ข่าว
'ไบเดน' ลงนามแสดงความอาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

9 ก.ย.65 : สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมด้วยนางจิล สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังสถานทูตอังกฤษ และได้ลงนามในสมุดแสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ ที่ 2 ซึ่งครองราชย์ถึง 7 ทศวรรษ นานที่สุดของอังกฤษ โดยทางสถานทูตอังกฤษได้ลดธงลงครึ่งเสา เพื่อเป็นการถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของ สมเด็จพระราชินี ที่พระตำหนักในสก๊อตแลนด์เมื่อวานนี้ โดยสิริรวมพระชนมพรรษา 96 พรรษา เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร จะขึ้นครองราชย์ต่อโดยอัตโนมัติ ท่ามกลางความเสียใจจากทุกประเทศทั่วโลก จากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธ ที่ 2 ในครั้งนี้

อัศจรรย์ ‘รุ้งกินน้ำ’ ประโลมใจ ขณะอังกฤษสุดอาลัย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต

ประชาชนทั่วสหราชอาณาจักรและทั่วโลก เศร้าโศกเสียใจและมีความอาลัยอย่างยิ่งต่อการสวรรคตอย่างกะทันหัน ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 ก.ย. 2565 ตามเวลาท้องถิ่น

มีประชาชนจำนวนมากนำช่อดอกไม้มาวางแสดงความอาลัยถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บริเวณหน้าประตูพระราชวังบักกิงแฮม พระราชวังที่ประทับของพระองค์ ในกรุงลอนดอน หลายคนร้องไห้ หลั่งน้ำตาด้วยความเศร้าเสียใจ และคิดถึงพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงเป็นพระประมุขแห่งอังกฤษ ครองราชบัลลังก์ มายาวนานกว่า 70 ปี และทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรทั้งในอังกฤษ สหราชอาณาจักรและทั่วโลก

นับตั้งแต่ประชาชนได้รับทราบข่าวร้ายจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ที่ออกแถลงการณ์ในช่วงหลังเที่ยงวันที่ 8 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทางการแพทย์ หลังจากคณะแพทย์หลวงมีความกังวลในพระพลานามัยของพระองค์ ทำให้มีประชาชนแสดงความเป็นห่วง กังวล และมาชุมนุมกันบริเวณหน้าพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อรอฟังแถลงการณ์คืบหน้าถึงพระอาการของพระองค์จากสำนักพระราชวังบังกิงแฮม ท่ามกลางรายงานข่าว เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระยศขณะนั้น) และพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงของอังกฤษได้รีบเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์

ช่วงเวลาแห่งความเคร่งเครียด ห่วงใยในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ท้องฟ้าเหนือพระราชวังบักกิงแฮม มืดครึ้ม ด้วยเมฆฝน และมีฝนตกลงโปรยปราย ประชาชนยังคงปักหลักยืนรอฟังแถลงการณ์คืบหน้า ก่อนไม่นานต่อมา ภาพที่เราเห็นเหนือท้องฟ้าพระราชวังบักกิงแฮม คือ รุ้งกินน้ำสวยกระจ่าง ท่ามกลางบรรยากาศที่หม่นหมอง และไม่นานต่อมา ชาวอังกฤษต้องรับทราบข่าวเศร้า

จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ที่ได้ออกแถลงการณ์ฉบับต่อมา ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตอย่างสงบ ณ พระตำหนักบัลมอรัล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.ย.2565 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากทรงครองสิริราชสมบัติกว่า 70 ปี

ผู้นำทั่วโลกร่วมไว้อาลัยควีนเอลิซาเบ็ธที่ 2 สวรรคต

ผู้นำจากทั่วโลกต่างไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ผู้เสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 พระชนมายุ 96 พรรษา ที่ตำหนักพระราชวังบัลมอรัล สกอตแลนด์

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งอังกฤษ ทรงมีแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีว่า “การเสด็จสวรรคตของพระมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ คือช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกอย่างที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและสมาชิกของราชวงศ์ทุกพระองค์”

