27 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในประเทศฝรั่งเศสเสียชีวิตเป็นรายที่ 2 โดย เฌอโรม ซาโลมง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส เผยว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายชาวฝรั่งเศสอายุ 60 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงปารีส มีอาการสาหัส และตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาในคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาคืนนั้น
นอกจากนี้ “นอร์เวย์” เป็นประเทศล่าสุดของยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (NIPH) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่ได้แสดงอาการป่วย แต่ถูกตรวจเนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดในประเทศจีน
ด้านกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นรายแรกในประเทศ และรายแรกในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยผู้ป่วยดังกล่าวอยู่ในวัย 61 ปี เดินทางกลับจากอิตาลี และขณะนี้กำลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเซา เปาโล นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อีก 20 รายในประเทศ
เช่นเดียวกับที่ ปากีสถาน ซึ่งพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 2 คน ถือเป็นการพบผู้ป่วยโรคนี้ 2 คนแรกในประเทศ โดยทั้ง 2 คนเพิ่งเดินทางกลับมาจากอิหร่าน โดยผู้ติดเชื้อชาวปากีสถานรายหนึ่ง เป็นหญิงวัย 22 ปี จากนครการาจี ที่เพิ่งกลับจากอิหร่าน พร้อมครอบครัว ซึ่งทางการปากีสถานยืนยันว่าได้แยกตัวผู้ติดเชื้อรายนี้มารักษา และแยกตัวสมาชิกในครอบครัวเพื่อสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัสด้วยหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ปากีสถานเพิ่งประกาศปิดพรมแดนเชื่อมต่ออิหร่าน ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน และจนถึงขณะนี้ อิหร่าน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 คน ติดเชื้ออีก 139 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวภายในวันเดียว
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 06.00 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ขับร้องเพลงไทยสากล ได้เสียชีวิตแล้วภายใน บ้านเลขที่ 267 ซอยปรีดีพนมยงค์42 แยก 7 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ โดยมี ร.ต.อ.สถาพร โสตถิยิ้ม รองสว.(สอบสวน) สน.คลองตัน พร้อมแพทย์นิติเวช รพ.จุฬาฯและอาสามูลนิธิร่วมกตัญญูร่วมตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต ท่ามกลางการเศร้าโศกเสียใจของลูกหลาน
สำหรับ สุเทพ วงศ์กำแหง ปัจจุบันอายุ 86 ปี เป็นเจ้าของเพลงลูกกรุงไพเราะอมตะมากมาย อาทิ รักคุณเข้าแล้ว, เธออยู่ไหน, เย้ยฟ้าท้าดิน, ป่าลั่น, บทเรียนก่อนวิวาห์ และ เสน่หา ด้วยน้ำเสียงหวานนุ่มทำให้ได้รับสมญานามว่าเป็น “นักร้องเสียงขยี้แพรในฟองเบียร์” โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยตามช่วงวัย ซึ่งมีแฟนเพลงให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
27 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ชุมชนรางชะมวง หมู่ 3 บ้านชะวึก ตำบลนาตาขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนผลไม้ กว่า 50 คน พากันมารวมตัวเพื่อทำพิธีแห่นางแมวขอฝน
โดยพิธีกรรมเริ่มจากการทำพิธีสวดมนต์ หน้าพระพุทธรูปกลางแจ้ง พร้อมกับนำแมวตัวจริงเข้าร่วมในพิธี เพื่อเป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสวดมนต์เสร็จก็เริ่มร้องเพลงขอฝนและพากันตีเกราะเคาะไม้ สวดขอฝน เดินแห่นางแมว (ปลอม) ไปตามถนน รอบหมู่บ้านซึ่งการแห่นางแมวในขั้นตอนนี้ ชาวบ้านได้ขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้สัญลักษณ์แทนแมวจริง ในขบวนแห่เพราะจะต้องสาดน้ำตลอดเส้นทาง
