เมื่อ 18 ธ.ค. 63 สำนักข่าวบีบีซี รายงาน นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะเสนอชื่อนางเด็บ ฮาแลนด์ ส.ส.หญิงเชื้อสายชนพื้นเมืองอินเดียแดง จากรัฐนิวเม็กซิโก วัย 60 ปี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าได้รับการยืนยัน นางฮาแลนด์จะกลายเป็นชาวอเมริกัน เชื้อสายชนพื้นเมืองอินเดียแดงที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา
นางฮาแลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ที่ถูกนำมาลงในนิวยอร์กไทม์ หลังรับทราบในเรื่องนี้ว่า ‘รู้สึกเป็นเกียรติที่จะทำให้วาระเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ และนางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มีความคืบหน้า รวมทั้งได้ช่วยเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่รัฐบาลทรัมป์ได้ทำลายลงไป รวมทั้งเธอยังได้เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์ของชาติเรา’
ทั้งนี้ นางฮาแลนด์ เป็นสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียแดง Laguna Pueblo โดยเธอได้เคยสร้างประวัติศาสตร์ เป็นสตรีชนพื้นเมืองคนแรกในจำนวน 2 คนที่ชนะเลือกตั้ง จนได้เข้าไปนั่งในสภาคองเกรส เมื่อปี 2561 โดยนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมนางฮาแลนด์ว่า เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด ขณะที่ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ คอร์เทซ ส.ส.หญิงดาวรุ่ง ได้ยกย่องการเสนอชื่อนางฮาแลนด์เป็นรมว.มหาดไทยในฐานะเป็นประวัติศาสตร์ในหลายระดับ
ทางการจีนเตรียมแผนที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่พลเมืองให้ได้ครบ 50 ล้านคน ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนในปีหน้า เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่มีการเดินทางสัญจรขนานใหญ่ของคนทั่วประเทศ
ทางการกรุงปักกิ่งจะมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม และบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำนวน 100 ล้านโดส ให้แก่พลเมืองกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ด่านกงสุล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในระบบขนส่งต่างๆ ให้ครบ 50 ล้านคน ก่อนจะถึงวันตรุษจีนในต้นปีหน้า โดยตั้งเป้าจะฉีดโดสแรก จำนวน 50 ล้านโดส ให้ครบภายในวันที่ 15 มกราคม ส่วนโดสที่ 2 จะต้องฉีดให้ครบภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 โดยทางการจีนได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จากทั้ง 2 บริษัทได้เป็นกรณีฉุกเฉิน และยังมีการรับรองวัคซีนจากแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ เพื่อใช้ในกองทัพโดยเฉพาะด้วย
โดยเหตุผลที่ต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่กลุ่มเสี่ยงให้ครบภายในวันตรุษจีน ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ในช่วงที่มีวันหยุดยาว ซึ่งชาวจีนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและพบปะญาติพี่น้อง
ขณะที่ มณฑลเสฉวน ของจีน จะเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพภายในต้นเดือนหน้า หลังจากที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีความสำคัญมากที่สุดตามลำดับ โดยในขณะนี้ประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 86,789 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 4,634 ศพ
ที่มา : รอยเตอร์
พื้นที่ภาคเหนือของญี่ปุ่นยังคงเผชิญหิมะตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้ถนนหลายสายถูกหิมะปกคลุมสูงหลายเมตร จนทำให้รถกว่า 1,000 คัน ต้องติดอยู่ท่ามกลางหิมะ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าช่วยเหลือรถจำนวนกว่า 1,000 คัน ที่ยังติดค้างอยู่บนถนนหลวงสายต่างๆ ในจังหวัดนีงาตะ ทางตอนเหนือของประเทศเป็นวันที่ 2 โดยมีการนำอาหารและผ้าห่มมาแจกจ่ายให้คนขับรถ พร้อมทั้งเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้ ในระหว่างที่ต้องรอให้ทางการช่วยเคลียร์หิมะจำนวนมหาศาลออกจากเส้นทาง
