ข่าว
เร่ง!!ค้นหาบิน"อียิปต์แอร์" เอ็มเอส 804 ขาดการติดต่อ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า เครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ320 เที่ยวบิน

เอ็มเอส 804 สายการบินอียิปต์แอร์ จากกรุงปารีสของฝรั่งเศสไปยังกรุงไคโรของอียิปต์ หายไปจากจอเรดาร์เมื่อวันพฤหัสบดี เพียงไม่นานหลังเข้าสู่น่านฟ้าอียิปต์ เอ็มเอส 804 ออกเดินทางพร้อมด้วยผู้โดยสาร 59 คน และลูกเรือ 10 คน จากกรุงปารีสเมื่อเวลา 23.09 น. วันพุธ ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส (04.09 น. วันพฤหัสบดี ตามเวลาประเทศไทย) และขาดการติดต่อไปเมื่อเวลา 02.45 น. วันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่นกรุงไคโร (07.45 น. ตามเวลาประเทศไทย) หลังเข้าสู่น่านฟ้าอียิปต์ได้ราว 16 กิโลเมตร ที่ความสูง 37,000 ฟุต โดยสายการบินได้ติดต่อประสานไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งตรวจสอบและตามหาแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เครื่องบินโดยสารสายการบินอียิปต์แอร์ที่เดินทางจากเมืองอะเล็กซานเดรียไปยังกรุงไคโร ถูกคนร้ายจี้บังคับให้เปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศไซปรัสด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่าสภาพจิตไม่ปกติ ขณะที่เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ปีที่แล้ว เครื่องบินโดยสารของสายการบินเมโทรเจ็ตของรัสเซีย ถูกโจมตีบริเวณคาบสมุทรไซนาย เป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่บนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด 224 ราย ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายไอเอสได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเวลาต่อมา

กกต.เคาะแล้ว! เชิญทั้งหนุน-ค้านร่างรธน.ออกทีวี เถียงทีละประเด็น ไม่มีเซ็นเซอร์

“กกต.”ถกกรธ.-สนช.ผู้บริหารสื่อทีวี วางกรอบจัดสรรเวลาออกอากาศ เคาะรูปแบบเผยแพร่รายละเอียดขั้นตอนการออกเสียง -สาระรธน.-คำถามพ่วง เวทีเสวนาวิชาการ ผ่านทีวีพูล 25 ช่อง 616 สถานีวิทยุ จำนวน 13 ครั้ง เริ่มออกอากาศครั้งแรก 26 มิ.ย.

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต.เป็นประธานประชุมเพื่อชี้แจงและกำหนดหลักเกณท์การจัดสรรเวลาการออกเสียงประชามติ โดยมีนายอัชพร จารุจินดา นายภัทระ คำพิทักษ์ ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)นายสมชาย แสวงการ ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องหลัก ตัวแทนจากสถานีวิทยุ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัย และตัวแทนจากหน่วยงานสนับสนุน โดยนายสมชัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องจัดสรรเวลาในการออกอากาศเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงและกระบวนการออกเสียงประชามติ และใช้เวลาของสถานีโทรทัศน์ให้เกิดความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานของเหตุผลที่ไม่ก้าวร้าว รุนแรง และไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่

จากนั้นหลังการประชุม นายสมชัย แถลงว่า ที่ประชุมได้กำหนดรายละเอียดการจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในลักษณะทีวีพูล ซึ่งจะมีการออกอากาศช่วงเวลา18.20-18.50น. จำนวน 13 ครั้งๆละ 30 นาที ออกอากาศทุกวันจันทร์และวันพุธ เริ่มวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายนจนถึงสัปดาห์สุดท้ายคือวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม โดย 2 ครั้งแรกเป็นการออกอากาศชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงประชามติของ กกต. อีก 3 ครั้งเป็นการชี้แจงของ กรธ. เกี่ยวกับสาระสำคัญในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และอีก 2 ครั้ง เป็นของ สนช. คือการอธิบายประเด็นคำถามพ่วง ส่วน 6 ครั้งที่เหลือจะให้เป็นการจัดรายการเสวนาทางวิชาการ ซึ่งสถานีช่องต่างๆสามารถกำหนดตัวพิธีกรและผู้ร่วมรายการด้วยตัวเอง โดยช่องใดจะจัดวันใด หัวข้ออะไร วิทยากรคนใด จะมีการตกลงกันอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 14.00 น.

นายสมชัย กล่าวอีกว่า กกต. จะไม่มีการเซ็นเซอร์ จะให้อิสระต่อสถานีโทรทัศน์ในการเชิญคนที่มีความเห็นต่างทั้ง 2 ฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ได้กำชับในเรื่องของการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นความเท็จ ไม่หยาบคาย และไม่เป็นการปลุกระดม ส่วนรูปแบบการออกอากาศนั้นจะออกอากาศพร้อมกันทางสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล จำนวน 25 ช่อง โดยจะมีการพ่วงสัญญาณไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐ จำนวน 616 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่เสียสละอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากการออกอากาศต้องใช้งบมูลค่ามหาศาล

“การจัดเวทีเสวนาจะต้องมีผู้เข้าร่วมจำนวน 2 คนแบ่งเป็นฝ่ายเห็นด้วย หรือฝ่ายที่เห็นถึงข้อดี 1 คน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่เห็นถึงข้อเสีย 1 คนมาพูดคุยกัน บนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต. ก็ได้แนะว่าการเสวนาแต่ละครั้งควรจะมีการหารือในประเด็นเรื่อง สิทธิเสรีภาพ รัฐสภา องค์กรอิสระ ศาลและศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งจะทราบผังรายการได้ภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น กกต. ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าวันใด มีเนื้อหาอย่างไร และมีบุคคลใดเข้าร่วมรายการบ้าง ส่วนการรีรันซ้ำ กกต. ไม่ได้มีข้อห้าม จะนำมาเผยแพร่ซ้ำกี่ครั้งก็ขึ้นอยู่กับทางสถานีและจะพ่วงไปที่เว็บไซต์ หรือสถานีดาวเทียมใดจะเกี่ยวสัญญาณก็สามารถทำได้”นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของ สปท. ส่งข้อเสนอแนะให้ กกต. กำหนดรายละเอียด เรื่องที่ทำได้ ทำไม่ได้ช่วงการทำประชามติให้เกิดความชัดเจนนั้น ทาง กกต. จะมีการพูดคุยกันในสัปดาห์หน้า ส่วนกรณีที่กลุ่มนักวิชาการยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขัดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ กกต. เพราะเป็นดุลยพินิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่ยืนยันว่าการออกพ.ร.บ.ดังกล่าว กกต. ได้ทำอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย

นายสมชัย เปิดเผยว่า นอกจากนี้ในวันที่ 19 พฤษภาคม กกต. ได้เป็นเจ้าภาพเชิญ กรธ. สนช. ครม. และตัวแทนจาก 77 พรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการทำประชามติ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี-รังสิต เวลา 14.00 น.


‘ปู’ชี้ ตปท.ห่วงไทยเพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล หนุน คสช.คุยพรรคการเมือง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยเมื่อถามว่า ในฐานะอดีตนายกฯ มองอย่างไรกรณีนายกฯระบุว่าไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของใครจึงไม่ต้องสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้มองว่าเราเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าเราจะอยู่ในหลักสากลที่จะให้นานาประเทศยอมรับ เราก็ต้องทำอะไรที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทุกคนยอมรับ เราทำอย่างเดียวโดยที่ไม่มองคนอื่นไม่ได้ แน่นอนว่า ซึ่งประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 60% ดังนั้น เราจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และหลายๆประเทศที่เขามองเราในเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาก็กังวลในเรื่องนี้ ถ้าเราสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดแนวทางที่ต่างชาติยอมรับ การค้าขายต่างๆ การไปมาหาสู่ ความสัมพันธ์กับนานาชาติก็จะดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนมอง

เมื่อถามว่า มองสถานการณ์ 2 ปี หลังการทำรัฐประหารอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดอะไรมากกว่านี้ เพราะผ่านมา 2 ปีแล้ว เป็น 2 ปีที่ทุกคนเฝ้าตั้งตารอให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว มีสิทธิเสรีภาพ เราไม่อยากให้ 2 ปีนี้ เป็น 2 ปีที่สูญเปล่า

เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.เตรียมเชิญทุกพรรคการเมืองร่วมอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมือง และผู้ที่เห็นต่างได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งเรื่องกติกาต่างๆ ก็ควรจะมีความชัดเจน เพื่อให้ความคิดต่างๆ ได้ถูกถ่ายทอดออกไป และทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ

เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน จะทำให้กระบวนการปรองดองล่าช้าหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การปรองดองเป็นส่วนหนึ่ง บรรยากาศการให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมกับทุกคน สิทธิ เสรีภาพ ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน


‘สุธรรม พันธุศักดิ์’สนช.-เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ชื่อดัง ถึงแก่อนิจกรรม

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ประชาสัมพันธ์วุฒิสภาแจ้งว่า นายสุธรรม พันธุศักดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยอาการปอดติดเชื้อหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมอายุทั้งสิ้น 69 ปี โดยจะมีกำหนดรดน้ำศพในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่วัดเทพศิรินทราวาส ทั้งนี้ นายสุธรรมเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหา ปี 2554 และเป็นเจ้าของทิฟฟานี่โชว์ พัทยา

