วันนี้ (19 ม.ค.) พนักงานสอบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ทหาร ตรวจค้น สถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท และยื่นคำร้องขอศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับ และศาลได้อนุมัติหมายจับ นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/100 หมู่ที่ 7 ต.หลักหก อ.เมือง ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ตามหมายจับ เลขที่ 113/61 ลงวันที่ 19 ม.ค. 61 และ นางนิภา วิระเทพสุภรณ์ หรือ ธีระตรกูลวัฒนา อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8/88 หมู่ที่ 7 ต.หลักหก อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ตามหมายจับ เลขที่ 114/61 ลงวันที่ 19 ม.ค. 61 ในความผิดฐาน
1. กระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ โดยเป็นผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล และเด็ก (บุคคลผู้มีอายุต่ากว่าสิบแปดปี) โดยการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ด้วย วิธีการฉ้อฉล หลอกหลวง หรือใช้อานาจมิชอบ
2. สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้ลงมือกระทำความผิด ฐานค้ามนุษย์ตามที่ได้สมคบกัน และร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
3. ร่วมเป็นผู้เป็นธุระจัดหา หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม
4. ร่วมเป็นผู้เป็นธุระจัดหา หรือชักพาไปซึ่งเด็กที่มีอายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม
5. ร่วมเป็นผู้ดูแล หรือผู้จัดการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี อันเป็นสถานการค้าประเวณีที่มีบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่ถึง 18 ปี ทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย
6. ร่วมเป็นผู้สนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
7. ร่วมเป็นผู้สนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหญิง และได้ กระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
8. ร่วมกันพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารแม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม
9. เป็นผู้รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ให้เข้า พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือ ช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม
10. ร่วมเป็นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ากว่า 18 ปี ทางานในสถานบริการ
11. ร่วมเป็นผู้ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติ เสี่ยงต่อการกระทาความผิด และกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
12. ร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี อยู่ร่วมกับผู้ซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับผู้ซึ่งค้าประเวณี รับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้ซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้
มีรายงานว่า พนักงานสอบสวนยังได้ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อสั่งการไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวัง ติดตามบุคคลตามหมายจับ ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ
สืบเนื่องจากกรณี นายปรีชา ใคร่ครวญ อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนเทพมงคลรังษี ต.บ้านเหนือ อ.เมืองกาญจนบุรี อ้างว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หมายเลข 533726 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 60 จำนวน 1 ชุด 5 ใบ แต่ไม่ได้ขึ้นเงินเพราะลอตเตอรี่หาย ต่อมามี ร.ต.ท.จรูญ วิมล อดีตตำรวจ เป็นผู้ไปขึ้นเงินรางวัล จากนั้นต่างอ้างสิทธิ์เป็นของตัวเอง โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีและอายัดเงินรางวัล ซึ่งทาง บก.ป. ต้องเข้าร่วมคลี่คลายคดี เนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ
วันนี้ (19 ม.ค.) เวลา 14.00 น. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม (สนว.ยธ.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สนว.ยธ. พร้อมด้วย นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รอง ผอ.สนว.ยธ. และ พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ สุวรรณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายพิมพ์นิ้วมือ ร่วมกันแถลงผลการตรวจ DNA และลายนิ้วมือบนลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 จำนวนเงินรางวัล 30 ล้านบาทดังกล่าว
นายสมณ์ เผยว่า สนว.ยธ. ได้รับหนังสือจากทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี ให้ช่วยตรวจสอบหาลายนิ้วมือแฝงและสารพันธุกรรมของสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 จำนวน 5 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 4, 7, 14, 15 และ 22 โดยมีการตรวจพิสูจน์บุคคลจำนวน 5 คน คือ 1. ร.ต.ท.จรูญ วิมูล 2. นางลาวัลย์ วิมูล 3. นายปรีชา ใคร่ครวญ 4. น.ส.รัตนาพร สุภาทิพย์ และ 5. น.ส.พัชริดา พรมตา ซึ่งทางสถาบันฯได้ตั้งคณะกรรมออกเป็น 2 ชุด คือ 1. ชุดตรวจสารทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และ 2. ชุดตรวจสอบลายนิ้วมือ
