตามที่คาดว่ามีราว 10,000 คน ก็จะคิดเป็นร้อยละ 3 ของพนักงานฝ่ายองค์กรของแอมะซอน และไม่ถึงร้อยละ 1 ของพนักงานแอมะซอนทั่วโลกที่มีกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานจ้างรายชั่วโมง

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า แผนเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวของแอมะซอนมีขึ้นในขณะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลวันหยุดปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่แอมะซอนทำกำไรได้อย่างมั่นคง และแสดงให้เห็นว่าบริษัทหลายแห่งต่างได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนทำให้องค์กรต้องปรับลดฝ่ายที่มีพนักงานมากเกินไป หรือฝ่ายที่มีผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ แอมะซอนจะกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีรายล่าสุดที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานหลังมีบริษัทหลายแห่งได้ปรับลดพนักงานไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี โฆษกของแอมะซอนได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว

รองเท้าแตะ'สตีฟ จ็อบส์' ถูกประมูลในราคาเกือบ 8 ล้านบาท

16 พ.ย.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถาบันประมูล Julien’s Auctions ได้จักงานประมูลไอเท็มสำคัญในงาน Icons and Idols: Rock ‘n’ Roll ซึ่งรวมถึงรองเท้าแตะหนังกลับสีน้ำตาลยี่ห้อ Birkenstock ที่ ‘สตีฟ จ็อบส์’ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์และบริษัท ‘แอปเปิล’ สวมใส่เป็นประจำ โดยในเบื้องต้น ประเมินไว้ว่าน่าจะขายได้ในราคาราว 60,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.14 ล้านบาท

มีผู้ประมูลรายหนึ่งเพิ่งจ่ายเงินเป็นจำนวน 218,750 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.9 ล้านบาท) เพื่อคว้าสิทธิ์ความเป็นเจ้าของรองเท้าแตะเบอร์เคนสต๊อก ที่อยู่ในสภาพเก่าและขาด ซึ่งในอดีตเคยเป็นของสตีฟ จ็อบส์ จากบริษัทการประมูลจูเลียน (Julien’s) พร้อมกันนี้ ผู้ชนะการประมูลจะได้รองเท้าแตะที่ว่านี้ในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล NFT อีกด้วย

รองเท้าแตะ Birkenstock Arizonas ถูกสวมใส่โดยสตีฟ จ็อบส์ ในช่วงปลายยุค 70s ต่อด้วยช่วงต้นยุค 80s ซึ่งในเวลานั้น แอปเปิลกำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่บริษัท

แน่นอนว่ารองเท้าแตะเบอร์เคนสต๊อกถูกค้นพบในถังขยะโดยผู้จัดการด้านอสังหาริมทรัพย์ของสตีฟ จ็อบส์ ก่อนที่มันจะถูกนำมาประมูลในที่สุด

ก่อนหน้าที่จะมีการประมูล หลายฝ่ายเชื่อว่า ทรัพย์สินเก่าของสตีฟ จ็อบส์ ชิ้นนี้ น่าจะมีมูลค่าการประมูลราว 60,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อสิ้นสุดการประมูลจริงๆ ก็ขายออกไปในราคาที่เกินคาด

เมื่อดูจากร่องรอยของรองเท้าแล้วพบว่าผ่านการใช้จริงมานาน แต่ก็ยังคงรูปร่างของรองเท้าเดิมเป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว บริเวณพื้นของรองเท้ายังมองเห็นร่องรอยของเท้าสตีฟ จ็อบส์

ส่วนใครเป็นผู้ชนะการประมูลเรื่องนี้ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ


'สหรัฐ'คาดขีปนาวุธที่ตกในโปแลนด์ อาจไม่ได้ยิงจากรัสเซีย

16 พ.ย.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองนูซาดัว ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ว่าจากกรณีรัฐบาลโปแลนด์รายงาน มีการยิงขีปนาวุธลูกหนึ่งตกในพื้นที่ของหมู่บ้านขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ ห่างจากพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับยูเครนประมาณ 6 กิโลเมตร เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย โดยขีปนาวุธลูกดังกล่าวเป็นอาวุธที่ ผลิตในรัสเซีย นั้น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาคาดว่าขีปนาวุธที่ตกในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของโปแลนด์ซึ่งใกล้กับพรมแดนที่ติดกับยูเครนนั้น อาจจะไม่ได้ถูกยิงมาจากรัสเซีย ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวของปธน.ไบเดนอาจช่วยลดความตึงเครียดที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า การที่ “ขีปนาวุธของรัสเซีย” โจมตีดินแดนซึ่งเป็นเขตอธิปไตยของโปแลนด์ ถือเป็น “เจตนาเพื่อยกระดับความรุนแรงของสงคราม” ด้านกระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกแถลงการณ์ ปฏิเสธว่าขีปนาวุธซึ่งตกลงในดินแดนของโปแลนด์ “เป็นของรัสเซีย” และประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการให้ข้อมูลของฝ่ายตะวันตก “มีวัตถุประสงค์ยั่วยุเพื่อยกระดับความรุนแรงของการสู้รบ”

แม้ในเบื้องต้น โปแลนด์ขอให้สำนักงานเลขาธิการนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม หารือเกี่ยวกับมาตรา 4 ตามกฎบัตรนาโต ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือเกี่ยวกับความวิตกกังวล ในมิติด้านความมั่นคง ร่วมด้วยการเตรียมความพร้อมทางทหารที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยกระดับความตึงเครียดให้กับสงครามในยูเครน และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับนาโต จากการที่มาตรา 5 ของกฎบัตรนาโตระบุว่า การที่สมาชิกนาโตชาติใดชาติหนึ่งถูกโจมตีทางทหาร เท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกนาโตด้วยกันทั้งหมด


'อินเดีย'เตรียมพุ่งแซงหน้า'จีน' ขึ้นเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในโลก

16 พ.ย.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหประชาชาติ เปิดเผยรายงานในวันนี้ว่า ประชากรทั่วโลกมีจำนวนเกิน 8,000 ล้านคนแล้ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 11 ปี ในการเพิ่มจำนวนประชากรโลกจาก 7,000 ล้าน เป็น 8,000 ล้านคน และคาดว่าโลกจะใช้เวลาราว 15 ปี ในการเพิ่มจำนวนประชากรโลกเป็น 9,000 ล้านคน

ทั้งนี้ สหประชาชาติ ระบุว่า การที่จำนวนประชากรโลกแตะระดับ 8,000 ล้านคน ถือเป็นสัญญาณความสำเร็จของมนุษย์ แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยงในอนาคตเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังเตือนว่าหลายภูมิภาคของโลกจะต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้นจากการขาดแคลนทรัพยากร ทั้งอาหาร, น้ำ, พลังงาน และที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรในอินเดียจะพุ่งขึ้นแซงประชากรในจีน และทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ภายในปีหน้า โดยปัจจุบันอินเดียมีประชากรราว 1,412 ล้านคน ขณะที่จีนมีประชากร 1,426 ล้านคน

วอน'สหรัฐฯ'ช่วยกล่อม'จีน'ยุตินโยบาย'ซีโร่โควิด' ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจ-สิทธิมนุษยชน

16 พ.ย. 2565 South China Moring Post หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของฮ่องกง เสนอข่าว Tell China to ease zero-Covid policy on human rights grounds, US congressional panel hears ระบุว่า เอี๋ยนจง หวง (Yanzhong Huang) นักวิชาการอาวุโสด้านสาธารณสุขระดับโลกแห่งสภาวิเทศสัมพันธ์ (CFR) องค์กรคลังสมองด้านนโยบายการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เรียกร้องต่อสภาคองเกรส ขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนจีนให้ยุตินโยบาย “ซีโร่โควิด (Zero COVID)” หรือแผ่นดินปลอดโควิด

หวง เข้าชี้แจงกับ คณะกรรมาธิการรัฐสภาและผู้บริหารของจีน (CECC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในจีนโดยเฉพาะ และรายงานต่อสภาฯ รวมถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า การที่ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในจีนมีจำนวนน้อย มีราคาที่ต้องจ่ายคือสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของพลเมือง

“มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีนทำให้ภัยพิบัติระดับ 2 รุนแรงขึ้น เนื่องจากขัดขวางการเข้าถึงอาหารและการรักษาพยาบาลสำหรับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายออกจากแนวคิดซีโร่โควิดเป็นหนทางที่ฉลาดเพียงทางเดียวในการก้าวข้ามสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในด้านสิทธิมนุษยชน” หวง กล่าว

