เกาหลีเหนือจัดขบวนพาเหรดโชว์แสนยานุภาพรุ่นใหม่ล่าสุด ขีปนาวุธนำวิถียิงจากเรือดำน้ำรุ่นใหม่ โวเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก
เมื่อ 15 มกราคม 64 สำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซีรายงาน กองทัพเกาหลีเหนือโชว์เขี้ยวเล็บ แสนยานุภาพทางทหาร ขีปนาวุธนำวิถียิงจากเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมกับคุยข่มนานาประเทศว่า นี่คืออาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว
สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า กองทัพเกาหลีเหนือได้นำขีปนาวุธอีกหลายลูกมาร่วมโชว์ในขบวนพาเหรด เพื่อฉลองการประชุมของพรรคแรงงานครั้งที่ 8 โดยมีคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ มาเป็นประธานชมการแสดงแสนยานุภาพในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้น การจัดขบวนพาเหรดของกองทัพแสดงแสนยานุภาพทางทหารยังมีขึ้น หลังจากทางการเกาหลีเหนือได้จัดการประชุมทางการเมืองซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้น และคิม จอง อึน ได้กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาว่า คือประเทศที่เป็นศัตรูยิ่งใหญ่สุดของเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธจับตาในภาพขบวนพาเหรดที่เกาหลีเหนือนำมาเผยแพร่ต่อโลกภายนอก มีการนำขีปนาวุธขนาดใหญ่สีดำ-ขาว 4 ลูก มาร่วมโชว์ในขบวนพาเหรดผ่านชาวเกาหลีเหนือที่โบกสะบัดธงชาติด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของเกาหลีเหนือ ได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ว่า 'New Year Pukguksong' ซึ่งเกาหลีเหนือใช้เป็นชื่อของขีปนาวุธนำวิถียิงจากเรือดำน้ำของกองทัพ
คิม จอง อึน ซึ่งอยู่ในชุดเสื้อโค้ทหนัง และหมวกเฟอร์สีดำ ยืนใบหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความสุขและโบกมือให้แก่ขบวนพาเหรด ซึ่งจัดขึ้นที่ บริเวณจัตุรัสคิมอิลซุง ในกรุงเปียงยาง โดยในขบวนพาเหรดยังมีพลทหารราบ ปืนใหญ่ และรถถังมาร่วมอย่างยิ่งใหญ่ด้วย
ไบเดนเปิดแผนกู้วิกฤต - 15 ม.ค. 64 : สำนักข่าว เอพี รายงานว่า นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดแผนกู้วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยมูลค่าชวนตะลึง ถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 57 ล้านล้านบาท พร้อมอธิบายว่า ทำไมแผนนี้ถึงราคาถูกไม่ได้
การเปิดแผนที่เรียกว่า “แผนช่วยเหลืออเมริกัน” หรือ “American Rescue Plan” ก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี บ่งบอกถึงความเร่งด่วนที่ต้องเร่งรับมือกับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งกินเวลามาข้ามปี นายไบเดนกล่าวว่า ต้องยุติวิกฤตความทุกข์ร้อนของมนุษย์ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนพร้อมอัดฉีดเงินลงไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหนักด้านเศรษฐกิจ
แผนดังกล่าวยืนยันเป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านเข็ม ภายในช่วง 100 วันแรกของการบริหารที่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. เดินหน้าเปิดโรงเรียนส่วนใหญ่ให้ได้ในฤดูใบไม้ผลิ (เดือน มี.ค.ถึง พ.ค.) แล้วอัดเงินช่วยเหลือลงไปสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรอบใหม่
“เราไม่เพียงมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ต้องเริ่มรับมือ ผมเชื่อว่าเรามีหน้าที่ทางศีลธรรม (ที่ต้องรักษาชีวิตคน) วิกฤตที่เห็นผู้คนทุกข์ทรมานอยู่ในสายตานี้ เราต้องไม่เสียเวลาอีกแล้ว เราต้องลงมือ และลงมือเดี๋ยวนี้เลย” นายไบเดนกล่าว
แผนนี้เสนอให้เช็คคนละ 1,400 ดอลลาร์ แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรวมกับการให้คนละ 600 ดอลลาร์ ที่อยู่ในงบประมาณโควิด-19 แล้วจะรวมเป็น 2,000 ดอลลาร์ หรือราว 60,000 บาท นอกจากนี้จะขยายเวลาอัดฉีดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มคนว่างงานไปจนถึงเดือนกันยายน
ส่วนแผนระยะยาวตามนโยบายของพรรคเดโมแครต จะเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ หรือ 450 บาทต่อชั่วโมง ขยายการจ่ายเงินช่วงวันหยุดแก่พนักงาน เพิ่มการลดหย่อนภาษีแก่ครอบครัวที่มีเด็ก และทำให้ผู้หญิงกลับไปทำงานได้ง่ายขึ้นเพื่อผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การเปิดแผนของไบเดนอยู่ในช่วงที่สังคมชาวอเมริกันแตกแยกอย่างหนัก อีกทั้งยังเผชิญโรคระบาดโควิดที่มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 385,000 ราย จากผู้ติดเชื้อ 23.8 ล้านคน คนตกงานเพิ่มแต่ละสัปดาห์สูงมาก ไปที่ 965,000 คน ขณะที่บริษัทห้างร้านต้องปิดตัวและเลย์ออฟพนักงาน
ชาวอินโดฯผวาซ้ำ เตือนระวังเกิดอาฟเตอร์ช็อกแรง เกิดสึนามิ หลังแผ่นดินไหวขนาด 6.2 เขย่าเกาะสุลาเวสี ดับแล้ว 34 หวั่นตายเพิ่มอีกอื้อ โรงพยาบาลพังถล่มทั้งหลัง