เพื่อให้รถสามารถสัญจรผ่านได้ โดยสำนักข่าวเกียวโตรายงานว่าบนทางด่วนคาเน็คสึ บางจุดมีรถจอดติดกันยาวต่อเนื่องถึง 16.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีรายงานรถติดค้างบนทางด่วนโจชิเน็ตสึ ตั้งแต่วันพุธจนถึงเช้าวันพฤหัสบดีอีกประมาณ 300 คัน จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้
ทั้งนี้ พื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเผชิญกับหิมะตกหนัก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเย็นวันพุธ และทำให้การสัญจรในหลายเส้นทางกลายเป็นอัมพาต อีกทั้งยังส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนทั้งทางตอนเหนือและทางตะวันตกกว่า 10,000 หลังคาเรือน ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ด้วย
ด้านนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า หิมะตกครั้งนี้น่าจะยังตกต่อเนื่องไปจนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ และน่าจะมีหิมะตกมากที่สุดของปี
ที่มา : บีบีซี
ชาวสิงคโปร์สุดภูมิใจ ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ศูนย์อาหารฮอว์กเกอร์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหารหาบเร่แผงลอย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
เมื่อ 18 ธ.ค. 63 เว็บไซต์ เดอะ สเตรทไทม์ สื่อภาษาอังกฤษในสิงคโปร์ รายงานว่า ชาวสิงคโปร์สุดภูมิใจ ศูนย์อาหารจานเดียวแสนอร่อยหลากหลายประเภท ซึ่งมีวัฒนธรรมมาจากร้านรถเข็นหาบเร่แผงลอย จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารของคนสิงคโปร์ และภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์’ (Hawker Center) นั้น ในที่สุด ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) เมื่อวันอังคารที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา
เดอะ สเตรท ไทม์ ชี้ว่า ความสำเร็จของการเสนอศูนย์อาหาร ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์ ในสิงคโปร์ ในการได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกนี้ถือเป็นรายการแรกของสิงคโปร์ ในขณะที่ปัจจุบันมีรายการต่างๆ มากกว่า 460 รายการ รวมทั้งโยคะในอินเดีย และเบียร์เบลเยียม ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
นาย Edwin Tong รมว.วัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชนของสิงคโปร์ ได้พูดผ่านทางวิดีโอถึงคนฟังในต่างประเทศ หลังจากศูนย์อาหารฮอว์เกอร์ เซ็นเตอร์ของสิงคโปร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกว่า “วัฒนธรรมฮอว์กเกอร์ ของสิงคโปร์ คือแหล่งที่มาของความภาคภูมิใจสำหรับสิงคโปร์ และชาวสิงคโปร์ทุกคน มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมรดกการดำรงชีวิตของเรา และความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันในสิงคโปร์ โดยไม่คำนึงถึงอายุ เชื้อชาติ และภูมิหลัง
สำหรับศูนย์ฮาหาร ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์ (Hawker Center) เป็นศูนย์อาหารที่กลายเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของคนสิงคโปร์ มีลักษณะเหมือนฟู้ดคอร์ท (Food Court) แต่เปิดโล่งไม่ติดแอร์ ตั้งเป็นอิสระ ไม่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า เมื่อก่อนสิงคโปร์มีร้านอาหารริมถนนเรียงรายตามฟุตบาทเหมือนในประเทศไทย จนรัฐบาลนำร้านอาหารต่างๆ มารวมไว้ในที่นี่ที่เดียว เพื่อความเป็นระเบียบและสะอาดเรียบร้อย
ทั้งนี้ ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) แล้วอย่างน้อย 508 รายการ ใน 122 ประเทศทั่วโลก เมื่อถึง ธ.ค. 2561 โดยตามความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นหมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลมาจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
สหราชอาณาจักร (UK) ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือ เบร็กซิต อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่สำหรับชาวบริติช การใช้ชีวิตของเขายังแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ว่า ให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิมไปก่อนเป็นเวลา 11 เดือน