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ตรัสว่า “ประชาชนทั่วประเทศต่างรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ รวมถึงขอบเขตดินแดนในเครือจักรภพ และผู้คนทั่วโลกเหลือคณานับ”

ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในสัปดาห์นี้ และเป็นผู้นำประเทศคนสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธก่อนสวรรคต กล่าวว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นรากฐากที่แข็งแกร่งของอังกฤษยุคใหม่ ประเทศของเราเติบโตและเบ่งบานภายใต้การครองราชย์ของพระองค์ อังกฤษกลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่จนทุกวันนี้เพราะพระองค์”

“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมอบความมั่นคงและความเข้มแข็งที่เราต้องการ ทรงเป็นจิตวิญญาณของสหราชอาณาจักร ทรงเป็นกษัตริยาที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ลิซ ทรัสส์ กล่าวด้วยว่า “พระองค์ทรงปฏิบัติราชกรณียกิจตลอดพระชนม์ชีพยาวนานกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้เคยจดจำพระองค์ และทรงเป็นที่รักและเคารพยิ่งของประชาชนอังกฤษและผู้คนทั่วโลก”

นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ กล่าวไว้อาลัยในฐานะตัวแทนของประชาชนสกอตแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสหราชอาณาจักร โดยกล่าวว่า “การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือช่วงเวลาที่เศร้าโศกสำหรับอังกฤษ เครือจักรภพ และทั่วโลก”

อันโตนิโอ กูเทอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขที่มีพระชนมายุยืนยาวที่สุดและครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่ชื่นชมของผู้คนทั่วโลก พระองค์ทรงยืนหยัดผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมากมายหลานทศวรรษ รวมทั้งการปลดปล่อยอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชีย ตลอดจนการวิวัฒน์ของเครือจักรภพ”

“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นมิตรที่ดีของสหประชาชาติ และทรงเสด็จเยือนสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สองครั้งในช่วงเวลาห่างกันนานกว่า 50 ปี ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการกุศลและโครงการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพระดำรัสที่มีต่อบรรดาผู้ร่วมประชุมด้านสภาพถูมิอากาศโลก COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ด้วย”

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา จิล ไบเดน มีแถลงการณ์ว่า “ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงยืนหยัดอย่างมั่นคงและทรงเป็นทั้งที่พึ่งพิงและความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษหลายยุคสมัย รวมถึงผู้ที่ไม่เคยเห็นประเทศอังกฤษที่ไม่มีพระองค์ครองราชย์มาก่อน” “สิ่งที่พระองค์ได้ฝากไว้จะถูกจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในเรื่องราวสำคัญของโลกนี้”

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขที่ปกครองแคนาดามายาวนานที่สุด โดยกล่าวว่า “พระองค์ทรงอยู่ในชีวิตของพวกเรา และการปฏิบัติราชกรณียกิจของพระองค์เพื่อชาวแคนาดาจะเป้นส่วนสำคัฐที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศตลอดไป”

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า “เราจะจดจำสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะผู้นำที่แข็งแกร่งในยุคสมัยของเรา พระองค์ทรงเป็นประมุขที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศและประชาชนของพระองค์... ข้าพเจ้าของแสดงความเสียใจต่อสมาชิกราชวงศ์และประชาชนอังกฤษต่อการสูญเสียครั้งนี้”

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสมาชิกราชวงศ์อังกฤษทุกพระองค์ที่สูญเสียพระมารดาและพระอัยยิกา และว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเป็นที่รักและเคารพยิ่ง การครองราชย์ของพระองค์ตลอด 70 ปี คือข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์

แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า “ชาวออสเตรเลียขอแสดงเสียใจกับประชาชนอังกฤษต่อความเศร้าโศกในวันนี้ และทราบดีถึงความรู้สึกของพวกเขาที่สูญเสียสิ่งสำคัญในการรวมชาติไว้ด้วยกัน” และว่า “ดังที่สมเด็จพระราชินีนาถได้เคยตรัสไว้ว่า 'ความเศร้าเสียใจนั้นคือราคาที่เราต้องจ่ายสำหรับความรัก'”

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ตรัสว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนอังกฤษ ซึ่งเนเธอร์แลนด์รู้สึกได้ถึงความผูกพันที่มีต่ออังกฤษและสมาชิกราชวงศ์ และขอร่วมแบ่งปันความเศร้าโศกในครั้งนี้”

สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน ตรัสว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชกรณียกิจเพื่อประเทศและเครือจักรภพ ทรงเข้าร่วมในภารกิจเพื่อประเทศอังกฤษและประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นมิตรที่ดีต่อราชวงศ์สวีเดนและทรงมีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน”

ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ กล่าวแสดงความเสียใจในฐานะผู้แทนรัฐบาลและประชาชนไอร์แลนด์ และว่า “การเสด็จเยือนไอร์แลนด์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปีค.ศ. 2011 คือก้าวสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อบ้านให้เป็นปกติอีกครั้ง ถือเป็นการเสด็จเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเนื่องจากพระดำรัสพระองค์”

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และแสดงความเสียใจนี้ไปยังสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ สหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ต่อการสูญเสียที่มิอาจทดแทนได้

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า “วันนี้ ประชาชนอเมริกันขอร่วมแสดงความเสียใจกับอังกฤษ ในการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงเป็นเสาหลักของผู้นำบนเวทีโลก และทรงอุทิศพระองค์เพื่อเสรีภาพตลอดการครองราชย์ 70 ปี”

ที่มา: รอยเตอร์


ยูเอ็นตั้ง ‘โฟลเกอร์ เติร์ก’ นั่งเก้าอี้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนคนใหม่

8 กันยายน : ในการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีมติให้นายโฟลเกอร์ เติร์ก จากประเทศออสเตรีย ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนใหม่ต่อจากนางมิเชล บาเชเล ซึ่งได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นายเติร์กได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติด้านนโยบาย

ความท้าทายแรกที่นายเติร์กต้องเผชิญในทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งคือการต่อสู้กับรายงานล่าสุดถึงสถานการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งตีพิมพ์โดยนางมิเชล บาเชเล ผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนไม่กี่นาทีก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง

รายงานที่ถูกตีพิมพ์ดังกล่าวระบุว่า การคุมขังชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมตามอำเภอใจ แบ่งแยกและไม่มีกฎเกณท์ของทางการจีน อาจนับเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธถึงการทำร้ายชาวอุยกูร์ในทันที

นายไต ปิง อัครราชทูตและรองผู้แทนถาวรจีนประจำยูเอ็น กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ว่า ทางการจีนหวังว่านายเติร์กจะยึดหลักการทำงานอย่างเป็นธรรม เป็นกลาง และไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ด้านนางลิซา คาร์ตี อัครราชทูตและรองผู้แทนสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวว่า นายเติร์กต้องทำงานอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นเสียงที่มั่นคงในการเรียกร้องให้กับปัญหาสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่ใด

อย่างไรก็ตาม นายฟิล ลินช์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ส (ไอเอสเอชอาร์) กล่าวว่า การแต่งตั้งของนายเติร์กขาดความโปร่งใส และการปรึกษาจากภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระ โดยระบุว่า เลขาธิการยูเอ็นได้พลาดโอกาสสำคัญในการสร้างความชอบธรรมและให้อำนาจกับผู้ดำรงตำแหน่งคนต่อไป


สหรัฐฯ จัดเต็มอีก ! ทุ่มเกือบ “แสนล้าน” เสริมทัพยูเครน-ชาติพันธมิตรสู้ศึกรัสเซีย

9 กันยายน 2565– บีบีซี และ เอเอฟพี : รายงานถึงความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยูเครน ที่ยังยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 7 ว่า ทางการสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ครั้งใหม่แก่ยูเครน มูลค่า 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 24,500 ล้านบาท

ครอบคลุมปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง (ฮาวอิตเซอร์) รถฮัมวีหรือยานยนต์ล้อยางอเนกประสงค์ความคล่องตัวสูง รถพยาบาลหุ้มเกราะ และระบบต่อต้านการโจมตีของรถถัง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แถลงความสำเร็จของกองทัพยูเครนว่าสามารถยึดคืนพื้นที่ซึ่งกองกำลังรัสเซียโจมตีและเข้ายึดครองได้หลายแห่งในแคว้นคาร์คิฟ รวมถึงแคว้นโดเนตสก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคดอนบัส

โดยนายเซเลนสกียังประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงในปีงบประมาณปีหน้าสูงถึง 1 ล้านล้านฮรีฟเนีย หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาทด้วย

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศพันธมิตรร่วมปกป้องยูเครนที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ของสหรัฐฯ ในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐภาคพื้นยุโรปและแอฟริกา

โดยประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่เกือบ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 98,000 ล้านบาท แก่ยูเครนและชาติพันธมิตรประเทศเพื่อนบ้าน 18 ประเทศ รวมถึงชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโตแต่เผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากการรุกรานของรัสเซีย

ด้าน นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน กล่าวว่าความช่วยเหลือจะถูกส่งให้ยูเครนและชาติพันธมิตรในช่วงเวลาสำคัญของสงคราม กองทัพยูเครนมีศักยภาพในปฏิบัติการต่อต้านกองกำลังรัสเซียที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

นอกจากนี้นายบลิงเคนยังให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะเดินหน้ากดดันรัสเซียอย่างต่อเนื่องจนกว่าการรุกรานจะยุติลง และยูเครนกลับมามีอำนาจอธิปไตย รวมทั้งมีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์


คิมประกาศกร้าว ! เกาหลีเหนือเป็น “รัฐครอบครองนิวเคลียร์” ลั่นเปลี่ยนไม่ได้

วันที่ 9 ก.ย. : บีบีซี รายงาน ว่า ทางการเกาหลีเหนือผ่านร่างกฎหมายประกาศตนเองเป็น รัฐครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นดับเบิลยูเอส) นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือกล่าวในวันฉลองครบรอบ 74 ปีการก่อตั้งเกาหลีเหนือ โดยย้ำว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่สามารถย้อนกลับได้ และยังถือเป็นการตัดความเป็นไปได้ในการเจรจา ปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีด้วย

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของรัฐบาลเกาหลีเหนือ กฎหมายดังกล่าวระบุว่าเกาหลีเหนือมีสิทธิ์ในการใช้มาตรการชิงโจมตีก่อนด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องประเทศ

แม้เกาหลีเหนือจะถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาดจากการทดสอบโครงการรนิวเคลียร์อย่างน้อย 6 ครั้งระหว่างปี 2549-2560 นอกจากนี้ยังนายคิมยังละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ต่อเนื่องหลังการหารือปลดนิวเคลียร์ครั้งที่สองกับสหรัฐอเมริกาล้มเหลว

และส่งผลให้ความพยายามผลักดันการเจรจาช่วงเปลี่ยนรัฐบาลจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่คืบหน้า หนำซ้ำเกาหลีเหนือยังเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธอย่างน้อย 16 ครั้งตั้งแต่ต้นปี 2565

ทั้งยังมีภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือกำลังซ่อมแซมฐานยิงนิวเคลียร์ พุงกเยรีที่ทางการเกาหลีเหนือทำลายลงเมื่อปี 2560 ตามข้อตกลงในการหารือกับสหรัฐฯ