เมื่อ 15 มกราคม 64 สำนักข่าวรอยเตอร์และเดลี่เมล รายงานหัวหน้าสำนักงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของอินโดนีเซียแจ้งเตือนประชาชน ให้ระวังอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงตามมา และอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 6.2 เขย่าเกาะสุลาเวสี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 34 ศพ บาดเจ็บกว่า 600 รายแล้ว
ด้านทีมกู้ภัยและชาวอินโดนีเซียต่างพยายามช่วยกันค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนที่พังจำนวนมากหลังเกิดแผ่นดินไหว และหวั่นวิตกว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากกว่านี้มากโดยเฉพาะการเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและช่วยผู้บาดเจ็บหลังจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองมามูจู พังถล่มลงมาจนพังยับเยิน
ตามรายงานของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ ตรวจพบเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ศูนย์กลางห่างจากเมืองมามูจู ไปทางใต้ประมาณ 35.4 กิโลเมตร และลึกจากผิวดินประมาณ 17.7 กิโลเมตร ขณะที่สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอินโดนีเซียระบุศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกจากผิวดินแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แรงสั่นสะเทือนจึงได้สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือน จนทำให้หัวหน้าหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นหวั่นเกรงว่าอาจมีคนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังจำนวนมาก
สำนักข่าวต่างประเทศและซีเอ็นเอ็น รายงานความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.2 เขย่าเกาะสุลาเวสี ของอินโดนีเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม ว่า เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาเป็นอย่างน้อย 42 รายแล้ว และบาดเจ็บหลายร้อยคน จากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายสิบครั้ง
ทีมกู้ภัยอินโดนีเซียเปิดเผยว่า แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงของแผ่นดินไหว ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกอย่างหนักให้แก่ชาวบ้าน เกิดขึ้นประมาณ 7-8 วินาที ส่งผลให้ชาวบ้านหลายพันคนในเมืองมาจีนี ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว และเมืองมามูจูที่อยู่ติดกัน ต่างตื่นตระหนกตกใจอย่างหนัก พากันหนีออกมาจากบ้านกันโกลาหล
ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้มีอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างน้อย 300 หลังในเมืองมาจีนี รวมทั้งบ้านเรือน โรงแรม 2 แห่ง และโรงพยาบาล 1 แห่ง ในเมืองมามูจู พังถล่มลงมา ซึ่งที่โรงพยาบาล พบผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย
ด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย แสดงความเสียใจกับประชาชนที่ประสบหายนภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาผู้ที่คาดว่ายังติดอยู่ใต้ซากอาคารบ้านเรือนอย่างเต็มความสามารถ
สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ยังแจ้งด้วยว่า มีประชาชนประมาณ 15,000 คน หนีออกจากบ้านเรือนของพวกตน เพราะหวาดกลัว ขณะที่ตอนนี้อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก
ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอินโดนีเซียตรวจวัดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองมาจีนี บนเกาะสุลาเวสีแค่เพียง 6 กิโลเมตร และลึกจากผิวดินเพียงแค่ประมาณ 10 กิโลเมตร จึงสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่อาคารบ้านเรือน ขณะที่ยังแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวต่อเนื่องรุนแรงที่จะเกิดตามมา จนอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ
อังกฤษ เตรียมสั่งห้ามนักเดินทางจากอเมริกาใต้เข้าประเทศ หวังสกัดโควิดกลายพันธุ์ที่พบในบราซิลโดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม เป็นต้นไป
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแสดงความกังวลต่อข่าวการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในบราซิล เนื่องจากหากมีการระบาดเข้ามาในประเทศอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำของผู้ที่หายป่วยแล้ว และจะทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้อีก
