เมื่อ 12 พ.ย. 63 สำนักอุตุนิยมวิทยาเวียดนามติดตามพายุ ‘หว่ามก๋อ’ เคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์สู่ทะเลจีนใต้แล้วเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ที่ 12 พ.ย. ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุ 135 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งหน้ามายังเวียดนามเป็นประเทศต่อไป หลังอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นหว่ามก๋อ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงในฟิลิปปินส์ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดบนเกาะลูซอน รวมทั้งหลายยพื้นที่ในกรุงมะนิลา เมืองหลวง และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ศพ
ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าพายุหว่ามก๋อจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งจังหวัดห่าติ๋ญ ทางชายฝั่งตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนามกับจังหวัดกว่างบินห์ ในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.
พายุหว่ามก๋อ นับเป็นพายุลูกที่ 3 ที่ถล่มเวียดนามในเดือน พ.ย. และเป็นพายุลูกที่ 13 ที่ถล่มเวียดนามในปีนี้ จนมีผู้เสียชีวิต หรือสูญหายจากการประสบภาวะอุทกภัยแล้วอย่างน้อย 235 ศพ
ส่วนพายุโซนร้อน เอตาว ที่ขึ้นฝั่งเวียดนาม เมื่อเช้าวันอังคารที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทั่วภาคกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศเวียดนาม รวมทั้งหลายจังหวัดทางภาคกลางของเวียดนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 2 ศพ อีกทั้งหลายจังหวัดทางภาคกลาง ยังเกิดเหตุดินสไลด์ในหลายจุด และน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
ที่มา : e.vnexpress
กษัตริย์บาห์เรนทรงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารขึ้นเป็นนายกฯใหม่ หลังเจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ สิ้นพระชนม์ ปิดตำนานนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก
เมื่อ 12 พ.ย. 63 เว็บไซต์อัลจาซีรา รายงานว่า เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลิฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรน สิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยวัย 84 ชันษา เมื่อเช้าวันพุธที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 49 ปี จนนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก
สำนักข่าวของทางการบาห์เรน ‘Bahrain News Agency’ ซึ่งได้แจ้งข่าวการจากไปของนายกรัฐมนตรีบาห์เรนในครั้งนี้ ระบุด้วยว่า เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ ได้สิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลเมโย คลินิก ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
ต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีฮาห์หมัด บิน อีซา อัล เคาะลิฟะฮ์ แห่งราชอาณาจักรบาห์เรนทรงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมาน บินฮะหมัด อัลเคาะลีฟะฮ์ มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของบาห์เรน เมื่อ 11 พ.ย. 63 นอกจากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีฮาห์หมัด ทรงประกาศไว้อาลัยอย่างเป็นทางการต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมกับมีการลดธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัย ส่วนพิธีฝังพระศพจะมีขึ้นหลังจากมีการนำพระศพกลับจากสหรัฐอเมริกามาถึงบาห์เรน
ทั้งนี้ เจ้าชายเคาะลิฟะฮ์ ทรงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึง 11 พ.ย.2563 โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกือบ 2 ปี ก่อนที่บาห์เรนจะได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 2514 และทรงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อ 11 พ.ย. 63
ระหว่างรอประกาศผลเลือกตั้งยืนยันชัยชนะอย่างเป็นทางการ นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมที่จะตั้ง “รอน เคลน” ที่ปรึกษาคนสนิทและไว้วางใจที่สุด ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สำนักข่าว CNN รายงานอ้างคำเปิดเผยของทีมถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลของ นายโจ ไบเดน ที่ระบุว่า นายไบเดน ได้เลือก นายรอน เคลน ที่ปรึกษาคนสนิทของเขา มารับตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
นายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นายรอน เคลน เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองในวอชิงตันมานานอย่างลึกซึ้ง หลากหลายและยาวนาน ทำให้พร้อมที่จะมาทำหน้าที่อันท้าทายนี้ โดยเชื่อมั่นว่า นายรอน เคลน สามารถทำงานร่วมกับผู้คนจากฝ่ายต่างๆ ทางการเมือง ยิ่งในขณะนี้ทำเนียบขาวกำลังเผชิญวิกฤติท้าทาย อย่างเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกำลังต้องการรวมใจชาวอเมริกันเป็นหนึ่งเดียว
นายเคลน เคยทำงานกับ นายไบเดน ในพรรคเดโมแครต ตั้งแต่ปี 2530 เขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักงานรองประธานาธิบดี ในช่วงที่ นายไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สมัยแรก และก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักงานรองประธานาธิบดี ในช่วงที่ นายอัล กอร์ ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในรัฐบาลของประธานาธิบดีบิล คลินตัน
นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ปรึกษาแคมเปญหาเสียงของนายไบเดน มีหน้าที่คอยช่วยเตรียมการดีเบต และท่าทีการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา: CNN
เรือขนผู้อพยพอับปางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกชายฝั่งของประเทศลิเบีย เมื่อวันพฤหัสบดี ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตอย่างน้อย 74 ศพ
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ย. 2563 ว่า เรือขนผู้อพยพซึ่งบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 120 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก อับปางในทะเลนอกชายฝั่งเมืองคุมส์ ทางเหนือของประเทศลิเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 74 ศพ
IOM เผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งและนักประมงท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตกลับเข้าฝั่งแล้ว 47 คน และเก็บกู้ศพผู้เสียชีวิตได้แล้ว 31 ศพ ขณะที่การค้นหาผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ยังดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ ตามรายงานของ IOM ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วอย่างน้อย 900 ศพ ขณะที่พวกเขาพยายามเดินทางไปยังยุโรป โดยเหตุเรือล่มที่มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวมากที่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เคราะห์ร้ายถึง 140 ศพ
นายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด แห่งเอธิโอเปีย ประกาศสงครามกับภูมิภาค ไทเกรย์ ทางตอนเหนือของประเทศ จนเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงกับกลุ่ม TPLF ที่ปกครองดินแดนแห่งนี้อยู่
ชนวนของสงครามครั้งนี้เริ่มขึ้นมานานหลายปี และค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ จนถึงขีดสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และลุกลามกลายเป็นหนึ่งในวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ
การต่อสู้ในภูมิภาคไทเกรย์อาจบานปลาย ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปทั่วประเทศ และอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคแหลมแอฟริกา กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อนายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาห์เหม็ด ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปีที่แล้ว ประกาศสงครามกับภูมิภาคไทเกรย์ ดินแดนกึ่งปกครองตนเองในภาคเหนือของประเทศ อย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563
สงครามครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ‘แนวหน้าปลดปล่อยประชาชนไทเกรย์’ (TPLF) ซึ่งปกครองไทเกรย์ และเคยเป็นสมาชิกสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลเอธิโอเปียมานานหลายทศวรรษ กับรัฐบาลของนายกฯ อาบีย์ ที่คุกรุ่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะปะทุขึ้นเมื่อไทเกรย์ขัดคำสั่งรัฐบาลกลางและจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรี อาบีย์ สั่งให้กองทัพออกปฏิบัติการโจมตีในภูมิภาคไทเกรย์ หลังจากเกิดเหตุโจมตีที่ฐานทัพแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย รวมทั้งทรัพย์สินของกองทัพได้รับความเสียหาย โดยเขาโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม TPLF
เอธิโอเปียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ย้อนกลับไปในปี 2561 รัฐบาลร่วมของเอธิโอเปียแต่งตั้งนายอาบีย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และช่วยทำให้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินมานานหลายเดือนสงบลง ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2562 จากผลงานการฟื้นฟูสันติภาพกับประเทศเอริเทรีย ซึ่งเป็นศัตรูกันมานาน และมีพรมแดนติดกับภูมิภาคไทเกรย์
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม TPLF ซึ่งปกครองภูมิภาคไทเกรย์มาหลายทศวรรษและต่อสู้กับเอริเทรียมาตลอดไม่ชอบที่นายอาบีย์ผูกมิตรกับเอริเทรีย และรู้สึกว่าพวกตนเองถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เมื่อนายกฯ อาบีย์ ซึ่งถูกยกให้เป็นผู้นำนักปฏิรูป กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ว่าทุจริตคอรัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปลดสมาชิกกลุ่ม TPLF หลายคนออกจากตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลกลาง
ความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายรุนแรงขึ้นอีกเมื่อนายอาบีย์ ตัดสินใจรวมพรรคของกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่ประกอบเป็นรัฐบาลร่วม EPRDF เข้าด้วยกัน แล้วจัดตั้งพรรครุ่งโรจน์ (Prosperity Party: PP) ขึ้นมา ซึ่ง TPLF คัดค้าน ระบุว่าการทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้ประเทศแตกแยก และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพรรค PP ขณะที่การเลื่อนจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2563 เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้รอยร้าวกว้างขึ้นอีก
