วันที่ 23 ม.ค. นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2558 คนในตระกูล "ชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์" ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองรวมแล้ว 5 คน เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549และต่อมาโดนคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภรรยา ถือหุ้นในบริษัทเอกชนแล้วเข้ามาประมูลตามที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ ตามด้วยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในสมัยบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ.2549
ถัดมาเป็นคิวของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีนางเยาวภา และอดีตนายกรัฐมนตรี ในสมัยพรรคพลังประชาชน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551 และตัดสิทธิทางการเมือง หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำให้นายสมชาย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช
ต่อด้วย น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นบุตรสาวนายสมชาย และนางเยาวภา ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเนื่องจากยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2555 จนกระทั่งวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 18 (บัตรเสีย 3) กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังถือเป็นนักการเมืองคนที่สอง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งถูกถอดถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)โดยผู้ที่ถูกถอดถอนคนแรกคือ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งถูกถอดถอนโดย สนช. ที่ตั้งโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2550 ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยแล้ว ยังถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนแรกของรัฐสภาไทย ที่ถูกลงมติถอดถอนโดยสนช.ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการถอดถอนทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้นในห้วงของรัฐบาลรัฐประหารยึดอำนาจทั้งสิ้น โดยนายจรัล ถูกถอดถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ตั้งโดย คมช. ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอนโดย สนช.ที่ตั้งโดย คสช.
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายเวียง วรเชษฐ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ทำให้สถานการณ์และความรู้สึกของประชาชนเจ็บลึก สร้างความรู้สึกขัดแย้งมากขึ้น เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปรียบเหมือนคนตายทั้งกลม แล้วยังตามมาฆ่าลูกเขาอีก การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้ประชาชนถึงจุดเดือด รัฐบาลต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย ไม่ใช่ฟังความฝ่ายเดียว ที่ผ่านมามีการตัดสิทธินักการเมือง โดยการยุบพรรคการเมืองแล้วถึง 2 ครั้งใหญ่ ถามว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ พรรคการเมืองเปรียบเหมือนอุดมการณ์ ไม่ต่างจากการนับถือศาสนา จะไปบอกให้ใครเลิกนับถือก็ไม่สามารถทำได้ ในความเป็นจริงรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นมากกว่า
“ถามว่าใครตั้ง สนช.มา หากคนเป็นเจ้านายไม่กระซิบเอง ก็เชื่อว่ามีพวกลูกน้องคอยกระซิบส่งสัญญาณอยู่ เมื่อผลออกมาเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้ติดตามสถานการณ์กันต่อไป” นายเวียง กล่าว
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การลงมติของสนช.ในครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้ล่วงหน้าแล้วว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อม โดยได้ให้ทีมทนาย และคนใกล้ชิด เป็นที่ปรึกษา ในการเตรียมร่างคำแถลงการณ์ไว้บ้างแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ได้รอดูสถานการณ์วันลงมติทั้งในห้องประชุม สนช. รวมถึงเหตุการณ์นอกสภาฯ ด้วย ซึ่งปรากฎว่ามีประเด็นที่อัยการสูงสุด สั่งฟ้องอาญาคดีจำนำข้าว จึงได้เพิ่มเนื้อหาเรื่องดังกล่าวเข้าไปในแถลงด้วย
แหล่งข่าวแจ้งอีกว่า ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมายังอาคารชินวัตร 3 ซึ่งใช้เป็นวอร์รูม ในการติดตามผลการลงมติของ สนช. ซึ่งมีระดับแกนนำพรรคร่วมอยู่ด้วย โดยครั้งแรกได้หารือกันถึงสถานที่ที่จะจัดแถลงข่าว ซึ่งมีข้อเสนอให้ใช้ห้ามอิมพีเรียล ลาดพร้าว เป็นที่แถลง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่ายังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นก็ไปใช้แยกราชประสงค์เลย ทำให้ทีมงานที่ร่วมหารือด้วย ต้องเบรกไว้ก่อน เพราะเกรงว่าภาพจะออกมาแรงเกินไป สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ที่โรงแรมเอสซี ปาร์คแทน แต่ปรากฎว่าถูกฝ่ายทหาร ติดต่อขอให้ยกเลิกแถลงข่าวไปก่อน จนตัดสินใจใช้ช่องทางเฟซบุ๊กเพื่อชี้แจงแทนในที่สุด
แหล่งข่าวแจ้งด้วยว่า สิ่งที่ทางทีมทนาย และฝ่ายกฎหมายกังวลหลังจากนี้คือ การเตรียมข้อมูลไปแก้ข้อกล่าวหาในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีโทษถึงจำคุก หากศาลตัดสินว่าผิดจริง จึงได้หารือกันว่าต้องเตรียมข้อมูลให้ดีที่สุด
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ยังแจ้งอีกว่า ในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังพักอยู่ที่กรุงปักกิ่งขณะนี้ ได้สั่งให้ลูกพรรคเพื่อไทย อยู่นิ่ง ๆ ไปก่อน เพื่อรอดูกติกาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คาดว่านักการเมืองฝั่งตรงข้าม จะถูกตัดสิทธิอีกมาก โดยเฉพาะอดีต ส.ส. และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการวางตัวบุคคลให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด.