โดยล่าสุด นายแกรนท์ แชปป์ส รัฐมนตรีคมนาคมของอังกฤษ ได้ทวีตข้อความระบุว่า ทางการอังกฤษเตรียมที่จะประกาศคำสั่งห้ามนักเดินทางที่มาจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย เคปเวิร์ด ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กายอานา ปานามา ปารากวัย เปรู ซูรินาเม อุรุกวัย และเวเนซุเอลา รวมทั้งโปรตุเกส ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป (15 มกราคม) เพื่อหวังสกัดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ล่าสุดจากบราซิล โดยสาเหตุที่มีการรวมประเทศโปรตุเกสเข้าไปด้วย เพราะมีเส้นทางการเดินทางเชื่อมต่อกับบราซิล โดยจะยกเว้นให้เฉพาะพนักงานขนส่งสินค้าจำเป็นที่มาจากโปรตุเกสเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายแชปป์ส ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่บังคับใช้กับพลเมืองชาวอังกฤษหรือไอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศที่ 3 ที่มีสิทธิ์พำนักในอังกฤษ โดยหากกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางกลับมาจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้จะต้องกักตัวเองเป็นเวลา 10 วัน
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในบราซิล มีความคล้ายคลึงกับเชื้อกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ และแอฟริกาใต้ โดยเชื้อดังกล่าวจะติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แต่จะไม่ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
ที่มา :รอยเตอร์
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ว่า กระทรวงคมนาคมสหราชอาณาจักร (Department for Transport) ได้ออกประกาศมาตรการเข้มงวดในการคัดกรองผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้าสหราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้
1. ห้ามเที่ยวบินบินตรงเข้าสหราชอาณาจักรจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กาบูเวร์ดี (Cabo Verde) และโปรตุเกส และห้ามผู้โดยสาร (นักท่องเที่ยวทั่วไป) ที่เดินทางมาจากหรือเดินทางผ่านประเทศที่มีความเสี่ยงรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากบราซิลในช่วง 10 วันที่ผ่านมาเข้าสหราชอาณาจักร ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย ชิลี กาบูเวร์ดี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เฟรนซ์เกียนา กายอานา ปารากวัย ปานามา เปรู ซูรินาเม อุรุกวัย เวเนซุเอลา รวมทั้งโปรตุเกส (ยกเว้นชาวบริติช ชาวไอริช หรือบุคคลประเทศที่สามอื่นๆ ที่มีถิ่นพำนักปัจจุบันในสหราชอาณาจักร ยังสามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้ แต่ต้องกักตนเอง 10 วัน) โดยมีผลตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 มกราคม2564 เป็นต้นไป
2. ออกมาตรการภาคบังคับในการคัดกรองผู้โดยสารจากต่างประเทศทุกราย ทั้งคนสหราชอาณาจักรและชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทำให้ผู้โดยสารจากต่างประเทศต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนกำหนดการเดินทาง
3. กำหนดว่า รูปแบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าวิธีการตรวจ ที่สหราชอาณาจักรใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น การตรวจแบบ PCR test หรือ LAMP test หรือแบบ antigen test (Lateral Flow Device) โดยต้องมีประสิทธิภาพอย่างน้อยร้อยละ 97 (specificity) และอย่างน้อยร้อยละ 80 (sensitivity at viral loads above 100,000 copies/ml) โดยในใบตรวจจะต้องระบุ ชื่อ-นามสกุลตามหนังสือเดินทาง วันเดือนปีเกิดหรืออายุ ผลการตรวจ วันที่ได้รับผลการตรวจเชื้อ ชื่อและรายละเอียดการติดต่อของสถานที่บริการตรวจเชื้อ และชื่ออุปกรณ์ตรวจเชื้อ หากผู้โดยสารไม่มีหลักฐานดังกล่าว ผู้ให้บริการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางรถไฟ และทางอากาศ สามารถปฏิเสธการให้บริการได้ และหากไม่สามารถแสดงหลักฐานเมื่อเดินทางถึงสหราชอาณาจักรหรือมีรายละเอียดในหลักฐานการตรวจเชื้อไม่ครบตามที่ได้กล่าวไว้ จะมีโทษปรับสูงสุดจำนวน 500 ปอนด์ต่อราย นอกจากนี้ ทุกรายยังต้องกรอกแบบฟอร์ม passenger locator form เพื่อใช้ในการติดตามตัว หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับจำนวน 500 ปอนด์ต่อรายอีกด้วย โดยจะยกเว้นมาตรการนี้สำหรับคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า เด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี และการสัญจรทางระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์
กระทรวงการต่างประเทศขอแนะนำให้ชาวไทยที่มีกำหนดการเดินทางหรือประสงค์จะเดินทางไปสหราชอาณาจักร ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหน้าเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน “Royal Thai Embassy, London UK” และเว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร www.gov.uk เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด
© 2011 - 2026 Thai LA Newspaper 1100 North Main St, Los Angeles, CA 90012