ผู้นำอินโดนีเซียกล่าวว่า อาเซียนต้องร่วมกันรักษาความเป็นเอกภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิภาคแห่งนี้ “เป็นพื้นที่ของสงครามตัวแทน”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย แถลงต่อที่ประชุมรัฐมนตรีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคู่เจรจา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันศุกร์ ว่าอาเซียน “ไม่ใช่การรวมกลุ่มเพื่อการแข่งขัน” อาเซียน “ไม่ใช่ตัวแทนของประเทศใด” และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างคงเส้นคงวา
ผู้นำอินโดนีเซียกล่าวต่อไปว่า อาเซียนยึดมั่นการส่งเสริมความสมานฉันท์ และความแข็งแกร่ง ตลอดจนความเป็นกลางของประชาคม เพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค...
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นที่จับตาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
อนึ่ง ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมกัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ยึดมั่นการปฏิบัติตามแนวทางของฉันทามติ 5 ข้อ ยังคงเป็นแนวทางของอาเซียน เพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์ในเมียนมา ขณะเดียวกัน อาเซียนประณาม “การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากทุกภาคส่วน” และเรียกร้องคู่กรณีทุกฝ่ายหันหน้ากลับมาเจรจากัน
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมา “ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น” โดยแหล่งข่าวทางการทูตในที่ประชุมกล่าวว่า เป็นเพราะทุกฝ่ายหารือเกี่ยวกับ “การใช้ภาษาสำหรับประเด็นเมียนมา” และบางประเทศต้องการให้อาเซียนหารือโดยตรงกับรัฐบาลทหาร ส่วนบางประเทศต้องการให้เน้นย้ำแนวทางฉันทามติ 5 ข้อ และการฟื้นฟูการเจรจา “ต้องเป็นพื้นฐาน” ซึ่งแหล่งข่าววิเคราะห์ว่า เรื่องนี้สะท้อน “การแบ่งแยกที่ร้าวลึกภายในอาเซียน”
เครดิตภาพ : AFP...
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566: สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้จัดให้สารแอสปาร์แตม ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักใช้ในหลายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ น้ำอัดลม หมาก ฝรั่ง ไอศกรีม อาหารเช้าซีเรียล ไปจนถึงยาสีฟัน เป็น “สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์” แม้จะไม่มีการปรับระดับการบริโภคอย่างเหมาะสมต่อวันก็ตาม
องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (ไอเออาร์ซี) ของดับเบิลยูเอชโอได้ทำการประเมินการก่อมะเร็งของสารแอสปาร์แตมเป็นครั้งแรกในการประชุมที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 6-13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยดับเบิลยูเอชโอได้ระบุว่า “คณะทำงานได้จัดให้สารแอสปาร์แตมเป็นสารอาจก่อมะเร็งในมนุษย์” โดยจัดให้อยู่ในกลุ่ม 2บี ตามหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งแสดงความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma
นายพอล ฟาโรห์ ศาสตราจารย์ระบาดวิทยาโรคมะเร็งจากศูนย์การแพทย์ซีดาร์-ซีนาย นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า สารอื่นๆ อาทิ สารสกัดจากว่านหางจระเข้ กรดคาเฟอิกที่พบในชาและกาแฟ ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2บี เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีประเภทกลุ่ม 2บี
นายฟรานเซสโก้ บรานก้า ผู้อำนวยการด้านโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของดับเบิลยูเอชโอกล่าวระหว่างแถลงข่าวนำเสนอผลของการตรวจสอบ 2 ครั้งจากหลักฐานที่เกี่ยวกับสารแอสปาร์แตมว่า “เราไม่ได้แนะนำให้บริษัทต่างๆ นำผลิตภัณฑ์ของตนเองออกหรือแนะนำให้ผู้บริโภคเลิกรับสารดังกล่าวทั้งหมด เราเพียงแต่แนะนำให้มีการใช้สารแอสปาร์แตมในระดับที่เหมาะสม”