เช่นเดียวกับ ซาราห์ คุก (Sarah Cook) ผู้อำนวยการวิจัยในส่วนของจีน ฮ่องกงและไต้หวัน ของฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรคลังสมองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการวิจัยและสนับสนุนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวกับ CECC ว่า ทาวการจีนพยายามอย่างมากในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลทั้งประชาชนชาวจีนและประขาคมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเงื่อนไขในพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ระยะหลังๆ ประชาชนชาวจีนเริ่มไม่พอใจแนวทางควบคุมโรคจากรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ แรงงานย้ายถิ่นที่เข้าไปทำงานในโรงงานทอผ้าที่เมืองกวางโจว ทางภาคใต้ของจีน ก่อการประท้วงเมื่อคืนวันที่ 14 พ.ย. 2565 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการปิดเมือง ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ยังชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจของจีนจากการล็อกดาวน์ ต่อทั้งการผลิตและบริโภคที่ชะงักงันในเดือน ต.ค. 2565

ในวันที่ 11 พ.ย. 2565 ทางการจีนเริ่มเผ่อนคลายข้อจำกัดบางประการในการควบคุมโรค โดยหวังลดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การลดวันกักตัวจาก 7 วัน เหลือ 5 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งแม้บรรดานักเศรษฐศาสตร์และกลุ่มธุรกิจจะยินดีกับแนวทางนี้ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังอยู่บนเส้นทางที่ไม่ราบเรียบนัก ดังนั้นจึงต้องผ่อนคลายมาตรการให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญ ผ่าน CECC ขอให้เพิ่มความพยายามในการเจรจาระหว่างผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการพบกันระหว่าง สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน และ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2564 โดย รอรี ทรูกซ์ (Rory Truex) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า จุดยืนแผ่นดินปลอดโควิดกลายเป็นสิ่งปกคลุมสำหรับจีน ไม่เพียงการสอดส่องควบคุมทางการเมืองต่อพลเมือง แต่รวมถึงชาวต่างชาติยังเดินทางเข้าจีนยากขึ้นด้วย

“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะใช้การหารือระหว่างผู้นำสูงสุดของจีนและสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลและการนำชาวอเมริกันกลับไปที่จีน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ ที่ชาวอเมริกันจะเดินทางไปเรียนภาษาจีนและเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศจีน และเราก็สนใจหากจะมีชาวจีนเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ซึ่งบางครั้งอาจหลอมรวมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญหลักของเรา การแลกเปลี่ยนบุคคลอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในขณะที่ยังคงยอมรับการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ของทั้ง 2 ชาติ” ทรูกซ์ ให้ความเห็น

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ภายหลังการพบกันระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคคลในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม People’s Daily หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานข่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ยืนยันจีนจะยึดแนวทางแผ่นดินปลอดโควิดต่อไป แต่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการให้แม่นยำและเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ทั้งหวงและทรูกซ์ เห็นตรงกันว่า มาตรการใหม่ 20 ข้อ ที่ทางการจีนประกาศล่าสุด ไม่ได้หมายถึงการยุตินโยบายซีโร่โควิด แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย หวง มองว่า การยึดมั่นแนวทางรับมือโควิด-19 ของจีนเป็นการแสดงออกถึงการแข่งขันระหว่างระบอบการเมืองของจีนกับตะวันตก ดังนั้นการยุตินโยบายซีโร่โควิดจึงหมายถึงการยอมรับในความล้มเหลว แต่นโยบายดังกล่าวยังทำให้เกิดช่องว่างด้านภูมิคุ้มกันระหว่างชาวจีนกับชาวต่างชาติ เนื่องจากจีนไม่ยอมรับวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ แต่เน้นพึ่งพาวัคซีนของจีนที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งจีนผ่อนคลายมาตรการ เพราะจำนวนผู้ต้องเข้าโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทรูกซ์ กล่าวเสริมว่า แนวคิดแผ่นดินปลอดโควิดเป็นเรื่องทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างต้องพยายามดิ้นรนให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงการปลอมแปลงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อแสดงความกระตือรือร้นให้ผู้นำจากส่วนกลางเห็น แต่ก็ไม่ง่ายที่จะกลับหลังหัน เพราะแนวคิดดังกล่าวผูกติดอยู่กับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นการส่วนตัว ซึ่งในฐานะนักรัฐศาสตร์ ตนมองว่านี่คือจุดอ่อนอย่างหนึ่งของระบอบการเมืองจีน