"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ลั่นต่อสู้ถึงที่สุด ชี้เป็นไปตามคาดหมาย หลัง สนช. มีมติถอดถอน มั่นใจบริสุทธิ์ จำนำข้าวไม่สร้างความเสียหาย
วันที่ 23 ม.ค. น.ส.ย่ิงลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน 190 : 18 เสียง ว่า
"เรียนพี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน เป็นไปตามความคาดหมาย ที่ สนช.ได้มีมติ ถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องดิฉัน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ดิฉันขอแถลง ดังนี้
ดิฉันขอยืนยันและมั่นใจในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอขอบคุณเสียงส่วนน้อย ที่ยังคงยึดมั่นในหลักการและความเที่ยงธรรม ซึ่งในกระบวนการต่างๆ ได้ลิดรอนและตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของดิฉัน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่พึงได้รับ
ดิฉันขอยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับตัวเลขความเสียหายที่พยายามจะยัดเยียดให้ดิฉันนั้น ก็เป็นเพราะความมีอคติต่อตัวดิฉัน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง
ดังที่ดิฉันได้เคยกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2556 ณ เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลีย ว่า ดิฉันนั้นต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทย พัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยหลักนิติธรรม และกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรง มีขั้นตอนที่ชัดเจน โปร่งใส และเมื่อนั้นทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่า เขาจะได้รับการดูแลที่ยุติธรรม
ดิฉันยังคงยืนยัน ในคำพูดดังกล่าว แม้ว่าวันนี้ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้ว พร้อมกับหลักนิติธรรม แต่ขบวนการทำลายล้างยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่ดิฉันได้ประสบอยู่ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียใจ และเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเชื่อว่า มีเหตุการณ์บังเอิญต่างๆ มากมาย ตามที่ดิฉันได้แถลงปิดสำนวนไปเมื่อวานนี้ และเป็นการบังเอิญที่ไม่ใช่ความบังเอิญ อีกครั้งหนึ่ง คือ ก่อนเวลาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเริ่มลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง อัยการสูงสุดก็ได้แถลงสั่งฟ้องดิฉัน ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่หัวหน้าคณะผู้แทนอัยการสูงสุด ยืนยันว่า ยังต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของคดีต่อไป องค์กรอัยการ ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน กลับต้องถูกตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้ค่ะ
ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วันนั้น ดิฉันตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเทที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และดิฉันภูมิใจที่ช่วงหนึ่งในชีวิต ได้ทำให้พี่น้องชาวนาและคนยากจน ได้ลืมตาอ้าปาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แม้ในวันนี้ ดิฉันไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่คดีความ ที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
คำว่า ความปรองดอง จะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่ใช่การไล่ล่าคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงความเป็นกลาง ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย เมื่อความเป็นธรรมเกิด ความยุติธรรมก็จะตามมา การยอมรับ ความสงบ ความสามัคคีก็จะมีขึ้นในสังคมไทย เพราะเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แทนที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วร่วมกันทำให้ประเทศของเราเข้มแข็ง แต่กลับสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่กัน ไล่ล่าเพื่อให้ไม่มีที่ยืน สุดท้ายคนที่เสียหายก็คือประเทศของเรา
ดิฉันรันทดใจ ไม่ใช่เพราะดิฉันถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่ดิฉันเสียใจแทนชาวนา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องสูญเสียโอกาส ต้องกลับไปอยู่ในวังวนของความยากจน มีหนี้สิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตลอดจนกฎหมายถูกบิดเบือน
สุดท้ายนี้ ดิฉันก็หวังว่าผู้ที่เป็นฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของประเทศ จะไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่รักษากติกาประชาธิปไตย และไม่รักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม มาชี้นำใดใดอีก ดังที่มีนักวิชาการกล่าวว่า “ไม่มียิ่งลักษณ์ คนไทยยังอยู่กันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ในระบบการปกครองของไทยแล้ว คงไม่มีใครอยู่ได้”
อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอยืนยันว่า ดิฉันจะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของดิฉันไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ คือ ดิฉันจะขอยืนหยัด อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนคนไทย เราต้องร่วมกันนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเรากลับคืนมา และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง"
เมื่อ 23 ม.ค. เฟซบุ๊ก "ชูวิทย์ I′m No.5" ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความดังนี้
ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ใครได้ประโยชน์?
โครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. นำโดย นายวิชา มหาคุณ กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นโครงการที่มีการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยจับทุจริตมา
คุณวิชาประดิษฐ์วาทกรรมที่ว่า "รัฐจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต ประเทศจำนำหนี้"
ผมในฐานะอดีตฝ่ายค้านต้องขอยกย่องชมเชยคุณวิชา ว่ามีลีลาสำนวนโวหารแพรวพราวกินใจ ไม่ด้อยไปกว่าคุณอภิสิทธิ์ นั่งฟังการแถลงแล้วเหมือนคุณวิชาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาเสียเอง นี่ถ้าเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต้องเรียกว่า ส.ส. ทั้งที่อยู่ในและนอกสภา ตามห้องอาหารห้องกาแฟ หรือเดินอยู่ตามห้องโถง ต้องนิ่งเงียบกริบ เหมือนฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไงอย่างงั้น
นึกย้อนอดีตตอนหาเสียงเมื่อครั้งที่แล้ว ถกเถียงกันระหว่างนโยบายรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย กับประกันราคาข้าวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา จะไปหวังกำรี้กำไรคงไม่มี เพราะเตรียมตัวขาดทุนกันอยู่แล้ว และรัฐบาลในอดีตกี่ยุคกี่สมัยก็ไม่เคยได้กำไรจากข้าวสักครั้ง
แต่เท่าที่ฟัง คุณวิชาแกบอกว่านโยบายประกันราคาข้าวดีกว่า พูดง่ายๆว่าเชียร์นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เขา แถมยังมีพยานปากเอกเป็น คุณอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหมอวรงค์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสียด้วย
การถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ไม่ให้เล่นการเมือง 5 ปี ให้คุณให้โทษใครไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆกลับเป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้ ไม่ใช่ชาวนากับประชาชนโดยรวมแต่อย่างใด
เพราะข้าวที่ขาดทุนไปแล้วก็ขาดทุนเหมือนเดิม ป้องกันการโกงอะไรก็ไม่ได้ แถมชาวนาก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้อยู่ดี
สื่อต่างชาติประโคมข่าว "ยิ่งลักษณ์" โดนถอดถอนพ้นตำแหน่งนายกฯ และต้องเว้นวรรคการเมืองนาน 5 ปี ชี้การลงมติถอดถอนของ สนช. เป็นแค่เพียงสัญลักษณ์ เพราะพ้นจากเก้าอี้นายกฯ ไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว อีกทั้งถือเป็นการส่งสัญญาณแข็งกร้าว ไม่ประนีประนอมต่อตระกูลชินวัตร
สำนักข่าวต่างประเทศยักษ์ใหญ่หลายสำนัก รายงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง เมื่อเช้าวันที่ 23 ม.ค. โทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติ ด้านนายโจนาธาน ฮีด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี ประจำประเทศไทย แสดงความเห็นต่อกรณี สมาชิกสภา สนช.ของไทย ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าว แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการประนีประนอม และครอบครัวชินวัตรจะต้องพ้นไปจากเส้นทางการเมือง
บีบีซี รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพี่ชายของเธอ คือ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ยังคงได้รับความนิยมชื่นชอบจากประชาชนที่ยากจนในชนบท แต่ถูกต่อต้านจากคนชั้นกลางในประเทศไทย
ส่วนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ชี้ว่า การลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นการลงมติในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเธอได้สูญเสียตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว อีกทั้งการลงมติครั้งนี้ ต้องการจะห้ามไม่ให้เธอยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
ซีเอ็นเอ็น ยังมองว่า การที่ สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดประกาศจะดำเนินคดีความผิดทางอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิจะเผชิญกับการถูกลงโทษจำคุก 10 ปี หากศาลตัดสินว่าเธอทำผิดในคดีนี้