ข่าว
ศาลสั่งจำคุก"ยู่ยี่" ลอบค้าโคเคน15 ปี

ศาลพิพากษาจำคุกอดีตนางแบบสาว "ยูยี่" คดีนำเข้าโคเคนจากประเทศเวียดนามเมื่อปี 55 สั่งจำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้านบาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 15 ปี ปรับ 1 ล้าน 5 แสนบาท

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 มิ.ย. ที่ศาลอาญา รัชดา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ควบคุมตัวนางชัชชญา เกวสต้า รามอส หรือ ยู่ยี่ อดีตนักร้อง-นางแบบชื่อดัง เข้าห้องควบคุมตัวทันทีหลังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษาจำคุกเป็น 20 ปี ฐานนำเข้าโคเคน น้ำหนัก 251 มิลลิกรัม ขณะเดินทางกลับจากประเทศเวียดนามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 55

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและถ้อยคำเบิกความของจำเลย ที่อ้างว่ารับโคเคน ที่บรรจุอยู่ในหลอดช็อกโกแลตดังกล่าวมาจากผู้โดยสารบนเครื่องบิน ขณะเดินทางกลับจากประเทศเวียดนาม โดยไม่รู้ว่าภายในมีโคเคนซุกซ่อนอยู่เป็นไปได้ยาก ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพในวันที่ถูกจับกุมทันที

ทั้งนี้พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ พิพากษาจำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้านบาท ในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฐานนำโคเคนเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 15 ปี ปรับ 1 ล้าน 5 แสนบาทท พร้อมกันนี้ ให้บวกโทษในคดีลักลอบมีสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ด้วย

ด้านนายประเสริฐ บุญแก้ว ทนายความของยู่ยี่ เปิดเผยว่าทางญาติของยู่ยี่ อยู่ระหว่างเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 2 ล้าน เพื่อขอปล่อยชั่วคราวสำหรับต่อสู้คดีต่อไป

คาดสหรัฐลงโทษไทย บังคับใช้แรงงานทาส

จากกรณีหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ประเทศอังกฤษรายงานเปิดโปงว่า ประเทศไทยใช้แรงงานทาสจำนวนมากในอุตสาหกรรมซีฟู้ด ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างด้าวจากประเทศพม่าที่ถูกหลอกมาทำงานหนัก 20 ชั่วโมงต่อวัน ในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ก่อนที่อาหารทะเลจะถูกส่งไปขายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและต่างชาติ ทั้งคาดว่าไทยมีแรงงานทาสไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และมีเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจำนวนหนึ่งมีส่วนรู้เห็นด้วย

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. เอพีรายงานวิเคราะห์ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเปิดรายงานสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ รวมถึงของไทยในสัปดาห์หน้า และอาจปรับลดอันดับลงไปอยู่ในระดับต่ำสุด หรือ Tier 3 กลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ ซีเรีย อิหร่าน และซิมบับเว นอกจากนี้ สหรัฐและธนาคารโลกอาจยุติการสนับสนุนทางการเงิน ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนโครงการต่างๆ เพิ่มเติมอีก หลังจากระงับความช่วยเหลืออื่นๆ ไปแล้วจากเหตุการณ์รัฐประหารในไทย

เอพีรายงานด้วยว่า ไทยว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ของสหรัฐในอัตรา 51,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.6 ล้านบาทต่อเดือนเพื่อช่วยผลักดันให้สถานการณ์ดีขึ้น พร้อมระบุในรายงานประจำปี 2556 ของทางการว่ามีการสืบสวนและการลงโทษกลุ่มผู้ค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกลงโทษไปแล้ว 38 นาย แต่ไม่มีนายใดถูกดำเนินคดี

สำนักข่าวดังของสหรัฐระบุด้วยว่า ในการประชุมที่นครเจนีวาเมื่อวันพุธ ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่โหวตคัดค้านสนธิสัญญาระหว่างประเทศของยูเอ็นว่าด้วยการต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงาน นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำเอเชีย กล่าวว่า ไทยพยายามทำให้ตนเองดูเหมือนเป็นเหยื่อ แต่กลับสาละวนจัดการกับแรงงานที่หลงผ่านเข้ามาในประเทศ ใช้ประโยชน์จากคนต่างด้าว กลุ่มค้ามนุษย์มาไทยเพราะรู้ว่าจะจ่ายเจ้าหน้าที่รัฐคนใดได้เพื่อให้ตำรวจไม่เข้ามาตรวจสอบ

ด้านเว็บเซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ของฮ่องกง รายงานว่า โฆษกของห้างเวลคัมในฮ่องกงแจ้งว่า บริษัทกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการเปิดเผยดังกล่าว พร้อมต่อต้านและไม่สนับสนุนกิจการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนโฆษกจากห้างพาร์กแอนด์ช็อประบุว่า ห้างมีกุ้งนำเข้าจากประเทศไทยขายอยู่เพียงไม่กี่สาขา และผู้ที่ส่งสินค้าขายให้กับห้างเราจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส หรือกระบวนการที่ไร้มนุษยธรรม

‘คาร์ฟูร์’งดซื้อสินค้าซีพี เหตุการใช้แรงงานทาส

เครือข่ายห้างคาร์ฟูร์ของฝรั่งเศสประกาศงดซื้อสินค้าบริษัทซีพีของไทย หลังจากสื่ออังกฤษรายงานปัญหาการใช้แรงงานทาส ในอุตสาหกรรมปลาป่นและการผลิตกุ้งในประเทศไทย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่า บริษัทคาร์ฟูร์ เครือข่ายห้างซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของโลกแห่งฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า จะงดซื้อสินค้าจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย หลังจากหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. กล่าวหา ซีพีเอฟ ใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมปลาป่น และการผลิตกุ้งในประเทศไทย แถลงการณ์ของคาร์ฟูร์กล่าวประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง และว่า เพื่อเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า จึงตัดสินใจยกเลิกการซื้อผลิตภัณฑ์จาก ซีพีเอฟ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม ในทันที

ทางด้านบริษัทเทสโก้แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกแห่งอังกฤษ กล่าวว่าจะยังคงซื้อสินค้าของ ซีพีเอฟ ต่อไป แต่จะร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการปรับปรุงสภาพการทำงานโดยแถลงการณ์ของบริษัทเทสโก้ ระบุว่า การใช้แรงงานทาสถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจยบอมรับได้โดยสิ้นเชิง เทสโก้จะร่วมมือทำงานกับ ซีพีเอฟ เพื่อเป็นการรับประกันว่าห่วง

โซ่อุปทานจะปลอดจากแรงงานทาส รวมทั้งร่วมมือกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ และองค์กรจริยธรรมพื้น

ฐานทางการค้า หรือ อีทีไอ เพื่อบรรลุความเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ในอุตสาหกรรมการประมงของไทย และว่า ซีพีเอฟ ไม่ใช่ผู้จัดส่งสินค้าของไทยรายเดียวของบริษัท

รายงานของ เดอะ การ์เดียน กล่าวหา ซีพีเอฟ ซื้อปลาป่นซึ่งใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งในฟาร์มของบริษัท จากผู้จัดส่งบางรายที่มีเรือประมง ประกอบกิจการ หรือ ซื้อจากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้กับเครือข่ายห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ 2 รายของสหรัฐอเมริกา คือ วอลล์มาร์ท และคอสต์โค ด้วย.