นางสำเนียง ถาวรวงษ์ กล่าวว่า พิธีแห่นางแมวขอฝนเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ หากเกิดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะต้องทำพิธีแห่นางแมวขอฝน ซึ่งพวกตนที่มาทำพิธีก็มีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าฝนจะตก หลังจากที่ เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงมานานจนทำให้น้ำใช้อุปโภค บริโภคไม่เพียงพอ น้ำใช้รถต้นไม้ก็ไม่มี บางสวนเริ่มที่จะต้องเลือกปล่อยผลผลิตที่กำลังออกในช่วงนี้ทิ้งไปเพื่อให้ต้นอยู่ได้เพราะต้นไม้ เช่นทุเรียน มังคุดใช้เวลาปลูกนานหลายปี บางต้นมากกว่า30 ปี และถ้าการแห่นางแมวไม่ได้ผล ก็อยากให้ส่วนราชการ หาวิธีทำฝนเทียมให้ตกในพื้นที่
นางสาวศัสยมน ธรรมแจ้งชัด ยอมรับว่า ภัยแล้งเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงลอยกระทง ที่น้ำในคลองแห้งเหือด จนถึงวันนี้ ผลไม้ในสวนกำลังให้ผลผลิต แต่กลับไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง ชาวสวนจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง สร้างความหวังให้กำลังใจตัวเอง รวมตัวกัน ทำพิธีแห่นางแมวเพื่อขอฝนตามความเชื่อแมวเก้าชีวิต เพราะนอกจากได้ทำพิธีกรรมแบบโบราณ ให้เกิดความสบายใจ เพราะได้มีความหวัง ยังเป็นกุศโรบายให้ชาวบ้านได้มาเจอะเจอ พูดคุยปรับทุกข์ หาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ตำบลนาตาขวัญ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีสวนผลไม้อยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาชาวสวนพึ่งพาน้ำจากคลองขุดซึ่งเป็นคลองชลประทานที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย จากปัญหาภัยแล้งทำให้น้ำในคลองขุดแห้งขอดมานานนับเดือนชาวสวนจึงรวมตัวกันทำพิธีแห่นางแมวเป็นเวลา3วันตั้งแต่วันที่ 25-27 กพ 63 เพื่อขอเทวดาให้ฝนตกลงมาได้หล่อเลี้ยงต้นไม้ ไม่ให้เหี่ยวเฉายืนต้นตาย
ในแวดวงการศึกษา ไม่ใช่มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องดิ้นสู้กับภาวะถดถอยของจำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ตามวิกฤติภาวะดิสรัปชั่น ซึ่งคุกคามครอบคลุมไปในหลายวงการ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ครั้งหนึ่ง ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างอนาคตให้กับตนเองจนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า หากใครได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นถือว่าโชคดีมากๆ เรียกว่าต้องวิ่งกันตีนขวิดเลยละ ว่ากันอย่างนั้นก็แล้วกัน
แต่มาถึงวันนี้แทบไม่น่าเชื่อที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ประกาศประชาสัมพันธ์ เรียกร้องให้คนทั่วโลกได้เข้าไปศึกษาในประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในหลายๆ มหาวิทยาลัยตอนนี้ มหาวิทยาลัยโกลบิส ก็กำลังอ้าแขนรับนักศึกษาทุกมุมโลกอยู่
โกลบิส เป็นมหาวิทยาลัยบริหารธุรกิจใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น พร้อมรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ในหลักสูตร Full-time ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพ ในการเข้าทำงานกับบริษัทระดับโลก โดยนักเรียนจะได้ฝึกฝนทักษะของตัวเองระหว่างการฝึกงานกับบริษัทชั้นนำ รับคำปรึกษาจาก Career Office รวมถึงเข้าร่วม Corporate Mentorship Program กับบริษัทนานาชาติ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานและการเป็นผู้นำในธุรกิจยุคใหม่ ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัยของมหาวิทยาลัย
สำหรับรายละเอียดของ หลักสูตร MBA แบบ Full-time ณ มหาวิทยาลัยโกลบิสนี้ เป็นหลักสูตรที่เข้มข้นและจบภายใน 1 ปี ตลอดหลักสูตรนักเรียนจะได้ศึกษา Case Study เพื่อให้ได้เรียนรู้ทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในการทำงานและบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการถาม-ตอบ เสนอ วางแผน รวมถึงหาตัวตน (Personal Mission) ของตัวเอง ตลอดการเรียนผ่าน Interactive Discussion ในห้องเรียน ในช่วงสุดท้ายนักเรียนจะได้ฝึกงานกับบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2-3 เดือน เพื่อนำทักษะและความรู้ที่เรียนมาใช้ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ซึ่งการฝึกงานดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นักเรียนได้รับการเสนอตำแหน่งงานหลังเรียนจบด้วย
คุณโยชิโตะ โฮริ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโกลบิส และประธานกรรมการบริหารบริษัทโกลบิส กล่าวว่ามหาวิทยาลัย โกลบิส ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว เป็นหลักสูตรที่เข้มข้น กลุ่มผู้เข้าเรียน MBA หลักสูตร Full-time ของมหาวิทยาลัยโกลบิสมาจากหลายเชื้อชาติ รวมถึงนักเรียนไทยด้วย โดยปรัชญาองค์กรของโกลบิส คือการสร้างสามเสาหลักซึ่งเป็น Ecosystem ของธุรกิจ ได้แก่ 1.คน 2.เงินทุน และ 3.ความรู้ (People, Capital, and Knowledge) หลักสูตรบริหารธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของเรานำเอาความรู้ของธุรกิจยุคดิจิทัลอย่าง “Technovate” มาสอน ควบคู่กับการพัฒนา “Kokorozashi” หรือ Personal Mission ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้นี้ นักเรียนจะได้รับเครื่องมือเพื่อการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงในระดับนานาชาติ และนำไปใช้ในการพัฒนาตนให้เป็นผู้นำที่จะ innovate และสร้างสิ่งใหม่ๆ แก่สังคม ทีมงานโกลบิสทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่านักเรียนจะได้รับประสบการณ์การเรียนและการฝึกงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นผลให้ 65% ของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยโกลบิสได้รับตำแหน่งงานกับบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นหลังเรียนจบ
คุณโยชิโตะ โฮริ ย้ำให้ฟังว่า หลักสูตร Technovate ของโกลบิส เป็นการหลอมรวมความรู้จากโลกธุรกิจและโลกเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ซึ่งกระตุ้นให้นักศึกษาด้านธุรกิจต้องเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอย่าง Big Data, AI (ปัญญาประดิษฐ์) IoT (อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง), Fintech (เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจด้านการเงิน) และอื่นๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปได้ของธุรกิจในอนาคต การได้สัมผัสและเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นการมอบความรู้ ทักษะ รวมถึงกระตุ้นกระบวนการทางความคิดในการเชื่อมโยงธุรกิจ เทคโนโลยี และการขับเคลื่อนนวัตกรรมเข้าด้วยกันให้แก่นักเรียน ซึ่งพวกเขาจะไม่ใช่แค่ได้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ที่นักเรียนจะได้รับเพิ่มเติมจากสภาพแวดล้อมของตัวมหาวิทยาลัยโกลบิสที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเจริญ ซึ่งถือเป็น ศูนย์กลางทางธุรกิจและวัฒนธรรมชั้นนำของโลกด้วย เพราะที่นี่เป็นที่รวมของแหล่งที่ตั้งของบริษัท Fortune Global 500 บริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ รวมไปถึงร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมากมายให้นักเรียนได้ขยายประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้วย
ใครที่สนใจและกำลังมองหาทางเพื่อสร้างอนาคตของตนเองอยู่สามารถลงทะเบียนสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจแบบ Full-time ได้ ตั้งแต่วันนี้-25 มีนาคม 2563 โดยมีกำหนดเปิดเทอมในเดือนกันยายนปี 2563 นี้
เมื่อวันนี้ 26 กุมภาพันธุ์ 2563 เฟชบุ๊กกรมการแพทย์ ได้เผยแพร่จดหมายของหมอ "JIANG LONG "ผู้ป่วยจีนที่รักษาโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่โรงพยาบาลราชวิถีกรมการแพทย์ มีใจความดังนี้