นายสมณ์ เผยอีกว่า ผลการตรวจพิสูจน์รอยนิ้วมือ ได้ใช้วิธีการทางเคมีและวิธีการทางแสง ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 60 - 3 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบลายนิ้วมือยืนยันตัวบุคคลจำนวน 2 รอย บนสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ 7 และ 22 โดยชุดที่ 7 ปรากฏพบลายนิ้วหัวแม่มือของมือข้างซ้าย บริเวณตรงกลางสลาก เป็นรอยลักษณะมีการลงน้ำหนัก ส่วนชุดที่ 22 ปรากฎนิ้วก้อยของมือข้างซ้าย ซึ่งทั้ง 2 รอยที่ตรวจพบตรงกับลายนิ้วมือของร.ต.ท.จรูญ จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงนำสลากดังกล่าวมาทำการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม และได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์โดยใช้เทคนิค POLYMMERASE CHAIN REACTION (PCR) ระหว่างวันที่ 4 - 11 ม.ค. 61 ซึ่งผลตรวจทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ผลปรากฏว่า มีสารพันธุกรรมแบบผสม หรือพันธุกรรมหลายบุคคลปะปนกันเป็นจำนวนมาก และมีสารพันธุกรรมน้อยเกินไปจนไม่สามารถแยกแยะรูปแบบของสารพันธุกรรมของบุคคลได้อย่างชัดเจน จึงสรุปได้ว่าไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของบุคคลทั้ง 5 คนได้
“ผลการตรวจดังกล่าวทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขอยืนยันว่า เป็นการตรวจที่ได้มาตรฐานสากล หากทางสถาบันฯไม่สามารถตรวจพบหรือไม่สามารถยืนยันได้ก็จะบอกไปตามความจริง ตามหลักฐานและผลตรวจโดยจะไม่มีการตรวจซ้ำอีก เพราะผลการตรวจที่ออกมาเป็นที่แน่ชัด และมีการยืนยันจากทางผู้เชี่ยวชาญแล้ว หลังจากนี้ จะมอบผลตรวจให้กับทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี และมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวคืนให้กับกองสลาก โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
ด้าน นพ.วรวีร์ กล่าวว่า ผลการตรวจสารพันธุกรรมในครั้งนี้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เนื่องจากมีสารพันธุกรรมจำนวนมาก ซึ่งได้ใช้การตรวจพิสูจน์ตามหลักการเดียวกันกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ (FBI) ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอนั้น ถ้าเป็นวัตถุสามารถระบุได้ว่าใครเคยสัมผัสวัตถุดังกล่าวได้ แต่จะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของวัตถุดังกล่าว
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ บก.ป. และ สภ.คลองหลวง นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักเลขที่ 35 หมู่ที่ 2 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บ้านของ น.ส.ทิพย์อาภา รักษาแสง หนึ่งในเป้าหมายผู้ค้ายาเสพติด ขณะเข้าตรวจค้นพบ พ.ต.ท.ธนกฤต นิตสพันธ์ สว.(สอบสวน) ส.ทล1 กก.8 บก.ทล. อยู่ภายในบ้านพักด้วย จากการสอบสวนทราบว่า พ.ต.ท.ธนกฤต เป็นสามีนอกสมรสของ น.ส.ทิพย์อาภา อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวมาสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือไม่ซึ่ง พ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผบก.ทล. ได้รับรายงานแล้ว และพล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.ธนกฤต ย้ายมาช่วยราชการที่ บช.ก. โดยกำหนดให้มารายงานตัวในเช้าวันที่ 18 ม.ค.ตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ 18 ม.ค.61 ที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พล.ต.ท.สมหมาย เปิดเผยว่า จากการสอนสวน พ.ต.ท.ธนกฤต ยังคงให้การปฏิเสธ โดยธรรมชาติตำรวจจะไม่รับสารภาพ แต่มั่นใจว่าข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่สามารถทำให้ติดคุกได้แน่นอน ไม่เช่นนั้นศาลคงไม่อนุมัติหมายจับ เมื่อตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ น.ส.ทิพย์อาภา ได้มีการโทรมาแจ้ง พ.ต.ท.ธนกฤต จนมีการขนของออก โดย พ.ต.ท.ธนกฤต ได้ขนเงินจำนวน 2 ล้านบาทไปยัง จ.เพชรบุรี ซึ่งพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ธนกฤต มีการช่วยเหลือกันตลอดทั้งดูแลเรื่องเงิน เปลี่ยนรถให้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่พบเครื่องนับเงิน ถ้าไม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินจะมีไว้ทำไม และรถยนต์ที่ตรวจยึดได้ก็มีการดัดแปลงด้านล่างไว้สำหรับลำเลียงยาเสพติด ทำให้น.ส.ทิพย์อาภารอดจากการจับกุมมาได้นานกว่า 10 ปี
พล.ต.ท.สมหมาย เปิดเผยต่อไปว่า ตนคาดว่า จะมีนายตำรวจนายอื่นที่อยู่ในขบวนการของ พ.ต.ท.ธนกฤต อีก เพราะคนๆ เดียวคงทำไม่ได้ ส่วนจะมีการนำเงินที่ได้จากขบวนการค้ายาเสพติดมาใช้ในการโยกย้ายตำแหน่งหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขบวนการของ น.ส.ทิพย์อาภา ถือเป็นกลุ่มค้ายาเสพติดรายใหญ่ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายของนายไซซะนะ แก้มพิมพา ราชายาเสพติดชาวลาวที่ถูกจับกุมไปแล้ว โดยพฤติการณ์กลุ่มนี้จะมีคนถือทรัพย์สินแทน ไม่ระบุชื่อเจ้าของที่เจ้าหน้าที่จับ อาจจะเป็นพ่อ หลาน น้อง ซึ่งเราต้องเชื่อมโยงให้ได้