ด้านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร (เจอีซีเอฟเอ) ที่ก่อตั้งโดยดับเบิลยูเอชโอและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ก็ได้มีการหารือกันที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายนถึง 6 กรกฎาคม เพื่อประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสารแอสปาร์แตมเช่นกัน โดยได้ข้อสรุปว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน (เอดีไอ) ของสารแอสปาร์แตมซึ่งกำหนดไว้เมื่อปี 1981 ไว้ที่ 0-41 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัว
ตามปกติแล้ว น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล 1 กระป๋องจะมีปริมาณสารแอสปาร์แตมอยู่ที่ 200 หรือ 300 มิลลิกรัม ทำให้ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัมจะต้องบริโภคน้ำอัดลมชนิดไม่มีน้ำตาลมากกว่า 9 ถึง 14 กระป๋องต่อวันจึงจะเกินระดับปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน นายบรานก้ากล่าวว่า สำหรับผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นครั้ง
คราวนั้นยังไม่ต้องรู้สึกกังวลแต่อย่างใด
สหรัฐฯ เตือนภัย “ร้อนจัด” – บีบีซี รายงานวันที่ 14 ก.ค. ว่า หน่วยงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (เอ็นดับเบิลยูเอส) แถลงว่ามีประชาชนกว่า 113 ล้านคนที่ตอนนี้อยู่ภายใต้ประกาศเตือนภัยสภาพอากาศร้อนจัด
หลังจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤต คลื่นความร้อน ต่อเนื่อง รวมถึง เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียสติดต่อกันนาน 13 วัน และคาดว่าจะทุบสถิติร้อนระอุต่อเนื่องเกิน 18 วันในวันอังคารที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้
สำหรับสภาพอากาศโดยรวมในประเทศมีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส แต่บางส่วนของที่ราบทางใต้ซึ่งประกอบด้วย 24 เขตทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเท็กซัสอาจร้อนถึง 46 องศาเซลเซียส และช่วงกลางคืนคาดว่าจะมีอุณหภูมิอบอุ่นผิดปกติที่ประมาณ 32 องศาเซลเซียส
โดย เมืองเอลปาโซ รัฐเท็กซัส มีอุณหภูมิเกิน 37 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 27 วัน ทุบสถิติเดิมที่ 23 วัน เมื่อปี 2537 ส่วนนครลาสเวกัส รัฐเนวาดา คาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 47 องศาเซลเซียสในวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.
ขณะที่ทางการแนะนำให้ประชาชนมีความระแวดระวัง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าทิ้งสัตว์เลี้ยงหรือเด็กไว้ในยานพาหนะที่ปิดประตู ด้าน
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ระบุว่าในแต่ละปีสหรัฐฯ มีรายงานผู้เสียชีวิตราว 700 คนจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความร้อน
รายงานระบุอีกว่านอกจากสหรัฐฯ แล้ว หลายประเทศในทวีปยุโรปก็ประสบภัยคลื่นความร้อนเช่นกัน โดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส กรีซ โครเอเชีย และตุรกีที่คาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
ในอิตาลีมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นลมหมดสติจากโรคลมแดด และอย่างน้อย 1 รายเสียชีวิต ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 17.23 องศาเซลเซียส และถือเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก
ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค. บีบีซี รายงานสถานการณ์ คลื่นความร้อน รุนแรงในยุโรปและตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา คาดว่าหลายประเทศจะมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส รวมถึงสเปน ฝรั่งเศส กรีซ โครเอเชีย และตุรกี
ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาอิตาลีตั้งชื่อคลื่นความร้อนดังกล่าวว่า “เซอร์เบอรัส” หรือเคร์เบรอส ชื่อของเทพปกรณัมกรีกโรมันที่เป็นสุนัข 3 หัว แถลงว่าอิตาลีอาจมีอุณหภูมิสูงทุบสถิติเกิน 48.8 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ทางการต้องประกาศเตือนภัยร้อนระดับสีแดงใน 10 เมือง ครอบคลุมถึงกรุงโรม และเมืองฟลอเรนซ์
ภายหลังเกิดเหตุชายวัย 44 ปีเป็นลมหมดสติจากโรคลมแดดหรือฮีตสโตรกขณะเดินข้ามทางม้าลายในเมืองโลดิ ใกล้นครมิลาน เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้หน่วยฉุกเฉินจะพาส่งโรงพยาบาลทันที แต่ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นโรคลมแดด รวมถึงชายชาวอังกฤษคนหนึ่งที่เป็นลมหมดสติระหว่างเดินชมโคลอสเซียมในกรุงโรม
ทั้งนี้ อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของยุโรปวัดได้ 48.8 องศาเซลเซียสใกล้เมืองซีรากูซา ในแคว้นปกครองตนเองซิซิลี เมื่อเดือนส.ค.2564 และเมื่อปี 2565 ยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนหลายระลอก
มากกว่า 60,000 ราย และสร้างความหวาดผวาว่าคลื่นความร้อนในปีนี้อาจก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นกัน
วันศุกร์ ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 : วิลนีอุส (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) – การประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้นำนาโตได้ยืนยันจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกเมื่อเห็นว่าทำตามเงื่อนไขแล้ว ซึ่งผู้นำยูเครนก็แสดงการยอมรับ
การประชุมสุดยอดนาโตที่กรุงวิลนีอุสของลิทัวเนีย มีผู้นำประเทศสมาชิก 31 ประเทศเข้าร่วมเพื่อหารือเรื่องหลักเกี่ยวกับสงครามยูเครน โดยได้เชิญประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเข้าร่วมประชุมด้วยเป้าหมายที่จะขอความชัดเจนเรื่องการรับกำหนดและระยะเวลาที่จะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะเห็นว่าจะช่วยป้องปรามรัสเซียให้ยุติการรุกรานตน แต่ในการเจรจาหารือ บรรดาผู้นำนาโตยืนยันว่าจะรับเป็นสมาชิกเมื่อเห็นว่ามีความพร้อมเท่านั้น แต่จะผ่อนปรนข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกได้ง่ายขึ้น
ประธานาธิบดีเซเลนสกี ซึ่งก่อนนี้แสดงความไม่พอใจที่นาโตไม่ได้แสดงความชัดเจนจนถูกรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษตำหนิด้วย ในท้ายที่สุดแล้วเขาให้ความเห็นว่า อย่างน้อย นาโตก็ได้ส่งสัญญาณต่อรัสเซียว่าจะปกป้องยูเครนให้ดำรงความเป็นเอกราชต่อไป และถือว่าเป็นความสำเร็จที่ได้รับคำมั่นว่าจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนต่อไป
ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวในการประชุมเน้นย้ำคำประณามรัสเซีย ว่า ไม่อาจ ให้ประเทศใดๆ ก็ตามเข้าไปยึดดินแดนประเทศเพื่อนบ้านด้วยกำลังทหารได้ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ยังเข้าใจผิดๆ ว่าจะสามารถมีชัยเหนือยูเครน แต่ชาติและประชาชนยูเครนจะไม่ล่มสลายและเป็นอิสระต่อไป
นอกจากเรื่องสมาชิกของยูเครนแล้ว ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ นาโตยังได้ยืนยันเรื่องการช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครน โดยเฉพาะอาวุธพิสัยไกล นอกจากนั้นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ จี 7 ยังประกาศแผนมอบความช่วยเหลือทางการทหารให้กับยูเครนในระยะยาวด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันตัวเอง และป้องปรามการโจมตีในอนาคต
ม็อบประกาศยุติการชุมนุมหน้าหอศิลป์ พร้อมนัดหมายรวมตัวที่รัฐสภา 19 ก.ค. วันโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 2
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 บรรยากาศช่วงค่ำเวทีปราศรัยหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีประชาชนเดินทางมาร่วมมากขึ้น ทั้งที่ลานหอศิลป์ และบนลานสกายวอล์ก โดยมี น.ส.วชิรญา วชิระอังกูร กลุ่ม โคราชมูฟเม้นท์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายของประชาชน (ไอลอว์) น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้าร่วมปราศรัยเนื้อหาโจมตีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างดุเดือด
นายเสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวในช่วงหนึ่งว่า อีก 1 สัปดาห์จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง สมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะต้องโหวตตามเจตจำนงของประชาชน ถ้าต้องการหักหาญประชาชน ถนนทุกสาย แม่น้ำทุกเส้น จะมุ่งหน้าไม่ใช่แค่หน้ารัฐสภา แต่จะถึงหน้าประตู
บ้านท่านอย่างแน่นอน “ตลอด 1 สัปดาห์นี้ขอให้พี่น้องติดตามช่องทางโซเชียลมีเดียให้ดีถ้ามีการรวมตัวชุมนุมที่ไหนขอให้ประชาชนออกมาให้มืดฟ้ามัวดิน”
ต่อมา 20.30 น. ผู้ปราศรัยที่มาขึ้นเวทีช่วงท้ายมี น.ส.อันนา อันนานนท์ กลุ่มนักเรียนเลว น.ส.แทนฤทัย แท่นรัตน์ หรือ พิมพ์ กลุ่มเฟมินิสปลดแอก โดยการปราศรัยมีเนื้อหาหลายช่วงหลายตอนที่พาดพิงสถาบัน โดยเจ้าหน้าที่มีการเก็บบันทึกเป็นหลักฐาน จากนั้น นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท โมกหลวงริมน้ำ กล่าววปราศรัยว่า หากเกิดปรากฏการณ์ดาวกระจายที่ไหนขอให้ประชาชนไปร่วมกันที่นั่น ต้องเปิดหน้าสู้ ตนพร้อมจะใช้ทุกหยาดเหงื่อสู้เพื่อเปิดประตูสู่ยุคสมัยใหม่ แสดงให้ ส.ว., ส.ส. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญได้เห็น อย่าอยู่ในแต่ในโลกโซเชียล พบกัน 19 กรกฎาคม ที่รัฐสภา จากนั้นจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 20.50 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงที่สังเกตการณ์การชุมนุมว่า ตั้งแต่การชุมนุมวันที่ 13 กรกฎาคม เป็นต้นมา ไม่ปรากฏว่ามีมวลชนเดินทางมาเพิ่มมากจากเดิม ยอดผู้ชุมนุมยังคงใกล้เคียงเดิม ส่วนผู้จัดชุมนุม รวมถึงผู้เข้าร่วมและผู้ปราศรัยทั้งหมดยังคงเป็นหน้าเก่าที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยม็อบราษฎร
พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย ถกประเมินสถานการณ์ก่อนโหวตนายกฯ รอบ 2 นัดหารือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 18 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้ (14 กรกฎาคม 2566) โรงแรมโรสวูด ตัวแทนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยได้นัดหารือกันหลังการโหวตชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงภาพกว้างประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้ โดยมองว่าในที่ประชุมรัฐสภาจะมีการทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำใน สมัยประชุมได้หรือไม่ รวมถึงประเมินว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้ามาแข่งด้วย ซึ่งวงหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพียงแต่อยากประเมินสถานการณ์ให้แต่ละฝ่ายไปหาทางรับมือประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า
ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกล ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นไปได้ยาก เพราะญัตติดังกล่าวต้องอาศัยเสียง ส.ว. ถึง 84 เสียง มองว่าเวลานี้ควรมุ่งหน้าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลกันก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้ง วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการ โดยในที่ประชุมยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่อย่างใด