ผู้บริหารโรงพยาบาลที่เคารพ
สวัสดีทุกท่าน ฉันคือหมอจีนคนหนึ่ง วันที่ 19 มกราคม เดินทางถึงเมืองไทย 20 มกราคม พบว่าตัวเองมีไข้ ได้นำตัวส่งรพ. กรุงเทพ หัวหิน เพราะว่าอาการหนักขึ้นจึงได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลของท่าน
ตอนที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ได้รับรู้ถึงการตั้งใจรักษาคนไข้ของคุณหมอ การดูแลเอาใจใส่ของพยาบาล สำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศอย่างฉัน รู้สึกทราบซึ้งใจ การดูแลเอาใจใส่ของทั้งหมอและพยาบาลในยี่สิบกว่าวันนี้ อาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ความตั้งใจรักษาและปลอบใจฉันของคุณหมอที่รักษาหลักทั้งสองท่านคือหมอเกรียงศักดิ์และหมอสืบสาย ฉันไม่มีทางที่จะลืมมันได้เลย หลังจากกลับประเทศไทย ฉันจะขอเล่าเรื่องการรักษาครั้งนี้ และมิตรภาพที่ดีของเพื่อนชาวไทยให้กับคนจีนได้รับรู้
27 กุมภาพันธ์ 2563 เว็บไซต์ นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง เสนอข่าว “Chinese city of Shenzhen bans eating cats and dogs as part of moves to stop spread of coronavirus” ระบุว่า สภาเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน เผยแพร่ร่างประกาศห้ามบริโภคเนื้อสัตว์หลายชนิดรวมถึงสุนัขและแมว โดยยกกรณีการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่คาดว่ามีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่ามาเป็นบทเรียน ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2563
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้จะกำหนด “บัญชีขาว (White List)” หรือเนื้อสัตว์ที่สามารถรับประทานได้ โดยมีอยู่ 9 ชนิด อาทิ หมู วัว ไก่ กระต่าย ปลาและอาหารทะเล แต่ไม่รวมถึงสุนัขและแมว ตลอดจนเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่นิยมรับประทานในภาคใต้ของจีน เช่น งู เต่าและกบ ทางการเสินเจิ้นให้เหตุผลว่าไม่สามารถกำหนด “บัญชีดำ (Black List)” หรือเนื้อสัตว์ที่ห้ามรับประทานได้ เพราะในประเทศจีนมีสัตว์ป่าจำนวนมากนับหมื่นชนิด อนึ่ง ความเคลื่อนไหวของเมืองเสินเจิ้นมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนส่วนกลางที่ต้องการห้ามซื้อ-ขายและบริโภคเนื้อสัตว์ป่า
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า โรคระบาดโควิด-19 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกราว 8 หมื่นคน และเสียชีวิตกว่า 2,700 คน ขณะที่เสินเจิ้นนั้นเป็นเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยีและตั้งประชิดกับเกาะฮ่องกง หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 2 หมื่นหยวน หรือราว 9 หมื่นบาท ทั้งนี้ยังไม่อาจอ้างได้ว่าเนื้อสัตว์นอกบัญชีขาวมาจากฟาร์มที่มีการเพาะเลี้ยงด้วย เนื่องจากพิสูจน์ได้ยากว่าเนื้อสัตว์นั้นมาจากการเลี้ยงจริงหรือจับมาจากในธรรมชาติ
ทั้งนี้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีนกลายเป็นข้อถกเถียงในหมู่นักระบาดวิทยามานานแล้ว อาทิ ช่วงปี 2545-2546 ที่มีการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คนทั่วโลก และมีข้อสงสัยว่าเชื้ออาจมาจากชะมด อันเป็นสัตว์ที่นิยมบริโภคกันทางภาคใต้ของจีน นอกจากนี้บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์ก็วิพากษ์วิจารณ์การบริโภคเนื้อสุนัขและแมวในจีนเช่นกัน
หลิวจินเหมย (Liu Jinmei) ตัวแทนองค์กร Friends of Nature กล่าวว่า ต้องชื่นชมแนวคิดของทางการเมืองเสินเจิ้น เพราะควรจะมีกฎหมายห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยง (Pet) มานานแล้ว การมีกฎหมายนี้จะทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น นอกจากนี้แม้ปัจจุบันจีนจะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ทำในเชิงพาณิชย์ได้สำหรับสัตว์ป่าที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012