ในช่วงเวลาดังกล่าว ทีมเจรจาของทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป จะหารือกันเพื่อบรรลุข้อตกลงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังจากนี้ ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต, การงาน และการค้า แต่จนถึงตอนนี้ พวกเขายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากการเจรจาล้มเหลวไม่ทันเส้นตายวันที่ 31 ธ.ค. นี้
สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ทำข้อตกลงด้านการค้าและการค้าระหว่างกันมาตลอด โดยในสมัยที่ UK ยังเป็นสมาชิก EU บริษัทต่างๆ ในอังกฤษสามารถซื้อหรือขายสินค้าทั่วสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า แต่ถ้าพวกเขาต้องแยกตัวออกไปโดยไม่มีข้อตกลงการค้า ธุรกิจต่างๆ จะต้องเริ่มจ่ายภาษีที่ว่า ทำให้สินค้าแพงขึ้น
นอกจากนั้น UK ยังต้องการทำข้อตกลงกับ EU ในเรื่องบริการต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ในเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร แม้เรื่องนี้ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาในการเจรจาครั้งล่าสุด แต่เป็นไปได้ที่จะมีการเจรจานอกรอบในภายหลัง ขณะที่ข้อตกลงในด้านอื่นๆ เช่นความปลอดภัยการบิน, ยา และการแบ่งปันข้อมูลความมั่นคง ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
เจรจาคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?
การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ควรสิ้นสุดลงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว แต่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบให้หารือเรื่องข้อตกลงต่อ และมีความคืบหน้ากรณีชายแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของ UK ที่เชื่อมต่อกับ EU ทางบก โดยอังกฤษยอมถอน ‘กฎหมายตลาดภายใน’ ที่เป็นปัญหามาตลอดแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1. การประมง - EU ต้องการจำกัดจำนวนเรือของพวกเขาที่จะเข้าไปในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร
เพื่อให้สามารถหาปลาในพื้นที่ดังกล่าวได้ต่อไป แต่ฝั่ง UK ต้องการดึงธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาเป็นของตัวเองทั้งหมด และว่าจะให้ความสำคัญกับเรือประมงของตัวเองเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 ซึ่งพวกเขาจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายการประมงของ EU อีก
ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเข้าสู่น่านน้ำ แต่ยังรวมถึงการที่อังกฤษได้ส่วนแบ่งโควตาการประมงมากกว่า
ทั้งจำนวนจุดที่จับปลา และชนิดของปลาที่จับ ซึ่งหากไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้ UK จะได้น่านน้ำอย่างที่พวกเขาาต้องการ แต่ไม่สามารถขายปลาเข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรปโดยปราศจากกำแพงภาษีได้
2. การแข่งขันที่เท่าเทียม - EU กังวลว่า สหราชอาณาจักรจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทในประเทศตัวเอง หรือหาช่องทางให้พวกเขาได้เปรียบในการค้า สหภาพยุโรปจึงต้องการให้ UK ทำตามกฎของ EU หลายเรื่องทั้ง สิทธิแรงงาน, การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และกฎเรื่องการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาล แต่ UK ก็โต้แย้งว่า พวกเขา เบร็กซิต ก็เพราะไม่ต้องการทำตามกฎของสหภาพยุโรปอีกต่อไป จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ในเรื่องบรรทัดฐานด้านการตรวจสอบ แต่ EU ยังไม่สามารถกล่อมให้ UK ทำตามกฎเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนของพวกเขาได้
3. การบังคับใช้ข้อตกลง - ทั้ง 2 ฝ่ายยังตัดสินใจไม่ได้ว่า ข้อตกลงที่พวกเขาเห็นชอบร่วมกันจะถูกบังคับใช้อย่างไรในอนาคต และจะเกิดอะไรขึ้น หากมีฝ่ายใดฝ่าฝืน โดย EU อาจไม่มีอำนาจที่จะลงโทษ UK แต่เพียงฝ่ายเดียว พวกเขาจึงต้องการระบบอนุญาโตตุลาการที่เข้มแข็ง เพื่อลงโทษ แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสิน และจะลงโทษอย่างไร
จะเกิดอะไรขึ้น หากเจรจาข้อตกลงล้มเหลว?
นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีอังกฤษ คาดว่า หากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิตได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็อาจทำให้ ‘การขนส่งข้ามพรมแดนปั่นป่วนอย่างหนัก’ รถบรรทุกกว่า 70% อาจไม่พร้อมสำหรับกฎหมายใหม่ที่ EU จะใช้กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รถบรรทุกกว่า 7,000 คัน อาจต้องเข้าคิวยาวที่เมืองเคนต์ เพราะการตรวจสอบที่มากขึ้น
ด้านเจ้าหน้าที่การแพทย์อาวุโสหลายคนเตือนว่า การไม่มีข้อตกลงกับ EU อาจกระทบต่อการจัดหายา ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยซัพพลายยาอาจลดลงไปถึง 60% และ 80% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำเข้ามาจากสหภาพยุโรปก็อาจกระทบด้วยเช่นกัน
การไม่มีข้อตกลงการค้ากับ EU จะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเสียหายอย่างหนัก เพราะจะสูญเสียตลาดปลอดภาษีในยุโรปไป แถมต้องเผชิญกำแพงภาษี ทำให้การส่งออกแข่งขันยาก และการนำเข้าแพงขึ้นด้วย แม้อังกฤษจะพยายามทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ อย่าง ญี่ปุ่น และแคนาดา แต่เนื่องจากพวกเขามีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าจาก EU คิดเป็น 43% และ 51% ตามลำดับ จึงหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้
คาดกันว่า สินค้ากลุ่มอาหารอาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะอาจเกิดการขาดแคลนสินค้าจากยุโรปชั่วคราวราว 1-2 เดือน ส่วนราคาจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร แต่สมาคมการค้าปลีกบริติช (British Retail Consortium) กำแพงภาษีจะทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึง 3.1 พันล้านปอนด์
ขณะที่หน่วยงานตำรวจ และรัฐมนตรีของอังกฤษ เตือนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า การเบร็กซิตโดยไม่มีข้อตกลง จะทำให้สหราชอาณาจักร ถูกตัดขาดจากกลไกสำคัญในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ของ EU จะได้รับความเสียหาย อังกฤษจำเป็นต้องบรรลุสนธิสัญญาความมั่นคงใหม่กับสหภาพยุโรป เพื่อรักษาการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจสากล และฐานข้อมูลข่าวกรองต่างๆ
นอกจากนั้น ตอนที่ UK เป็นสมาชิก EU พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ EU ทำไว้กับอีกกว่า 70 ประเทศโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อถอนตัวออกไป สหราชอาณาจักรก็ต้องไปทำการเจรจาการค้าใหม่ เพื่อให้การค้าเป็นไปอย่างเดิม โดยตอนนี้เจรจาไปกว่า 50 ประเทศแล้ว แต่ไม่น่าจะทำข้อตกลงกับทุกประเทศได้ทันสิ้นปีนี้
UK ยังพยายามเจรจากับประเทศที่ EU ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วยอย่าง สหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลัง 1 ม.ค. 2564
แต่ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม ชาวสหราชอาณาจักรก็จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 ม.ค. 2564 เช่น ผู้คนที่คิดจะย้ายที่อยู่จาก UK ไป EU หรือในทางกลับกัน เพื่ออาศัย, ทำงาน หรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ จะไม่ได้รับอนุญาตโดยอัตโนมัติอีกต่อไปแล้ว
สหราชอาณาจักรจะใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองกับพลเมือง EU ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางจาก UK เข้าชาติสมาชิกสหภาพยุโรป จะได้เข้าแถวตรวจหนังสือเดินทางคนละแถวกับชาว EU นอกจากนี้ การทำการค้ากับสหภาพยุโรปจะต้องใช้เอกสารมากขึ้นอีก แต่ UK ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินอุดหนุนก้อนโตให้สหราชอาณาจักรเป็นประจำทุกปีอีกต่อไปแล้ว
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: BBC, Independent