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช.จะเหลือจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 218 คน จากที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.รวม 220 คน เนื่องจากนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ได้ลาออกจากจากสมาชิก สนช.ไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงการเสียชีวิตของนายสุธรรมด้วย


สหรัฐคลายคว่ำบาตรเศรษฐกิจพม่า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศผ่อนคลาย มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากเมียนมามีความคืบหน้าทางด้านประชาธิปไตย การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ จากคณะทหารที่ควบคุมประเทศอย่างกดขี่นานกว่า 5 ทศวรรษ ไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

แต่สหรัฐจะยังคงมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ไว้ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเมียนมา และการค้าขายทางทหารกับเกาหลีเหนือ

แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ เมื่อวันอังคาร กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรที่ถูกผ่อนคลาย รวมถึง การถอดถอนรายชื่อบริษัทการลงทุนของรัฐบาลเมียนมา 7 บริษัท และธนาคารของรัฐบาล 3 แห่ง ออกจากบัญชีดำ ซึ่งจะทำให้ไม่ผิดกฎหมายสำหรับชาวอเมริกัน ในการทำธุรกิจกับธนาคารทุกแห่งในเมียนมา และขยายมาตรการอนุญาตให้การขนส่งสินค้า สามารถผ่านเข้าออกท่าเรือและสนามบินต่างๆ ได้ตลอดไป หลังจากสหรัฐผ่อนคลายกฎนี้เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558

เหตุผลของการถอดถอนรายชื่อบริษัทลงทุนของรัฐบาลเมียนมา 7 แห่งจากบัญชีดำ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องรายงานธุรกรรมต่อกระทรวงพลเรือน ภายใต้รัฐบาลใหม่ของเมียนมา

สหรัฐจะยังคงมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ต่อเมียนมาไว้ เพื่อให้ปรับปรุงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยุติการค้าขายทางทหารกับเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐยังเพิ่มรายชื่อ 6 บริษัทของเอกชนเมียนมา เข้าในบัญชีดำใหม่ โดยทั้ง 6 บริษัทมีนายสตีเฟน ลอว์ เศรษฐีนักธุรกิจ ที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด เป็นเจ้าของร้อยละ 50 หรือมากกว่า

นายลอว์ ซึ่งเป็นลูกชายของนายโล ซิงฮัน เจ้าพ่อยาเสพติดผู้ล่วงลับ ถูกทางการสหรัฐขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 พร้อมกับกลุ่มธุรกิจเอเชีย เวิลด์ อันกว้างใหญ่ของเขา

รัฐบาลสหรัฐเริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ทางการค้าและการเงินต่อเมียนมา หลังจากผู้นำทหารเริ่มการปฏิรูป ที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลพลเรือนในปี 2554 จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง จากความเป็นประเทศผู้ร้ายในสายตาชาวโลกนานครึ่งศตวรรษ การตัดสินใจผ่อนคลายคว่ำบาตรในวันอังคาร มีขึ้นก่อนที่นายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กำหนดเดินทางเยือนเมียนมา ในวันที่ 22 พ.ค.

ใกล้ความจริงบินลัดฟ้าซิดนีย์-ลอนดอน 2 ชั่วโมง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแคนเบอร์ราประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่18 พ.ค.ว่า ทีมวิจัยร่วมทหารสหรัฐ-ออสเตรเลีย ได้ดำเนินการทดลองถึง 10ครั้งทั้งในวูเมร่าของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และที่อันโดยาร็อกเก็ต แรนจ์ ในนอร์เวย์ นายอเล็กซ์ เซลินสกี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียบอกว่านี้คือเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเป็นการปฏิวัติการเดินทางด้วยเครื่องบินของโลก

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิคจะช่วยลดการเดินทางจากเมืองซิดนีย์ไปยังกรุงลอนดอนโดยใช้เวลาเพียงแค่ 2ชั่วโมงเท่านั้นในระยะทาง17,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ เทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิคจะทำให้เครื่องบินสามารถบินเร็วกว่าเสียง5 เท่าหรือบินด้วยความเร็ว 5มัค แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการไฮเปอร์โซนิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟล์ท รีเสิร์ช เอ็กเพอริเมนเทชั่น( ไฮไฟร์)กำลังพัฒนาเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องบินสามารถเพิ่มความเร็วได้ถึง 7 มัค

นายไมเคิล สมาร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านไฮเปอร์โซนิคแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เปิดเผยว่า เขาตื่นเต้นมากและต้องการบินด้วยเครื่องยนต์ไฮเปอร์โซนิคด้วยความเร็วระดับ7 มัค สำหรับการทดลองเมื่อวันพุธนั้นกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียระบุว่า จรวดขับดันได้พุ่งขึ้นแตะระดับความสูงถึง278 กิโลเมตร และเร่งความเร็วสูงสุดได้ถึง7.5 มัค