ส่วนลักษณะการลำเลียงยาเสพติดนั้น จะนำรถยนต์ที่ถูกขโมยไปดัดแปลงใต้ท้องรถให้ว่างไว้สำหรับลำเลียงยาเสพติด ซึ่งรถยนต์คันหนึ่งสามารถขนกัญชาได้กว่า 200 กก. และมีการศัลยกรรมใบหน้าใหม่เพื่อไม่ให้คนจำได้อีกด้วย มีมูลค่าทางการเงินคาดว่ามีอยู่หลายร้อยล้านบาท ส่วนพ.ต.ท.ธนกฤต นั้น จากแนวทางการสืบสวนพบว่าเป็นนายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน ไม่มีรายได้อื่น แต่กลับมีรายได้เข้ามามาก จนสามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ต้องใช้เงินปีละกว่าล้านบาทได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจหรือไม่ที่ต้องดำเนินคดีกับนายตำรวจ ผบช.ปส. ตอบว่า ไม่มีความหนักใจ และไม่กังวลที่จะต้องสอบสวนตำรวจด้วยกันหรือมียศสูงกว่า เนื่องจากสมัครเป็นตำรวจมาแล้วก็ต้องทำเพื่อประชาชน เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษ โดยขณะนี้นายตำรวจคนดังกล่าวถูกควบคุมไว้ที่ บช.ปส. ซึ่งในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ทางพนักงานสอบสวน บช.ปส.จะนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ต่อไป.
19 ม.ค.61 เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) ก่อนจะแถลงผลการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมกวช.เห็นชอบรายชื่อศิลปินแห่งชาติปี 2560 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 17 รายใน 3 สาขา ประกอบด้วย
สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 5 คน ได้แก่
นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์(จิตกรรม)
นายศราวุธ ดวงจำปา(ประติมากรรม)
นายเสวต เทศน์ธรรม (ประติมากรรม)
นายสมชาย แก้วทอง(การออกแบบแฟชั่น)
นายสิน พงษ์หาญยุทธ(สถาปัตยกรรม)
สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 3 คน ได้แก่
นางเพ็ญศรี เคียงศิริ
นายพิบูลศักดิ์ ละครพล
นายเทพศิริ สุขโสภา
สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 9 คน ได้แก่
นางสุรางค์ ดุริยพันธุ์(คีตศิลป์)
นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์(นาฏศิลป์ไทย)
นายบุญศรี รัตนัง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา)
นายวิรัช อยู่ถาวร(ดนตรีสากล)
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา(นาฎศิลป์สากล)
นายพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์(ดนตรีไทยสากล)
ศาสตราจารย์ มัทนี รัตนิน(ละครเวที)
นายยุทธนา มุกดาสนิท(ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
นายคเณศ เค้ามูลคดี(รอง เค้ามูลคดี) (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะมอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติประจำปี 60 จำนวน 17 คนเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ และเข็มประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งในวันศิลปินแห่งชาติ คือวันที่ 24 ก.พ.61 หรือวันอื่นแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมาย และกรณีประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง รวมถึงหากมีการเจ็บป่วยหรือเป็นโอกาสสำคัญจะได้รับค่าของเยี่ยมรายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย/ครั้ง ส่วนหากเสียชีวิตจะมีค่าบำเพ็ญกุศลศพรายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือเพื่อจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตอีกรายละไม่เกิน 150,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดทำสารคดีภาพยนตร์ หรือนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงาน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยต่อไป เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาในคดีที่ป.ป.ช. ผู้ร้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ผู้คัดค้านเรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
จากกรณีที่ นายธาริต ผู้คัดค้าน ในขณะที่ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี DSI ไม่แสดงรายการทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของตนเอง และคู่สมรส ประกอบด้วย เงินฝากในธนาคาร 4 บัญชี มีเงินรวมกว่า 5 ล้านบาท เงินลงทุนในหุ้นบริษัท 2 แห่ง มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 2 แปลง รวม 2 ไร่ 50 ตารางวา ใน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มูลค่ากว่า 20 ล้าน และเงินฝากในบัญชีธนาคารของคู่สมรสอีก 2 บัญชี กว่า 6 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้คัดค้านไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีทุก 3 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นการปกปิดไม่แสดงรายการแห่งทรัพย์สินของตนเอง และคู่สมรส เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้อง ตรวจสอบพบ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้าน มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน หรือหนี้สินนั้น
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำดังกล่าวของผู้คัดค้าน เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ที่ควรแจ้งต่อผู้ร้องทุกข์ 3 ปี ที่อยู่ในตำแหน่ง อธิบดี DSI พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่า ผู้คัดค้านเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี