16 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่าง พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ
โดย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ด้วย ทั้งนี้การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่างไทยจีนดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาการเจรจาอาจจะล่าช้า เพราะทางฝ่ายจีน อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างกองทัพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้รวมศูนย์หน่วยงานด้านยุทธปกรณ์ เป็นหน่วยงานเดียวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมจีน ซึ่งได้เดินทางมาร่วมพูดคุย หาทางออกในครั้งนี้ด้วย
โดยหน่วยงานของจีนที่ส่งมาคือ The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ และ ‘The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทางออกในการแก้ปัญหาโครงการเรือดำน้ำ มีเพียง 2 ทาง คือ 1. เดินหน้าต่อ หรือ 2. ยกเลิก ซึ่งหากการเปลี่ยนจากโครงการเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการหารือ และประเมินข้อดี-ข้อเสียแล้วพบว่า การยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยฝ่ายไทย อาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน
โดยทางฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน / การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด เพราะต้องการให้ โครงการเรือดำน้ำเดินหน้าอย่างชัดเจนก่อน
สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ กระทรวงกลาโหมจะสรุปผลการเจรจานำเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการแก้สัญญา 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และ การเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD620 เพื่อให้ ครม. เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้มีข้อมูลว่าเครื่องยนต์ CHD 620 ได้ผ่านมาตรฐานจากสมาคมจัดชั้นเรือของประเทศอังกฤษ และประเทศปากีสถาน ได้จัดซื้อเรือ ตำน้ำจีนที่ติดตั้งเครื่องยนต์CHD 620 ซึ่งน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำในอีกไม่นานนี้
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในการเจรจาครั้งนี้ หน่วยงานทางการจีนได้รับข้อเสนอของไทยในการเพิ่มเติมการสนับสนุน โดยไม่ได้ใช้คำว่าชดเชย และจะนำกลับไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการกลางทหารของจีนอีกครั้ง เช่นเดียวกับข้อแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านการเกษตรฯ แต่ที่สำคัญคือการจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยต้องมีมติในเรื่องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้ทางไทยยังไม่เปิดเผยรายการที่ทางจีนจะให้กับไทยอย่างละเอียด
ขณะที่มี รายงานข่าวในกระทรวงกลาโหมว่า การเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่จบทั้งหมด แต่ช่วงนี้คณะพูดคุยคงยังไม่เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจจะไม่ไป เพราะจะคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล คาดว่าน่าจะจบเร็วๆนี้ และคงต้องไปหานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแล เพราะต้องไปรายงานเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งเมื่อได้ทิศทางที่ชัดเจน
16 พ.ค.2567 นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการอาวุโส และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ภาพนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคณะ ประกอบด้วย น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นางสุดา พนมยงค์ บุตรสาวของนายปรีดี พนมยงค์ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ขณะรอขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (15 พ.ค.) เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส
พร้อมข้อความระบุว่า "On the way to Antony-Paris เดินทางไปบ้านที่อองโตนี บ้านเดิมของรัฐบุรุษอาวุโส ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข"
ล่าสุด นายชาญวิทย์ ระบุว่า สวัสดีครับ จากปารีส เวลาเราต่างกัน 5 ชม พร้อมอ้างรายงานข่าวจาก The Standard ที่ระบุว่า ธนาธรและคณะบินฝรั่งเศส รับมอบบ้านเดิมปรีดี หลังซื้อไว้ด้วยเงินตัวเอง หวังรักษาประวัติศาสตร์
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement ได้โพสต์ระบุว่า คืนสู่บ้านปรีดี
11 พฤษภาคม 2443 ปรีดึ พนมยงค์ ลูกชาวนา ถือกำเนิดที่จังหวัดอยุธยา
2 พฤษภาคม 2526 ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส
ความผันผวนทางการเมืองในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้รัฐบุรุษผู้ก่อเกิดประชาธิปไตยไทย ต้องใช้ช่วงเวลา 13 ปีสุดท้ายของชีวิตที่บ้านหลังเล็กชานกรุงปารีส ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง
ในช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่อ.ปรีดีและครอบครัวใช้ชีวิตที่บ้านอองโตนี บ้านหลังนี้กลายเป็นศูนย์กลางของนักเรียนไทยในฝรั่งเศส รวมถึงบุคคลสำคัญจากไทย ที่มักแวะเวียนมาสนทนาข่าวสารบ้านเมือง แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับอ.ปรีดี จนบ้านอองโตนี กลายเป็นสถานที่ที่รวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับการเมืองไทย แม้จะอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินไทยนับหมื่นกิโลเมตร
แต่เมื่อ อ.ปรีดี ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านหลังนี้ในปี 2526 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จึงได้ตัดสินใจขายบ้านให้กับชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเวียดนาม และพาครอบครัวย้ายกลับประเทศไทย นับจากนั้น บ้านอองโตนีก็กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
แต่พฤษภาคม 2567 ชีวิตและความทรงจำของปรีดี พนมยงค์ กำลังจะคืนกลับมาสู่บ้านอองโตนีอีกครั้ง
18 พฤษภาคม 2567 ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยทุกท่าน ร่วมติดตามการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live การแถลงข่าวการกลับมาของบ้านอองโตนี โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล
คืนความหมายทางประวัติศาสตร์ที่หายไป ให้กับสถานที่พำนักสุดท้ายของบิดาแห่งประชาธิปไตยไทย
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นบทบาทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึงถือเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งในแวดวงการเมือง ว่า ทุกคนมีโอกาสพัฒนา ซึ่งเรื่องของการเมืองก็คือความเข้าใจหัวอกของพี่น้องประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกคนจึงมีโอกาสทำงานตรงนั้น ซึมซับปัญหา และมีทีมงานยกร่างนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา
แต่สำหรับคนที่มีตำแหน่ง สส. โดยหน้าที่แล้วก็ต้องอยู่กับประชาชน เช่น หากเปรียบเทียบระหว่าง น.ส.แพทองธาร กับคนรุ่นใหม่ที่เป็น สส. ของพรรคก้าวไกล สส. นั้นไม่ว่าพรรคใดก็จะอยู่กับพื้นที่ เข้าใจปัญหาและมีทีมงาน ดังนั้นในส่วนของ น.ส.แพทองธาร ตนไม่ทราบว่าอยู่ใกล้ชิดกับปัญหาของประชาชนมาก-น้อยเพียงใด เพราะการอ่านข่าวหรือมีคนมารายงานก็ไม่เหมือนกับการไปเดินไปนั่งคุยอยู่กับปัญหานั้นอย่างจริงจัง คือตำแหน่งแห่งหนอยู่คนละจุดกัน สส. ต้องอยู่กับประชาชน แต่ น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรค
“เขาก็จะบอกว่าเข้าใจปัญหาของประชาชนนะ โดยที่ สส. ในพรรคก็มารายงานให้ทราบแล้วก็นำเสนอว่าอยากจะให้รัฐบาลแก้ปัญหาตรงไหน? ขับเคลื่อนอย่างไร? งบไปลงตรงไหน? เขาก็บอกว่ารู้ปัญหาของประชาชน อันนั้นก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเจ้าตัวทำการบ้าน เข้าใจเพียงแค่เหมือนกับคนมาเล่าให้ฟัง หรือว่าฟังด้วยใจ ฟังแล้วได้ยินและคิดตามอย่างเข้าใจ” น.ส.รัชดา กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวต่อไปว่า ส่วนการทำงานที่ผ่านมาของ น.ส.แพทองธาร โดยเฉพาะการเน้นหนักเรื่องการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ต้องใช้เวลา แต่ก็มีคำถามว่า นิยามคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลนั้นใช่จริงหรือ? คือคำว่าซอฟต์เพาเวอร์นั้นดังมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เช่น นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าตกลงแล้วแต่ละครอบครัวต้องนำเสนออะไรออกมา อาทิ วิธีการเลี้ยงลูก วิธีการทอผ้า วิธีการทำกับข้าว หรืออะไรที่ต้องการให้กระทรวงมหาดไทยไปขับเคลื่อน
หรืออย่างคำถามว่า อะไรคือซอฟต์เพาเวอร์ของครอบครัวชินวัตร แล้วอยากให้คนอื่นๆ ในประเทศเอาอย่างอย่างไร ซึ่งจริงๆ ตนก็ให้เวลา เพราะเข้าใจระบบการบริหารราชการ ไม่อยากตัดสินทุกเรื่องว่าไม่เห็นอะไรเลย บางเรื่องกว่างบประมาณจะมา บางเรื่องกว่าจะทำความเข้าใจทุกองคาพยพ ล้วนมีเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ตนอยากเห็นในฐานะที่ น.ส.แพทองธาร ดูแลเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ คือการแต่งตัวที่บ่งบอกความเป็นไทยออกงานมากกว่านี้
ซึ่งตนก็เข้าใจหัวอกคนมีเงินและชอบแต่งตัว รู้ว่าอยากแต่งตัวที่เป็นตัวเองและอยากสวย แต่เมื่อมาอยู่บนเส้นทางการเมืองและมีฐานะเป็นประธานซอฟต์เพาเวอร์ อีกทั้งยังเน้นส่งเสริมผ้าไทย ก็ต้องหาจังหวะและโอกาสนำเสนอ อย่างน้อยคนก็เห็นว่าซอฟต์เพาเวอร์คือผ้าไทย น.ส.แพทองธาร นำผ้าไทยที่ถูกมองว่ามีแต่ผู้สูงอายุที่ใช้มาสวมใส่ ซึ่งหากมีคนตัดชุดให้ก็ดูเก๋ แล้วขยับจากเผ้าไทยมาเป็นเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู หยิบมานำเสนอก็สามารถทำได้ แต่เนื่องจากชีวิตปกติทั่วไป น.ส.แพทองธาร สวมใส่แต่เสื้อผ้าแบรนด์เนม
“มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่วันนี้คุณทำงานภายใต้ประธาน มีบทบาท ว่าที่อาจจะเป็นนายกฯ หญิง คนก็คาดหวัง แล้วพอมาเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ที่มันเชื่อมกับเรื่องของการแต่งตัว ทุกคนก็อยากเห็นว่า อ้าว!..แล้วอย่างไรล่ะ? แล้วพอเป็นนักการเมือง ทั้งหมวกทั้งเสื้อ คนก็ทำเป็นคอนเทนต์คอยวิจารณ์ แล้วมันก็ไม่เป็นบวกกับตัวเอง อันนี้พูดในลักษณะของการติเพื่อก่อ เพราะไม่อยากให้นักการเมืองคนไหนก็ตาม โดยเฉพาะผู้หญิง ถูกจับจ้องในเรื่องเล็กๆ แบบนี้ แต่เล็กๆ แบบนี้ มันค่อยๆ กัดกร่อนความนิยมของนักการเมืองไปทีละนิดๆ” น.ส.รัชดา กล่าว
น.ส.รัชดา ยังกล่าวอีกว่า ในทางกลับกัน คนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับของ น.ส.แพทองธาร วันหนึ่งเห็น น.ส.แพทองธาร ไปลงพื้นที่แล้วแต่งตัวธรรมดาๆ และเป็นของไทยๆ เขาก็อาจรู้สึกว่ามันดูดีนะ ก็มีแต้มบวกเกิดขึ้น ตนมองว่าเราต้องลดความรู้สึกว่าก็ฉันมีอิสระ หรือฉันก็คนคนหนึ่ง เพราะในเมื่อมาเป็นนักการเมืองและคาดหวังว่าจะมีตำแหน่งสูง ก็ต้องคิดว่าประชาชนจะมองตัวเราอย่างไร
นายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต ฟิโก ของสโลวาเกียหรือสาธารณรัฐสโลวักอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว หลังจากถูกคนพยายามลอบสังหารด้วยการยิง 5 นัดเมื่อวานนี้
นายโทมัส ทาราบา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของสโลวาเกียเผยกับบรรษัทกระจายเสียงแพร่ภาพแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (BBC) ว่า การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ขณะนี้นายกรัฐมนตรีฟิโกวัย 59 ปี พ้นขีดอันตรายแล้ว กระสุน 1 นัดทะลุช่องท้อง และอีก 1 นัดยิงถูกข้อต่อ ขณะที่เว็บไซต์ข่าวในสโลวาเกียอ้างแหล่งข่าวว่า การผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว และนายกรัฐมนตรีมีอาการทรงตัว
นายกรัฐมนตรีฟิโก ถูกยิงขณะลงมาพบประชาชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี เบื้องต้นอาการสาหัสและเข้ารับการผ่าตัดนานหลายชั่วโมงเมื่อเย็นวันพุธตามเวลาท้องถิ่น รัฐมนตรีมหาดไทยระบุว่า เป็นความพยายามลอบสังหารที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และเกิดขึ้นหลังจากที่นายปีเตอร์ เปลเลกรินี พันธมิตรของนายฟิโกชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนเมษายน สื่อท้องถิ่นรายงานว่า คนร้ายเป็นชายวัย 71 ปี ขณะที่ผู้นำนานาชาติต่างตกใจและประณามความพยายามลอบสังหารครั้งนี้
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012