ในที่สุด กลุ่ม TPLF ก็ประกาศจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภูมิภาคไทเกรย์เมื่อเดือนกันยายน ทำให้รัฐบาลกลางออกมาประณามว่าเป็นการเลือกตั้งที่ผิดกฎหมาย และตอบโต้ด้วยการตัดความสัมพันธ์กับภูมิภาคไทเกรย์ และระงับการให้เงินช่วยเหลือ หลังจากนั้น รัฐบาลทั้งสองก็กล่าวหากันไปมาว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญ
กระทั่งในวันที่ 4 พ.ย. นายกรัฐมนตรีอาบีย์ก็ประกาศสงครามกับภูมิภาคไทเกรย์ โดยกล่าวหากลุ่ม TPLF ว่าแต่งกายด้วยชุดทหารเอริเทรีย โจมตีค่ายทหารรัฐบาลกลางในภูมิภาคไทเกรย์กลางดึก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่ฝ่าย TPLF กล่าวหารัฐบาลกลางว่า แต่งเรื่องหลอกลวงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการบุกโจมตีไทเกรย์
ทันทีหลังจากประกาศสงคราม รัฐบาลกลางเอธิโอเปียก็ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ในภูมิภาคไทเกรย์ทันที ก่อนที่นายอาบีย์จะสั่งเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ไทเกรย์เพื่อตอบโต้การโจมตีที่ค่ายทหาร
ทั้งนี้ เอธิโอเปียเป็นหนึ่งในชาติแอฟริกาที่มีการติดอาวุธมากที่สุด และ TPLF นับว่ามีกำลังทหารพร้อมที่สุดในประเทศ เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ต่อสู้บริเวณชายแดนกับประเทศเอริเทรียมานานหลายปี โดยองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group) ประเมินว่า TPLF มีกำลังรบกึ่งทหารและนักรบติดอาวุธท้องถิ่นราว 250,000 คนทีเดียว
จนถึงตอนนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย นายอาบีย์ ออกแถลงการณ์เมื่อ 12 พ.ย. อ้างว่า ดินแดนทางตะวันตกของไทเกรย์ได้รับการปลดปล่อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวของ บีบีซี ในกรุงแอดดิส อาบาบา ระบุว่า มีสัญญาณชี้ว่า รัฐบาลกลางกับทางการไทเกรย์กำลังยกระดับความพยายามในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร ซึ่งหมายความว่าการต่อสู้อาจจะดำเนินต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ระบุว่า เกิดการสังหารหมู่ขึ้นที่เมือง ไม-คาดรา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูมิภาคไทเกรย์เมื่อคืนวันที่ 9 พ.ย. มีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบหลายร้อยคนถูกแทงหรือถูกทำร้ายจนตาย โดยผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าเป็นฝีมือกองกำลังที่ภักดีกับกลุ่ม TPLF ที่เพิ่งพ่ายแพ้ให้กับกองทัพรัฐบาลกลางในการต่อสู้ที่เขต ลุกดี แต่กลุ่ม TPLF ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน นายซาจจาด โมฮัมหมัด ซาจิด ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเอธิโอเปีย เตือนว่า ประชาชนราว 2 ล้านคนในไทเกรย์ ซึ่งตอนนี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปแล้ว กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีหลายคนที่ขาดแคลนอาหาร, เชื้อเพลิง หรือทั้ง 2 อย่าง
ด้านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในซูดานเปิดเผยว่า มีพลเรือนเอธิโอเปียอย่างน้อย 7,000 คนรวมทั้งทหารจำนวนหนึ่ง อพยพข้ามพรมแดนเข้ามา บางคนต้องเดินเท้านาน 2-3 วันเพื่อหลบหนีการปูพรมทิ้งระเบิด แม้ซูดานจะตัดสินใจปิดพรมแดนรัฐคาสซาลาแล้วก็ตาม
หวั่นความขัดแย้งลุกลามไปพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ
สงครามระหว่างรัฐบาลกลางกับภูมิภาคไทเกรย์ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าความขัดแย้งจะลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย โดยเฉพาะในบางภูมิภาคที่เรียกร้องขออำนาจปกครองตนเองมากขึ้น แม้ว่านายบีร์ฮานู จูลา รองเสนาธิการกองทัพเอธิโอเปียจะออกมายืนยันว่า สงครามจะจบลงแค่ที่นี่ (ไทเกรย์) ก็ตาม
ขณะที่เสียงเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันก็ดูท่าจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้กัน โดยทูตตะวันตกในกรุงแอดดิส อาบาบา ระบุว่า “สารจากชาวเอธิโอเปียก็คือ หากคุณพูดถึงการเจรจา คือการคุยระหว่างฝ่ายที่เท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่นี่คือรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนอีกฝ่ายคือผู้ทรยศ”
ส่วน TPLF ประกาศก่อนที่การต่อสู้จะเริ่มขึ้นว่า พวกเขาไม่สนใจที่จะเจรจากับรัฐบาลกลาง จนกว่าจะมีการปล่อยตัวผู้นำที่ถูกจับกุมตัวเสียก่อน
การต่อสู้กับ TPLF ทำให้รัฐบาลกลางต้องเรียกทหารที่ประจำการในโซมาเลียเพื่อรักษาสันติภาพ กลับประเทศ ขณะที่มีผู้อพยพกำลังเดินทางเข้าสู่ซูดานที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ของตัวเอง นอกจากนี้ คู่อริอย่างเอริเทรียก็ไม่ได้เปิดใจยอมรับเอธิโอเปียมากนัก แม้จะประกาศยุติสงครามต่อกันอย่างเป็นทางการในปี 2561 และอาจกระโจนเข้ามามีส่วนร่วมสงครามภายในครั้งนี้
สหประชาชาติก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน โดยนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ UN ทวีตข้อความเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “เสถียรภาพของเอธิโอเปียสำคัญต่อภูมิภาคแหลมแอฟริกาทั้งหมด ผมขอเรียกร้องให้มีการลดความตึงเครียดในทันที และหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ”
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: BBC, aljazeera, highsnobiety