ยูเครนอ้างรุกกลับ ยึดคืนดินแดนจากรัสเซียหลายพื้นที่

9 กันยายน พ.ศ. 2565: เคียฟ/วอสต็อก (เอพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ยูเครนได้ประกาศว่า ประสบความสำเร็จในการโต้กลับรัสเซียและยึดคืนหลายพื้นที่กลับมาได้ โดยเฉพาะที่เมืองคาร์คีฟเมืองใหญ่ใกล้พรมแดนรัสเซีย ด้านผู้นำรัสเซียลั่น ไม่ได้สูญเสียอะไรเลยและจะไม่มีวันสูญเสียใดๆ จากการทำสงครามในยูเครน แล้วหลังจากนี้รัสเซียจะแข็งแกร่งขึ้น

โดยตั้งแต่สงครามเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ กองทัพรัสเซียได้ยึดพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของยูเครน ครอบคลุมทางตะวันออกและทางใต้ แต่ขณะนี้ ทั้งรัฐบาลยูเครนและชาติตะวันตกได้อ้างว่า รัสเซียต้องล่าถอยออกจากหลายพื้นที่ซึ่งกองทัพยูเครนได้ ล่าสุด ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้แถลงเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาว่า ได้รับข่าวดีมากมายว่าทหารยูเครนสามารถยึดคืนหลายพื้นที่จากรัสเซียมาได้ รวมถึงบริเวณเมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศแต่เขาไม่สามารถระบุพิกัดต่างๆ นั้นได้ และเขาได้ขอให้ชาวยูเครนร่วมกันชื่นชมทหารหาญที่ได้นำธงชาติยูเครนกลับเข้าไปประดับอีกครั้ง

นอกจากนั้น ยูเครนได้ประกาศตัวว่าเป็นผู้ลงมือโจมตีฐานทัพของรัสเซียบนคาบสมุทรไครเมีย หลังจากที่ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ซึ่งก่อนนี้กองทัพยูเครนปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือและให้ข่าวด้วยว่าอาจเป็นความผิดพลาดของทหารรัสเซียเองที่ทำให้คลังอาวุธระเบิด เครื่องบินเสียหายนับ 10 ลำและมีผู้เสียชีวิต 1 ศพ ที่ฐานทัพซากี ซึ่งกองทัพเรือรัสเซียใช้เป็นฐานในการโจมตีตอนใต้ของยูเครน ส่วนรัสเซียนั้นได้ประกาศว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการก่อวินาศกรรม

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ปูติน ของรัสเซียได้เดินทางร่วมประชุมเศรษฐกิจที่เมือง วลาดิวอสต็อกทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ซี่งเขายังยืนกรานความชอบธรรมในการบุกยูเครน เพื่อปกป้องชาวยูเครนจากรัฐบาลนีโอนาซีที่เข่นฆ่าประชาชน ส่วนรัสเซียนั้นไม่ได้สูญเสียอะไรและจะไม่มีวันสูญเสียใดๆ จากการทำสงคราม ส่วนในเรื่องที่รัสเซียได้นั้นคือ ได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อธิปไตยของประเทศ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้รัสเซียแข็งแกร่งจากภายใน ประธานาธิบดีปูตินซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปีในเดือนตุลาคมนี้กล่าวว่า ตะวันตกกำลังล้มเหลว เพราะความพยายามก้าวร้าวและไร้ผลที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรกำลังทำลายเศรษฐกิจโลกในขณะที่ เอเชียกำลังผงาดขึ้นครอบครองอนาคต มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกเปรียบเสมือนการประกาศสงครามมเศรษฐกิจ เป็นความพยายามกำหนดรูปแบบพฤติกรรมให้แก่ประเทศอื่น แล้วบังคับให้ทำตามความต้องการ ชาติตะวันตกกำลังบ่อนทำลายเสาหลักของระบบเศรษฐกิจโลกที่สร้างขึ้นมาหลายศตวรรษ

ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และปอนด์อังกฤษกำลังเสียความน่าเชื่อถือ ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังรับมือกับการรุกรานทางการเงินและทางเทคโนโลยีของชาติตะวันตก แต่ก็ยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมและบางภูมิภาคประสบปัญหาบางประการ